เกร็ดและที่มาของบอสใหญ่ใน Final Fantasy VI และ IX

เอาเกร็ดน่าสนใจของ boss ใหญ่ใน FFVI และ IX มาฝากแฟนๆ FF ทุกท่านครับ
หวังว่าคงจะชอบกันนะครับ ผู้ชาย


[FFVI]




เทวรูปแห่งเทวา (神々の像) บอสทั้ง 3 ส่วน 3 ชั้นใน Final Fantasy VI ที่เราต้องเผชิญก่อนสู้กับ เคฟก้า ไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างเท่ อย่างแนวเฉยๆ หากมีที่มาและแรงบันดาลใจล้ำ จากกวีนิพนธ์เรื่อง "Divine Comedy" ที่เป็นเรื่องราวการท่องไปยังโลกหน้าของดันเต้ และได้ไปเยือนถึงสวรรค์ นรก จรดแดนผู้ตาย โดยในแต่ละชั้นของเทวรูปแห่งเทวา ก็ได้จำลองแต่ละฉากมาจากเรื่องดังกล่าวด้วย

นรก - จำลองภาพของซาตานที่ถูกคุมขังในนรกเยือกแข็งครึ่งท่อน มาทำออกมาเป็นร่างในชั้นแรก พร้อมสื่อถึงปีศาจและการทำลายล้าง

แดนชำระ - ดินแดนของผู้ที่ไม่ได้ประกอบบาปหนาจนถึงกับตกนรก แต่ยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ดีงาม หรือมีศรัทธาแรงกล้าพอจนสามารถเข้าสวรรค์ได้ ส่วนนี้ได้นำภาพของผู้ติดอยู่ในแดนชำระทั้งหลายมาสื่อทำเป็นชั้น 2 พร้อมส่วนประกอบ 4 ส่วน คือ เสือ (とら) (อสูรกาย), มนตรา (まほう), จักรกล (きかい) และ พลัง (なぐる) แทนถึงขุมอำนาจ 4 ประการในโลกที่เป็นเครื่องท้าทายและทำให้เบนออกห่างจากสวรรค์ได้ โดยส่วนพลังเองยังมีความคล้ายคลึงกับตัวเคฟก้า เพื่อสื่อถึงการแสวงหาพลังอำนาจจนเปลี่ยนจากมนุษย์กลายเป็นเทพเจ้าด้วย

สวรรค์ - แดนวิมานแห่งบรมสุข ชั้นนี้จำลองมาจากรูปปั้น ปีเอตะ ของศิลปิน ไมเคิล แองเจโล ที่ได้ปั้นจำลองฉากที่พระแม่มารีย์อุ้มพระเยซูหลังถูกเชิญลงจากไม้กางเขนไว้ในอ้อมพระหัตถ์ โดยในชั้นนี้ทำสื่อแทนถึงนักบุญและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ แดนสวรรค์เช่นนี้

- เคฟก้า : สุดท้าย ในตอนท้ายของ Divine Comedy ดันเต้ได้ไปขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าบนสวรรค์ และได้รับการตรัสสอนถึงเรื่องความดีงามและคุณค่าของชีวิตกลับมา ในขณะที่ใน FFVI ได้จำลองทำออกมาในแบบตรงกันข้ามกัน คือใช้เคฟก้าที่กลายเป็นเทพแทนพระเจ้า และกล่าวตรงกันข้ามกันถึงความไร้คุณค่าของชีวิตและการดำรงอยู่ และการทำลายสิ้นเสียทุกอย่างแทน

เรียกว่ากว่าจะเป็น boss กว่าจะออกแบบมาได้แบบนี้ คิดมาเยอะ ดีไซน์ให้สอดคล้องแฝงความนัยมาแยะ จนมีที่มาเบื้องลึกเบื้องหลัง อย่างน่าสนใจที่ไม่ใช่แค่ boss ที่มีให้สู้ เกมที่มีให้แค่เล่นผ่านจริงๆ ครับ




ว่าแล้วมาดูเกร็ดน่ารู้และเรื่องนัยยะการออกแบบของบอสใหญ่ FF IX กันต่อบ้าง



Boss ใหญ่หรือ Boss ตัวสุดท้ายใน Final Fantasy IX แรกเริ่มเดิมทีถูกกำหนดมาให้เป็น Hades โดยสื่อ concept ถึงความตาย และการดับสูญสิ้น ดังจะสังเกตเห็นได้จากภาพ concept art ของศึกสุดท้ายที่หุบเขาแห่งความสิ้นหวัง (絶望の丘) ที่ส่วนสถานที่ต่อสู้แบบหอคอยทรงกลมคลุม ตัวส่วนผนังถูกออกแบบออกมาใน theme เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของ "ความตาย" พร้อมสัญลักษณ์ของกะโหลก ดวงตา และลวดลายที่สื่ออกไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับดีไซน์ของตัว Hades ตลอดจนบัลลังก์ที่นั่งอยู่

หากแต่สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยนำ Hades ไปเปลี่ยนเป็น boss ลับหรือ boss ทางเลือกแทน แล้วจึงใส่ ความมืดนิรันดร์ (永遠の闇) (Necron) เข้ามาเป็น Boss ตัวสุดท้ายแทน โดยยังคง concept เกี่ยวกับความตายและการดับสูญ มาผนวกเข้ากับเรื่อง "ความสิ้นหวัง" และ "จุดจบ"

ซึ่งตัว ความมืดนิรันดร์นั้น ก็มีตัวต้นแบบมาจาก Boss ตัว Necrophobia (ネクロフォビア) จาก Final Fantasy V ที่รูปร่างและคุณลักษณะองค์ประกอบโดยรวมล้วนมีความสอดคล้องต่อกัน และมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง "ความตาย" (Necro) เหมือนกัน นั่นเอง..




ไหนๆ แล้วก็ขอแถมตัวร้ายของภาค IX อย่าง พ่อหนุ่มโฉมงาม Kuja อีกรายด้วยซะเลย



Kuja ตัวร้ายประจำ Final Fantasy IX แท้จริงแล้วชื่อของเขามีที่มา คือเป็นหนึ่งในนามของพระอังคาร (Mangala) ในความเชื่อของทางฮินดู

โดยพระอังคารมีนามเรียกขานอยู่ด้วยกัน 4 นาม อันได้แก่ Mangala / Angaraka / Chevaai และ Kuja โดยชื่อ Kuja ยังมีความหมายแปลว่า "บุตรแห่งโลกา" หรือ "ผู้กำเนิดมาจากผืนภพ" อีกด้วย

Kuja หรือพระอังคารมีกายาสีแดงก่ำดังไฟ เป็นสีแดงแบบเดียวกันกับดาวอังคาร (Mars) ที่เป็นดาวเคราะห์สีแดง เป็นเทพแห่งการศึกสงคราม ในลักษณะเดียวกันกับ Mars ของทางโรมัน และ Ares ของทางกรีก และเป็นตัวแทนของจักรราศีเมษและราศีพิจิก ขณะที่ในส่วนพระอังคารตามความเชื่อของไทย มีกายาและนุ่งห่มด้วยเครื่องทรงสีชมพู มีมหิงสา (กระบือ) เป็นพาหนะ และมีอารมณ์ที่มุทะลุดุดันรุนแรง

ซึ่งเมื่อลองเทียบลักษณะของตัวละคร Kuja ที่ปรากฏในเกม FFIX โดยอ้างอิงตามตำนานและความเชื่อแล้ว ก็จะพบความสอดคล้องที่ลงตัวอยู่หลายประการ

* ทั้งการที่เป็นเทพแห่งสงคราม - คือการที่ Kuja มาเป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดสงครามการสู้รบขึ้นในโลก Gaia

* การที่นามหมายถึง บุตรแห่งโลกา หรือผู้ถือกำเนิดมาจากโลก - ตามอย่างที่ Kuja ถูกสร้างและถือกำเนิดมาจาก Terra (ที่หมายถึงโลกในภาษาลาติน)

* การที่มีนิสัยมุทะลุ อารมณ์รุนแรง - ตามอย่างที่เราเห็นเรื่องการทำอะไรตามอารมณ์ ตามอำเภอใจ และการที่ Kuja ในเรื่องมีอารมณ์ที่ร้อนรุนแรงในหลายๆ โอกาส

* การที่มีกายาสีแดงก่ำ / ชมพู - ตามอย่างที่เห็นในร่าง Trance ของ Kuja ที่สีขนกลับกลายเป็นสีชมพูและแดงก่ำ ขณะที่พลังงานจาก Ultima ที่ปลดปล่อยออกมาเองก็ยังมีสีในโทนชมพูแดงตามด้วย


ส่วนกระบือหรือแกะ (ตามจักรราศีเมษ) ที่เป็นพาหนะ ก็อาจเทียบเคียงได้กับมังกรเงินในเรื่องตามที่เป็นพาหนะประจำตัวของ Kuja

นอกจากนี้รูปลักษณ์ของ Kuja ที่ปรากฏในตอนแรก อาจจะมาจากการตีความคำว่า Kuja ว่ามาจากคำว่า Kujaku ที่หมายถึง นกยูง ในภาษาญี่ปุ่นก็ได้ ดังจะเห็นได้จากรูปลักษณ์ ที่ดูอรชรอ้อนแอ้น แลดูงดงามอ่อนช้อยยิ่ง แม้จะเป็นเพศผู้ก็ตาม (ในลักษณะเดียวกันกับนกยูงที่ตัวผู้จะงดงามมากกว่าตัวเมียนั่นเอง)

ซึ่งเมื่อเทียบทั้งหมดแล้วก็จะเห็นได้ว่าตัวละคร Kuja ที่ปรากฏในเกม ได้ถอดแบบตีความมาจากทางตำนาน ความเชื่อ และตามความหมายของคำ ได้ออกมาอย่างสอดคล้องลงตัวยิ่งนัก...




และยังไงถ้าถูกใจ ชอบเนื้อหาในทำนองนี้
ก็สามารถแวะเวียนไปอ่านเพิ่มเรื่องอื่นๆ ได้อีกที่เพจ  
https://www.facebook.com/gppgamebook
ได้นะครับ


กระต่าย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่