สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Volume จัดฉายหนังรอบพรีเมียร์เรื่อง 'Waterboyy รักใสใส...วัยรุ่นชอบ'
ขอบคุณคุณหนึ่ง-สุริยน ศรีอรทัยกุล ที่เหมาโรงภาพยนตร์ควอเทียร์ซีเนอาร์ต เอ็มควอเทียร์ จัดฉายรอบพิเศษให้พวกเราได้ชมก่อนใคร ขอบคุณแฟนเพจที่ติดตามและร่วมสนุกกับกิจกรรมในครั้งนี้...ขอบคุณมากครับ
ย้อนเล่าสักเล็กน้อยถึงเบื้องหลัง เมื่อบทภาพยนตร์เรื่องวอเตอร์บอยฯ ถูกส่งถึงมือผม โดยคุณโด่ง--หนึ่งในทีมโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังวอเตอร์บอยฯ ให้ช่วยอ่านและวิจารณ์ตามประสาคนคุ้นเคย
นั่นคือหลายเดือนผ่าน ผมจำรายละเอียดของเรื่องราวได้ไม่ทั้งหมด และบทนั้นยังเป็นเพียงดราฟแรก ซึ่งต้องรอการแก้ไข ปรับเปลี่ยน ลดและทอน รวมถึงเพิ่มเติมรายละเอียดอีกบางส่วน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความสนุกของบท ซึ่งเขียนและกำกับโดยแอนดี้-ราชิต นั้นดึงความสนใจให้ผมอ่านแบบรวดเดียวจบ จำได้ว่าท้วงติงตรงซีนความรักที่เลิกรากันระหว่างโค้ชหนึ่งกับแฟนหนุ่มที่ชื่อกาน
เป็นคอมเม้นต์เล็กๆ เท่านั้นครับ ซึ่งหนังวอเตอร์บอยฯ ฉบับจริงได้ปูความสัมพันธ์ความรักของคู่นี้ให้มีมิติสมจริงมากยิ่งขึ้น คุณตู่-นพพล ในบทโค้ชหนึ่งยังคงไว้ลายนักแสดงชั้นครู ผมขอปรบมือดังๆ ให้ ณ ตรงนี้ ด้วยการแสดงของเขาคือสิ่งดีงามที่สุดของวอเตอร์บอยฯ--ไม่มีใครปฏิเสธ
วอเตอร์บอยฯ ยังคงใช้สูตรการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ คือ 30% แรกเป็นการเกริ่นนำตัวละคร 60% ต่อมาคือเส้นเรื่อง จะขมวดไว้กี่ปม ทุกๆ ปมล้วนรอการคลี่คลายไปจนกว่าหนังจบ และ 10% สุดท้ายคือบทสรุป
เริ่มต้นเรื่อง หนังวอเตอร์บอยฯ แนะนำตัวละครหลักและรองได้น่าสนใจครับ ชวนติดตาม ก็แหม...เล่นจับนักกีฬาว่ายน้ำหุ่นดี ถอดกางเกง สลัดผ้าขนหนูออก เหลือไว้แต่กางเกงว่ายน้ำตัวจิ๋ว ใครเล่าจะไม่จ้อง
แต่ที่ทำได้ดีและน่าสนใจมากคือการตัดสลับภาพไป-มา ระหว่างบทบรรยายบุคลิก ลักษณะนิสัยของน้ำ (เงิน-อนุภาษ) ผ่านแฟลชแบ๊คในห้วงคำนึงของหมึก (บีม-ปภังกร) ซึ่งก่อนหน้านั้นกลุ่มก๊วนเพื่อนนักกีฬาว่ายน้ำประจำชมรมได้บรรยายสรรพคุณและขู่ไว้จนรู้สึกเสียวก้นวาบ
การมาถึงของหมึก--นักกีฬาว่ายน้ำจากกรุงเทพฯ เขาเดินทางมาเก็บตัวเพื่อฝึกซ้อม โดยมีเพื่อนเมทที่ต้องนอนห้องเดียวกันคือน้ำ นำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย และกลายเป็นเทิร์นนิ่งพ้อยต์สำคัญในชีวิตวัยรุ่นชายคู่หนึ่ง
ทั้งคู่ต่างมีแฟน (ผู้หญิง) โดยเฉพาะน้ำที่เป็นเพลย์บอยตัวกลั่น ส่วนหมึกเองก็มีแฟนเป็นดาราวัยรุ่นหญิงชื่อนุ่น (บุ๊ค-ณัฐชารีย์) อะไรจะจุดใต้ตำตอขนาดนั้น...นุ่นดันเป็นดาราในดวงใจที่น้ำแอบคลั่งไคล้ตามประสาวัยรุ่นจนถึงกับเอาโปสเตอร์รูปนุ่นเต็มๆ แผ่นมาติดไว้หัวเตียงนอน
และ...ผมเข้าใจไปเองว่าเขาใช้ภาพนั้นประกอบกิจ ทำมิดีมิร้ายกับตัวเองแบบที่ผู้ชายทุกคนทำ โดยหลายๆ ครั้งนั้นน่าจะมีนุ่นอยู่ในห้วงจินตนาการ
ขึ้นชื่อว่าวัยพายุบุแคม แน่นอนครับ, อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ อาจเป็นเพราะความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจในปัญหาชีวิตของกันและกัน หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เพื่อนกับเพื่อน หันมา 'เล่น' กันเอง
ที่ผมสงสัยคือน้ำกับหมึกเดินทางมาถึงจุดจุดนี้ได้อย่างไร--หนังเล่ารวบ และดูใจร้อนไปสักนิด แต่เอาเถอะ มารู้สึกตัวอีกทีทั้งคู่ก็แลกจูบกันดูดดื่มในห้องน้ำสาธารณะ เป็นเพราะเมาหรือก้นบึ้งจิตสำนึก เพราะอารมณ์หึงหวงหรือความรักที่บังเกิดขึ้นก็ไม่ทราบ เขาทั้งคู่เดินทางถึงจุดๆ นี้
หลังรสจูบ--ชะนีจึงตกอยู่ในฐานะส่วนเกิน ผู้หญิงสมัยนี้น่าสงสารสุดก็ตรงนี้ละครับ
"เหี้-ยยยน้ำ เหี้-ยยยหมึก" นุ่นตะโกนลั่นทั่วคุ้งน้ำทะเลตรงหน้า ฉากนี้สั้นมาก แต่ผมให้คะแนนเต็ม 10 ทั้งสะใจ เสียใจ เห็นใจ และได้ใจ
นอกจากการแสดงของคุณตู่-นพพลที่น่าชื่นชม หันมาข้างนักแสดงวัยรุ่นอย่างเงิน-อนุภาษ ในบทน้ำก็น่าเอ่ยถึงเช่นเดียวกัน เขามีความเป็นธรรมชาติ 'ใสใส...วัยรุ่นชอบ' บทเกกมะเรกเกเร ทำตัวมีปัญหา เป็นหัวหน้าก๊วนแก๊งก็ดูน่าเชื่อ บทร้องไห้เป็นเผาเต่า สะอึกสะอื้นจนตัวโยนเหมือนเด็กน้อย เงินก็แสดงได้ดีจนอยากจะสวมกอด (ปลุกปลอบ อย่าคิดมาก)
"เป็นลูกผู้ชายอย่าร้องไห้" สิ้นสุดคำและพ่อดึงตัวน้ำเข้าไปกอด น้ำตาลูกผู้ชายของเขาก็ไหลพราก พ่อลูกกอดกันแบบแมน-แมน ทั้งคุณตู่และเงินแสดงซีนนี้ได้ดีมาก ไม่ล้น ไม่ขาด อ่ะ...ปรบมือให้อีกครั้ง
'วอเตอร์บอย รักใสใส...วัยรุ่นชอบ' อย่าเพิ่งมองว่านี่เป็นหนังเกย์ หรือหนังเฉพาะกลุ่ม เพราะหากได้ดูจนจบ หนังสื่อถึงและตั้งใจบอกอะไรเราหลายอย่าง ที่สำคัญคือพาคนดูไปไกลกว่าประเด็นรักชาย-ชาย แต่...เป็นเรื่องแมน-แมน
แมนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพศชายเท่านั้นครับ แต่หมายถึงหัวจิตหัวใจของมนุษย์ผู้ชาย เขามีสิทธิ์เลือก มีสิทธิ์รัก และที่สำคัญมีสิทธิ์ 'ร้องไห้' ได้ทุกโอกาสที่อ่อนแอ
ถ้าคิดว่าผู้ชายอ่อนแอไม่ได้ หรือร้องไห้ไม่เป็น แปลว่าคุณยังไม่เข้าใจคำว่า 'แมน-แมน' แบบ 'วอเตอร์บอยฯ'
เรื่อง: เอกชยา
ที่มา
http://www.volume.co.th/magazi…/2015/…/23/แมน-แมน-waterboyy/
แมน-แมน Waterboyy
ขอบคุณคุณหนึ่ง-สุริยน ศรีอรทัยกุล ที่เหมาโรงภาพยนตร์ควอเทียร์ซีเนอาร์ต เอ็มควอเทียร์ จัดฉายรอบพิเศษให้พวกเราได้ชมก่อนใคร ขอบคุณแฟนเพจที่ติดตามและร่วมสนุกกับกิจกรรมในครั้งนี้...ขอบคุณมากครับ
ย้อนเล่าสักเล็กน้อยถึงเบื้องหลัง เมื่อบทภาพยนตร์เรื่องวอเตอร์บอยฯ ถูกส่งถึงมือผม โดยคุณโด่ง--หนึ่งในทีมโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนังวอเตอร์บอยฯ ให้ช่วยอ่านและวิจารณ์ตามประสาคนคุ้นเคย
นั่นคือหลายเดือนผ่าน ผมจำรายละเอียดของเรื่องราวได้ไม่ทั้งหมด และบทนั้นยังเป็นเพียงดราฟแรก ซึ่งต้องรอการแก้ไข ปรับเปลี่ยน ลดและทอน รวมถึงเพิ่มเติมรายละเอียดอีกบางส่วน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความสนุกของบท ซึ่งเขียนและกำกับโดยแอนดี้-ราชิต นั้นดึงความสนใจให้ผมอ่านแบบรวดเดียวจบ จำได้ว่าท้วงติงตรงซีนความรักที่เลิกรากันระหว่างโค้ชหนึ่งกับแฟนหนุ่มที่ชื่อกาน
เป็นคอมเม้นต์เล็กๆ เท่านั้นครับ ซึ่งหนังวอเตอร์บอยฯ ฉบับจริงได้ปูความสัมพันธ์ความรักของคู่นี้ให้มีมิติสมจริงมากยิ่งขึ้น คุณตู่-นพพล ในบทโค้ชหนึ่งยังคงไว้ลายนักแสดงชั้นครู ผมขอปรบมือดังๆ ให้ ณ ตรงนี้ ด้วยการแสดงของเขาคือสิ่งดีงามที่สุดของวอเตอร์บอยฯ--ไม่มีใครปฏิเสธ
วอเตอร์บอยฯ ยังคงใช้สูตรการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ คือ 30% แรกเป็นการเกริ่นนำตัวละคร 60% ต่อมาคือเส้นเรื่อง จะขมวดไว้กี่ปม ทุกๆ ปมล้วนรอการคลี่คลายไปจนกว่าหนังจบ และ 10% สุดท้ายคือบทสรุป
เริ่มต้นเรื่อง หนังวอเตอร์บอยฯ แนะนำตัวละครหลักและรองได้น่าสนใจครับ ชวนติดตาม ก็แหม...เล่นจับนักกีฬาว่ายน้ำหุ่นดี ถอดกางเกง สลัดผ้าขนหนูออก เหลือไว้แต่กางเกงว่ายน้ำตัวจิ๋ว ใครเล่าจะไม่จ้อง
แต่ที่ทำได้ดีและน่าสนใจมากคือการตัดสลับภาพไป-มา ระหว่างบทบรรยายบุคลิก ลักษณะนิสัยของน้ำ (เงิน-อนุภาษ) ผ่านแฟลชแบ๊คในห้วงคำนึงของหมึก (บีม-ปภังกร) ซึ่งก่อนหน้านั้นกลุ่มก๊วนเพื่อนนักกีฬาว่ายน้ำประจำชมรมได้บรรยายสรรพคุณและขู่ไว้จนรู้สึกเสียวก้นวาบ
การมาถึงของหมึก--นักกีฬาว่ายน้ำจากกรุงเทพฯ เขาเดินทางมาเก็บตัวเพื่อฝึกซ้อม โดยมีเพื่อนเมทที่ต้องนอนห้องเดียวกันคือน้ำ นำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย และกลายเป็นเทิร์นนิ่งพ้อยต์สำคัญในชีวิตวัยรุ่นชายคู่หนึ่ง
ทั้งคู่ต่างมีแฟน (ผู้หญิง) โดยเฉพาะน้ำที่เป็นเพลย์บอยตัวกลั่น ส่วนหมึกเองก็มีแฟนเป็นดาราวัยรุ่นหญิงชื่อนุ่น (บุ๊ค-ณัฐชารีย์) อะไรจะจุดใต้ตำตอขนาดนั้น...นุ่นดันเป็นดาราในดวงใจที่น้ำแอบคลั่งไคล้ตามประสาวัยรุ่นจนถึงกับเอาโปสเตอร์รูปนุ่นเต็มๆ แผ่นมาติดไว้หัวเตียงนอน
และ...ผมเข้าใจไปเองว่าเขาใช้ภาพนั้นประกอบกิจ ทำมิดีมิร้ายกับตัวเองแบบที่ผู้ชายทุกคนทำ โดยหลายๆ ครั้งนั้นน่าจะมีนุ่นอยู่ในห้วงจินตนาการ
ขึ้นชื่อว่าวัยพายุบุแคม แน่นอนครับ, อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ อาจเป็นเพราะความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจในปัญหาชีวิตของกันและกัน หรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้เพื่อนกับเพื่อน หันมา 'เล่น' กันเอง
ที่ผมสงสัยคือน้ำกับหมึกเดินทางมาถึงจุดจุดนี้ได้อย่างไร--หนังเล่ารวบ และดูใจร้อนไปสักนิด แต่เอาเถอะ มารู้สึกตัวอีกทีทั้งคู่ก็แลกจูบกันดูดดื่มในห้องน้ำสาธารณะ เป็นเพราะเมาหรือก้นบึ้งจิตสำนึก เพราะอารมณ์หึงหวงหรือความรักที่บังเกิดขึ้นก็ไม่ทราบ เขาทั้งคู่เดินทางถึงจุดๆ นี้
หลังรสจูบ--ชะนีจึงตกอยู่ในฐานะส่วนเกิน ผู้หญิงสมัยนี้น่าสงสารสุดก็ตรงนี้ละครับ
"เหี้-ยยยน้ำ เหี้-ยยยหมึก" นุ่นตะโกนลั่นทั่วคุ้งน้ำทะเลตรงหน้า ฉากนี้สั้นมาก แต่ผมให้คะแนนเต็ม 10 ทั้งสะใจ เสียใจ เห็นใจ และได้ใจ
นอกจากการแสดงของคุณตู่-นพพลที่น่าชื่นชม หันมาข้างนักแสดงวัยรุ่นอย่างเงิน-อนุภาษ ในบทน้ำก็น่าเอ่ยถึงเช่นเดียวกัน เขามีความเป็นธรรมชาติ 'ใสใส...วัยรุ่นชอบ' บทเกกมะเรกเกเร ทำตัวมีปัญหา เป็นหัวหน้าก๊วนแก๊งก็ดูน่าเชื่อ บทร้องไห้เป็นเผาเต่า สะอึกสะอื้นจนตัวโยนเหมือนเด็กน้อย เงินก็แสดงได้ดีจนอยากจะสวมกอด (ปลุกปลอบ อย่าคิดมาก)
"เป็นลูกผู้ชายอย่าร้องไห้" สิ้นสุดคำและพ่อดึงตัวน้ำเข้าไปกอด น้ำตาลูกผู้ชายของเขาก็ไหลพราก พ่อลูกกอดกันแบบแมน-แมน ทั้งคุณตู่และเงินแสดงซีนนี้ได้ดีมาก ไม่ล้น ไม่ขาด อ่ะ...ปรบมือให้อีกครั้ง
'วอเตอร์บอย รักใสใส...วัยรุ่นชอบ' อย่าเพิ่งมองว่านี่เป็นหนังเกย์ หรือหนังเฉพาะกลุ่ม เพราะหากได้ดูจนจบ หนังสื่อถึงและตั้งใจบอกอะไรเราหลายอย่าง ที่สำคัญคือพาคนดูไปไกลกว่าประเด็นรักชาย-ชาย แต่...เป็นเรื่องแมน-แมน
แมนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพศชายเท่านั้นครับ แต่หมายถึงหัวจิตหัวใจของมนุษย์ผู้ชาย เขามีสิทธิ์เลือก มีสิทธิ์รัก และที่สำคัญมีสิทธิ์ 'ร้องไห้' ได้ทุกโอกาสที่อ่อนแอ
ถ้าคิดว่าผู้ชายอ่อนแอไม่ได้ หรือร้องไห้ไม่เป็น แปลว่าคุณยังไม่เข้าใจคำว่า 'แมน-แมน' แบบ 'วอเตอร์บอยฯ'
เรื่อง: เอกชยา
ที่มา http://www.volume.co.th/magazi…/2015/…/23/แมน-แมน-waterboyy/