งานเข้าแล้ว เพื่อนรักเพื่อนริษยา เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้ส่งหนังสือเรื่องเอดส






(7 ต.ค.) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้ส่งหนังสือถึง ผู้บริหารบริษัท บ้านละคอน จำกัด และ ผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อเรียกร้อง เรียกร้องให้ผู้จัดละคร "เพื่อนรักเพื่อนริษยา" และสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องเอชไอวี/เอดส์

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่ละครเรื่อง "เพื่อนรักเพื่อนริษยา" ของบริษัท บ้านละคอน จำกัด ที่ออกอากาศในวันที่ 6 ต.ค. ที่มีฉากหนึ่งของเรื่อง เป็นฉากที่หนึ่งในตัวแสดงหลักติดเชื้อเอชไอวี เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และเสียชีวิตจากเอดส์นั้น ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เห็นว่า ฉากดังกล่าวเป็นการสร้างความเข้าใจผิดในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ อย่างร้ายแรง ดังนี้

1.การสื่อสารว่าโรคเอดส์มีระยะสุดท้าย และระยะวิกฤติ รวมทั้งการให้ภาพผู้ป่วยที่มีแผลเหวอะหวะและมีเลือดออกทั้งร่างกาย จะทำให้สังคมเข้าใจผิด เกิดความกลัว รังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ

2.การสื่อสารว่าเมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วจะต้องเสียชีวิต

ทั้งนี้ การสื่อสารดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ที่ว่า โรคเอดส์ไม่ได้แบ่งเป็นระยะดังกล่าว แต่แบ่งเป็น "ผู้ติดเชื้อเอชไอวี" กับ "ผู้ป่วยเอดส์" ซึ่งแตกต่างกันที่ ผู้ติดเชื้อฯ คือ ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้วและยังไม่มีอาการป่วยใดๆ

ในขณะที่ ผู้ป่วยเอดส์ คือ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส อันเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งโรคฉวยโอกาสทุกโรคสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส เมื่อได้รับการรักษาและหายป่วยแล้วก็จะกลับมาเป็น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตามเดิม ซึ่งไม่มีโรคฉวยโอกาสที่ทำให้มีลักษณะเหมือนที่ละครได้สื่อสารออกไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อรู้ตัวว่ามีเชื้อฯ ไม่จำเป็นจะต้องป่วยเอดส์ เพราะปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งครอบคลุมอยู่ในสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพ ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ทุกคน ได้รับยาไวรัสฯ ทันที และเริ่มยาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ถูกทำลาย ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง เรียนได้ ทำงานได้ ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป และดูไม่ออกจากรูปลักษณ์ภายนอก

โดยเมื่อผู้ติดเชื้อฯ เข้าสู่การรักษาดังเช่นตัวละครในเรื่องเพื่อนรักเพื่อนริษยาแล้ว ผู้ติดเชื้อฯ คนดังกล่าวก็จะไม่ได้มีสภาพป่วยโทรม และต้องเสียชีวิตในที่สุด

อนึ่ง การสื่อสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และผลิตซ้ำความเข้าใจผิดในเรื่องเอชไอวี/เอดส์นั้น จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบาก เกิดการรังเกียจ ไม่รับเข้าเรียน ไม่รับเข้าทำงาน กีดกันไม่ให้อยู่ร่วมกันในสังคมเพราะเชื่อว่าติดเชื้อฯ แล้ว สุดท้ายจะเป็นดังภาพที่ละครได้เสนอออกมา ทั้งที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ไม่แตกต่างจากคนทั่วๆ ไป

รวมทั้งยังส่งผลให้คนที่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อฯ ซึ่งหมายถึงทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ไม่กล้าเข้ามารับการตรวจรักษา เพราะเชื่อว่า รักษาไม่หาย เมื่อติดเชื้อเอชไอวีแล้วก็ต้องเสียชีวิตอย่างทรมาน

ยิ่งไปกว่านั้น ก็จะส่งผลให้คนที่มีเพศสัมพันธ์ มองความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีของตนเองพลาด และไม่ได้ป้องกัน เพราะคิดว่าคนที่ตัวเองมีเพศสัมพันธ์ด้วย ไม่มีเชื้อเอชไอวีแน่นอน เพราะถ้ามีเชื้อฯ ต้องแสดงอาการป่วยให้เห็นเหมือนในละคร

อย่างไรก็ดี ผลกระทบทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้างปัญหาในการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านเอดส์ให้กับสังคมและประเทศในระยะยาว

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ทำงานในเรื่องเอชไอวี/เอดส์มากว่า 20 ปี ขอเรียกร้องให้ผู้จัดละคร "เพื่อนรักเพื่อนริษยา" และผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ รับผิดชอบด้วยการแก้ไขข้อมูล และให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและรอบด้านแก่สังคม ผ่านช่องทางต่างๆ ที่ทางสถานีมีโดยด่วน

ไม่ว่าจะผ่านรายการ ข่าว สกู๊ป หรือเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ให้แก่สังคม โดยทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยินดีส่งตัวแทน "ผู้ติดเชื้อเอชไอวี" ที่พร้อมเปิดเผยตนเอง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงแก่ผู้จัดละคร/ผู้บริหารสถานีฯ หรือเผยแพร่ให้ผู้ชม รับทราบจากกรณีดังกล่าว

หากทางผู้จัดละครหรือผู้บริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องเอชไอวี/เอดส์ สามารถดูได้ที่ www.thaiplus.net หรือติดต่อ คุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว โทร 086-881-4679
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่