(เกร็ดประวัติศาสตร์) "นกกระจาบ" 2525 ภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องสุดท้ายที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม.





"นกกระจาบ" 2525 เป็น "ภาพยนตร์โทรทัศน์" ไม่ใช่ "ละครโทรทัศน์" เพราะสมัยนั้นดาราฟิล์ม (ดาราวีดีโอ) ยังผลิตเป็นระบบภาพยนตร์โทรทัศน์ ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม 16 มม. ใช้เสียงพากย์ ยังไม่ได้ใช้เสียงจริงของนักแสดง จึงเรียกว่า “ภาพยนตร์ไทยชุดนกกระจาบ” ภาพยนตร์โทรทัศน์จะออกอากาศเป็นตอน ๆ เหมือนละครโทรทัศน์เช่นกัน สำหรับ ภ.ไทยชุดนกกระจาบ 2525 ยาวประมาณ 40 ตอนจบ อากาศทุกวันจันทร์ อังคาร เวลา 21.00 หลังข่าวภาคค่ำ แพร่ภาพทางช่อง 7 สี


ผังรายการช่อง 7 มีนาคม 2526

นำแสดงโดย


คมสัน สุริยา...สรรพสิทธิ์


ทัศนีย์ สีดาสมุทร...สุวรรณเกสร


อิทธิฤทธิ์ สิงหรัตน์...พระราชา
จิตตรา ยิ่งเจริญ...พระมเหสี
ปินนเรศ ศรีนาคาร...เศรษฐี


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ทำไมต้องใช้ชื่อเรื่องว่า "นกกระจาบ"

"นกกระจาบ" เป็นภาพยนตร์แนวพื้นบ้านที่ดัดแปลงมาจากนิทานชาดกโบราณเรื่อง "เจ้าหญิงนกกระจาบ"

เดิมทีคุณไพรัช สังวริบุตรจะใช้ชื่อเรื่องว่า "เจ้าหญิงนกกระจาบ"  ตามนิทานชาดกโบราณ แต่ด้วยอาจารย์มนัส ปิติสาสน์ผู้ประพันธ์เพลงไตเติลต้องการให้ชื่อเรื่องพ้องกับเพลงไตเติลที่มีเนื้อร้องว่า "นกกระจาบ สองเมียผัว  สร้างรังอยู่ในไพรวัลย์........ " ก็เลยเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่ว่า "นกกระจาบ"  

คลิปเพลงไตเติลครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

การตั้งชื่อเรื่องที่ต้องให้พ้องกับเพลงไตเติล มีความเป็นจริงแค่ไหน ?  

จริงซิครับ  เพราะคนแต่งเพลงไตเติลก็คืออาจารย์มนัส ปิติสานต์ ท่านจะต้องปรึกษากับคุณไพรัชเสมอ
เช่น ตอนทำหนังทีวีเรื่องสียอดกุมาร เดิมทีคุณไพรัชตั้งชื่อเรื่องว่า "4 อภินิหาร"  พออาจารย์มนัสเริ่มแต่งเพลงก็บอกกับคุณไพรัชว่า "ไม่ได้นะคุณไพรัช น่าจะชื่อ  "4 ยอดกุมาร" ดีกว่า เพราะขึ้นต้นเพลงด้วย "สี่กุมารหาญกล้า..."  ทำให้หนังทีวีเรื่อง  "4 อภินิหาร" กลายเป็น "4 ยอดกุมาร"  ในเวลาต่อมา

หนังทีวีเรื่อง "แตงอ่อน" 2523 ก็เช่นกัน ในไตเติลก็เขียนชื่อเรื่องว่า "แตงอ่อน" ฟังชื่อเรื่องแปลก ๆ นะ แต่เพลงไตเติลของอาจารย์มนัส ปิติสาสน์มีเนื้อร้องว่า "เจ้าหญิงแตงอ่อน มิ่งสมรโสภาลาวัลย์..."  ทำให้ต่อมาทางคุณไพรัชได้เปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่ตามเพลงไตเติลว่า "เจ้าหญิงแตงอ่อน" หลังจากแพร่ภาพไปได้ประมาณ 4  ตอน

จะเห็นได้ว่าเพลงไตเติลและคนแต่งเพลงไตเติลมีความสำคัญต่อชื่อเรื่องมากทีเดียว


ตอนแรกผมได้ยินชื่อเรื่อง "นกกระจาบ" ฟังดูก็รู้สึกทะแม่..ง ทะแม่..งนะ  ผมว่าชื่อ "เจ้าหญิงนกกระจาบ"  ไพเราะกว่าตั้งเยอะ จนทุกวันนี้ผมก็ยังรู้สึกแบบนั้น  ถ้านำมารีเมคใหม่ผมขอให้ใช้ชื่อเรื่องว่า "เจ้าหญิงนกกระจาบ"  เถอะนะครับ ชื่อ "นกกระจาบ" ขอบิณฑบาตเถอะ


ขวามือคือเวชยันต์

การเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่อง

ในนิทานโบราณเรื่องเจ้าหญิงนกกระจาบนั้นพี่เลี้ยงของสรรพสิทธิ์ชื่อ "ชานุ" ได้ทรยศถอดวิญญาณแย่งร่างของสรรพสิทธิ์ แต่ในหนังทีวีได้ดัดแปลงให้ชานุตายตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะถูกเพื่อนของสรรพสิทธิ์ทีเรียนวิชาถอดวิญญานจากสำนักตักศิลาด้วยกันชื่อ"เวชยันต์" ฆ่าตาย  และต่อมา"เวชยันต์"ได้ทรยศแย่งร่างของสรรพสิทธิ์แทน

ใครบอกว่าหนังทีวีสมัยก่อนไม่ดัดแปลงเนื้อหา ?

หนังทีวีสมัยก่อนยังมีการเปลี่ยนชื่อตัวละครด้วยเช่นชื่อ"กุลา" ก็มาจากโสนน้อยเรื่อนงามปี 2524 เองล่ะ เพราะในนิทานตัวร้ายชื่อ "คุลา"




การกำกับศิลป์และดนตรีประกอบ

การกำกับศิลป์ทั้งเสื่อผ้า การแต่งกาย ฉาก และโลเกชั่นถ่ายทำของ "นกกระจาบ 2525" ผมรู้สึกว่าจะอินเดียก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง เลยสงสัยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ไหนกันแน่  หรือแค่เมืองสมมุติ ไทยผสมอินเดีย

ดนตรีประกอบบางทีก็ใช้ดนตรีไทยเดิม บางทีก็ดนตรีอินเดีย ภารตะ  ค่อนข้างงงมาก

ไม่เหมือนละครยุคปี 2538-2539 ที่สามเศียร (ดาราวีดีโอ) นำเรื่องของอินเดียมาทำเช่น "มโหสถชาดก"  "พระเวสสันดร" การกำกับศิลป์ทั้งการแต่งกาย ฉาก และดนตรีประกอบทำได้ดีมาก  จนคุณแม่ของผมท่านคิดว่าเป็นละครอินเดีย



นกกระจาบ 2525 ประสบความสำเร็จแค่ไหน

พอประมาณ ไม่เปรี้ยงเหมือนเหมือนหนังทีวีแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน  แต่คนก็ดู ผมก็ดูเพราะชอบหนังทีวีแนวนี้  ส่วนคนต่างจังหวัดยังไงก็ดูอยู่แล้ว เพราะรับช่อง 7 ได้ช่องเดียว ส่วนคนกรุงเทพ ฯ ดูหรือไม่ผมก็ไม่ทราบจริง ๆ รู้แต่ว่ากระแสไม่แรงเลย แถมยังมีคนว่าดำเนินเรื่องช้าอีกด้วย




นกกระจาบ 2525 เป็นหนังทีวีเรื่องสุดท้ายที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 ม.ม.


บริษัท "ดาราฟิล์ม" ผลิตภาพยนตร์โทรทัศน์ ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม 16 มม.มาตั้งแต่ปี 2511 ถึง 2525 ก็ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงมาใช้กล้องวีดีโอแทน  และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น "ดาราวีดีโอ" แต่ก็ใช้เสียงพากย์ ยังไม่ได้ใช้เสียงจริงของนักแสดงเช่นเดิม

เหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่าการถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม.  นั้นมีค่าใช้จ่ายมากมาย ฟิล์มถ้าเสียแล้วแล้วก็เสียเลยถ่ายแก้ไม่ได้ ต้องทิ้งไปเลย  แต่วีดีโอสามารถถ่ายทับได้ และผู้กำกับยังสามารถดูภาพในมอนิเตอร์ได้ทันทีด้วยว่าดีไม่ดี ผ่านไม่ผ่าน  ผิดกับฟิล์มต้องนำมาล้างก่อน จึงจะเห็นภาพได้  ถ้าภาพเสียก็ต้องไปถ่ายใหม่ การถ่ายด้วยฟิล์มจึงต้องอาศัยผู้กำกับภาพหรือตากล้องที่เก่งมาก ๆ  ทุกอย่างจึงฝากไว้ให้กับผู้กำกับภาพหรือตากล้องนี่ล่ะ  

แต่คุณไพรัชเล่าว่า"ยังโชคดีที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ฟิล์มเสียหรือภาพเสียที่จะต้องมาเห็นตอนล้างฟิล์มแล้ว ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่ได้แพร่ภาพ เพราะส่งหนังไม่ทัน"

ดังนั้นภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด "นกกระจาบ" จึงถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องสุดท้ายของดาราฟิล์มและของไทยที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 ม.ม

นี่คือคลิปหนังทีวีชุด "นกกระจาบ"  ที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 16 ม.มเรื่องสุดท้าย ใช้เสียงพากย์  ซึ่งหาดูได้ยากมาก ใครจะโหลดก็รีบโหลดเก็บไว้นะครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เครดิต

หนังสือดาราภาพยนตร์ปีที่ ฉบับที่
คลิปนกกระจาบ  โดยคุณ sos4lt
นิตยสารช่อง 7 ปีที่ 3 ฉบับที่ 31 ประจำเดือนมีนาคม 2526

หมายเหตุ

ผมมีภาพสีจากหนังทีวีเรื่องนกกระจาบอยู่หลายภาพ แต่เนื่องจากย้ายบ้าน และผมไม่ได้ไปดูแลการขนย้ายเอง ทำให้หาหนังสือเล่มนั้นไม่เจอ ถ้าหาเจอแล้วจะนำมาให้ชมอีกครั้งนะครับ

ถ้าชอบกระทู้แบบนี้ช่วยกด + หรือถูกใจด้วยนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่