>>>>>เหรียญสองด้านของการเป็น Au pair ในต่างแดน | ๗ ปี ใต้ปีกอินทรีเหล็ก<<<<<




ตั้งแต่ฝ้ายทำ blog และเปิด page “๗ ปีใต้ปีกอินทรีเหล็ก” มาครบหนึ่งขวบปี คำถามที่ฝ้ายได้รับค่อนข้างบ่อย นอกเหนือจากเรื่องการเรียนต่อและหางานทำในเยอรมนีแล้ว ก็จะเป็นเรื่องการมาเป็น Au pair ที่นี่ เพื่อมาเรียนภาษาเยอรมันระหว่างที่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพราะจะมีที่อยู่และได้เงินเดือน แม้จะไม่มาก แต่ก็ดูน่าสนใจสำหรับคนที่อยากมาหาประสบการณ์ในต่างแดนสักครั้ง ซึ่งฝ้ายก็เห็นกระทู้ใน pantip อยู่เรื่อย ๆ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์ด้านนี้ มีทั้งดีมาก ๆ เหมือนฝัน เพราะได้อยู่กับครอบครัวที่ร่ำรวย นิสัยดี ให้เกียรติ คนที่ทำงานด้วย ส่งผลให้ Au pair มีโอกาสไปล่องเรือยอร์ชที่อิตาลี นั่งเครื่องบินส่วนตัวไปเที่ยวฝรั่งเศส พักผ่อนที่ดูไบ หรือเข้าไปชมการแข่งขันของ FC Bayern ติดขอบสนาม (อภิมหากาพย์ออแพร์ ... ขอบคุณตัวเองในวันนั้น ที่ตัดสินใจมาเป็น “ออแพร์” ในวันนี้ http://ppantip.com/topic/31769995) หรือที่ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ เช่น เด็กน่ารัก แต่นายจ้างจ่ายเงินช้า (ประสบการณ์ ครั้งหนึ่งเคยเป็นออแพร์ Aupair in Germany http://ppantip.com/topic/33618434) หรือเด็กเป็นลูกเทวดา แตะต้องไม่ได้ แล้วจะให้เราเลี้ยงยังไง(วะ)? (เรื่องเล่าจาก Aupair(ชาย) ที่ประเทศเยอรมัน http://ppantip.com/topic/30044265) คือถ้าไม่คิดมาก ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต ที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นในภายภาคหน้า แต่ blog นี้ ฝ้ายจะขอแบ่งปันเรื่องราวที่ฝ้ายไม่ได้มีประสบการณ์ตรง เพียงแค่มีบทบาทเล็ก ๆ ในละครชีวิตบทหนึ่งของเพื่อนที่เคยเป็น Au pair ที่เยอรมนีให้ฟังค่ะ

เรื่องเริ่มขึ้นหลังจากฝ้ายมาอยู่เยอรมนีครบปีพอดี (2008) วันนั้นอยู่ ๆ อาจารย์สอนภาษาเยอรมันก็โทรเข้ามือถือ แล้วบอกว่า

“มีคนอยากแนะนำให้รู้จัก ฝ้ายอยากคุยด้วยมั้ย? เค้าเป็นคนไทยนะ”

เราก็ตื่นเต้นว่าจะมีเพื่อนคนไทยคนแรกที่มาเรียนที่  Lüneburg ว่าแล้วก็รีบแต่งตัวแล้วไปที่แผนกภาษาเยอรมันสำหรับนักเรียนต่างชาติทันที ก็ได้รู้จัก “แอ๊ะ” โดยแอ๊ะเป็น Au pair ให้กับครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้ ๆ นี้ และอยากมาเรียนภาษาเยอรมันภาคฤดูร้อน เมื่อเริ่มเรียนโปรแกรมนี้ จะต้องมาเข้าเรียนทุกวันตลอดช่วงเช้า ซึ่งบางวันแอ๊ะก็โทรมาบอกว่ามาไม่ได้ หรือบางครั้งมาได้ แต่ก็ต้องรีบกลับ เราก็เข้าใจและก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากมาย

เรื่องต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องที่แอ๊ะเป็นคนเล่าด้วยตัวเองนะคะ ฝ้ายแค่เกลาภาษา และเรียงลำดับเรื่องใหม่เล็กน้อย

แอ๊ะเริ่มเรียนภาษาเยอรมันตั้งแต่มัธยมปลาย แล้วก็มาเรียนต่อในระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นลงเรียนปริญญาโท DAF ที่มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เรียนได้ไม่ถึงเทอมก็ต้องเลิกเรียนเพราะภาษาเยอรมันอ่อนเกินไปที่จะเรียน ทำให้เกิดแรงจูงใจเรียนภาษาเยอรมันเพิ่มเติม ทั้ง 4 ทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน ผ่านการเป็น Au pair ซึ่งคิดในตอนนั้นว่า น่าจะเป็นวิธีที่มีโอกาสได้เรียนภาษาเยอรมัน โดยใช้งบน้อยที่สุด รวมทั้งได้ฝึกภาษาไปในตัว ไม่ได้คำนึงถึงหรือคาดหวังเรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้เลย เพราะคิดว่าตรงนี้เป็นของแถม แต่ก็เตรียมใจไว้แล้วว่าพอมาถึงที่เยอรมัน ทุกอย่างคงไม่ได้สวยงามหรือมีแต่ด้านดีเสมอไป คอยบอกตัวเองว่ายังไงก็สู้ตายแบบสวย ใส มั่นใจ ไร้สติ (นิดหน่อย) --- ขอให้ได้เรียนภาษาไม่ว่าอะไรก็ลุยลูกเดียว บวกกับน้อยใจที่ภาษาเยอรมันของเรา อ่อนเกินไปที่จะเรียนปริญญาโท DAF ก็ยิ่งมีแรงฮึกเหิมให้ตัวเองไปเป็น Au pair อย่างเร่งด่วน


จริง ๆ แล้ว ประเทศออสเตรียก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในตอนนั้น นอกจากนี้ อายุในการเป็น Au pair ของประเทศออสเตรียคือ 18-32 ปี ต่างจากประเทศเยอรมนีที่กำหนดอายุสูงสุดไว้ที่ 26 ปี แล้วอายุของแอ๊ะตอนนั้นก็ประมาณ 26 พอดี แล้วคิดง่าย ๆ เอาเองว่า ตัดสินใจเลือกไปเยอรมนี เพื่อภาษาเยอรมันดีกว่า และก็คุ้นเคยกับประเทศเยอรมนีและคนเยอรมันมากกว่าด้วยละมั้ง

แรงจูงใจท้ายสุด น่าจะเป็นความต้องการพื้น ๆ ตามประสาวัยรุ่น (ตอนปลาย) ที่ต้องการความท้าทายแปลกใหม่ อยากเห็นอะไรใหม่ ๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ที่แสนจะคับแคบของตัวเองให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอีกนิดก็ยังดี



แอ๊ะหาครอบครัวจาก AuPairWorld โดยครอบครัวแรกอยู่ทางใต้ แคว้น Bayern เมือง Kaufbeuren เราโทรคุยกันทางโทรศัพท์และทาง skype ก่อนถึงวันไปประมาณเดือนถึงสองเดือน

เรื่องค่าตั๋วเครื่องบิน แอ๊ะถามคนที่มีประสบการณ์แล้ว เค้าบอกว่าจ่ายเองดีกว่า จะได้สบายตัว ไม่ต้องมีคำว่าบุญคุณมาค้ำหัวอยู่ โดยพี่แสนดีที่คอยให้คำแนะนำมาตลอด คือ “พี่กล้วย” ที่เคยเป็น Au pair แล้วเป็นนักเรียนภาษาต่อที่เยอรมัน (ถ้าพี่กล้วยได้อ่านอยู่ก็คงจำแอ๊ะได้นะพี่) พี่กล้วยคอยให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลเชิงลึก และให้อยู่กับความเป็นจริงในหลาย ๆ เรื่องมาก ๆ น่าเสียดายที่แอ๊ะตอนนั้นเป็นคนขี้อายซะมาก ไม่งั้นคงจะมีโอกาสได้รู้จักพี่กล้วยคนนี้มากขึ้น

พูดถึงความขี้อาย ซึ่งเป็นนิสัยเล็ก ๆ ที่ใคร ๆ อาจจะมีเป็นธรรมดา แต่บอกได้เลยว่า ถ้าเราดำเนินชีวิตด้วยความขี้อายบ่อย ๆ อาจจะทำให้ตัวเราเสียโอกาสในหลาย ๆ เรื่อง อันนี้พูดจากประสบการณ์ที่สอนเป็นบทเรียนนะคะ

ครอบครัวแรก มีลูกสาวครึ่งไทยครึ่งเยอรมันอายุ ณ ตอนนั้น 10 ปี อยู่กับพ่อคนเดียว (อายุ 41 ปี) ส่วนแม่อยู่อีกเมือง เพราะหย่ากันแล้ว ตัวเราคิดเอาเองว่า เด็ก 10 ขวบ โตแล้ว และไม่มีคนอยู่ในบ้านเยอะ ดังนั้น เราน่าจะมีเวลาส่วนตัวได้มากกว่า --- ซึ่งไม่จริงอย่างแรง

เรื่องอายุเด็ก พี่กล้วยก็ให้คำแนะนำว่า เด็กโต Au pair จะมีโอกาสมีเวลาเป็นของตัวเองมากกว่า ไม่ต้องติดแจกับเด็กตลอด ส่วนเรื่องเค้าอยู่กับพ่อคนเดียวเนี่ย ไม่เป็นปัญหา แอ๊ะไม่กลัวหรือสนใจว่าคนอื่นจะมองว่าเรามาเป็น Au pair ในรูปแบบที่แอบแฝงจุดประสงค์อื่นหรือเปล่า ตอบได้เลยว่า ไม่เคยคิด ไม่อยู่ในหัวสมอง ยืนยันเป้าหมายเดิม คือ  “ต้องการมาสัมผัสวัฒนธรรมและเรียนรู้ภาษา” ที่สำคัญครอบครัวนี้ตอบรับเร็วและเริ่มคุยเป็นการเป็นงานเร็ว ไม่เผื่อเลือก ก็เลยคิดว่าครอบครัวนี้เอาจริงแน่ ส่วนเราก็มีหน้าที่ตัดสินใจเท่านั้น

แอ๊ะอยู่กับครอบครัวนี้ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น แล้วตัดสินใจคุยกับเค้าดี ๆ ด้วยภาษาเยอรมันของเรา ที่พยายามพูดได้ดีที่สุดในตอนนั้นว่า “เราคงอยู่ต่อไปไม่ได้ เรารู้สึกไม่ดี เพราะอยู่มาเกือบเดือนยังไม่ได้เห็นหน้าตาของคอร์สภาษาเยอรมันในห้องเรียนเลย” คุณพ่อเค้าฟังก็อึ้ง งง และประหลาดใจ ว่าอยู่ดี ๆ ทำไมถึงจะลาออก เพราะดูเหมือนไม่มีอะไรสะดุด

แต่เหตุผลที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น ยังมีอยู่ ซึ่งส่งผลให้แอ๊ะเลือกที่จะหาครอบครัวใหม่โดยด่วน หลังจากอยู่ได้ 1 เดือนเต็มคือ

1. คุณพ่อน้องเค้าอยากจะให้เราอยู่บ้าน ดูแลลูกสาวเค้า ไม่อยากให้เราไปเรียนภาษา

2. เรื่องงานบ้าน เค้ามีแม่บ้านมาทำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่เราก็โง่ไปช่วยแม่บ้านเค้าทำแทบทุกอย่าง จนกระทั่ง แม่บ้านวางเงินค่าจ้างของตัวเองคืนไว้ที่โต๊ะก่อนไป ตอนนั้นไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมจะต้องดีแสนดีแบบนั้น ควายเรียกพี่ได้เลย แล้วครั้งหนึ่ง แม่บ้านวางเงินในซองคืนไว้ให้คุณพ่อ พร้อมเขียนจดหมายยาวมากทิ้งไว้ เนื้อหาในจดหมายจำแทบไม่ได้แล้ว แต่ได้ใจความว่า

“คุณแม่บ้านเค้าละอายแก่ใจ ถ้าเค้าจะเอาเงินค่าจ้างทำงานบ้าน ทั้ง ๆ ที่เค้าแทบไม่ได้ทำ” --- เพราะเราแย่งเค้าทำหมด -_-  

พอคุณพ่อกลับมาเห็นจดหมายพร้อมเงิน ก็อ่านและยิ้ม พร้อมเก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง เป็นแบบนี้ 2-3 ครั้ง เราก็แอบคิดว่า “จริง ๆ แล้วเงินจำนวนนี้เค้าน่าจะให้เราหรือเปล่า?” แต่เค้าคงคิดว่า ยังไงเราก็ได้เงิน Au pair อยู่แล้วละมั้ง

3. เวลาอยู่บ้านกับน้องเค้า 2 คน คุณปู่ของน้องชอบคอยเข้ามาจับผิด คอยคุมเราเกินไป จนเรารู้สึกอึดอัดเล็ก ๆ

4. เวลาอยู่บ้าน คุณแม่ของน้องชอบโทรมาคุย จนถึงโทรเข้าเบอร์มือถือเราบ่อยไปจนถึงบ่อยมาก ๆ เหมือนจะเป็นเจ้าชีวิตเรา ตอนคุยเหมือนจะหวังดี แต่จริง ๆ แล้วหึงเรา ต้องการคุมเรา คุมถึงขนาดตอนที่เราย้ายมาครอบครัวที่ 2 แล้ว ก็ยังหาเวลาโทรมา เราก็แสนจะโง่ และอ่อนแอเอง ที่คอยรับโทรศัพท์เค้าอยู่ได้ ในใจตอนนั้นคิดว่า “คุณแม่น้องเค้าก็ให้คำแนะนำดี คุยดี ทำไมเราจะต้องปฏิเสธคนคุยดีแบบนี้ล่ะ?” แต่อีกด้านหนึ่งก็คิดได้อีกว่า ที่คุณปู่ต้องมาคอยคุมเรา อาจเป็นเพราะเค้ามีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคุณแม่คนไทยคนนี้ก็เป็นได้

5. บ้านเค้า ถึงแม้จะใหญ่ ทันสมัยในทุก ๆ อย่างภายในบ้าน แต่คนไม่มีรถอย่างเรา จะออกไปไหน ทำอะไร ไม่ค่อยจะสะดวก คือป้ายรถเมล์อยู่ไม่ไกล แต่รถที่ผ่านมารับมีน้อยเที่ยว --- โดยรวมแล้ว เงียบ ไกล วังเวง

6. ไม่ได้เข้าคอร์สเรียนภาษา ส่วนหนึ่งเราก็ผิดเองที่ก่อนมาไม่คุยตกลงเรื่องเวลาเรียน และชั่วโมงทำ Au pair ให้ชัดเจน

พอถึงวันที่เราต้องเดินทางไปอยู่กับครอบครัวที่ 2 ที่อยู่ทางเหนือ ใกล้เมือง Lüneburg คุณพ่อครอบครัวแรกก็ไปส่ง แสดงความยินดีกับเราอย่างไม่มีมีท่าโกรธเคืองอะไร ทำให้เราสามารถติดต่อกับครอบครัวนี้ได้อีก โดยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบหลังจากเรามาอยู่กับครอบครัวที่ 2


(มีต่อนะคะ)

เนื้อหาทั้งหมดมาจาก Blog http://chronicleofphaiy.blogspot.de
สามารถติดตามได้ที่เพจ https://www.facebook.com/sevenyearsingermany
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่