วิวาทะชุดนิสิต! "อ.สมศักดิ์ เจียม-เจษฎา" ปม จุฬาฯคาดโทษสูงสุดคนผิดกฎ"ให้พ้นสภาพ"

จากมติชนออนไลน์

เป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์ หลังมีการเผยแพร่เอกสารประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการรณรงค์การแต่งกายตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด ประจำปีการศึกษา 2558 กับนิสิตระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา

โดยในเอกสารดังกล่าวได้ระบุเหตุผลว่า “เพื่อส่งเสริมให้นิสิตรักและธำรงไว้ซึ่งชุดเครื่องแบบนิสิตที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและวัฒนธรรมอันดีงามของไทย”

ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวระบุว่านิสิตที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว เป็นการทำผิดวินัยนิสิต ซึ่งจะถูกพิจารณาดำเนินการตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ. 2527 ข้อ 26 ซึ่ง นิสิตชั้นปีที่ 1 จะเริ่มตัดคะแนนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป แต่หากเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป ถูกตัดคะแนนความประพฤติซ้ำครั้งที่ 3 จะมีการเชิญผู้ปกครองมาพบ หากยังประพฤติผิดครั้งที่ 4-5 จะถูกพักการศึกษา 1-2 ภาคการศึกษา เมื่อประพฤติผิดครั้งที่ 6  มีโทษสูงสุดถึงขั้นพ้นสภาพการเป็นนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า "ก็ต้องนับถือว่า มหาลัยชั้นนำประเทศนี้ มีวิธีคิดที่ปัญญาอ่อนดีแท้ คือยิ่งกว่าทารกเสียอีก"

"รู้สึกอนาถจนพูดไม่ถูกเลย ความผิดเรื่องใส่เครื่องแบบนี่ มันถึงขั้นพักการเรียน-ไล่ออกได้เลยนะ โครตจะอีเดียตเลย (ขออภัยศัพท์วัยรุ่น)

นายสมศักดิ์ระบุว่า เรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงภาวะสังคมไม่รู้จักโต ที่ต้องบังคับให้ทุกคนทำอะไรเหมือนกัน เปรียบเทียบกับสังคมที่มีวุฒิภาวะแล้ว ที่รู้จักให้คนทำอะไรพร้อมๆ กัน หรือร่วมกัน โดยยังรักษาความเป็นปัจเจกบุคคลไว้ได้

ด้านนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองต่างมุมว่า "ผมมองต่างจากอาจารย์นะครับ เรื่องนี้มันเป็นสิทธิของตัวเด็กเองที่จะเลือกเรียนที่จุฬาฯ ที่ธรรมศาสตร์ หรือที่อื่นๆ ที่มีระเบียบการแต่งกายในแบบที่เค้าชอบ ถ้าชอบแต่งตัวเป็นระเบียบแบบแผน ก็อาจจะมาเอ็นทรานซ์เข้าจุฬาฯ  ถ้าชอบแบบสบายๆกว่านี้ ก็อาจจะเลือกไปธรรมศาสตร์ ... ผมว่านี่คือสิทธิเสรีภาพที่คนมีสิทธิเลือกและทำตามข้อตกลงของสังคมที่ตัวเองเลือก ต่างจากระดับนักเรียนที่บังคับเรื่องเครื่องแบบเกือบทุกโรงเรียน ไม่มีทางเลือก ... แต่ถ้ามหาลัยมาออกบังคับอะไร ที่เกินไปกว่ากฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้หลังจากเด็กเข้าเรียนแล้วซิครับ  อย่างนี้ค่อยน่าวิพากษ์"

ด้าน ดร.สมศักดิ์ ตอบกลับ ดร.เจษฎา ระบุว่า

ผมมองอย่างนี้นะครับ  ก่อนอื่นเลย เราต้องถามกันว่า เราต้องการให้การศึกษาอุดมศึกษามีปรัชญาหรือแนวคิดในการศึกษาอย่างไร?   ตามความเข้าใจหรือความเห็นของผมนะ การศึกษาอุดมศึกษา (จริงๆ ควรจะทุกระดับแหละ แต่อันนี้จำกัดเน้นเฉพาะระดับนี้) ควรอยู่ทีการฝึกให้รู้จักคิด ให้รู้จักใช้เหตุใช้ผล

คำถามคือการออกระเบียบแต่งกายแบบนี้ และออกระเบียบการลงโทษแบบนี้ มันไปด้วยกันกับหลักการทีว่าอย่างไร? ผมเห็นว่า ไปด้วยกันไม่ได้เลย
อันที่จริง อย่างทีผมเขียนไปในกระทู้ และในอีกหลายแห่ง สังคมไทยไม่รู้จักการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในแง่ทีว่า ไม่รู้จักจัดการอยู่ร่วมกันในลักษณะทียังให้รักษาความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคน ("สามัคคี" บนพื้นฐานความหลากหลายเฉพาะ)  ทีนี้ ประเด็นทีอาจารย์พูดถึงว่า ถ้าชอบแบบสบายๆ ก็ให้เข้า มธ. ถ้าจะเข้า จุฬา ก็ต้องยอมรับระเบียบพวกนี้ (หรือจุฬาสำหรับคนชอบระเบียบพวกนี้)

คำถามของผมคือ ทำไมจะต้องเป็นแบบนั้น in the first place หรือแต่แรกล่ะครับ? ดังที่กล่าวข้างต้น ถ้าเราต้องการให้การศึกษาอุดมศึกษามีไปเพื่อฝึกให้คนรู้จักคิด รู้จักมีเหตุผล และเป็นการเตรียมตัว และสร้างรากฐานให้กับสังคมสมัยใหม่ ระเบียบเช่นนี้ ก็ผิดโดยสิ้นเชิง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่