"เดอะ มาร์เชียน" กับเรื่องที่ผิด"ข้อเท็จจริง"

จากมติชนออนไลน์

แน่นอนอย่างหนึ่งว่า "นิยายวิทยาศาสตร์" หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า "ไซไฟ" นั้น (รวมไปถึงภาพยนตร์แนวเดียวกันนี้) วัตถุประสงค์เเรกสุดคือการให้ "ความบันเทิง" ต่อผู้อ่านหรือผู้ชมเป็นสำคัญ ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะ "ให้การศึกษา" หรือ "ทำความเข้าใจ" แต่อย่างใด

กระนั้นบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องความ "ถูกต้อง" และ "สมจริง" ของนวนิยายหรือภาพยนตร์แนวนี้อยู่เนืองๆ ด้วยความคาดหวังเบื้องต้นถึงความถูกต้องของหลักการทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องราวๆ นั้นอย่างน้อยก็ในหลักการพื้นฐาน และยังมีเหตุผลประการสำคัญอีกอย่าง กล่าวคือ ไม่ต้องการให้สาธารณชนทั่วไปไขว้เขวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในนิยายหรือภาพยนตร์เป็นความจริง

ภาพยนตร์ไซไฟเรื่องดังๆอย่างกราวิตี้ หรือ จูราสสิค เวิลด์ ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่สมจริงมาแล้ว คราวนี้ก็ถึงคราวนิยายและภาพยนตร์ไซไฟที่กำลังเป็นที่สนใจอย่าง "เดอะ มาร์เชียน" ที่เขียนโดย แอนดี้ เวียร์ และกลายเป็นภาพยนตร์จากการกำกับของ ริดลีย์ สก็อต ผู้กำกับการแสดงมือดีรายหนึ่งในแวดวงฮอลลีวู้ด ก็ถูกวิจารณ์เรื่องที่ "ผิดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์" อีกเช่นกัน

เรื่องที่ผิดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ในนิยายและภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น อยู่ที่ฉากสำคัญฉากหนึ่งในเรื่อง นั่นคือ ฉากว่าด้วย "พายุฝุ่น" บนดาวอังคาร

"พายุฝุ่นบนดาวอังคาร" นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ นักดาราศาสตร์ที่เฝ้าสังเกตการณ์บนโลกสังเกตเห็นพายุฝุ่นดังกล่าวผ่านกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกมานานหลายสิบปีแล้วเป็นประจำทุกปีเรื่อง"เดอะมาร์เชียน"เริ่มต้นเหตุการณ์ต่างๆตามท้องเรื่องด้วยเหตุการณ์เกิดพายุฝุ่นมหึมาดังกล่าวนี้ซึ่งทำให้เกิดเหตุราวกับว่าดาวอังคารกำลังเผชิญพายุเฮอริเคนหรือไต้ฝุ่นที่เป็นเหตุให้"มาร์ควัตนีย์" ตัวเอกในเรื่องต้องติดค้างอยู่บนดาวอังคาร ถูกตัดขาดจากเพื่อนนักบินอวกาศด้วยกัน และเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ตามท้องเรื่องตามมา

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ให้ข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพายุฝุ่นบนดาวอังคารไว้ว่า นอกจากพายุฝุ่นที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำทุกปีบนดาวอังคาร ซึ่งมีขนาดขอบเขตใหญ่โตชนิดสามารถครอบคลุมพื้นที่ทวีปทั้งทวีปได้แล้ว บนดาวอังคารยังมีพายุฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า เกิดขึ้นได้ยากและน้อยครั้งกว่า แต่รุนแรงกว่าพายุฝุ่นรายปีมาก

ไมเคิล สมิธ นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด ของนาซาในเมืองกรีนเบลท์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บอกว่า พายุฝุ่นขนาดมหึมาดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นทุกๆ 3 ปีดาวอังคาร (ราว 5 ปี 6 เดือนบนโลก) โดยเฉลี่ย เมื่อพายุฝุ่นปกติที่เกิดขึ้นทุกปีขยายขอบเขตและความรุนแรงขึ้นครอบคลุมเกือบทั่วทั้งดาว นักดาราศาสตร์เรียกว่า "โกลบอล ดัสต์ สตอร์มส์" เพื่อแยกพายุฝุ่นแบบนี้ออกจากพายุฝุ่นทั่วๆ ไปบนดาวอังคาร

ครั้งหลังสุดที่เกิด โกลบอล ดัสต์ สตอร์ม บนดาวอังคารคือเมื่อปี 2001 มีการถ่ายภาพดาวอังคารทั้งดวงเอาไว้ด้วย สามารถเปรียบเทียบกับสภาพดาวอังคารปกติได้

ดังนั้น พายุฝุ่นที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง เดอะ มาร์เชียน นั้นเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ก็คือ พายุฝุ่นดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นพายุฝุ่นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาบนดาวอังคาร ก็ "ไม่สามารถก่อให้เกิดความเสียหาย" ให้กับอุปกรณ์ เครื่องยนต์กลไก ถึงขนาดฉีกขาด ถูกทำลายเหมือนกับโดนพายุไต้ฝุ่นแต่อย่างใด และไม่มีวันทำให้นักบินอวกาศตกค้างอยู่บนดาวดวงนั้นแน่ๆ

เหตุผลสำคัญก็คือ บรรยากาศบนดาวอังคารเบาบางมาก มีความหนาแน่นเทียบกับความหนาแน่นของบรรยากาศบนพื้นโลกแล้วเท่ากับ 1 เปอร์เซ็นต์ของความหนาแน่นของบรรยากาศเหนือพื้นโลกเท่านั้น

ดังนั้น ความเร็วลมขณะเกิดพายุฝุ่นบนดาวอังคารที่มีความเร็วสูงถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ทำให้มนุษย์อวกาศรู้สึกเหมือนกำลังเผชิญกับกระแสลมเบาๆ สบายๆ

ที่มีความเร็วราว 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนพื้นโลกเท่านั้นเอง

ภาพเขียนแสดงพายุฝุ่นบนดาวอังคารของนาซา (เครดิตภาพ-NASA)

ภาพถ่ายจากฮับเบิล สเปซ เทเลสโคป เมื่อดาวอังคารมีพายุฝุ่น (ขวา) และไม่มีพายุฝุ่น (เครดิตภาพ-NASA)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่