[กระทู้หลังเกม] เพื่อนตำรวจ 1 – 2 อาร์มี่ ยูไนเต็ด ในมุมมองของแฟนบอลเพื่อนตำรวจคนหนึ่ง ✿

เปิดหัวไว้ว่า เป็นมุมมองของ "แฟนบอลเพื่อนตำรวจ คนหนึ่ง" ดังนั้น มีความเป็นไปได้ว่า ความคิดเห็นอาจจะเอียงไปทางหนึ่งทางใดบ้าง ในบางประเด็น

และที่สำคัญคือ เป็นความคิดเห็นของแฟนบอลเพียงแค่ "คนเดียว" จึงไม่ใช่ตัวแทนของความคิดเห็นของแฟนบอลเพื่อนตำรวจทั้งหมด

เห็นด้วย ก็เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นไร     เชิญทุกท่าน ทักทายและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้ตามอัธยาศัยนะคะ



ขอเริ่มกระทู้นี้จากรีวิวแมทซ์ แบบสั้นๆง่ายๆด้วยภาพประกอบ (เป็นผลการแข่งขันและรายละเอียดในครึ่งแรก ครึ่งหลัง และช่วงต่อเวลาพิเศษทั้ง 2 ครึ่ง)








ในส่วนของภาพรวมของเกม หากไม่ดูสถิติประกอบ คงต้องบอกว่า "โปลิศ ยูไนเต็ด" สู้ได้ และในหลายช่วงเวลา ทำได้ดีกว่า "อาร์มี่ ยูไนเต็ด" ด้วยซ้ำไป

แต่เมื่อมองสถิติประกอบ จากทั้ง 3 ภาพ แล้วสรุปเป็นภาพรวมออกมา ก็ต้องยอมรับว่า "อาร์มี่ ยูไนเต็ด ทำได้ดีกว่าจริงๆ"

จากสถิติ สิ่งเดียวที่เพื่อนตำรวจเหนือกว่า คือจำนวนครั้งของการได้เตะมุม แต่เมื่อทีมไม่สามารถสร้างโอกาสทำประตูจากลูกตั้งเตะได้ ก็ไม่มีประโยชน์

เช่นเดียวกับจำนวนครั้งที่ยิงหลุดกรอบ เพื่อนตำรวจมีสถิติในส่วนนี้ ดีกว่ามาก นี่คือโอกาส แต่เป็นโอกาสที่หลุดลอยไป และเป็นจุดที่ต้องแก้ไขต่อไป

ในส่วนของจำนวนใบเหลืองนั้น ขอไม่นำมาร่วมสรุป ด้วยเหตุผลบางประการ



สรุปเป็นการส่วนตัวด้วยข้อเท็จจริงว่า อาร์มี่ ยูไนเต็ด บุกมาเอาชนะ โปลิศ ยูไนเต็ด ถึงถิ่น ไปด้วยสกอร์ 2 - 1   เพื่อนตำรวจตกรอบเอฟเอ คัพ

หากถามว่า "ผิดหวังและเสียใจไหม" ไม่ต้องใช้สมองคิดแม้แต่เสี้ยววินาที ก็ตอบได้ว่า "ผิดหวังและเสียใจ" เติมคำว่า "มาก" เข้าไปอีกคำด้วยก็ได้

แต่ในท่ามกลางความรู้สึกผิดหวังและเสียใจ ก็ยังมีความรู้สึกยอมรับในผลการแข่งขัน และยินดีกับสุภาพบุรุษวงจักร “อาร์มี่ ยูไนเต็ด” ที่ได้เข้ารอบต่อไป







มีประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับเกมอีกหลายประเด็นทั้งที่ดราม่าและไม่ดราม่า ขอถือโอกาสหยิบยกมา และแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆเหล่านี้ ด้วยคน

หยิบมา 3 ประเด็นหลักๆ  ; สปิริตทีมที่หายไป / ความรับผิดชอบความพ่ายแพ้ของรัตนัย ส่องแสงจันทร์ / ผู้ตัดสินถูกแฟนบอลทำร้ายร่างกาย



สปิริตทีมได้ถูกทำลายและหายไป จากการกระทบกระทั่งกันระหว่างเกม ของนักเตะ 2 คน


โดยส่วนตัว รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกม ระหว่าง "ปกเกล้า อนันต์" กับ "รัตนัย ส่องแสงจันทร์" เพราะมองว่ามันเป็นการแสดงออกที่ “ไม่เหมาะสม”

แต่ไม่ถึงกับซีเรียส สะเทือนใจ หรือหัวเสีย ถึงขั้นที่ต้องออกมาติติงด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือแม้แต่เรียกร้องให้สโมสรต้องมีบทลงโทษ อย่างเป็นทางการ

เพราะเชื่อว่าความขัดแย้งจากอารมณ์ในเกม เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้  สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา คือหลังจากเหตุการณ์นั้น เกิดอะไรตามมาบ้าง ต่างหาก


คนอื่นเห็นอะไร ไม่รู้ แต่เจ้าของกระทู้มองเห็นว่ามีนักเตะส่วนหนึ่ง เข้าไปปลอบและให้กำลังใจปกเกล้า จากสีหน้าและท่าทาง ก็ดูจะมีอารมณ์ค้างคาอยู่

ในขณะที่ นักเตะอีกส่วนหนึ่ง รวมไปถึงโค้ชและประธานบริหารสโมสร รุมล้อม ปลอบและให้กำลังใจรัตนัย

สุดท้าย เห็นประธานฝ่ายบริหารสโมสร กอดคอ ปลอบใจ และพารัตนัยไปร่วมกับกลุ่มเพื่อนร่วมทีม ก่อนลงสนามในช่วงครึ่งหลังของการทดเวลาพิเศษ

ถือว่าเป็นภาพแห่งความประทับใจ และทำให้สรุปได้ว่า ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างนักเตะ 2 คน  “ไม่มีใครถูกเลือก และไม่มีใครถูกทิ้งไว้คนเดียว”

ขอเรียกสิ่งนี้ว่า "สปิริตทีม" ... มันอาจจะหายไปในช่วงเวลาสั้นๆจากอารมณ์ชั่ววูบ แต่สุดท้ายแล้ว มันก็ยังคงอยู่อย่างชัดเจน



ในเกมนี้ แฟนบอลทั่วไปอาจจะมองเห็นการกระทบกระทั่งกันระหว่างนักเตะและการเสียฟาล์วของผู้รักษาประตู แฟนบอลเพื่อนตำรวจคนหนึ่ง เห็นอะไร

ขอแชร์ในส่วนนี้ หากใครมีเวลาย้อนกลับไปดูคลิปเต็ม ลองถามตัวเองดูก็ได้ ว่าเห็นเหมือนกันไหม


1.ประธานบริหารสโมสร ยืนอยู่ท่ามกลางสายฝน ในขณะที่เจ้าหน้าที่สนามจำนวนหนึ่ง กำลัง “ช่วยกัน” พยายามแก้ไขสภาพสนาม ให้สามารถแข่งต่อได้

นี่สินะ เรียกว่า “ร่วมสุข ร่วมทุกข์”




2. ประธานบริหารสโมสร ยืนอยู่ด้านหลังโค้ช เราได้เห็น เบื้องหลังของผู้ชาย 2 คน ที่รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยไม่ก้าวก่าย แต่มีเป้าหมายเดียวกัน

“อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ” นึกถึงวลีนี้ขึ้นมา


3. นักเตะในทีมเพื่อนตำรวจหลายต่อหลายคน รีบเข้ามาช่วยกันระงับและยุติความขัดแย้งระหว่างรัตนัยกับผู้ตัดสิน ทั้งด้วยท่าทีที่อ่อนโยน และรุนแรง

“ต่างท่าที แต่ด้วยปรารถนาดีเหมือนกัน” คือสิ่งที่สรุปในใจ


4. เพื่อนร่วมทีม โค้ชและประธานบริหารสโมสร ต่างเข้ารุมล้อม ปลอบและให้กำลังใจรัตนัย ลงท้ายที่ประธานบริหารสโมสร กอดคอ พาเดินไปร่วมกับทีม

ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง ก็มีนักเตะอีกส่วนหนึ่ง เข้ามาปลอบและให้กำลังใจปกเกล้า

“ไม่มีใครถูกเลือก และไม่มีใครถูกทิ้งไว้คนเดียว” นี่ยังไม่ใช่ “สปิริตทีม” อีกหรือ ก็ได้แต่ถามตัวเองในใจ




5. สุรชาติ สารีพิมพ์ กัปตันทีมเดินกอดคอรัตนัย ไปส่งที่ประตู ในช่วงเริ่มเกมครึ่งหลังของการทดเวลาพิเศษ

นี่คือ “ความห่วงใย จากพี่ใหญ่ถึงน้องเล็ก”


ทั้งหมด คือสิ่งที่แฟนบอลคนหนึ่งมองเห็น บางคนอาจจะมองเห็นจุดสีดำบนพื้นขาว แต่สำหรับบางคน มองเห็นและเลือกที่จะโฟกัสที่พื้นสีขาวรอบจุดดำ







“รัตนัย ส่องแสงจันทร์” ผู้รักษาประตูคนนี้ ต้องรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ของเพื่อนตำรวจ


การที่แฟนบอลบางกลุ่ม โยนความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในเกมนี้ไปที่ “รัตนัย ส่องแสงจันทร์” เพียงคนเดียวนั้น อยากบอกว่าประเด็นนี้ ไม่เห็นด้วย

ฟุตบอลเป็นกีฬาประเภททีม แพ้ เสมอ หรือชนะ ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งทีม ในอัตราส่วนทีแตกต่างกันออกไป

ความพ่ายแพ้ในเกมนี้ จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัตนัยแต่เพียงผู้เดียว อย่างแน่นอน


ว่ากันตามตรง รัตนัยมีส่วนผิดพลาดจริง จากจังหวะที่ออกบอลช้า (รวมถึงปัญหาในการควบคุมอารมณ์) ซึ่งนำมาสู่ความพ่ายแพ้ ในที่สุด

แต่มันโหดร้ายเกินไป ที่จะให้นักเตะคนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในสนาม ตลอด 120 นาที ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดและความพ่ายแพ้ เพียงคนเดียว

เพื่อนร่วมทีม โค้ช ประธานฝ่ายบริหารสโมสร ตลอดจนถึงแฟนบอล ควรร่วมกันแชร์ทุกความรู้สึกและแบ่งเบาความรับผิดชอบทุกอย่างจากรัตนัย

ร่วมเสียใจ เข้าใจ เห็นใจ ให้อภัย ปลอบใจและให้กำลังใจ ... แบบนี้ต่างหากที่ควรจะเรียก “สปิริตทีม”


แค่ทีมแพ้ก็รู้สึกผิดหวังและเสียใจด้วยกันทุกคนอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นและสมควรที่จะให้เด็กคนนึงต้องรับผิดชอบต่อการตกรอบในครั้งนี้เพียงคนเดียว

เพียงแต่รัตนัย ต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ และไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก ... เท่านี้แหละ ที่ต้องการ และไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อตัวรัตนัยเองทั้งสิ้น


กรณีนี้ สโมสรไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษอย่างเป็นทางการ แค่กระแสสังคมที่ซัดมาเข้ามากระทบตัวและหัวใจของรัตนัย ก็มากเพียงพอที่จะเรียนรู้แล้ว

ความรู้สึกผิดในใจของรัตนัยนี่แหละ คือบทลงโทษชั้นดีของตัวเค้าเอง







ผู้ตัดสินแจง ถูกแฟนบอลทำร้าย


จุดยืนของตนเองคือ ไม่ว่าจะทำหน้าที่ได้แย่แค่ไหน ก็ไม่ควรมีใคร "ทำร้ายร่างกาย" ผู้ตัดสิน ยกเว้นว่ามีเหตุอันควรอื่น ที่สมเหตุสมผลประกอบ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ จะไม่ด่วนตัดสินฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จากคำกล่าวอ้างของใครทั้งสิ้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทั้ง 2 ฝ่าย ต่างกล่าวอ้าง "ไม่ตรงกัน"


ไม่ควรมีใครตกเป็นจำเลยสังคม ก่อนที่จะมีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานที่เชื่อถือได้มาประกอบ

หรือหากจะกล่าวอ้างด้วยคำพูด ก็ควรจะตระหนักว่า พึงรักษาเกียรติของตนด้วยการรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง ไม่พูดเท็จและไม่ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น

ตำแหน่ง หน้าที่ และถ้อยคำที่ฟังดูดี ไม่ได้ทำให้คำพูดมีความหมาย หากมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง


ในฐานะที่เป็นแฟนบอล ฝากถึงสโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจว่า อย่าให้ใครมาตราหน้าว่า เพื่อนตำรวจเป็นสโมสรที่ทั้งนักเตะและแฟนบอล "ไร้สปิริต"

"The Spirit of Gentlemen" เมื่อนำมาใช้แล้ว ต้องทำให้ได้

(ฟังดูเหมือนด่าสโมสร แต่ไม่นะ ไม่ได้ด่า แค่อยากบอกว่า ถ้าถูกตราหน้าว่า “ไร้สปิริต” “ถ่อย” “หยาบคาย” คุณต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ว่า "มันไม่จริง")








ดราม่าและด่าเยอะ เดี๋ยวกระทู้หม่นหมอง ปิดกระทู้ให้ซอฟท์ลงหน่อยก็แล้วกัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนบอลทุกคนจะคาดหวังอะไรต่อมิอะไรจากสโมสร   และก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดที่แฟนบอลจะยอมรับความผิดหวังได้ด้วย "รอยยิ้ม"

ดังนั้น สโมสรไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความผิดหวังของแฟนบอล “แพ้ทีมไหนก็ได้ แพ้กี่นัดก็ได้ แพ้ด้วยสกอร์เท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องชนะใจแฟนบอล”



สุดท้ายสำหรับกระทู้นี้ "ทริปเปิ้ลแชมป์คืออะไร เราลืมมันไปแล้ว"

ขอบคุณและเป็นกำลังใจให้นักเตะ โค้ช สต๊าฟ และประธานฝ่ายบริหารสโมสร   บุคลิกของคุณ สิ่งที่คุณเผชิญและสิ่งที่คุณทำอยู่ คนอื่นไม่รู้ แต่เรารู้ ✿



[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่