DTI พัฒนางานตามเทรนด์โลก "อากาศยานไร้คนขับ (UAV)" ฝีมือนักวิจัยไทย

หากเอ่ยถึงอากาศยานไร้คนขับ ใครหลายคนจะนึกถึงความล้ำหน้าของเทคโนโลยีมาเป็นอันดับแรก ก่อนจะนึกถึงการนำไปใช้งาน สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันอัตราการแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น ในทางการทหารก็เช่นกัน เทคโนโลยีป้องกันประเทศมีทิศทางเกี่ยวข้องกับ IT เป็นส่วนใหญ่และถือเป็นเทรนด์ของโลกก็ว่าได้ ทุกชาติต่างคิดค้นพัฒนางานวิจัยผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นของตนเอง อย่างผลงานวิจัย “อากาศยานไร้คนขับ” ก็ถือเป็นเทรนด์ของโลกอีกหนึ่งชิ้นงานที่ตลาดกำลังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
    อากาศยานไร้คนขับ มีบทบาทสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติภารกิจทางทหาร  และได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหาร เหมาะสมกับภารกิจที่ต้องปฏิบัติซ้ำ ๆ หรือต้องใช้เวลานานมาก ๆ หรือภารกิจที่ต้องเข้าไปปฏิบัติงานในบริเวณที่มีมลพิษ และต้องเสี่ยงอันตราย เป็นต้น
    พลเอก สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม  “ DTI UAV Airshow ” ที่ศูนย์การทหารราบ ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (16 ก.ค.58) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานการวิจัยและพัฒนาของ DTI โดยเฉพาะอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) ถือเป็นผลงานความสำเร็จที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง
    “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับ ตามแผนแม่บทการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบยานไร้คนขับ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภากลาโหม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555  และได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบยานไร้คนขับโดยการบูรณาการร่วมกับเหล่าทัพ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายที่จะวิจัยพัฒนาต้นแบบระบบยานไร้คนขับที่มีมาตรฐานการใช้งานตามความต้องการของผู้ใช้ (Functional Standard) และมีมาตรฐานทางวิศวกรรม (Engineering Standard) ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่สายการผลิตได้ โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศให้มีการเติบโตขึ้นในอนาคต และอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV ที่นำมาสาธิตในงานนี้ มีด้วยกัน 4 ระบบ ซึ่งทุกท่านจะได้เห็นถึงศักยภาพผลงานและได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้าน UAV กับนักวิจัยที่คิดค้นพัฒนางานนี้อย่างใกล้ชิด”

สำหรับ อากาศยานไร้คนขับที่ DTI นำมาแสดงศักยภาพมี 4 ระบบ ดังนี้
1.โครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก หรือ Mini UAV เป็นโครงการพัฒนาร่วมกับโรงเรียนนายเรืออากาศ รัศมีปฏิบัติการ 10 กม. เวลาปฏิบัติการมากกว่า 1.5 ชม. พร้อมระบบสื่อสารและควบคุมการบิน  การขึ้นลงของอากาศยานนั้นใช้มือขว้างไปข้างหน้า ลงด้วยร่มและร่อนลง สำหรับใช้ในภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ และลาดตระเวน ฯลฯ ของหน่วยทหารขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันได้ส่งมอบให้กับหน่วยงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ใช้งานแล้ว
2.โครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับแบบปีกหมุน หรือ VTOL UAV เป็นโครงการพัฒนา ร่วมกับกองทัพเรือ และภาคเอกชน โดยอากาศยานไร้นักบินที่พัฒนาขึ้นนั้นเป็นอากาศยานที่ออกแบบใหม่ มีแกน Yaw สองแกน ซึ่งเป็นสิทธิภาพการวิจัยของ DTI และผู้ร่วมวิจัย โดยรัศมีปฏิบัติการ 50 กม. ความเร็ว 100 กม./ชม. เวลาปฏิบัติการมากกว่า 2 ชม.น้ำหนักบรรทุก 2 กก. สำหรับใช้ในภารกิจ ชี้เป้า ตรวจการณ์ ลาดตระเวน ฯลฯ โดยมีความสามารถในการปฏิบัติภารกิจจากเรือรบที่มีพื้นที่จำกัด
3.โครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับแบบปีกนิ่ง หรือ Fixed Wing UAV ถือเป็นอากาศยานไร้คนขับแบบ Medium Attitude Long Endurance พร้อมระบบสื่อสารและสถานีควบคุมภาคพื้นดินที่ร่วมทำการวิจัยกับกองทัพบก รัศมีปฏิบัติการ 100-150 กม. ความเร็ว 100 กม./ชม. เวลาปฏิบัติการมากกว่า 6 ชม.น้ำหนักบรรทุก 40 กก. สำหรับใช้ในภารกิจ การหาข่าว  ลาดตระเวน รวมถึงการบินสำรวจทรัพยากร ภารกิจด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการใช้งานในด้านพลเรือนต่าง ๆ เป็นต้น
4.โครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับขึ้น-ลงทางดิ่งขนาดเล็ก หรือ Multi Rotors รัศมีปฏิบัติการ 1.6 กม. เวลาปฏิบัติการมากกว่า 0.5 – 1 ชม. เป็นอากาศยานขนาดเล็ก แบบ Multi Rotor ที่สามารถพับเก็บ พกพาได้สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน สามารถบินลอยตัวรักษาตำแหน่งได้อย่างอัตโนมัติ เหมาะกับภารกิจของทหารราบ ภารกิจด้านความมั่นคงและสามารถนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี
และรวมถึง เครื่องฝึกจำลองการบินของอากาศยานไร้นักบิน โดย DTI ทำการวิจัยและพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการฝึกนักบินภายนอก (External Pilot) การฝึกกำลังพลในตำแหน่งต่าง ๆ ของอากาศยานไร้นักบิน และการฝึกการปฏิบัติงานร่วมกับอากาศยานไร้นักบินของหน่วยอื่น ๆ ซึ่งเป็นเครื่องฝึกจำลองการบินฝีมือคนไทยทั้งระบบที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝึกและเพิ่มความชำนาญก่อนจะปฏิบัติการบินจริงต่อไป
ทั้งนี้ ตามแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาของ DTI (พ.ศ.2553 – 2567) ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ไปแล้ว 4 แผน คือ 1)จรวดและอาวุธนำวิถี 2)ระบบจำลองยุทธ์ และการฝึกเสมือนจริง 3)สารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อการป้องกันประเทศ และ4)ระบบอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งนำมาแสดงในครั้งนี้ ปัจจุบัน DTI อยู่ระหว่างดำเนินการแผนเกี่ยวกับยานรบและอาวุธป้องกัน โดยกำลังพัฒนายานเกราะล้อยาง 8X8 ซึ่งคาดว่าต้นแบบจะแล้วเสร็จและสามารถจัดแสดงได้ในงานนิทรรศการทางทหาร Defense and Security 2015 ช่วงปลายปีนี้


เกี่ยวกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเป็นองค์การมหาชนแห่งแรกของกระทรวงกลาโหม มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนกองทัพและหน่วยผู้ใช้ผ่านการสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่เข้มแข็ง อันจะทำให้ประเทศไทยลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และเพิ่มหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับประเทศ ปัจจุบัน มีผลงานวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศทำการวิจัยและพัฒนาเอง หรือร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 20 โครงการ โดยส่วนหนึ่งได้ส่งมอบให้กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและเข้าประจำการในหน่วยผู้ใช้แล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่