[ถาม] นิติศาสตร์ อินเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (LL.B.)

แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
ขอตอบแค่ข้อ 4 และ 5 เท่าที่ทราบครับ

4.จบมาสามารถสอบเนติได้ไหมค่ะ
เรื่องเนติ ต้องรอให้LL.B. รุ่นแรก เรียนจบและไปสมัครที่เนติเสียก่อน จึงจะทำให้ทราบว่าเนติรับรองไหม ซึ่งน่าจะอีกสัก 2-3ปี อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า หลักสูตร LL.B. เรียนเพียงแค่ 125 หน่วยกิต ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตทั่วๆไปที่เรียน 135-145 หน่วยกิต จึงทำให้อาจจะเป็นปัญหาได้ หากน้องต้องการไปสอบเนติในกรณีที่เนติรับรองในอนาคต เท่าที่พี่ไปดูหลักสูตรมา หลักสูตร LL.B. มีรายวิชาที่เกี่ยวกับวิชากฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อการสอบเนติน้อยกว่านิติศาสตร์ ภาคปกติ มธ เพราะ LL.B. ไม่ได้เรียนวิชาพยาน, กฎหมายวิ.อาญา (ซึ่งสำคัญมาก), กฎหมายอาญาภาคความผิด (สำคัญมาก), กฎหมายวิ.แพ่ง (สำคัญมาก เพราะขานี้ มีคนสอบตกเยอะมากในเนติ) นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการลงวิชาเลือกอีกหลายวิชา

5.เรียนเน้นด้านกฎหมายธุริกิจใช่ไหมค่ะ แล้วถ้าอยากทำงานด้านราชการจะเหมาะไหมค่ะ
จากที่พี่ไปดูหลักสูตร LL.B. มา พี่ต้องบอกตามตรงเลยว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ฝึกสอนให้บัณฑิตไปทำงานในภาคเอกชนเสียมากกว่า เพราะเรียนกฎหมายเอกชน(พาณิชน์-แพ่ง)เยอะมาก ถึงร้อยละ 80% ซึ่งเหมาะมากที่จะไปทำงานพวก Law Firm หรือ In-House ในบริษัทใหญ่ๆ นอกจากนี้ ชื่อเสียง นิติ มธ ก็การันตีการงานอาชีพในสายนี้ได้
ในขณะเดียวกัน หากน้องต้องการสอบอัยการ ผู้พิพากษา น้องต้องผ่านเนติ ซึ่งเนติอาจจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของบัณฑิตในหลักสูตรนี้เลยก็ว่าได้เพราะเป็นหลักสูตรเปิดใหม่ ยังไม่ทราบเป็นการแน่ชัดว่าเนติจะรับรองไหมในอนาคต (แต่โดยส่วนตัวพี่มองว่าเนติจะรับรอง เพราะขึ้นชื่อว่านิติ มธ ย่อมผลิตบัณฑิตออกมาได้มีคุณภาพ) และถึงแม้เนติจะรับรอง วิชาต่างๆที่หลักสูตรป้อนให้ ก็ไม่เอื้อต่อการสอบเนติ ตลอดจนผู้พิพากษา อัยการ หรือกระทั่งนิติกร เพราะวิชาส่วนใหญ่เรียนเป็นภาษาอังกฤษและเรียนเกี่ยวกับกฎหมายพาณิชน์-แพ่งเสียมากกว่ากฎหมายมหาชน(วิแพ่ง-วิอาญา)-อาญา เหตุที่พี่มองว่าการเรียนวิชากฎหมายเป็นภาษาอังกฤษไม่เหมาะที่จะสอบเนติหรือผู้ช่วยผู้พิพากษา-อัยการ เพราะภาษากฎหมาย(ภาษาไทย)นั้นมีความยากมาก และการเขียนต้องกระชับ ตรงประเด็น โดยเฉพาะอาญา และมีศัพท์เฉพาะที่เยอะมากซึ่งหากน้องไม่คุ้นเคยกับมัน เวลาน้องไปเรียนเนติฯหรือสอบราชการ น้องอาจจะเขียนได้ไม่ดี แม้ว่าน้องจะตอบถูกธงก็ตาม ศัพท์กฎหมายเหล่านั้นก็ได้แก่ ราชกิจจานุเบกษา, บุริมสิทธิ, ลาภมิควรได้, การจัดการงานนอกสั่ง, ละเมิด, หนี้ในธรรม, โมฆะ-โมฆียะกรรม, ผู้ไร้ความสามารถ, บุคคลสาบสูญ, ส่วบควบ, ที่งอกริมตลิ่ง, ทางจำเป็น, ภาวะจำยอม ฯลฯ

สรุปคือ หลักสูตรนี้เหมาะกับคนที่ต้องการไปทำงานสายเอกชนครับ ถ้าต้องการไปสายราชการหรือยังไม่รู้ว่าตนเองจะไปสายไหนดีระหว่างเอกชนหรือราชการ พี่แนะนำว่า น้องเข้าหลักสูตร นิติศาสตร์ ภาคปกติ มธ หรือ ม.รัฐฯอื่นๆ อาทิ จุฬาฯ ม.รามฯ มช ดีที่สุดครับ ส่วนภาษาอังกฤษเราสามารถฝึกฝนได้ในระหว่างเรียน ภาษาอังกฤษเป็นเพียงคุณสมบัติในการเป็นนักกฎหมายที่บริษัทเอกชนต้องการ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญเสียทีเดียวในการเป็นนักกฎหมายในประเทศไทยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่