แกะรอยสงครามโลกครั้งที่ 3 (ใครละเป็นเหยื่อ)

นิทานเรื่องจริง เรื่อง “เหยื่อ”
ตอนที่ 1 : “เสี้ยม 1”

ตามประวัติศาสตร์ที่จารึกกันไว้ สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้จบสิ้นลงไปแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 แต่ความรุนแรงที่สงครามโลก ได้สร้างทิ้งไว้ในตะวันออกกลาง ดูเหมือนจะยังไม่จบ การโต้แย้งเรื่องเขตแดน ซึ่งกำหนดขึ้นโดยเหล่านักล่าอาณานิคม โดยเฉพาะอังกฤษ เพื่อสนองตัณหาของพวกนักล่า ได้ทิ้งมรดกแห่งความขัดแย้งและความเศร้าสลดใจไว้ในภูมิภาคนี้ อย่างยากที่จะหาทางเยียวยา

ที่เมือง Damascus ในซีเรียเกิดสงครามกลางเมืองมากว่า 3 ปีแล้ว และยังไม่เห็นเค้าว่าจะจบลงเมื่อไหร่ กองทัพภาคที่ 4 ของรัฐบาลซีเรีย ขึ้นไปตั้งมั่นอยู่บนภูเขา Kassioun ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบอกว่า แก๊สพิษที่ถูกยิงลงมาฟุ้งกระจายอยู่บริเวณเมืองชายขอบของ Damascus เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2013 นั้น ถูกยิงมาจากภูเขาดังกล่าว ทำให้มีคนตายไปประมาณ 1,400 คน เป็นยอดคนตายเฉพาะใน 1 วันเท่านั้น ตั้งแต่สงครามกลางเมืองเริ่ม จนถึงปัจจุบัน มีคนตายไปแล้วประมาณ 1.5 แสนคน

Bagdad เมืองที่เคยเป็นวังเก่าในอิรัค 2 ปี หลังจากที่กองทัพอเมริกันถอนออกไป ชาวอิรัคได้มีโอกาสมาเดินเล่นในส่วนที่เรียกว่าเป็น Green – Zone ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ Tigris อีกครั้งหนึ่ง มันเป็นส่วนของเมืองแบกแดด ที่ทหารอเมริกันแอบใช้เป็นที่หลบภัย เมื่อทำให้ทั้งประเทศที่พวกเขาไปครอบครองอยู่ กลายเป็นแดนฆาตกรรมหมู่ ปัจจุบันสถานการณ์ดูเหมือนไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ การเดินเล่นใน Green Zone มีอายุสั้นจริง อีกด้านหนึ่งของกำแพงเป็น Red-Zone การถูกยิง การตายหมู่ กลับกลายมาเป็นเหตุการณ์ประจำวันอีกครั้ง แม้ทหารอเมริกันจะถอยทัพออกไปแล้ว ความสงบก็ไม่ได้กลับมา มีคนตายไปแล้วเป็นหมื่นคน

Beirut เมืองหลวงของเลบานอน เมืองซึ่งเป็นที่ชื่นชมของชาวอาหรับ พวกเขาชอบใช้เบรุตเป็นสถานที่นัดพบ เป็นที่เดินเล่นทอดน่อง จูงมือกัน พักผ่อนหย่อนใจ และแข่งกันทำมาหากิน เป็นเส้นทางขนานคู่ระหว่างศาสนากับโลกีย์ มุสลิมกับคริสเตียน ชีอะห์กับสุหนี่ แล้วกลิ่นไอของการต่อสู้ที่ลิเบีย ซีเรีย และความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน อียิปต์ และอิรัค ก็โชยมาใส่จมูกของชาวเบรุตที่กำลังเดินจูงมือกันอีกครั้ง คำถามเดิม ๆ วนกลับมาเข้ามาในใจของชาวเลบานอน แล้วเบรุตจะรอดไหม เราจะเจอคลื่นความไม่สงบ ความรุนแรงโหมใส่เราอีกครั้งไหม หรือว่ามันมาคอยเราอยู่แล้ว ตรงหัวมุมถนนอันเป็นที่รักของเราในเบรุตนี้เอง

2 ปี หลังจากการลุกฮือเหมือนนัดกันในปี ค.ศ. 2011 สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ดูเหมือนจะย้อนกลับไปทางความสิ้นหวังและเปล่าเปลี่ยวเหมือนอย่างที่ผ่านมา แทบจะไม่มีประเทศใดเลยในภูมิภาคนี้ ที่ไม่เคยผจญกับสงคราม หรือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และก็ดูเหมือนว่า จะไม่มีประเทศไหนเลยที่มีภูมิต้านทานแข็งแรงพอ ที่จะรับมือกับการจราจลรอบใหม่ ที่อาจจะระเบิดเป็นวงกว้างไปทั่วภูมิภาค ในอนาคตอันใกล้นี้ ขบวนการที่เรียกว่า Arab Spring ดูเหมือนจะจมโคลนไปแล้ว แทนที่จะงอกงาม หรือไม่ก็ถูกต่อต้าน หรือถูกโค่น ด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างดูเหมือนไม่มีวันจบสิ้น

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวภูมิภาคนี้จากสื่อฟอกย้อม คงมองเห็นว่าการต่อต้าน ลุกฮือที่เกิดขึ้นในตูนิเซีย ลิเบีย อียิปต์ และซีเรีย ก็คงเป็นพัฒนาการทางการเมืองตามปรกติของภูมิภาค แต่เปล่าหรอก ความไม่สงบเหล่านั้น มันเป็นหน่อใหม่ที่แตกเพิ่ม มาจากรากเหง้าของความขัดแย้ง ที่เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการหยุดยั้งมา เป็นเวลาประมาณ 100 ปีแล้ว และยังไม่เห็นทีท่าว่าจะสิ้นสุดแต่อย่างไร

ยังไม่มีเหตุการณ์ใด ที่ผลของมันจะสามารถสร้างความตึงเครียดและขัดแย้ง ให้ใหม่สดเสมอ ต่อเนื่องและยาวนานในตะวันออกกลาง ได้เท่ากับผลของสงครามโลกครั้งที่ 1

การสู้รบ ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า European Civil War ที่หมายถึงช่วงเวลาความรุนแรงที่เขย่ายุโรป ตั้งแต่ ค.ศ. 1914 เป็นต้นมาและสิ้นสุดเอาปี ค.ศ. 1945 ต่อด้วยสงครามเย็น ได้จบลงเมื่อ 1990 แต่สำหรับโลกอาหรับ ความตึงเครียดของพวกเขา ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันยังคงค้างคาอยู่ บรรดาชาวตะวันออกกลาง พบว่าตัวเองจำเป็นต้องไปฝึกหัดเป็นนักไต่ลวดกันถ้วนหน้า พวกเขาไม่ได้เป็นนักไต่ลวดธรรมดา เขาไต่ลวดและถือดาบไล่ฟันกันระหว่างไต่ลวดด้วย

นัก (เขียน) ประวัติศาสตร์ฝรั่งบอกว่า ในภูมิภาคอันกว้างใหญ่ มี 2 ประเทศ คือ อียิปต์ และอิหร่าน ที่ดูเหมือนจะพอประคองตนเองให้อยู่รอดมาได้แม้จะโดนเขย่า โดนโค่นอยู่หลายครั้ง อีก 1 ประเทศ ที่ดูจะชำนาญในการประคองตนเองอย่างหวาดเสียว แม้จะถูกบีบถูกถีบทิ้งหลายครั้ง แต่ก็ลุกขึ้นมาใหม่อย่างรวดเร็วคือตุรกี และอีก 1 ประเทศที่แม้ไม่ถนัด ในการประคองตนเองอย่างหวาดเสียว แต่ใช้วิธีทำตัวอ่อน โอนไปตามกระแส เงินและน้ำมัน คือ Saudi Arabia ประเทศทั้ง 4 นี้ ล้อมรอบใจกลางของตะวันออกกลาง ซึ่งมี 5 ประเทศ และ 1 รัฐพิเศษ คือ เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน อีรัค อิสราเอล และปาเลสไตน์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน Fromkin เรียกกลุ่มประเทศนี้ว่า ลูก ๆ ของอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ผมอยากจะแย้งนักประวัติศาสตร์ฝรั่งทั้งหลายว่า ไม่ว่าจะเป็น 4 ประเทศข้างต้น ก็ดูเหมือนจะเอาตัวรอดยาก แม้ว่าต่างจะฝึกเป็นนักไต่ลวดกันเป็นแถว และพวกประเทศที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นลูก ที่นักล่าอาณานิคม “สร้าง” ก็ดูจะเป็นการสร้างขึ้นมาใช้เป็น “ไม้เสี้ยม” ตะวันออกกลาง ให้แตกให้แย้งกันเองอยู่เสมอต่างหาก

ไม่มีกลุ่มประเทศไหน แม้จะมีขนาดเล็กเท่ากับกลุ่มเด็กถูกเสี้ยมข้างต้น ที่จะต้องผจญภัยสงคราม การขัดแย้งทางการเมือง สงครามกลางเมือง การโค่นล้ม การก่อการร้าย ได้มากเท่าที่กลุ่มเด็กถูกเสี้ยมโดน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

เพื่อที่จะเข้าใจความผิดปรกติของสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ เราคงจะต้องตามไปรู้จักหัวหางของเหตุการณ์บางอย่างก่อน เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมทั้งความล้มเหลวของเหล่าผู้ปกครองและการเมืองในตะวันออกกลางเอง ที่ไม่สามารถจะต้านทาน หรือแก้เกมการครอบครอง และครอบงำโดยเหล่านักล่าอาณานิคม โดยเฉพาะชาติอังกฤษ และที่สำคัญ การค้นพบน้ำมัน การก่อตั้งอิสราเอล ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความขัดแย้งในภูมิภาคนี้

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
17 สค. 2557

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่