ผมว่านี่คือธรุกิจเวปไซท์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเวป think of living

http://m.posttoday.com/life/life/382113?refer=http%3A%2F%2Fl.facebook.com%2Flsr.php%3Fu%3Dhttp%253A%252F%252Fwww.posttoday.com%252Flife%252Flife%252F382113%26ext%3D1444256776%26hash%3DAck0p94SU3V-BA5Z75bsmfAHOHL2FJ5L9qZK03nNs0yl1Q


คนในแวดวงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คนอยากมีบ้าน คนอยากหาซื้อคอนโดมิเนียมที่เคยค้นหาข้อมูลบนโลกออนไลน์เวลานี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จักเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่ชื่อว่า “ThinkOfLiving” โดยนับว่าเป็นเว็บไซต์ที่แจ้งเกิดในแวดวงนี้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นเพราะเกิดขึ้นในจังหวะที่ลงตัว ทั้งความต้องการคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น คนต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมมากขึ้น และพฤติกรรมการหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ทำให้เว็บไซต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมีบทบาทมากขึ้น

เว็บไซต์ ThinkOfLiving เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ที่ตลาดคอนโดมิเนียมบูมสุดๆ หลังจากน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 เป็นเว็บรีวิวคอนโดมิเนียมในแบบเรียลๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมโครงการนั้นๆ แบบเข้าถึงใจคนกำลังหาคอนโดมิเนียม เพราะเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการในแบบเชิงลึก ทั้งข้อมูลทั่วไป และข้อมูลเชิงเทคนิค ลักษณะห้อง คุณภาพวัสดุที่ใช้ ระยะห่างจากหน้าจอทีวีกับโซฟาที่โครงการออกแบบไว้เหมาะสมหรือไม่ ฯลฯ ยังไม่นับรวมบรรยากาศรอบข้างโครงการนั้นๆ ว่าเป็นยังไงบ้าง มีร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือมีวินมอเตอร์ไซค์หรือไม่ รวมถึงบอกการเดินทางแบบละเอียดยิบ เรียกว่าอ่านปุ๊บไปโครงการนั้นถูกชัวร์

ด้วยความเรียลในแบบที่คนเขียนรีวิวเริ่มต้นด้วยการอยากรีวิวเอง เป็นผลให้ ThinkOfLiving เป็นที่นิยมของคนที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้นทราฟฟิกของกลุ่มคนที่อยากมีบ้าน มีคอนโด ในแบบที่เรียกว่ากลุ่มเรียลดีมานด์ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หันมาให้ความสำคัญเว็บไซต์นี้ และเป็นหนึ่งในที่มาที่ทำให้กลุ่มไอพร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป (iProperty Group) ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากออสเตรเลีย ตัดสินใจเข้าซื้อเว็บไซต์ ThinkOfLiving โดยแบ่งเป็นเงินเสนอซื้อ 6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (152 ล้านบาท) และหุ้นของไอพร็อพเพอร์ตี้ มูลค่าราว 2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (50 ล้านบาท) รวมมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท นับเป็นอีกก้าวของความสำคัญของ ThinkOfLiving

บีม-เธียรรุจ ธรณวิกรัย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ ThinkOfLiving เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างเว็บไซต์นี้เกิดขึ้นก่อนปี 2554 ในเวลานั้นข่าวอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่จะนำเสนอในเชิงนโยบายของบริษัทนั้นๆ เช่น มีแผนลงทุนอย่างไร จะเปิดตัวกี่โครงการ มีโครงการอะไรบ้าง แต่ยังไม่มีการนำเสนอในมุมมองที่ผู้บริโภคที่เป็นคนอยู่อาศัยอยากรู้ เช่น ทำเลที่ตั้งโครงการนี้อยู่ตรงไหน หน้าตาเป็นอย่างไร จึงอยากทำเว็บไซต์ที่นำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่พลิกอีกมุมมอง มองในมุมของผู้บริโภค พร้อมกับมีข้อมูลความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายของผู้ประกอบการต่างๆ โดยปัจจุบันสัดส่วนข้อมูลเจาะตรงผู้บริโภค 80% และส่วนของผู้ประกอบการ 20%

“จริงๆ เราเริ่มต้นทำเว็บไซต์นี้ในปี 2554 แต่เจอน้ำท่วมใหญ่พอดี ซึ่งแน่นอนว่าช่วงเวลานั้นไม่มีใครมีกระจิตกระใจอยากจะซื้อบ้าน-คอนโดใหม่ๆ เพราะต้องแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันก่อน ซึ่งเวลานั้นเราก็ปรับตัวด้วยการนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับช่วยน้ำท่วม เหมือนเป็นสื่อกลางรายงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ก็เหมือนวิกฤตเป็นโอกาส เพราะคนก็เริ่มรู้จักเว็บไซต์ของเรา”

เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ก็เริ่มแนะนำคอนโด แนะนำบ้านจริงจังตอนปี 2555 ซึ่งเป็นจังหวะที่ตลาดคอนโดมิเนียมบูมมากๆ เพราะพอหลังน้ำท่วมกระแสที่อยู่อาศัยแนวสูงมาแรงแซงที่อยู่อาศัยแนวราบ แต่ยังไม่มีสปอนเซอร์มากนัก เพราะเวลานั้นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังไม่สนใจใช้สื่อออนไลน์
สำหรับการพัฒนาคอนเทนต์ในช่วงแรกๆ ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในวันนี้ เกิดจากการมองเรื่องการช่วยคนเป็นหลัก ไม่ได้มองเรื่องเงิน ไม่ได้มองว่าจะต้องขายโฆษณาได้ แต่มองว่าจะทำประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้อย่างไร ทำอย่างไรให้คนมีบ้านได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ ได้ดีขึ้น เพราะถ้าไปดูข้อมูลในพันทิป หรือในประกาศดอทคอม จะเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนผิดหวังจากการซื้อบ้าน-คอนโดจำนวนมาก ซึ่งถ้ามีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกให้ผู้ซื้อได้เรียนรู้ก่อนตัดสินใจ อาจช่วยให้คนอยากมีบ้าน-คอนโด ได้บ้าน-คอนโดที่ตรงกับความต้องการมากที่สุดได้

“ธุรกิจที่มองจุดเริ่มต้นที่สังคมก่อน ถ้าทำประโยชน์ให้สังคมได้จริง มันจะดัง จะดี ก็จะขายได้เอง  แต่ถ้าโฟกัสหลุด มองแต่เรื่องเงินก่อน อาจจะไปต่อได้ไม่ไกล”

ในช่วงเริ่มต้นที่จะทำให้คนรู้จัก ThinkOfLiving นอกจากคอนเทนต์ที่ดีแล้ว ยังต้องหาช่องทางที่จะกระจายให้ดีด้วย ทีมงานด้านไอทีก็มีบทบาทสำคัญมาก โดยช่วงปี 2554 คนไทยเริ่มใช้เฟซบุ๊ก ยูทูบแล้ว ก็ใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ช่วยกระจาย ทำให้แชร์ได้ง่ายขึ้น คนก็มีโอกาสรู้จักเว็บไซต์เกิดใหม่ได้ดีขึ้นด้วย โดยอย่างที่กล่าวแล้วว่า หลังน้ำท่วม คอนโดมิเนียมบูมมาก ประกอบกับตลาดออนไลน์ค่อยๆ โต ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มียอดผู้เยี่ยมชมแตะหลักแสนคนต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับเว็บไซต์เปิดใหม่ที่มีแต่เรื่องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว ส่วนปัจจุบันยอดผู้เยี่ยมชมขยับขึ้นมาสูงถึง 5.2 แสนคน/เดือน สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของทั้ง ThinkOfLiving  และสื่อออนไลน์กับอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ในช่วงปลายปี 2555 ก็เริ่มขยายไปช่องทางใหม่ๆ มีคลิปวิดีโอรีวิวโครงการลงยูทูบ ปลายปี 2556 ได้ไปลงในมันนี่ แชนแนล แล้วก็มีพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรก พอปี 2557 ก็ทำหนังสือ จัดอีเวนต์ร่วมกับ
ผู้ประกอบการ เช่น กลุ่มเอพี กลุ่มเอสซีจี และกลุ่มอนันดา ซึ่งเป็นอีเวนต์ที่ทำให้ได้คุยกับแฟนเพจ และแฟนเว็บไซต์ ThinkOfLiving ได้พูดคุย ทำให้ ThinkOfLiving  เป็นที่รู้จักมากขึ้น ปีนี้ก็ยังมีอีเวนต์ต่อเนื่องทั้งที่สยามพารากอน และที่เอ็ม ควอเทียร์ โดยปัจจุบันถือว่ามีช่องทางครอบคลุมแล้ว ทั้งเว็บไซต์ รายการทีวี และพ็อกเกตบุ๊ก ทีมงานจากเริ่มต้น 3-4 คน ปัจจุบันมีประมาณ 25 คน หลังจากนี้จะเน้นพัฒนาเนื้อหาให้ดีขึ้นครอบคลุมโครงการใหม่ๆ ที่เปิดตัวทั้งคอนโดมิเนียม 80-90% และบ้าน 50%

สำหรับการขายกิจการให้กลุ่มไอพร็อพเพอร์ตี้ ก็ถือเป็นการสร้างพันธมิตรในระดับเอเชีย เพราะทุนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเครือข่ายเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์อันดับต้นๆ ในมาเลเซีย ฮ่องกง มาเก๊า โดยมาเลเซียถือเป็นฐานใหญ่สุด ซึ่งทุนกลุ่มนี้สนใจอยากร่วมทุนตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เริ่มปั้น ThinkOfLiving แล้ว  และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้ทำให้แนวทางของ ThinkOfLiving เปลี่ยนไป

ด้าน โอ๋-สุเชฏฐ์ ฤทธีภมร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ThinkOfLiving กล่าวว่า 4 ปีที่แล้วก่อนจะมี ThinkOfLiving ถ้าเข้าไปดูในพันทิป ในประกาศดอทคอม จะเจอคนเสียใจ ผิดหวังจากการซื้อที่อยู่อาศัยในหลายโครงการจำนวนมาก โดยการทำธุรกิจเกี่ยวกับเว็บไซต์ไม่ได้ใช้เงินเยอะ ถ้าเทียบกับการลงทุนธุรกิจอื่นๆ แต่สิ่งที่ลงเยอะคือเรื่องคอนเทนต์ ส่วนการทำอีเวนต์จะทำให้มีโอกาสเจอผู้อ่านตัวจริง ซึ่งถ้ายังทำเองเดี่ยวๆ ไม่ได้ ก็ต้องร่วมกับผู้ประกอบการ ส่วนหนังสือแรกๆ ทำขาย หลังจากนี้จะทำแจกฟรีให้กับแฟนๆ ของเว็บไซต์

“เราอยากให้ ไม่อยากทำขาย ขอบคุณ ถ้าเขามีใจมาหา มาเจอ ก็ให้ไปเลย ความรู้มีไว้แบ่งปัน ไม่ได้ไว้ขาย”

สำหรับภาพรวมธุรกิจออนไลน์เติบโตในทุกประเภทสินค้า เพราะ 3จี ดีขึ้น คนจึงใช้ออนไลน์มากขึ้น โฆษณาจึงถูกโยกมาจากสื่ออื่น เช่นเดียวกับอสังหาฯ หลายสื่อหลัก เช่น ป้ายโฆษณาเอาต์ดอร์แพงขึ้นมาก หลายค่ายจึงเริ่มโยกงบมาออนไลน์

ท้ายที่สุด สิ่งที่อยากฝากกับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เด็กรุ่นใหม่คิดถึงแต่เงินมากไปหน่อย ให้วางมันไว้ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีมูลค่ากับสังคม คิดเรื่องนี้ไว้ก่อน ถ้ามีประโยชน์ ลงมือทำอย่างตั้งใจ ไม่ท้อ ถ้าทำแล้วมีคุณค่า คนจะมองเห็นเอง

------------------------------------------------------------------
ผมว่านี่คือนักธรุกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากการทำเวปไซท์  ร่ำรวยตั้งแต่อายุน้อยๆ เป็นมาร์กซักเกอร์เบิก เมืองไทยได้เลย (แจคหม่า กว่าจะรวยแก่แล้ว)  

แทบไม่ต้องลงทุน  งานแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย  (เทียบกับงานอื่น เช่นงานผลิต หรืองานภาคบริการ)  แต่แบ่งหุ้นขายเวปได้ 200 ล้าน (ไม่เยอะเท่าระดับโลก  แต่ผมถือว่าเยอะมากๆ ระดับคนเดินถนนเมืองไทย)  แค่เริ่มจากการทำงานที่ใจรัก   ทุกอย่างก็ออกมาดีเอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่