ความรู้เรื่องไข่มุกทะเล

สาระน่ารู้ !    จาก...สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล   บางแสน    มหาวิทยาลัยบูรพา    
                
                
                  
    


ไข่มุกเป็นอัญมณีชนิดเดียวที่กำเนิดจากสิ่งมีชีวิต และเป็นหนึ่งในรัตนชาติ ที่ชอบนำมาเป็นเครื่องประดับมาช้านาน ไข่มุกเกิดจากหอยชนิดหนึ่ง เรียกว่า หอยมุก ซึ่วมีทั้งหอยฝาเดียวและหอยสองฝา แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. ไข่มุกธรรมชาติ ซึ่งเกิดเองตามธรรมชาติ
2. ไข่มุกเลี้ยง


         ไข่มุกธรรมชาติเกิดจากในขณะที่หอยมุกกินอาหาร อาจมีกรวดทรายปะปนเข้าไป  จึงต้องปล่อยเมือกซึ่งมีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนตออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมเพื่อลดการระคายเคือง  จนเป็นไข่มุกที่มีลักษณะแข็งแรง แวววาวมาก ไม่กลม มักบิดเบี้ยว ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เล็ดลอดเข้าไปในตัวหอยว่ามีลักษณะเดิมเป็นเช่นใด  มุกธรรมชาติเป็นของหายาก  และเป็นเครื่องประดับที่แพงที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้ค้นคิดการเพาะเลี้ยงหอยมุก

         ผู้ผลิตประสบความสำเร็จคนแรกคือ นายโคคิชิ มิกิโมโตะ ได้นำมาดัดแปลงเอาหอยมุกขัดเป็นเม็ดกลมๆ เข้าไปในฝามุก เกิดเป็นมุกเลี้ยงมีสีสวยงาม หอยมุกที่นำมาเลี้ยงมีทั้งหอยทะเลและหอยน้ำจืด แต่ที่นิยมคือ หอยสองฝาเพราะมีเมือกเยอะ ไข่มุกเลี้ยงเรียกอีกอย่างว่า culture pearl

         สำหรับประเทศไทยเริ่มมีการเลี้ยงหอยมุกเมื่อ 25 ปีมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีเพียงบริษัทนาคาไข่มุกที่สามารถประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเป็นบริษัทแรก รู้จักกันในนามของ "ไข่มุกทะเลใต้" (south sea pearl) ทำการเพาะเลี้ยงที่เกาะนาคาน้อย จังหวัดภูเก็ต เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2507 ที่เกาะยาวน้อยร่วมกับญี่ปุ่น มีระยะเวลากว่า 30 ปี ทำจาหอยมุกที่เรียกว่า หอยมุกจาน ผลผลิตมีมากสุดปีละ 12,000 เม็ด ทำรายได้ปีละสิบกว่าล้านบาท ตลาดที่ส่งคือ ญี่ปุ่น มีบางส่วนขายในประเทศไทย ปัจจุบันเหลือน้อยลง

    

         สำรวจบริเวณที่จะใช้ทำฟาร์มการเพาะเลี้ยง ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของหอยมุก เนื่องจากหอยมุกเป็นหอยที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายไปที่อื่น เกิดที่ไหนก็เจริญเติบโตที่นั่น เมื่อแหล่งใดมีหอยมุกมาก จำเป็นต้องแยกไปเลี้ยงที่อื่น สิ่งจำเป็นสำหรับการเลี้ยงหอยมุก คือ ความลึกของน้ำ อุณหภูมิ อาหาร

         แหล่งน้ำที่ใช้เลี้ยงต้องมีความอุดมสมบูรณ์ สงบ ไร้คลื่นลม ที่ภูเก็ตเหมาะสมมากเพราะมีการไลเวียนของน้ำสม่ำเสมอ มีน้ำขึ้นน้ำลงวันละ 2 ครั้ง ทำให้มีการไหลเวียนและทำความสะอาด มีแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของหอยมุกอย่างเพียงพอ


กะชังเลี้ยงหอยมุก                    

หอยมุกที่เลี้ยงไว้ในกะชัง

         หอยมุกที่ใช้นำมาจากแหล่งอื่น และชาวเลนำมาขาย ปกติราคาตัวละ 300-350 บาท เมื่อได้หอยมาก็นำไปพักฟื้น เนื่องจากระยะแรกหอยจะอ่อนแอมาก โดยการใช้ตาข่ายเหล็กอย่างดีมาทำเป็นตะแกรงสี่เหลี่ยม มี 2 แผ่นประกบกัน ใส่หอยตะแกรงละ 6 ตัว เลี้ยง 6 เดือนในเรือนเพาะเลี้ยง ทำการตรวจสอบความพร้อมว่าจะใส่นิวเคลียสได้หรือยัง และทำความสะอาดหอยโดยการฉีดน้ำล้างสิ่งสกปรก

         ศัตรูที่สำคัญของหอยมุกคือ เพรียง เนื่องจากเพรียงจะเกาะ และเจาะหอยให้เป็นรู ทำให้หอยมุกตาย และเสียหาย แก้ไขโดยการขูดเพรียงออกจากหอยมุก


         เมื่อหอยมุกสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญจะทำการผ่าตัดพร้อมที่จะฝังนิวเคลียส ซึ่งเป็นเปลือกหอยมุกน้ำจืดจากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ขนาด 2 มิลลิลิตร เมื่อเลี้ยงจะได้ไข่มุกทะเลใต้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 13 มิลลิเมตรขึ้นไป หลังจากสอดใส่นิวเคลียส แล้วนำไปใส่ตะแกรงแล้วผูกเชือกหย่อนลงทะเลลึกประมาณ 2-3 เมตร ผูกติดกับแพ โดยแต่ละแพจะผูกหอยได้ประมาณ 2,500 ตัว ทุกๆ 3 เดือน จะนำขึ้นมาตรวจสภาพ ขจัดเพรียงและสาหร่ายทะเล และทำความสะอาด    


         หอยมุกที่ใส่แกนแล้วจะเลี้ยงนาน 1 ปี 6 เดือน ถึง 2 ปี เมื่อครบกำหนดที่จะเอามุกออก จึงนำหอยมาผ่าตัด ค่อยๆ แกะเอาเม็ดมุกออก ส่วนหอยที่นำเม็ดมุกออกแล้ว จะนำไปพักฟื้น 3 เดือน เพื่อทำการผลิตไข่มุกต่อ หอยมุกจานแต่ละตัวผลิตไข่มุกได้ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ไข่มุกทะเลใต้จะแพงที่สุดในโลก เพราะให้มุกน้ำงาม มุกจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเปลือกด้านในของหอย อุณหภูมิ สุขภาพของหอย อาหารที่ได้รับ ทำให้มีน้ำงาม ได้มุกสีนวลออกชมพู    


         มุกซีก  ได้จากการนำแกนพลาสติกครึ่งวงกลมใส่ในเปลือกหอยมีขนาด 0.2-0.2 เซนติเมตร อาจใส่ได้หลายเม็ดต่อหอย 1 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและความแข็งแรงของหอยมุก    


         ปัญหาที่เกิดขึ้นในการผลิต นอกเหนือจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตแล้ว เรายังไม่สามารถเพาะเลี้ยงลูกหอยเองได้ ถ้าสามารถเพาะเลี้ยงลูกหอยเองได้ ต้นทุนในการผลิตจะต่ำลง อีกปัญหาหนึ่งคือ การลักลอบทำการประมงอย่างผิดกฎหมาย เช่น การวางระเบิดหรืออวนลาก ทำให้จำนวนหอยตามธรรมชาติลดลง อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญและน่าเป็นห่วงคือ ความต้องการผลิตภัณฑ์ของมนุษย์ในการนำไปใช้ทำไข่มุกประดับเฟอร์นิเจอร์ หรือตกแต่งเครื่องเรือนต่างๆ ทำให้ชาวประมงทำการลักลอบนำเปลือกหอยมุกมาจำหน่าย แม้จะมีการรณรงค์ในระยะยาวก็ตาม สิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคปิดกั้นความก้าวหน้าของการเพาะเลี้ยงหอยมุก    



เนื้อหาจากจุลสาร
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล  บางแสน  มหาวิทยาลัยบูรพา
ปีที่ 12 ฉบับที่ 3  กันยายน-ธันวาคม 2543    

     ผู้เชี่ยวชาญทำการผ่าตัดและฝังนิวเคลียส

     ไข่มุกที่ได้จากหอยมุก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่