ฤาจะอินดี้! เบื้องหลัง-นัยยะเทรนด์นศ.ใส่ชุดหลวมไซซ์ใหญ่เกินตัว แฟชั่นที่กลับมา ?

จากมติชนออนไลน์

ช่วงนี้เป็นช่วงรับน้องใหม่ที่มาพร้อมกระแสการแต่งตัวชุดนักศึกษาที่กำลังนิยมอย่างการแต่งกายด้วยเสื้อไซซ์ใหญ่กว่าขนาดปกติ กระแสการแต่งกายแบบนี้เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น จนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าแต่งแบบนี้เพื่ออะไรและเทรนด์นี้มีที่มาอย่างไร

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ากระแสนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มคณะสายศิลป์ โดยเฉพาะคณะศิลปกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ทีมข่าวสอบถามนางสาวมาริน่า บุญชู นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นางสาวมาริน่า เผยว่า เริ่มใส่เสื้อนักศึกษาไซซ์ใหญ่จากกฎระเบียบการแต่งกายของรุ่นพี่ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ เชื่อว่าเป็นการถ่ายทอดธรรมเนียมที่ทางคณะปฏิบัติมาเป็นเวลานาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อความสะดวกสบายคล่องตัวในการทำกิจกรรมและเพื่อความปลอดภัยสำหรับตัวนิสิตนักศึกษา มากกว่าการสวมเสื้อไซซ์เล็กๆ รัดรูปซึ่งจะเห็นสัดส่วนร่างกายชัดเจนกว่าจึงล่อแหลมและเป็นอันตราย

นางสาวมาริน่า เล่าว่า สวมใส่แล้วรู้สึกชื่นชอบ เพราะถือเป็นความแตกต่างในทางที่ถูกต้อง  มีความทันสมัย มีความสุภาพอยู่ในตัว แม้ว่าตนจะขึ้นปี 2 แล้วก็ยังแต่งกายแบบนี้อยู่

"ตอนปี 1 คิดว่ามันรุ่มร่ามเพราะไม่ชิน แต่ตอนนี้คิดว่าโอเคนะ พอให้กลับไปใส่ตัวเล็กคือไม่อยากกลับไปใส่แล้ว...ส่วนตัวรู้สึกชอบ คือดูแล้วไม่อันตราย และมันดูน่ารัก ไม่ได้แบบโชว์หุ่นแต่ก็ถือว่าโอเค" นางสาวมาริน่า กล่าว

เมื่อสอบถามผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แสดงความคิดเห็นว่า การแต่งกายของทุกคณะต้องเป็นไปตามกฏระเบียบมหาวิทยาลัย อย่างกระแสแฟชั่นการสวมเสื้อนักศึกษาไซส์ใหญ่ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่ให้นักศึกษาสวมใส่เพื่อความสะดวกสบายของนักศึกษาในช่วงรับน้อง

สำหรับนักศึกษาที่โดนอาจารย์ตักเตือนนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอาจารย์แต่ละท่าน อาจเป็นเพราะนักศึกษาสวมใส่เสื้อที่ตัวใหญ่เกินไป โดยเบื้องต้นได้ทำความเข้าใจเงื้อนไขระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาแล้ว หากจบการรับน้องจะให้กลับมาสวมชุดนักศึกษาแบบปกติ

ส่วนกระแสแฟชั่นการสวมชุดนักศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสวมชุดรัดๆ กระโปรงสั้น หรือการสวมเสื้อตัวใหญ่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระวิวรรณ มองว่า ขึ้นอยู่กับนักศึกษา อย่างที่นักศึกษามองว่าการแต่งกายไม่เกี่ยวกับผลการศึกษาก็ถือว่าเป็นเรื่องจริง และเข้าใจความรู้สึกดี เพราะเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่ที่มีการรณรงค์สวมชุดเรียบร้อยนั้น อยากให้มองว่าเป็นการฝึกระเบียบก่อนออกสู่สังคมหลังสำเร็จการศึกษามากกว่า เพราะชีวิตวัยทำงาน หลายสายงานจะมีกฏระเบียบการแต่งกายอยู่ หากแต่งกายไม่เหมาะสมอาจเกิดผลเสียต่อผู้สวมใส่ได้ ดังนั้นจึงอยากให้นักศึกษาคำนึงและสำรวจตัวเองว่าการแต่งกายของเรานั้นถูกต้องหรือไม่

ทีมข่าวสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นอย่างนายภคณัฐ รีกิจติศิริกูล ผู้ดูแลเว็ปไซต์แฟชั่นชื่อดัง "โซล โฟร์ สตรีท" (Soul 4 Streets) เผยว่า 10 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยรวมถึงวัยรุ่นเริ่มเปิดรับกับกระแสแฟชั่นจากต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีช่องทางให้สามารถเข้าถึงกระแสแฟชั่นสะดวกกว่าแต่ก่อน เมื่อ 10 ปีที่แล้วจะเห็นว่ากระแสเสื้อผ้าแฟชั่นรัดรูปค่อนข้างมาแรง ทำให้นักศึกษาเริ่มปรับมาใช้กับชุดนักศึกษาจนได้รับความนิยม

เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็จะอยู่ในกระแสการแต่งตัวแบบชาวเกาหลี เครื่องแต่งกายก็จะมีสีสันมากขึ้น โดยกลุ่มนักศึกษานำเครื่องประดับที่มีสีสันต่างๆมาสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า นาฬิกาข้อมือ กำไรข้อมือ รองเท้าผ้าใบ หรือแม้แต่ถุงเท้า ทุกๆอย่างก็จะมีสีสันค่อนข้างสด

ส่วนกระแสการแต่งชุดนักศึกษาไซส์ใหญ่นั้นถือว่ามีมานานแล้ว แต่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มเปิดรับกระแสแฟชั่นจากประเทศฝั่งยุโรปมากขึ้น ทำให้การแต่งกายแบบเรียบง่าย หรือที่เรียกว่า "มินิมอล" (Minimal) ได้รับความนิยม แม้กระทั่งลุ่มนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสมใจด้านการแต่งกายอยู่แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดที่สามารถใส่ได้เพียงเครื่องแบบนักศึกษาเท่านั้น จึงนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย จนทำให้กลายเป็นกระแสในวงกว้างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

นอกจากนี้ นายภคณัฐ ยังแสดงความคิดเห็นว่า จากอดีตถึงปัจจุบันจะเห็นว่าแฟชั่นการแต่งกายเปลี่ยนโดยตลอด และการแต่งการรูปแบบนี้ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับความในช่วงนี้ แต่หากเวลาผ่านไป การแต่งตัวรูปแบบอื่นจะเข้ามาเป็นที่นิยมแทน ซึ่งการแต่งกายทุกรูปแบบ ถือเป็นเรื่องความมั่นใจ ความพอใจในการแต่งตัวของแต่ละบุคคล ตราบใดที่ไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบ ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้แต่ละคนค้นพบการแต่งกายของตัวเราเอง

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่