เขียนไทย-อ่านไทยให้ถูกต้องกับ "ราชบัณฑิตฯ โมไบล์"


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ราชบัณฑิตยสภา จับมือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนา "ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์" รวม 2 แอปพลิเคชั่นทางด้านภาษาไทย ทั้งพจนานุกรม และการอ่านเขียน หวังกระตุ้นการใช้ภาษาไทยถูกต้อง ตั้งเป้าสิ้นปีดันยอดดาวน์โหลดทะลุแสน

นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนา "ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์" คือ แอปพลิเคชั่นพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 และแอปพลิเคชั่นอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  โดยหวังว่าจะทำให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกันเข้าถึงได้ง่ายกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม เนื่องจากความนิยมใช้สมาร์ทโฟน ซึ่ง "ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์" ได้ใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาประมาณ 1 ปี ใช้งบประมาณราว 3 ล้านบาท

ด้านนายเทพชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย เนคเทค กล่าวว่า "ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์" หรือแอปพลิเคชั่นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นแอปพลิเคชั่นพจนานุกรมภาษาไทยที่ครอบคลุมคำศัพท์ภาษาไทยตาม "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554" ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด คำศัพท์แต่ละรายการประกอบด้วยคำศัพท์ ชนิดของคำ คำอ่าน นิยาม ที่มาของคำ และคำที่เกี่ยวข้อง เช่น แม่คำ ลูกคำ การแสดงผลการใช้งานมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบหมวดอักษรและรูปแบบการค้นคำ ผู้ใช้สามารถค้นคำได้ทั้งจากตัวอักษรตั้งต้นและจากส่วนหนึ่งของคำ ทั้งยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้ด้วย

ในส่วนแอปพลิเคชั่นอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นแอปพลิเคชั่นค้นการอ่านและการสะกดคำภาษาไทยที่ถูกต้องจากหนังสือ "อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" ใช้งานได้ 2 หมวด คือ 1 "หมวดอ่านอย่างไร" เพื่อทราบคำอ่านที่ถูกต้องและ 2 "หมวดเขียนอย่างไร" เพื่อทราบการสะกดคำที่ถูกต้อง โดยวิธีการที่สะดวกและง่าย เพียงพิมพ์คำที่ต้องการทราบคำอ่านหรือการสะกดคำลงไป แม้ว่าผู้ใช้จะสะกดคำผิด ระบบก็จะสามารถประมวลผลหาการสะกดคำที่ถูกต้องขึ้นมาแสดงได้ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ หรือประชาชนทั่วไป  เบื้องต้นคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้จะมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปเข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นนี้มาใช้ประมาณ 1 แสนดาวน์โหลด

ขณะที่นายศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า การสร้างแอปพลิเคชั่นในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นอีกหลายความร่วมมือในอนาคต ซึ่งทางเนคเทคได้เตรียมพร้อมปรับปรุงต่อยอดผลงานร่วมกับทางราชบัณฑิตยฯ ไว้แล้ว

สำหรับแอปพลิเคชั่นทั้ง 2 โปรแกรมนี้ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชั่น 7,  iOS เวอร์ชั่น 8,  Android ทุกเวอร์ชั่นและ Windows Mobile

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1442823967
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่