//การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดๆใน AEC โดยอธิบายให้เห็นภาพเข้าใจง่ายๆ//

ที่มาจากกลุ่มข่าว https://www.facebook.com/set.biznews

AEC-ASEAN Economics Comunity

AEC หรือ Asean Economics Community คือการรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone นั่นเอง จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า (เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว)

Asean จะรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและมีผลเป็นรูปธรรม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ณ วันนั้นจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างมากอย่างที่คุณคิดไม่ถึงทีเดียว

AEC Blueprint (แบบพิมพ์เขียว) หรือแนวทางที่จะให้ AEC เป็นไปคือ
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน
2.การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
4. การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

โดยให้แต่ละประเทศใน AEC ให้มีจุดเด่นต่างๆ ดังนี้
พม่า : สาขาเกษตรและประมง
มาเลเซีย : สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
อินโดนีเซีย : สาขาภาพยนต์และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
ฟิลิปปินส์ : สาขาอิเล็กทรอนิกส์
สิงคโปร์ : สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
ไทย : สาขาการท่องเที่ยว และสาขาการบิน (ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ASEAN)

การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดๆใน AEC โดยอธิบายให้เห็นภาพเข้าใจง่ายๆ เช่น

– การลงทุนจะเสรีมากๆ คือ ใครจะลงทุนที่ไหนก็ได้ ประเทศที่การศึกษาระบบดีๆ ก็จะมาเปิดโรงเรียนในบ้านเรา อาจทำให้โรงเรียนแพงๆแต่คุณภาพไม่ดีต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นอาจจะสู้ไม่ได้
– ไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการบินอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะว่าอยู่กลาง Asean และไทยอาจจะเด่นในเรื่อง การจัดการประชุมต่างๆ, การแสดงนิทรรศการ, ศูนย์กระจายสินค้า และยังเด่นเรื่องการคมนาคมอีกด้วยเนื่องจากอยู่ตรงกลางอาเซียน และการบริการด้านการแพทย์และสุขภาพจะเติบโตอย่างมากเช่นกันเพราะ จะผสมผสานส่งเสริมกันกับอุตสาหกรรรมการท่องเที่ยว (ค่าบริการทางการแพทย์ของประเทศต่างชาติจะมีราคาสูงมากหากเทียบกับลลลประเทศไทย)

– การค้าขายจะขยายตัวอย่างน้อย 25% ในส่วนของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น รถยนต์, การท่องเที่ยว, การคมนาคม, แต่อุตสาหกรรมที่น่าห่วงของไทยคือ ที่ใช้แรงงานเป็นหลักเช่น ภาคการเกษตร, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรรมสิ่งทอจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากฐานการผลิตอาจย้ายไปประเทศที่ผลิตสินค้าทดแทนได้เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยผู้ลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เนื่องด้วยบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากนัก ค่าแรงจึงถูก ( ณ วันที่ 15 ก.ย.56 ค่าแรงหนุ่มสาวโรงงาน ณ ประเทศลาว อยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทไทย)

– เรื่องภาษาอังกฤษจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะมีคนอาเซียน เข้ามาอยู่ในไทยมากมายไปหมด และมักจะพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่จะใช้ภาษาอังกฤษ (AEC มีมาตรฐานว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางเพื่อสื่อสารใน AEC) บางทีเรานึกว่าคนไทยไปทักพูดคุยด้วย แต่เค้าพูดภาษาอังกฤษกลับมา เราอาจเสียความมั่นใจได้   ส่วนสิ่งแวดล้อมนั้น ป้ายต่างๆ หนังสือพิมพ์, สื่อต่างๆ จะมีภาษาอังกฤษมากขึ้น (ให้ดูป้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นตัวอย่าง) และจะมีโรงเรียนสอนภาษามากมาย หลากหลายหลักสูตร

– การค้าขายบริเวณชายแดนจะคึกคักอย่างมากมาย เนื่องจาก ด่านศุลกากรชายแดนอาจมีบทบาทน้อยลงมาก แต่จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด และปัญหาสังคมตามมาด้วย

– เมืองไทยจะไม่ขาดแรงงานที่ไร้ฝีมืออีกต่อไปเพราะแรงงานจะเคลื่อนย้ายเสรี จะมี ชาวพม่า, ลาว, กัมพูชา เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น แต่คนเหล่านี้ก็จะมาแย่งงานคนไทยบางส่วนด้วยเช่นกัน  และยังมีปัญหาสังคม, อาชญากรรม จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย อันนี้รัฐบาลควรต้องวางแผนรับมือ

– คนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ บางส่วนจะสมองไหลไปทำงานเมืองนอก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอร์ฟแวร์ (ที่จะให้สิงคโปร์เป็นหัวหอกหลัก) เพราะชาวไทยเก่ง แต่ปัจจุบันได้ค่าแรงถูกมาก อันนี้สมองจะไหลไปสิงคโปร์เยอะมาก แต่พวกชาวต่างชาติก็จะมาทำงานในไทยมากขึ้นเช่นกัน อาจมีชาว พม่า, กัมพูชา เก่งๆ มาทำงานกับเราก็ได้ โดยจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง  บริษัท software ในไทยอาจต้องปรับค่าจ้างให้สู้กับ บริษัทต่างชาติให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาวะสมองไหล

– อุตสาหกรรมโรงแรม, การท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, รถเช่า บริเวณชายแดนจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะมีการสัญจรมากขึ้น และเมืองตามชายแดนจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นจุดขนส่ง

– สาธารณูปโภคในประเทศไทย หากเตรียมพร้อมไม่ดีอาจขาดแคลนได้ เช่น ชาวพม่า มาคลอดลูกในไทย ก็ต้องใช้โรงพยาบาลในไทยเป็นต้น

– กรุงเทพฯ จะแออัดอย่างหนัก เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นตรงกลางของอาเซียนและเป็นเมืองหลวงของไทย โดยเมืองหลวงอาจมีสำนักงานของต่างชาติมาตั้งมากขึ้น รถจะติดอย่างมาก สนามบินสุวรรณภูมิจะแออัดมากขึ้น (ปัจจุบันมีโครงการที่จะขยายสนามบินแล้ว)

– ไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหารโลกในการผลิตอาหาร เพราะ knowhow ในไทยมีเยอะประสบการณ์สูง และบริษัทอาหารในไทยก็แข็งแกร่ง ประกอบทำเลที่ตั้งเหมาะสมอย่างมาก แม้จะให้พม่าเน้นการเกษตร แต่ทางประเทศไทยเองคงไปลงทุนในพม่าเรื่องการเกษตรแล้วส่งออก ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจของคนไทยที่ชำนาญอยู่แล้ว

– ไทยจะเป็นศูนย์การการท่องเที่ยว และคมนาคมอย่างไม่ต้องสงสัย หากผู้ประกอบธุรกิจในไทยที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจนี้ปรับตัวและเตรียมพร้อมดีก็จะได้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและคมนาคม

– ปัญหาสังคมจะรุนแรงถ้าไม่ได้รับการวางแผนที่ดี เนื่องจาก จะมีขยะจำนวนมากมากขึ้น, ปัญหาการแบ่งชนชั้น ถ้าคนไทยทำงานกับคนต่างชาติที่ด้อยกว่า อาจมีการแบ่งชนชั้นกันได้, จะมีชุมชนสลัมเกิดขึ้น และอาจมี พม่าทาวน์, ลาวทาวน์, กัมพูชาทาวน์, ปัญหาอาจญากรรมจะรุนแรง สถิติการก่ออาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากชนนั้นที่มีปัญหา, คนจะทำผิดกฎหมายมากขึ้นเนื่องจากไม่รู้กฎหมาย

การขนส่งที่จะเปลี่ยนแปลง  East-West Economic Corridor (EWEC)หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ชื่อไทยว่า เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก

east west economic corridor  (R9)
คลิ๊กเพื่อดูรายละเอียดของ East-West Economic Corridor
จะมีการขนส่งจากท่าเทียบเรือทางทะเลฝั่งขวาไปยังฝั่งซ้าย เวียดนาม-ไทย-พม่า มีระยะทางติดต่อกันโดยประมาณ 1,300 กม.อยู่ในเขตประเทศไทยถึง 950 กม. ลาว 250 กม. เวียด
นาม 84 กม.เส้นทางเริ่มที่ เมืองท่าดานัง ประเทศเวียดนาม ผ่านเมืองเว้และเมืองลาวบาว ผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตในประเทศลาว และมาข้ามสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ข้ามแม่น้ำโขงสู่ไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก สุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นเข้าไปยังประเทศพม่าไปเรื่อยๆ ถึงอ่าวเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะลำไย (หรือมะละแหม่ง)เป็นการเชื่อมจากทะเลจีนใต้ไปสู่ ทะเลอันดามัน) มหาสมุทรอินเดีย

เส้นทาง R9 นี้จะทำให้การขนส่งรวมถึง logistic ใน AEC จะพัฒนาอีกมาก และจากการที่ไทยอยู่ตรงกลางภูมิภาค ทำให้เราขายสินค้าได้มากขึ้นเพราะเราจะส่งของไปท่าเรือทางฝั่งซ้ายของไทยก็ได้ ทางฝั่งขวาก็ได้ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในไทยบริเวณดังกล่าวก็น่าจะมีราคาสูงขึ้นด้วย

และที่พม่ายังมี โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือโครงการ “ทวาย” (ศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่,ท่าเรือขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบัน Italian-Thai Development PLC ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างแล้ว ปัจจุบันได้หยุดการพัฒนาชั่วคราวเพื่อรอผู้ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการ
( ข้อมูล ณ 27 เม.ย.2557) โครงการทวายมีเป้าหมายที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร ในภาคใต้ของพม่า ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงกลั่นน้ำมัน ในระยะถัดไปอีกด้วย

ซึ่งโครงการทวาย มีที่เส้นทางสอดคล้องกับ East-West Economic Corridor จะกลายเป็นทางออกสู่ทะเลจุดใหม่ที่สำคัญมากต่ออาเซียน เพราะในอดีตทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียจำเป็นต้องใช้ท่าเรือของสิงคโปร์เท่านั้น ขณะเดียวกันโครงการทวายนี้ยังเป็นต้นทางรับสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียหรือสินค้าที่มาจากฝั่งยุโรปและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ซึ่งจะถูกนำเข้าและแปรรูปในโรงงานปิโตรเคมีภายในพื้นที่โครงการทวาย เพื่อส่งผ่านไทยเข้าไปยังประเทศกลุ่มอินโดจีนเช่น ลาว กัมพูชา และไปสิ้นสุดปลายทางยังท่าเรือดานังประเทศเวียดนาม และจะถูกส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและจีน

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เราควรจะเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญตอนนี้คือ ภาษาอังกฤษ อย่างน้อยๆเราก็จะได้สื่อสารกันกับ Asean ได้ เพราะหากสื่อสารไม่ได้ เรื่องอื่นก็คงยากที่จะทำ และการคิดจะหาลูกค้าแค่ในประเทศไทยก็อาจไม่เพียงพอแล้ว เพราะธุรกิจต่างชาติก็จะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของเราแน่นอน เรื่อง AEC จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ธุรกิจ และคนไทยต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมให้ดี

ข้อมูลเพิ่มเติม
– ข้อมูลภูมิภาคอาเซียน คลิ๊กที่นี่ –>> Download <<–
– Asean คืออะไร คลิ๊กที่นี่ –>> Asean คืออะไร <<–
– ความเป็นมา Asean คลิ๊กที่นี่ –>> ประวัติอาเซียน <<–

บทความโดย www.thai-aec.com
ทุกบทความในเว็บไซต์นี้ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ เพียงแค่แสดงที่มาจาก www.thai-aec.com ขอบคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 7
ต้องบอกว่าบทความนี้ถูกแค่ส่วนเดียวครับ นิดเดียวจริงๆ คนเขียนต้องศึกษาและลงดูพื้นที่จริงอีกเยอะ ผมแก้ให้เป็นบางข้อเลยละกันสำหรับข้อมูลที่ผิด เผื่อคนที่มาอ่านจะมีความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้นนะครับ จริงๆอยากเขียนยาวๆ แต่เวลามีไม่พอ
1.  มาเลทำผลิตภัณฑ์ยาง อันนี้ไม่ถูกซะทีเดียว ถ้าตามข้อมูลเก่านะอาจใช่ แต่เค้าเปลี่ยนไปแล้วครับ มาเลโค่นยางไปมากครับ แต่มุ่งไปพัฒนา specialty ในปาล์มมากขึ้น
2. การลงทุนเสรี อันนี้แล้วแต่ประเทศที่จะให้นโยบาย แต่ไงก็มี cap ผู้ถือหุ้น ยกเว้นว่าจะให้สิทธิพิเศษในบางพื้นที่ เช่นในไทยก็เขตเศรษฐกิจพิเศษไงครับ
3. ไทยเป็นศูย์กลางท่องเที่ยว และการบิน อันนี้อนาคตอีก 20 ปีอาจเป็นไปได้แต่ในระยะสั้นนี่เป็นไปไม่ได้
4. การค้าขายชายแดนจะคึกคักอย่างมาก อันนี้ทำ single window ให้ได้ก่อนเถอะครับ เพราะยังไงก็ต้องตรวจลงตรา ไม่ใช่อยากขนก็ขนนะครับ เข้าใจผิดละ ไม่ได้เคลื่อนย้ายสินค้าเสรีขนาดไม่ตรวจอะไรเลยนะครับ แค่นิคมสองฝั่งยังทำไม่ได้เลย ผลักดันมากี่ยุคกี่สมัยก็ยังทำไม่ได้เรื่องความมั่นคงยังค้ำอยู่นะครับ
5. แรงงานไร้ฝีมือนี่ไม่ได้เสรีด้วยนะ ยกเว้นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องอีกด้วย
6. คนไทยสมองไหล อันนี้ถ้าเค้ารับก็ไปเหอะครับ กลัวแต่เค้าไม่รับเพราะคุณภาพสู้เค้าไม่ได้ ดีเสีนอีกจะได้เอาวิธีคิดต่างชาติมาช่วยพัฒนาบ้านเรา
7. ไทยเป็นครัวโลก อันนี้ไปลดต้นทุนการผลิตมาแข่งก่อนครับ
8. Logistic r9 อันนี้ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกมากครับ โดยเฉพาะในพม่า อยากให้ลองไปดูเองแล้วค่อยมาเขียนใหม่ เอาแค่แม่สอด เมาะละแหม่งก็พอ ทั้งปัญหาชนกลุ่มน้อย รีดไถ ติดอาวุธ
9. ทวาย อันนี้เคยไปยังครับ ไปแล้วมาเล่าใหม่ ตอนนี้ italthai ไม่ได้มีส่วนอีกแล้วครับ ดำเนินการโดยหน่วยงานของไทย มีงบที่ปรึกษาเยอะมาก ตั้ง 12 ล้าน อันนี้แอบประชด ถนนเข้าจากกาญก็ยังเคลียรชนกลุ่มน้อยไม่ได้ ใครจะไปลงทุนครับ ญี่ปุ่นเค้าไปติลาวา จีนไปจ้าวผิว แล้วใครจะมาทวายละทีนี้

จริงมีเรื่องเล่าสนุกๆอีกเยอะครับสำหรับ clmv และ aec แต่เวลาไม่อำนวย ข้อมูลอีกเยอะ ทั้งข้อมูล gdp fdi เรื่องเล่านักลงทุนทั้งสำเร็จ ทั้งพับฐานกลับ การเกิดเศรษฐกิจพิเศษของไทย ใครได้ประโยชน์ แถมส่งผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจ ไว้ว่างๆผมมาเล่าให้ฟังนะครับ ขอโทษที่เห็นต่างในหลายๆเรื่องครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่