รีวิว : หนัง เดอะดาวน์ (The Down) เป็นดาวน์พิเศษตรงไหน?

หลังจากที่วันก่อนเราไปดูหนังเรื่อง เดอะดาวน์ (The Down)    เราก็รู้สึกว่าอยากเขียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้   บางคนอาจจะไม่ค่อยสนใจหนังแนวนี้เท่าไหร่  เพราะมันเป็นหนังสารคดีที่เกี่ยวกับเด็กดาวน์ซินโดรม  ไม่ใช่หนังตลกโปกฮา  ไม่ใช่หนังผีสยองขวัญ  ไม่ใช่หนังแอคชั่นเลือดสาด     แต่......คุณรู้จักดาวน์ซินโดรมดีแค่ไหน?


credit : http://movie.mthai.com/movie-news/185042.html


ก่อนดูหนัง  ยอมรับว่าเราก็มีคำถามเกี่ยวกับเด็กดาวน์ซินโดรมมากมาย เช่น  

- ดาวน์ซินโดมคืออะไรกันแน่?

- แล้ววันๆ หนึ่งพวกเค้าทำอะไรบ้าง?

- เข้ากับคนอื่นได้ไหม?

- พวกเค้าจะทำงานได้ไหม?  

- แล้วงานอะไร?

- รู้สึกต่อสิ่งรอบตัวยังไง?  เหมือนคนทั่วไปรึป่าว?


หลังจากดูหนัง

                 ดาวน์ซินโดรม คือ ความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ที่มีโครโมโซมเกินมาตัวหนึ่ง  มันคือความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากพันธุกรรม  ไม่ใช่ความผิดปกติจากทางฝ่ายแม่หรือฝ่ายพ่อ   อาการดาวน์ซินโดรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์แล้ว   ลักษณะนิสัยของเด็กดาวน์ซินโดรมแต่ละคนก็จะแตกต่าง  (เสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติมในกูเกิ้ลดูได้)


ดาวน์ซินโดรมทำอะไรได้บ้าง?


           เริ่มแรกเลย  พี่โหน่งพาเราไปพบกับฝาแฝดหญิงดาวน์ซินโดรมชื่อ  อันกับออม  ซึ่งเรียนอยู่ที่ร.ร.ปัญญานุกูลที่เป็นโรงเรียนสำหรับผู้พิการทางสมอง    อันกับออมได้เข้าร่วมเล่นกีฬาบอชชี่  ซึ่งเป็นกีฬาที่ช่วยพัฒนาทางด้านสมองและปัญญาของผู้พิการทางสมอง    ด้วยศักยภาพ  ความตั้งใจจริง  และการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนสามารถคว้าเหรียญทองจากมหกรรมสเปเชียลโอลิมปิก ที่ประเทศกรีซมาได้ (น่าปลื้มใจจัง)   แล้วเรื่องเรียนหนังสือล่ะ?   โรงเรียนที่อันกับออมเรียนก็เหมือนโรงเรียนทั่วๆไป  เพียงแต่มีวิธีการสอนและเนื้อหาที่แตกต่างกัน  โดยจะเน้นฝึกทักษะทางด้านอาชีพมากกว่า  นอกจากนี้สอนการอ่าน  การเขียน  เรื่องทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน  เป็นต้น   อ้อ!!  ที่นี่เป็นโรงเรียนประจำ  และยังมีระบบพี่ดูแลน้อง (น่ารักจัง)      แล้วพวกเค้าจะเรียนต่อในระดับสูงได้ไหม?   ถ้าเรื่องนี้คงต้องเอ่ยถึง ‘แพน’   แพนได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าแม้เค้าจะเป็นดาวน์ซินโดรม  ก็สามารถเรียนจบป.ตรี  คณะมนุษยศาสตร์ได้  โดยแพนได้ครูยี่เป็นผู้ช่วยพิเศษ

แล้วคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมเนี่ย  พวกเค้าทำงานได้ไหม?
  
  
               เมื่อเรียนจบแล้ว  ชีวิตก็เข้าสู่กระแสธารอีกหนึ่งสายที่เรียกว่า  “การทำงาน”   แพนได้เข้าทำงานที่บริษัทเอไอเอสที่ครูยี่ทำงานอยู่ด้วย   ครูยี่จะคอยช่วยสอนงานให้แพน   เค้าสามารถเข้าใจขั้นตอนการทำงานต่างๆได้ดี   มันอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย  แต่แพนก็ทำมันได้   แล้วถ้าหากคุณกำลังคิดว่าก็แพนมีครูยี่คอยช่วยนี่    งั้นมาลองดูแบงค์กับเบียร์กัน  แบงค์ทำงานอยู่ที่ร้านเสื้อผ้ายูนิโคล่ สาขาเซ็นทรัลเวิร์ด  ตอนที่เข้าทำงานใหม่ๆ   แบงค์ต้องมีพี่เลี้ยงพิเศษคอยช่วยสอนงานต่างๆ   แต่นั่นก็แค่ช่วงแรกๆ เท่านั้นแหละ  เพราะหลังจากนั้นแบงค์ก็สามารถทำงานของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใครคอยช่วยอีก   เบียร์เองก็คล้ายๆกับแบงค์และแพนในการทำงานช่วงแรกๆ คือ อาจจะต้องมีคนคอยช่วยสอนและให้คำแนะนำพวกเค้า  อันที่จริงพวกเค้าก็สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบได้เหมือนพนักงานคนอื่นๆ   แม้จะมีเรื่องผิดพลาดบ้าง  นั่นก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กฝึกงานที่เพิ่งเข้าไปทำงานใหม่ๆและยังไม่ผ่านโปรฯ   ซึ่งต้องผ่านการเรียนรู้งานเหมือนกัน   แม้จะใช้เวลาฝึกงานนานมากกว่าคนทั่วๆไปก็ตาม   ขอแค่พวกเค้าได้รับโอกาสและความกรุณาจากเพื่อนร่วมงานกับหัวหน้างานเท่านั้น  ก็สามารถทำงานได้อย่างคนทั่วๆไปได้


พวกเค้าปรับตัวเข้ากับผู้คนในสังคมได้ไหม?


          เบียร์เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านกาแฟสตาร์บัคสาขาหนึ่ง    งานของเบียร์จำเป็นต้องเจอผู้คนมากหน้าหลายตา   ลูกค้าที่แวะเวียนมาเรื่อยๆ   ลูกค้าหน้าใหม่ที่อยากจะหาเครื่องดื่มสักแก้ว   รวมถึงลูกค้าชาวต่าง ชาติขาประจำ   เบียร์มักจะต้อนรับลูกค้าด้วยยิ้มละไมและกล่าวทักทายอย่างเป็นกันเอง    ส่วนกับเพื่อนร่วม งานนั้น  เบียร์เองเข้ากันได้ดีกับเพื่อนร่วมงานทุกคน  และพวกเค้าเองก็ดูจะเข้าใจเบียร์ในสิ่งที่เบียร์เป็น   แถมยังมีจัดงานปาร์ตี้วันเกิดเล็กๆให้เบียร์ด้วย    ข้อกำหนดของร้านยูนิโคล่ทุกแห่งจะให้พนักงานเขียนคำขอบคุณพนักงานด้วยกันโดยการเขียนใส่จดหมายเล็กๆ   นี่เป็นอีกหนึ่งในวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเอาใจใส่ของคนญี่ปุ่น   ตัวแบงค์เองก็ปฏิบัติข้อกำหนดนี้  โดยจะเขียนคำอวยพรหรือคำขอบคุณให้คนอื่นๆ ทุกวัน  ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะทำแบบนี้   สิ่งเล็กน้อยที่แบงค์ทำกลับสร้างกำลังใจให้กับพนักงานคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี    ทีนี้มาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างแพนกับครูยี่ดีกว่า   ครูยี่ให้สัมภาษณ์ว่ารู้จักกับแพนมาตั้งแต่แพนยังเป็นเด็ก   เธอจะคอยสอนแพนในทุกๆเรื่องทั้งเรื่องงานและเรื่องการเรียนในมหาวิทยาลัย   เธอบอกว่าบางครั้งเธอก็ท้อก็เหนื่อย  แต่เธอก็ใช้ความอดทนและความรักสอนแพนจนเป็นแพนแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้   ส่วนชีวิตในมหาวิทยาลัย   แพนกลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในคณะฯไม่น้อย  เช่น  ครู  เจ้าหน้าที่  แม่บ้าน  ไปจนถึงแม่ค้าขายข้าวแกงในโรงอาหาร  และโดยเฉพาะกับคุณแม่บ้านที่ดูจะสนิทสนมกันเป็นพิเศษ


credit : http://www.patsonic.com/movie/the-down-review/


เด็กดาวน์ซินโดรมมีบุคลิกต่างกันอน่างไร?
   

         แบงค์จะเป็นคนที่จริงจังมาก  ไม่ว่าใครจะแซวอะไรแบงค์ก็จะคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง  บางทีมีอะไรแบงค์ก็จะไม่พูดตรงๆ   แต่ก็มีคำพูดติดปากว่า  “ พูดตรงๆเลยนะ”  ฮ่าๆๆ   งานอดิเรกของแบงค์ คือ  เต้นและร้องเพลงโดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง    วันหนึ่งพ่อกับแบงค์แข่งกันร้องคาราโอเกะ   เมื่อพ่อแบงค์จบเพลง  แบงค์ก็วิจารณ์ว่าร้องเสียงเพี้ยนบ้างเสียงสูงบ้าง   แล้วแบงค์ก็สาธิตวิธีการร้องเพลงที่ถูกต้องให้ฟัง  แต่แบงค์คงไม่รู้ตัวว่าเสียงของตัวเองนั้นกลับร้องไม่ตรงโน๊ตเพลงเอาเสียเลย  ฮ่าๆๆๆ   ส่วนเบียร์จะชอบแต่งหน้า  ก่อนเบียร์เข้างานทุกครั้งจะต้องไปแต่งหน้าก่อน   พอแต่งเสร็จแล้วจึงจะเริ่มงานได้ (หื้อ..เรายังแต่งหน้าไม่ได้ทุกวันเหมือนเบียร์เลย)    แล้วเมื่อเบียร์ทำแก้วน้ำตกแตก  เธอก็จะรีบไปบอกพี่แอน(ผู้จัดการ)ทันที  นั่นแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ของเบียร์   ครอบครัวของเบียร์ยังมีน้องชายอีกสองคน  เบียร์จะสนิทกับน้องชายคนเล็กมากที่สุด  กิจกรรมที่ทำร่วมกันบ่อยๆ ก็คือ ‘เล่นเกม’    ด้านออมกับอัน  เมื่อไปเดินเล่นข้างนอก แล้วเจอของที่อยากได้   หากแม่ของคู่แฝดไม่มีตังค์พอ  ออมกับอันก็จะขอแค่จับของเท่านั้น   สำหรับแพน  แพนจะค่อนข้างมีเหตุมีผล   ตั้งใจทำงานและบางครั้งก็จริงจังกับงานมาก   แพนจะชอบกินมากเป็นพิเศษ  ของโปรดที่สุดของแพนก็คือ “ ข้าวเหนียวไก่ย่าง ”   ถ้าหากวันใดไม่ได้กินล่ะก็...แพนจะนอยมาก

ได้อะไรจากหนังเรื่องนี้?


          เดิมทีตัวเราก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก  แค่อยากจะรู้จักคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมก็เท่า นั้น   เราไม่ได้คาดหวังว่า  หนังจะออกมาดีมากมาย  มีเนื้อเรื่องที่ลึกซึ้งกินใจ หรือกดดันอารมณ์ความรู้สึกสุดๆ   สำหรับเรา  เราได้มากกว่าสิ่งที่คิดว่าตัวเองจะได้   หนังเรื่อง ‘เดอะดาวน์’ ถ่ายทอดแง่มุมของผู้พิการทางสมองในแบบเราไม่เคยเห็น  ไม่เคยได้ยิน  และไม่เคยสัมผัสมาก่อน    ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสื่อที่เกี่ยวกับคนที่มีความผิดปกติทางสมองค่อนข้างมีน้อย    นอกจากนี้ ‘เดอะดาวน์’ ยังทำให้เรารู้สึกว่าผู้พิการทางสมองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ   เสียใจ   ดีใจ   มีสุข  มีความปราถนา  ความรัก  และความฝัน   มันทำให้เรากล้าที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับพวกเค้ามากขึ้น
               ฉากที่เราประทับใจมากที่สุดในหนังเรื่องนี้  คือ  ตอนที่พี่โหน่งถามคนในครอบครัวของแก็งค์ ‘เดอะดาวน์’ แต่ละคนเกี่ยวกับการเลี้ยงดู   จนมาถึงตอนสัมภาษณ์แม่ของเบียร์  พี่โหน่งถามว่า “ ตอนเบียร์เรียก ‘แม่’ ได้   คุณรู้สึกยังไง? "   คำตอบของแม่เบียร์นั้นช่างเนิ่นนาน   เหมือนเค้ากำลังล่องลอยไปกับความคิดบางอย่าง   จนในที่สุดแม่เบียร์ก็ตอบออกมาพร้อมน้ำตาว่า “ ดีใจมาก ”    (เจอแบบนี้เข้าไป   เรานี่น้ำตาร่วงเลย...ทั้งที่คิดว่าจะไม่ร้องไห้แล้วนะ)


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ปิดท้ายด้วยเพลงประกอบหนัง  ' สุดสายตา ' ของพี่เล็ก  greasy cafe   เพลงเพราะมากและความหมายก็ดีมากเลยคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่