ฆ่าจิ้งจกบาปมากไหมคะ

ตอนนี้ไม่สบายใจมากๆเลยค่ะ

เรื่องมีอยู่ว่า  เราอยู่หอกับเพื่อน2คนค่ะ กลัวจิ้งจกกันทั้งคู่เลยค่ะ กลัวแบบสุดๆเลยค่ะ
แล้วเมื่อกี้ เจอมันเกาะอยู่ที่ประตูห้องน้ำ เลยพยายามไล่มันค่ะ ไม่อยากให้มันเข้ามาอยู่บริเวณในห้องอะค่ะ
เลยเอาไม้กวาดแหย่ๆกันไว้ไม่ให้มันออกมาค่ะ แล้วก็คิดวิธีไปด้วยว่าจะทำยังไงดี
คือเพื่อนเราเป็นคนกลัวจิ้งจกมากค่ะ อยากจะเอาน้ำร้อนสาด น้ำร้อนราด ขังมันไว้ในแก้ว ปิดประตูทับ ประมาณนี้ค่ะ
แต่เราแค่อยากไล่เฉยๆเราไม่อยากฆ่ามัน เราเลยไม่ตกลงซักวิธี สุดท้าย เลยมาจบที่ เราเข้าไปยืนบนโถส้วมค่ะ
ละปัดให้มันหล่นลงมาที่พื้นห้องน้ำ แล้วเอาสายยางฉีดให้มันลงไปในท่อค่ะ แต่ระหว่างที่ฉีดเราสงสารมันมากเลยค่ะ
ตอนฉีดมันลงท่อเรานี่หลับตาเลยค่ะปล่อยมันไหลไปตามน้ำให้เพื่อนดูแทนค่ะ จริงๆวิธีนี้เราก็ไม่อยากทำค่ะตอนแรกเพราะลงท่อไป
ยังไงมันก็ตายค่ะ แต่กลัวมากค่ะไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยจบที่วิธีนี้แหละค่ะ


เราก็เลยอยากจะรู้ว่า
ฆ่าจิ้งจกมันบาปมากไหมคะ เราไม่สบายใจมากเลยค่ะตอนนี้ แล้วเราจะได้รับผลกรรมอะไรไหมคะ
เราต้องสวดมนต์แผ่เมตตา หรือทำบุญให้มันไหมค่ะ

ขอบคุณมากมากเลยค่ะ
(เราพึ่งตั้งกระทู้ครั้งแรก ไม่รู้จะแท็กอะไรดีค่ะ แท็กผิดขอโทษด้วยนะคะ)
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
หลักธรรมจากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://ppantip.com/topic/33843194/comment48

  ปาณาติบาตนั้นมีองค์ ๕ คือ              
               ๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
               ๒. ปาณสญฺญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
               ๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
               ๔. อุปกฺกโม มีความพยายาม ( ลงมือทำ )
               ๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น.


--------------------------------

จากคู่มือการศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๕ อภิธรรมมูลนิธิ

แสดงปาณาติบาตกรรมโดยมหาสาวัชชะ และอัปปสาวัชชะ

การฆ่าสัตว์จะมีโทษมาก คือ มหาสาวัชชะ หรือมีโทษน้อย คืออัปปสาวัชชะ ย่อมขึ้นอยู่กับสัตว์ที่ถูกฆ่า และความพยายามของผู้ฆ่า ซึ่งต้องอาศัยหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ๓ ประการด้วยกันคือ
๑. ร่างกายของสัตว์ที่ถูกฆ่า ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น ก็มีโทษเป็นมหาสาวัชชะ เพราะชีวิตนวกลาปของสัตว์พวกนี้ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าสัตว์ที่ถูกฆ่าเป็นสัตว์เล็ก เช่น มด ยุง ริ้น ไร เป็นต้น ก็มีโทษน้อย เป็นอัปปสาวัชชะ
๒. คุณธรรมของสัตว์ที่ถูกฆ่า ในระหว่างสัตว์เดรัจฉานกับมนุษย์ ฆ่ามนุษย์มีโทษมากกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉาน
สำหรับการฆ่ามนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ฆ่าผู้ที่มีศีลธรรม เช่น ภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกา เป็นต้น มีโทษมากกว่าฆ่าผู้ที่ไม่มีศีลธรรม เช่น โจรผู้ร้าย เป็นต้น ย่อมมีโทษน้อยกว่า ถ้าผู้ถูกฆ่าเป็น บิดา, มารดา, พระอรหันต์ เป็นอนันตริยกรรม ยิ่งมีโทษมากเป็นพิเศษ
๓. ความพยายามของผู้ฆ่า อาศัยตัดสินโดยปโยคะ คือในขณะที่ฆ่านั้นได้ใช้ความพยายามมากหรือน้อย ถ้าใช้ความพยายามมากก็มีโทษมาก ถ้าใช้ความพยายามน้อยก็มีโทษน้อย
อนึ่ง ถ้าผู้กระทำปาณาติบาตกรรมโดยรู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอกุศลกรรม มีโทษไม่ควรทำ แต่ก็ได้กระทำลงไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตามย่อมมีโทษน้อยกว่าผู้กระทำปาณาติบาตกรรม โดยไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอกุศลมีโทษไม่ควรทำ แต่ก็ได้กระทำลงไป ทั้งนี้เพราะผู้ไม่รู้จักอกุศลย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า ฉะนั้นจึงต้องได้รับโทษมากเป็นมหาสาวัชชะ อุปมาเหมือนช่างตีเหล็กเผาก้อนเหล็กจนร้อนจัดแล้วเอาออกจากเตามาวางไว้ ช่างตีเหล็กนั้นย่อมรู้ว่าก้อนเหล็กนั้นร้อน ฉะนั้นเมื่อจำเป็นจะต้องเอามือไปจับก้อนเหล็ก ก็ย่อมรู้ประมาณในความร้อนไม่จับมั่นคั้นหมายลงไปเต็มที่ แต่ถ้าผู้ที่มาภายหลังไม่รู้ว่าก้อนเหล็กนั้นร้อน มีความอยากรู้ย่อมจับก้อนเหล็กนั้นอย่างเต็มที่ จนทำให้ไหม้มือเกรียมไป ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอกุศลกับผู้ที่ไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นอกุศล โทษที่พึงได้รับของทั้งสองคนย่อมมากน้อยต่างกันฉันนั้น

----------------------------------------------------

ผมว่าบาปน้อยครับ เพราะ จขกท ไม่ได้มีเจตนาฆ่า แค่ไล่มันด้วยวิธีที่รุนแรงมาก ๆ ยิ้ม

ไม่ต้องคิดมากครับ ทำบุญตักบาตรแผ่เมตตาให้มัน แล้วก็ระวังไม่ทำบาปแบบนั้นอีก หาวิธีที่นิ่มนวลกว่านี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่