ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนรกและสวรรค์

ในครั้งพุทธกาล มีพวกเจ้าลัทธิ  “นัตถิกทิฏฐิ”   และ  “อุจเฉททิฏฐิ”  เป็นกลุ่มที่มีทรรศนะปฏิเสธปรากฏการณ์ในโลก  นัตถิกทิฏฐิบอกว่า   ในโลกนี้ไม่มีอะไรเลย  อุจเฉททิฏฐิบอกว่า  สรรพสิ่งมีอยู่ในตอนนี้  แต่เมื่อแตกทำลายแล้ว   ย่อมสูญสิ้นทุกอย่าง พวกนัตถิกทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิปฏิเสธนรกและสวรรค์ด้วยเช่นกัน    แม้แต่บุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนายังมีข้อสงสัยว่า  นรกและสวรรค์มีจริงหรือไม่?  อาศัยการพยากรณ์ (ตอบ)  ของพระพุทธเจ้า  ทำให้ท่านเหล่านั้นหมดความสงสัยไปได้

คัมภีร์พระไตรปิฎกแสดงนรกและสวรรค์   ทั้งในฐานะเป็นสถานที่  และเป็นภาวะทางจิตใจ  คัมภีร์โลกศาสตร์แสดงเฉพาะนรกและสวรรค์ในฐานะเป็นสถานที่  และแสดงพิสดารยิ่งกว่าในคัมภีร์พระไตรปิฎก  นี่แสดงให้เห็นว่า  ผู้ศึกษาเรื่องนรกและสวรรค์เริ่มมีความคิดเห็นคลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว  ทั้งนี้  อาจจะเป็นเพราะในพุทธศตวรรษที่  20  ได้มีการรจนาและศึกษาคัมภีร์ศาสนาอย่างกว้างขวาง  คัมภีร์เหล่านั้นเป็นของลัทธิพราหมณ์ก็มี  เป็นของพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็มี  แม้ผู้ศึกษาจะเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (หินยาน)   แต่เมื่อเห็นข้อความในคัมภีร์ของลัทธิอื่นตรงกับข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นบางส่วนโดยเฉพาะเรื่องนรกและสวรรค์  เมื่อมีโอกาสรจนาคัมภีร์ขึ้น  ย่อมมีการผสมผสานข้อความจากแต่ละคัมภีร์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน  อย่างไรก็ตาม  แม้จะคลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์พระไตรปิฎกโดยเหตุที่พิสดารเกินไป  แต่ไม่ได้มีความขัดแย้งกันมากนักกลับสนับสนุนส่งเสริมกันและกันจนทำให้ภาพลักษณ์ของนรกและสวรรค์ชัดเจนยิ่งขึ้น  

แต่การที่ภาพลักษณ์ของนรกและสวรรค์พิสดารมากยิ่งขึ้นนี้  ไม่ได้หมายถึงว่าจะมีผลดีเสมอไป  อาจจะสร้างแนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่เพียงด้านเดียวแก่บุคคลบางคนได้  ทำให้เขาเกิดความยึดมั่นในความคิดเห็น (ทิฏฐิปาทาน)  ว่า  นรกและสวรรค์ในพระพุทธศาสนา หมายถึงสถานที่เสวยผลกรรมชั่วและกรรมดีของมนุษย์ภายหลังจากตาย  ไม่ได้หมายถึงภาวะทางจิตใจ  ความคิดเห็นอย่างนี้ย่อมไม่เป็นผลดีแก่ใคร เพราะจะทำให้เขามัวคิดถึงเฉพาะความสุขและความทุกข์ในโลกหน้า  ไม่อยู่กับปัจจุบัน

ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องนรกและสวรรค์เริ่มคลาดเคลื่อนไปอีกลักษณ์หนึ่งคือ  มีการแสดงเฉพาะนรกและสวรรค์ที่เป็นภาวะทางจิตใจในขณะปัจจุบัน ไม่ต้องการให้คิดและศึกษานรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่ในโลกอื่นที่จะไปเกิดหลังจากตาย  ทรรศนะอย่างนี้  แม้จะไม่ได้ปฏิเสธตรง ๆ แต่ก็เริ่มมีความเคลื่อนออกไปแล้ว   ทรรศนะฝ่ายที่มีท่าทีคล้ายจะปฏิเสธนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่นี้ ยังสนับสนุนให้ศึกษาทฤษฏีภพ-ภูมิ-ปรโลก-โอปปาติกะเฉพาะในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น  โดยอธิบายว่า

1.   ภพ คือ  ความมีความเป็นไปอยู่ในขณะปัจจุบันชาตินี้

2.   ภูมิ คือ  ระดับชั้นของจิตใจที่เป็นไปอยู่ในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น

3.   โอปปาติกะ    คือ  การเกิดขึ้นทางจิตใจในขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น

4.   ปรโลก คือ  วินาที-นาที-ชั่วโมง-วัน-เดือน-ปีที่จะถึงต่อไปข้างหน้า

ทรรศนะอย่างนี้ย่อมมีผลดีแก่ผู้เข้าใจหลักการและเหตุผลในการนำเสนออย่างแจ่มชัดเพราะจะทำให้เขาอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น  มีกำลังใจที่สร้างความสุขขึ้นให้ได้ในขณะปัจจุบันโดยไม่รอถึงชาติหน้าภายหลังจากตาย แต่ข้อจำกัดของทรรศนะอย่างนี้  คือ  อาจจะทำให้ผู้ศึกษาตามอย่างผิวเผินซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เก็บเอาไปขยายความเพิ่มเติมในการปฏิเสธนรกสวรรค์ที่เป็นภพภูมิหลังตายมากขึ้นก็ได้  เพราะการอธิบายนรกและสวรรค์ในเชิงภาวะทางจิตใจ (นามธรรม) นี้  สามารถทำให้เห็นประจักษ์และเข้าใจได้ง่ายกว่าการอธิบายนรกและสวรรค์ในเชิงสถานที่ (รูปธรรม)  และเนื่องจากนรกและสวรรค์ที่เป็นสถานที่ไม่มีใครสามารถนำมาแสดงให้เห็นประจักษ์แก่กันและกันได้นี่เอง  จึงทำให้คนรุ่นใหม่อภิปรายถกเถียงกันตลอดมาว่า “มีจริงหรือไม่  ?  ตั้งอยู่ที่ไหน ?  มีลักษณะอย่างไร ?”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่