...ทีโอทีเปิดศึกรอบด้าน !!...

กระทู้ข่าว
http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000112708


"ทีโอที"เปิดศึกรอบด้าน!!
Source - ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ (Th)

Saturday, October 10, 2015  04:35
50514 XTHAI XPOL XOTHER DAS V%PAPERL P%ASMS

          หลังจากที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ออกมาเคลื่อนไหวกดดันหน่วยงานต่างๆทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงการทำงานไม่ชอบในเรื่องการนำคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ได้หมดสัญญาสัมปทาน กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เมื่อวันที่ 30 ก.ย. โดยจะนำไปเปิดประมูลให้ผู้ประกอบการรายอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วคลื่นต้องถูกนำกลับคืนมาที่ทีโอทีตามสิทธิ์ที่ ทีโอที ได้รับมา

          ขณะที่สหภาพฯทีโอทียังได้ยื่นหนังสือเพื่อจะขับไล่กรรมการบริษัทบางคนที่ไม่ต่อสู้ หรือ ฟ้องร้องศาลเพื่อให้ได้คลื่นมาแต่อย่างใด ทำให้ฝ่ายบริหารซึ่งเก็บตัวอยู่ระยะหนึ่งต้องออกมาชี้แจงถึงจุดยืนของ ฝ่ายบริหารที่เห็นสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสหภาพฯทีโอทีเช่นกัน

          เปิดศึกด้านแรก เอไอเอสหมกเม็ดทรัพย์สิน
          งานนี้ "มนต์ชัย หนูสง" ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ได้นัดหมายพนักงานทีโอทีเพื่อรับฟังจุดยืนดังกล่าวร่วมกัน โดยเขากล่าวว่า เมื่อหมดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินของคลื่น 900 MHz ที่เอไอเอสมีทั้งหมดรวมถึงที่สร้างใหม่เองด้วยซึ่งเป็นไป ตามสัญญา BTO (Build Transfer Operate) ต้องคืนให้ทีโอที ซึ่งปัจจุบันทรัพย์สินทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยทรัพย์สินดังกล่าวประกอบไปด้วย ชุมสายโทรศัพท์ สถานีฐาน และเสาโทรคมนาคมจำนวน13,198 แห่ง กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องที่มีประมาณ 7 แสนรายการว่าอยู่ครบหรือไม่ คาดว่าภายในไม่เกินเดือน ต.ค.นี้จะดำเนินการเสร็จ

          แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ เสาโทรคมนาคม จำนวน13,198 แห่งนั้นเอไอเอสไม่ยอมส่งมอบให้ทีโอที และกลายเป็นข้อพิพาทอยู่ในอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เป็น 10 ปีกว่าเรื่องจะจบ หรือไม่จบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังพบว่าเอไอเอสได้แบ่งคลื่น 900 ระบบ 2G ไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเป็น 3G ซึ่งมีเสาโทรคมนาคมอยู่ 3,700 แห่งโดยทีโอทีไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน

          ขณะเดียวกันก็ยังพบปัญหาอีกหลายจุด ได้แก่ มีการยกเลิกใช้สถานีฐานของทีโอทีโดยไม่แจ้งให้ทราบ การเช่าพื้นที่ควรเช่าในนามของทีโอที แต่เอไอเอสกลับไม่ทำทั้ง 100% ปัญหาการใช้สายอากาศที่มีการนำสายอากาศสำหรับคลื่น 900 MHz ลงจากเสาและเปลี่ยนมาใช้สายอากาศ 2100 MHz ซึ่งมีความสามารถในการรับทั้ง 2 คลื่นแทน ทำให้ทีโอทีไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสายอากาศควรจะเป็นทรัพย์สินของใคร ขณะที่อุปกรณ์จ่ายไฟให้กับสถานีฐานของทีโอทีก็หายกลับมาแทนที่ด้วยอุปกรณ์ที่สามารถจ่ายให้ได้ทั้ง 2 คลื่นเช่นเดียวกัน

          เหล่านี้ล้วนสร้างความสับสนในการรับมอบงานทั้งสิ้น เพราะเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานทรัพย์สินต้องเป็นของทีโอที แต่เอไอเอส กลับทำแบบนี้ จึงไม่ทราบว่าเจตนาคืออะไร

          เปิดศึกด้านที่สอง กสทช.ต้องแก้ไขข้อบกพร่อง
          มนต์ชัย กล่าวว่า ทีโอที ไม่ยอมรับการประกาศตามมาตรการเยียวยาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคลื่น 900 MHz ของกสทช.เพราะเป็นการเปิดช่องให้เอไอเอสเชิญชวนลูกค้า 2G ย้ายไปอยู่เครือข่าย 3G 2100 MHz ของตนเอง เนื่องจากมีข้อความระบุว่า ผู้ให้บริการต้องพร้อม ให้ความสะดวกในการย้ายเครือข่าย แล้วใครจะเป็นคนจ่ายค่าเช่า โครงข่ายให้ทีโอที

          ดังนั้นทีโอทีจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อใช้สิทธิในการปกป้องความถี่ในย่าน 900 MHz ของตนเอง ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ทีโอทีได้ส่งหนังสือไปยัง กสทช.เกี่ยวกับการตีความกฎหมายที่ต่างกันซึ่งทีโอทีเชื่อว่าในพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาตรา 48 (4) ระบุว่าการคืนคลื่นต้องคืนมาเพื่อจัดสรรใหม่ หรือปรับปรุงการใช้งานดัง นั้นจึงไม่ได้ระบุว่าต้องคืนให้ กสทช.นำไปให้คนอื่น

          แต่ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ มาตรา 83 วรรคท้าย กลับไม่มีคำนี้ จึงขอให้ กสทช.ตอบมาว่าจะดำเนินการปรับปรุงข้อบกพร่องในการตีความอย่างไร ภายใน 2 วันนี้ หากไม่ได้คำตอบทีโอทีต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ยอมรับว่าเรื่องใดก็ตาม หากไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะต้องไปตกลงกันที่ศาล ดังนั้นการที่ทีโอทีทำสิ่งนี้จะช่วยเป็นตัวอย่างที่ดีในการคัดค้านการทำงานของ กสทช.ได้ และที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าทีโอทีไม่ส่งหนังสือถึง กสทช.แต่ทีโอทีทำมาตั้งแต่ปี 53 และ 54 แล้วแต่ทีโอทีก็ไม่ได้อะไรตอบกลับมาจาก กสทช.

          วาดฝันได้คลื่นทำเองสร้างรายได้ปีละ 2 หมื่นล.
          อย่างไรก็ตาม มนต์ชัย เชื่อว่า หากทีโอที ได้คลื่นความถี่ 900 MHz มาให้บริการต่อทีโอทีคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 22,800 ล้านบาท จากการต่อยอดในย่านความถี่ดังกล่าวโดยเป้าหมายรายได้ที่คาดการณ์นั้นประกอบด้วย 1. การให้บริการลูกค้าระบบ 2G ที่มีลูกค้าค้างอยู่ 2.4 ล้านราย โดยคาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 4,800 ล้านบาทต่อปี และ 2. รายได้จาการโรมมิ่งบริการจาก3G ซึ่งลูกค้า 3G ของเอไอเอสแม้ว่าจะย้ายไประบบ 2100 MHz ไปจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่กลับพบว่ายังมีลูกค้าประมาณ 10 ล้านรายโรมมิ่งกลับมาใช้ 2G คลื่น 900 MHz ของทีโอที โดยคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 18,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทีโอทีสามารถเลี้ยงตัวเองได้

          หากทีโอทีได้รับมอบทรัพย์สินคืนมาทั้งหมดประกอบด้วยเสาโทรคมนาคม 2G จำนวน 13,198 แห่ง เสาโทรคมนาคมในระบบ 2G ที่เอไอเอสนำไปอัปเกรดเป็น 3G อีก 3,700 แห่ง และเสาโทรคมนาคมของทีโอทีในย่าน 2100 MHz จำนวน 5,320 แห่ง เมื่อนำมารวมจะทำให้ทีโอทีมีเสาโทรคมนาคมจำนวน 22,218 แห่ง ทำให้สามารถนำมาให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          "เรายอมรับว่าเราไม่มีความชำนาญ เรื่องการทำธุรกิจโมบายล์ แต่ล่าสุดเมื่อเราเห็นไฟแนนซ์เชียลโมเดล ทำให้ทีโอทีมั่นใจว่าจะสามารถบริหารคลื่นเองต่อไปได้ในอีก 10 ปี เราจะเอาเงินตรงนี้ไปปรับปรุงโครงข่าย และให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ราคาถูก เพราะเรามีต้นทุนต่ำ ที่สำคัญยังมีกลุ่มลูกค้าผู้ที่ไม่ได้ใช้การสื่อสารข้อมูล (ดาต้า) อีกจำนวนมาก ถ้าเราได้คลื่นมาเราจะไปจุดธูปหน้าพระพรหม โดยจะนำคลื่นมาทำเพื่อประโยชน์ของชาติ และจะไม่ทำให้ล้มเหลวเหมือน 3G ที่ทำเมื่อก่อน"

          ด้านกำธร ไวทยกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ ทีโอที กล่าวว่า ถ้าทีโอทีได้คลื่นคืนกลับมาทีโอทีก็มีทีโออาร์พร้อมให้เวนเดอร์ผู้ทำเครือข่ายทำงานต่อได้เลย ที่สำคัญเวนเดอร์ของทีโอทีกับเอไอเอสเป็นเจ้าเดียวกัน โดยทีโอทีจะใช้เวลาในการทำระบบหลังบ้าน 3-4 เดือน โดยต้องทำงานคู่กับเอไอเอสสักระยะหนึ่งก่อน แต่มั่นใจว่าจะไม่กระทบลูกค้าแน่นอน

          ขณะที่ รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทีโอที กล่าวว่า บริการ 3G คลื่น 2100 MHz ของทีโอทีสามารถรับลูกค้าได้ 5-7 ล้านราย หากลูกค้า 2G คลื่น 900 MHz จะย้ายมาใช้บริการ 3G ของทีโอที ทีโอทีก็มีโปรโมชันดึงดูดลูกค้า ซึ่งยังสามารถรับลูกค้าในกรุงเทพฯอีกหลักแสนราย ส่วนการรองรับลูกค้าตามภูมิภาคต้องใช้เวลาในการขยายโครงข่าย ทั้งนี้รูปแบบการเพิ่มรายได้ของทีโอทีจะเน้นไปที่การขายซิม ลูกค้าที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ

          ขณะที่ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ยังคงกล่าวยืนยันเช่นเดิมว่า กสทช. มีหน้าที่ในการนำคลื่นที่หมดสัญญาสัมปทานแล้วมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูล และจะไม่มีอะไรมาหยุดกระบวนการได้นอกจากมีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ คำสั่งจากศาลปกครองเท่านั้น เพราะหากสทช.ไม่ดำเนินการนำคลื่นมาประมูลก็อาจจะโดนมาตรา 157 ในฐานะละเลยการปฏิบัติหน้าที่ได้

          นอกจากนี้เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ได้เข้าพบ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.โดยเข้าหารือกันในหลายประเด็น โดยประเด็นที่สำคัญคือเรื่องการประมูล 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะจัดให้มีการประมูลในวันที่ 15 ธ.ค. 58 ซึ่ง รมว.ไอซีที ยอมรับว่า สหภาพฯทีโอทีจะดำเนินการฟ้องต่อศาลปกครองอย่างแน่นอน แต่ในฐานะรัฐมนตรีที่ดูแล ทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงาน ภายใต้สังกัดไม่เคยที่จะต้องการขัดขวาง กสทช.เพื่อไม่ให้เกิดการประมูลแต่อย่างใด

          บทสรุปท่าทีของทีโอทีวันนี้ จึงชัดเจนยิ่งนักว่าฝากอนาคตไว้กับคำพิพากษาของศาล !!

                    ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์  ฉบับวันที่ 10 - 16 ต.ค. 2558--
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่