เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยและเครือข่ายพุทธศาสนิกไทยเพื่อสังคม ได้เข้ายื่นหนังสือนายก(กรณีธัมมชโย)

15 ก.ย. 2015 — วันจันทร์ที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. ตัวแทนเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และ เครือข่ายพุทธศาสนิกไทยเพื่อสังคม ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อ ติดตามและขอทราบความคืบหน้าข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีพระธัมมชโย โดยมี นายสาธิต สุธิเสริม นิติกรผู้ชำนาญการ เป็นผู้รับเอกสารแทน ณ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รายละเอียดหนังสือมีดังนี้:

เรื่อง ติดตามและขอทราบความคืบหน้าข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีพระธัมมชโย
เรียน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน ๑ ฉบับ
๒. รายชื่อคณะผู้ร้องเรียน จำนวน ๔๓ หน้า (จำนวน ๒,๘๔๑ รายชื่อ)
๓. รายงาน กรณีวัดพระธรรมกาย ของ คณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๒

ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำความเห็นและข้อเสนอแนะมายังท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีที่ข้าพเจ้าได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีการสอบสวนและแถลงต่อสาธารณะในเรื่องที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และเป็นหน่วยงานธุรการของมหาเถรสมาคม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายมิได้บรรจุวาระการประชุมในการพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการปราชิกของธัมมชโย ตลอดจนมิได้แถลงหรือเผยแพร่ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า ๑๖ ปี ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัย โดยผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยพฤติการของพระธัมมชโย และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่นพระเถระซึ่งมหาเถรสมาคมเลือกกันเอง ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนจากราชบัณฑิตยสถาน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และแม่กองสนามหลวงเป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นพระธัมมชโยตามพระธรรมวินัย และให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำผลการสรุปเข้าสู่วาระการประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อพิจารณาและลงมติสถานภาพของพระธัมมชโย แล้วประกาศให้สาธุชนทราบโดยทั่วกัน (คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินหน้า ๑๕ ข้อ ๑)

หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประกาศคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะสู่สาธารณชนแล้ว ปรากฏว่าได้มีพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์พระธัมมชโยออกมาเดินขบวนต่อต้านคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะดังกล่าว ตลอดจนพระพรหมเมธี โฆษกมหาเถรสมาคม ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ยกพระธรรมวินัย มีนัยว่า อธิกรณ์ที่ได้พิจารณาแล้วไปรื้อฟื้น องค์คณะที่ไปรื้อฟื้นนั้นจะเป็นอาบัติ การกล่าวเช่นนี้ทำให้เข้าใจว่า คณะสงฆ์ไม่สามารถร่วมเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาอธิกรณ์ดังกล่าวได้เพราะเป็นอาบัติ

การอ้างพระธรรมวินัยว่าอธิกรณ์ที่พิจารณาแล้วรื้อฟื้นไม่ได้ ผู้รื้อฟื้นจะเป็นอาบัตินั้น เป็นการยกมากล่าวอย่างไม่ครบถ้วน พระพหรหมเมธี มิได้กล่าวข้อธรรมทั้งหมด คือได้ละคำว่า “โดยธรรม หรือตามธรรม” ซึ่งคำที่ละไว้นี้ทำให้ความหมายเรื่องการรื้อฟื้นอธิกรณ์ผิดไปจากที่ได้ทรงบัญญัติไว้ เพราะความจริงแล้ว ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รื้อฟื้นเฉพาะอธิกรณ์ที่ชำระเสร็จไปแล้วโดยธรรม หรือตามธรรม ดังนั้น อธิกรณ์ที่ถูกชำระโดยไม่ถูกธรรม ไม่ใช่โดยธรรม ไม่เป็นไปตามธรรม ย่อมสามารถรื้อฟื้นได้ และผู้รื้อฟื้นไม่เป็นอาบัติ (อุกโกฏนสิกขาบทที่ ๓ มีวินิจฉัย “ว่าด้วยการรื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม”)

สิ่งที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยมาตลอดคือ มหาเถรสมาคมมิได้ระงับอธิกรณ์พระธัมมชโยโดยธรรมที่พระศาสดาตรัสแล้ว การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้มีคณะบุคคลจากทั้งสองฝ่าย ทำการศึกษาคดีธัมมชโยตามธรรมวินัยและสรุปผลเพื่อให้มหาเถรสมาคมลงมติ จึงเป็นไปเพื่อรักษาพระธรรมวินัย เป็นบรรทัดฐานสำหรับอธิกรณ์ในอนาคต และยุติปัญหาความแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ ซี่งจะเป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนาโดยรวม ฟื้นศรัทธาของชาวพุทธจำนวนมากที่กำลังมีทัศนคติต่อภิกษุสงฆ์ในทางลบ เป็นการแสดงเจตนารมย์ของมหาเถรสมาคมในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ที่ต้องรักษาพระธรรมวินัยโดยทำให้ชาวพุทธเห็นว่าภิกษุทุกรูปต้องอยู่ในธรรมวินัยโดยเสมอกัน และสุดท้าย จะเป็นโอกาสอันดีต่อพระธัมมชโย กล่าวคือทำให้มีข้อยุติในเรื่องที่คลุมเครือเป็นข้อครหาติดตัวพระธัมมชโยมานานเกือบ ๒๐ ปี ซึ่งได้ส่งผลทำให้มีกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหวโดยอาศัยเรื่องนี้แล้วทำให้ลุกลามเป็นเรื่องการเมืองและความมั่นคงของชาติประหนึ่งว่าพระธัมมชโยเป็นชนวนระเบิดหรือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาและความแตกแยกในสังคมพุทธ ซี่งเป็นเรื่องที่นำความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา และสถาบันสงฆ์

ข้าพเจ้า เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และ เครือข่ายพุทธศาสนิกไทยเพื่อสังคม คณะผู้ร้องเรียนซึ่งปรากฏตามเอกสารแนบที่ส่งมาด้วยจำนวน ๒,๘๔๑ รายชื่อ และผู้ที่ได้ลงชื่อร้องเรียนผ่านระบบอินเทอร์เนทที่ https://www.change.org/p/%E0%B8%9E%E0%B8%A5-%E0%B8%AD-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%8C-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%94%E0%B9%8D%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B5-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2/u/new จำนวน ๗,๕๐๓ รายชื่อ (ณ วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘) เห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประกาศผลการวินิจฉัยตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยท่านนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยกล่าวว่าจะไม่ใช้อำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกราบเรียนเสนอ และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีข่าวความคืบหน้าอื่นใด จึงมีความกังวลใจ ส่งหนังสือฉบับนี้มาเพื่อขอทราบความคืบหน้า และหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็ใคร่ขออนุญาตกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๑ (๖) ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลในการ “แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ท่ีปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ” ในการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะไว้แล้ว และขอให้มหาเถรสมาคมได้โปรดพิจารณาและลงมติสถานภาพพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แล้วประกาศให้สาธารณชนทราบ ก่อนพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

ขอแสดงความนับถือ

(วิรังรอง ทัพพะรังสี)
ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปปท.)

ท่านสามารถอ่านเอกสารแนบข้อ ๓ คือรายงาน กรณีวัดพระธรรมกาย ของ คณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญย่ิงที่ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายอย่างตรงไปตรงมา และครบทุกด้านว่าวัดพระธรรมกายมีพฤติกรรมและมีความเป็นไปอย่างไร

ที่สำคัญ เมื่อรายงานี้เสร็จสมบูรณ์ ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงอ่านแล้วมีพระบัญชาให้กรรมการมหาเถรสมาคม นำไปประกอบการตัดสินเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

http://www.analaya.com/dhamma-ebook/72-code-of-monastic-disciplines/549-dhammachayo-2.html
-------
อ้างอิง

https://www.change.org/p/%E0%B8%9E%E0%B8%A5-%E0%B8%AD-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%8C-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%94%E0%B9%8D%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B5-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2/u/13394220?tk=y-1o5YkfnX5mj5GaFMfFO1uNBdzNsfspsenuJNd_zkk&utm_source=petition_update&utm_medium=email
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่