ถนนกาญจนาภิเษก ทำไมบางช่วงของเส้นทางต้องมีด่านเก็บเงิน แต่บางช่วงเป็นทางยาวเลยก็เห็นวิ่งฟรี

ทำไมต้องแบ่งเส้นทางเก็บเงินไม่เก็บเงินด้วยล่ะครับ อย่างเส้นวงแหวนบางปะอินวิ่งผ่านบางบัวทองจนถึงแสมดำ วิ่งตั้งไกลไม่เห็นเก็บเงิน แต่พอวิ่งไปทางช้างสามเศียรจนถึงด่านทับช้างกลับเก็บเงิน ใครพอทราบเหตุผลบ้างครับ

ขอบคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
ถนนกาญจนาภิเษก มีทั้งหมด 3 ด้าน  แต่ละด้านไม่ได้สร้างพร้อมกัน  

ด้านตะวันตก (บางปะอิน-บางบัวทอง-ถนนพระราม 2)  เป็นด้านแรกที่สร้างก่อนเพื่อน  
บางช่วงของเส้นทาง เป็นถนนเก่าสายบางแค-บางบัวทอง-สุพรรณบุรีที่มีอยู่ก่อนแล้ว
โดยก่อสร้างช่วงบางแค-ถนนพระราม 2 และ บางบัวทอง-บางปะอินเพิ่มขึ้นมาในตอนหลัง ตั้งแต่ประมาณปี 2534 แล้วเสร็จประมาณปี 2538
ที่จริงแล้ว กรมทางหลวงได้กำหนดให้ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพ เป็นทางหลวงพิเศษตั้งแต่ปี 2529
นั่นหมายความว่า เมื่อสร้างเสร็จ อาจจะตั้งด่านเก็บเงินเมื่อไหร่ก็ได้
แต่ด้านตะวันตกไม่สามารถทำอย่างนั้นได้  เพราะเป็นถนนที่มีมานาน มีตรอกซอกซอย ชุมชนต่างๆเกิดขึ้นริมถนนเส้นนี้เยอะ  อีกทั้งในขณะนั้นรูปแบบของทางหลวงที่มีการตั้งด่านเก็บเงิน ยังไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนเหมือนปัจจุบัน เส้นนี้จึงกลายเป็นถนนฟรีในที่สุดครับ

ด้านตะวันออก เป็นด้านที่ก่อสร้างผ่านที่ดินว่างเปล่าเป็นส่วนมาก ไม่ค่อยผ่านชุมชน  
อีกทั้งในขณะนั้นกรมทางหลวงได้มีการกำหนดรูปแบบหลักเกณฑ์ทางหลวงพิเศษ (เก็บค่าผ่านทาง) ไว้แล้ว
หลังจากที่เคยตั้งด่านบนทางหลวงธรรมดาที่บางวัว , บางปะอิน แล้วยกเลิกไปในปี 2537
เกณฑ์ของทางหลวงที่จะตั้งด่านได้ สาระสำคัญคือ
- ต้องเป็นทางที่ควบคุมจุดเข้า-ออกโดยสมบูรณ์  (ซึ่งด้านตะวันตก ไม่ได้ทำไว้ตั้งแต่แรก)
- ต้องเป็นทางที่มีลักษณะ สร้างเพื่อเป็นทางเลือกที่ 2 ที่ดีกว่าให้ผู้ใช้
เมื่อมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนขนาดนี้แล้ว ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก จึงเป็นทางหลวงพิเศษเก็บค่าผ่านทางครับ

ด้านใต้ แต่เดิมกรมทางหลวง ก็จะก่อสร้างเป็นลักษณะทางหลวงพิเศษ
แต่ประมาณปี 2546-2547 ครม.ในขณะนั้นได้มีมติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นผู้ก่อสร้าง-บริหารจัดการทางส่วนนี้  เฉพาะด้านใต้จึงมีลักษณะเป็นทางด่วน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่