เสือโคร่งความสมดุลของผืนป่า

ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF พบทั่วโลกมีเสือโคร่งเหลืออยู่ 3200 ตัว โดยประเทศที่พบมากที่สุดคือ  เนปาล อินเดีย รัสเซีย และประเทศไทย จากการสำรวจจำนวนประชากรเสือโคร่งรอบโลกได้ลดลงอย่างน่าใจหายไปกว่าร้อยละ 97 ในศตวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันเสือโคร่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์  ซึ่งสาเหตุหลักคือการถูกล่าเอาชีวิต รวมถึงสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งก็ถูกล่า และปัญหาของการตัดไม้ทำลายป่าที่สืบเนื่องกันมาเรื่อย ๆ จนส่งผลกระทบเชิงลบต่อการขาดสมดุลและความสมบูรณ์ของผืนป่า  ไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่ยังคงมีเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนอยู่ประมาณ 200 ตัวโดยเฉพาะในผืนป่าตะวันตก รวมทั้งผืนป่าแม่วงก์-คลองลาน โดยเมื่อ พ.ศ.2553 ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญา ณ การประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ประเทศรัสเซียว่า จะฟื้นฟูจำนวนประชากรเสือโคร่งจาก 200 ตัวที่มีอยู่ในประเทศไทยให้เป็น 300 ตัวภายในปี พ.ศ.2565

วันผู้พิทักษ์ป่าโลก 31 กรกฎาคม 2558 ในปีนี้  WWF-ประเทศไทยได้สนับสนุนการป้องกันและดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยได้มอบจุดสกัดแม่กระสา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์แก่กรมอุทยานฯ เพราะผืนป่าแม่วงก์เป็นพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด การสนับสนุนการจัดสร้างจุดสกัดแม่กระสา ซึ่งอยู่ในบริเวณตอนกลางของอุทยานฯ ที่มีความเปราะบางและต้องการการดูแลปกป้องเป็นพิเศษ จึงถือเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ และลดการเกิดปัจจัยคุกคามในการกระทำผิดเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่า โดยจุดสกัดแม่กระสาประกอบด้วย ทำการสำนักงาน บ้านพัก ชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแบบผสมผสาน ชนิดเคลื่อนย้ายได้ กำลังผลิตรวม 10 กิโลวัตต์ และเสาอากาศวิทยุ 45 เมตร พร้อมเครื่องรับ และอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานอนุรักษ์ธรรมชาติ

มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม  ผู้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์เสือโคร่ง กล่าวว่า “ประเทศไทยคือความหวังและผู้นำในการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งให้อยู่คู่โลกนี้ต่อไป การอนุรักษ์เสือโคร่ง คือ การแสดงออกให้โลกรู้ว่าเราห่วงใยเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติเพียงใด และประเทศไทยคือหนึ่งในแสงแห่งความหวังที่จะรักษาเสือโคร่งให้อยู่คู่โลกนี้ต่อไป”

คุณติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี กล่าวว่า "สำหรับผม ผมเข้าป่าแต่ก็ยังไม่เคยได้เจอเสือโคร่งถึงแม้เขาจะอยู่ในป่าก็ตาม ก็เหมือนมองผู้หญิงที่เรารัก ถึงเราจะไม่ได้ครอบครองเขา แต่เราก็ยังเป็นห่วงและรู้สึกหวงแหน อยากให้ทุกคนมาร่วมดูแลรักษาเสือโคร่งของพวกเรากันครับ"

คุณนัชญ์ ประสพสิน ผู้ก่อตั้งเพจ “ทูนหัวของบ่าว” เฟสบุ๊คแฟนเพจสำหรับผู้รักแมว ผู้สนับสนุนงานอนุรักษ์เสือโคร่งผ่านการแชร์ข้อมูลอนุรักษ์เสือโคร่งทางโซเชียลให้กับแฟนเพจกว่าสองล้านคน เพราะเล็งเห็นความสำคัญของเสือโคร่งในผืนป่าซึ่งเธอได้ตั้งชื่อแมวตัวหนึ่งของเธอว่า “เสือโคร่ง” ได้กล่าวว่า “เสือโคร่งเป็นแมวตัวใหญ่ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของผืนป่า”

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก : การเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองของคนไทยหัวใจรักเสือโคร่งจากหลากหลายวงการที่ได้มีส่วนร่วมกันบุกเบิก “ไว้ลายเสือ”  งาน  “วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก”ภายใต้ธีม “THAIS FOR TIGERS: คนไทยไว้ลายเสือ” เพื่อจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ รวมพลังคนไทยในการร่วมกันเพิ่มจำนวนเสือโคร่ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่