บันทึกจากวรรณคดี
บทกวีเพื่อชีวิต
พ.สมานคุรุกรรม
เมื่อเอ่ยถึงบทกวีเจ็ดก้าวของ โจสิด ท่านผู้อ่านจำนวนมาก ย่อมจะรู้จักเป็นอย่างดี ว่าอยู่ในวรรณคดีอมตะ เรื่อง สามก๊ก ซึ่งมีผู้เรียบเรียงเป็นภาษาไทยอย่างแพร่หลาย มากมายหลายสำนวน
โจสิดเป็นบุตรของโจโฉ ตัวละครเอกในเรื่องสามก๊ก ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เพราะผู้เรียบเรียงบางท่านก็ยกย่องว่า เป็นนักปกครองที่ เฉลียวฉลาด เป็นขุนศึกที่มีความสามารถ แต่บางท่านก็ประนามว่าเป็นผู้ที่มีใจโหดเหี้ยม เจ้าเล่ห์เพทุบาย และคดโกง โจโฉเป็นมหาอุปราชของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น รับราชการมีความชอบมากมาเป็นเวลานาน จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น วุยก๋ง และสุดท้ายได้เป็นเจ้าวุยอ๋อง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคปวดศรีษะเรื้อรัง
โจโฉ มีบุตรชายห้าคน เกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ โจงั่ง ซึ่งได้ถึงแก่ความตายในการบที่เมืองอ้วนเซีย และมีบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่สองอีกสี่คน ได้แก่ โจผี โจเจียง โจสิด และโจหิม กับมีบุตรหญิงอีกหนึ่งคน ซึ่งได้ถวายให้เป็นมเหสีของ พระเจ้าเหี้ยนเต้คือ โจเฮา
เมื่อโจโฉถึงแก่กรรม โจผีได้เลื่อนเป็นอ๋อง ในตำแหน่งของบิดาแล้ว โจเจียงซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถในการรบทัพจับศึก ก็ยกทหารสิบหมื่นจากเมืองเตียงฮัน มาคำนับพี่ชายและช่วยงานศพบิดา แต่กลัวว่าโจผีจะเข้าใจผิด จึงมอบกองทัพที่ยกมานั้นให้แก่พี่ชาย และได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าเมืองเอียงเหลง
ส่วนโจหิมน้องชายคนเล็กซึ่งอยู่เมืองเซียวหวย ไม่ได้มาในงานศพบิดา โจผีจึงให้นายทหารผู้ใหญ่คุมพลไปจับตัวมาลงอาญา โจหิมกลัวพี่ชายเป็นอันมาก ก็ผูกคอตายเสีย
แต่โจสิดซึ่งอยู่ที่เมืองลิมฉี เมื่อได้ข่าวการตายของน้องชายคนสุดท้องแล้วก็มิได้เกรงกลัว นั่งเสพสุรารออยู่ จนนายทหารที่ถือคำสั่งของโจผีไปถึง ก็ให้ทหารไล่ตี เตลิดเปิดเปิงออกจากเมือง กลับมาแจ้งแก่โจผีที่เมืองเงียบกุ๋น ซึ่งทำให้โจผีโกรธมาก จึงสั่งให้ทหารเอกของบิดาชื่อเคาทู คุมทหารสามพันไปจับตัวเอามาลงโทษให้ได้ เคาทูเป็นผู้มีฝีมือเข้มแข็งไม่มีใครสู้ได้ ก็จับตัวโจสิดพร้อมด้วยบุตรภรรยาและบ่าวไพร่ในเรือน มัดใส่เกวียนเอามาให้โจผี
นางเปียนซีมารดาของโจผีทราบข่าว ก็ร้องไห้เข้าไปหาโจผี อ้อนวอนขอโทษแทนบุตรชายว่า โจหิมก็ตายไปแล้ว เจ้าโจสิดคนนี้มักพอใจเสพสุราและอวดดี ขอให้ไว้ชีวิตมันเพื่อเห็นแก่มารดาเถิด โจผีว่าน้องคนนี้ฉลาดเฉลียวนักตนเองก็รัก ที่จะลงโทษก็หวังจะให้หลาบจำ อย่าได้กระทำความชั่วสืบไป ไม่ถึงกับฆ่าแกงหรอกมารดาอย่าได้วิตกไปเลย
ความจริงโจสิดนั้นเป็นคู่แข่งกับโจผีมา ตั้งแต่ครั้งที่โจโฉผู้บิดา ได้เลื่อนเป็นที่วุยอ๋องใหม่ ๆ แล้วคิดจะตั้งทายาท แต่ยังลังเลใจอยู่ เพราะโจผีเป็นบุตรคนโตมีความสุขุมลึกซึ้ง เวลาไปทัพก็เอาไปด้วย แต่ใจนั้นรักโจสิดมากกว่าเพราะมีสติปัญญาดี ทำโคลงสรรเสริญเกียรติยศบิดา และให้พรต่าง ๆ เป็นอันมาก รวมทั้งโคลงซึ่งประดับไว้ที่ปราสาทเมืองเงียบกุ๋นด้วย จึงปรึกษากับขุนนางทั้งปวงว่า ควรจะตั้งผู้ใดเป็นทายาท กาเซี่ยงที่ปรึกษาก็ว่าขอให้พิเคราะห์ดูอย่าง อ้วนเสี้ยว กับ เล่าเปียว นั้นเถิด
เรื่องก็มีอยู่ว่าอ้วนเสี้ยวเจ้าเมืองกิจิ๋วนั้น มีบุตรชายสามคนคือ อ้วนถำ อ้วนซง และ อ้วนฮี เมื่อใกล้จะตาย นางเล่าซือมารดาของอ้วนซง แอบอ้างแต่งตั้งให้ อ้วนซงเป็นเจ้าเมืองแทนบิดา ครั้นอ้วนเสี้ยวตายไปด้วยความเจ็บไข้ พี่น้องทั้งสามก็ได้แต่แก่งแย่งสมบัติกัน ไม่ช่วยกันรบกับโจโฉ จึงถูกโจโฉฆ่าตายทีละคนจนหมด
ฝ่ายเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋วนั้นมีบุตรชายสองคนคือ เล่ากี๋ กับ เล่าจ๋อง เล่ากี๋เป็นลูกเมียเก่าจึงถูกส่งไปเป็นเจ้าเมืองกังแฮ เมื่อเล่าเปียวป่วยตาย นางชัวฮูหยินมารดาของเล่าจ๋อง ก็ปลอมหนังสือแต่งตั้งให้เล่าจ๋องเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วแทนบิดา แล้วก็เกลี้ยกล่อมให้ยอมอ่อนน้อมแก่โจโฉ แต่โจโฉก็ไม่เลี้ยงไว้ เอาไปฆ่าเสียทั้งแม่ทั้งลูก
โจโฉได้ฟังกาเซี่ยงที่ปรึกษาเตือนสติ ก็เห็นด้วยว่า การแต่งตั้งให้น้องเป็นใหญ่กว่าพี่นั้นไม่ถูกต้อง จึงตั้งให้โจผีเป็นทายาทตำแหน่งเจ้าชีจู๊ และได้รับสมบัติสืบทอดจากบิดาในครั้งนี้โดยชอบธรรม
โจผีปลอบใจมารดาแล้ว ก็ออกมานั่งว่าราชการ สั่งให้เอาตัวโจสิดมาชำระ และว่าตามฉบับของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า
“ ข้ากับเจ้าเป็นพี่น้องร่วมท้องกัน บัดนี้เราได้เป็นเจ้าแทนที่บิดาเราแล้ว ขุนนางผู้ใหญ่ก็เกรงกลัวเรา เหตุใดเจ้าจึงอุกอาจ ไม่เกรงกลัวเราเลย เมื่อบิดายังอยู่ย่อมใช้ให้เจ้าทำโคลงให้ดู เราสงสัยว่าคารมคนอื่นทำให้ ถ้าเจ้าทำได้จริง จงเดินไปเจ็ดก้าว ว่าโคลงให้ได้เนื้อความในพี่น้องเรา ให้เอาเนื้อความอื่นมาเปรียบในพี่น้องเรา อย่าให้ออกชื่อพี่น้อง ถ้าทำได้เราจะยกโทษ ถ้าทำไม่ได้เราจะลงโทษให้ถึงตาย “
โจสิดก็ว่า “ ท่านจงห้ามปากเสียงให้สงบ แล้วคอยฟังเถิด “ แล้วก็ก้าวเดินพลางว่าคำโคลงขึ้นหนึ่งบท ในเวลาที่กำหนด และได้ความสมบูรณ์ลึกซึ้ง เป็นที่ยกย่องมาจนทุกวันนี้ ซึ่งมีความเป็นร้อยแก้วตามสำนวนของท่านเจ้าพระยา ดังนี้
คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้
ก็เพราะกิ่งถั่ว ต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก
ในสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ ได้คัดโคลงภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt Taylor มา ดังนี้
They were boiling beans on a beanstalk fire;
Came a plaintive voice from the pot,
“Oh! why, since we sprang from the self-same root,
Should you kill me with anger hot?”
ซึ่งในสามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย ได้เรียบเรียงเป็นกลอน เอาไว้ว่า
เขาต้มถั่วด้วยถั่วเป็นต้นต้น
มันร้อนรนร้องลั่นจากอวยใหญ่
โอ้เกิดหน่อเดียวกันใช่ห่างไกล
เหตุไฉนเข่นฆ่าไม่ปราณี
และในสามก๊กฉบับคลาสสิค ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ก็ได้เรียบเรียงไว้เป็นกาพย์มีความว่า
เถาถั่วเผาต้มถั่ว ร่ำระรัวถั่วในกระทะ
ร่วมรากเกิดแล้วจะ เร่งเผาผลาญกันทำไม
ส่วนสามก๊กฉบับนายแพทย์ ของ หมอพัตร นั้นเรียบเรียงเป็นโคลงดังนี้
คั่วถั่วเอากิ่งนั้น........ ทำฟืน เผาแฮ
เมล็ดถั่วสุดทนฝืน..... ป่นไหม้
โอ้เมล็ดกิ่งก้านยืน..... เหง้าราก เดียวนา
ไฉนจึงรุนเร่งได้........ ดั่งเกรี้ยวโทโส
สำนวนสุดท้ายเป็นของ “เล่าเซี่ยงชุน” ผู้เรียบเรียงสามก๊กฉบับลิ่วล้อก็เป็นกลอนแปดเช่นเดียวกัน
เมล็ดถั่วถูกคั่วกะทะใหญ่
กลางเปลวไฟไหม้เชื้อร้อนเหลือหลาย
ทั้งกิ่งก้านรากเถาเผาวอดวาย
โอ้น่าอายแท้จริงเราเหง้าเดียวกัน.
เมื่อโจผีได้ฟังโคลงบทนี้แล้ว ก็ระลึกถึงความรักความผูกพัน ระหว่างพี่น้องได้ จึงต้องหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเสียใจ และยอมอภัยให้แก่น้องชาย แต่ก็จำต้องเนรเทศให้พ้นหูพ้นตา ออกไปเป็นเจ้าเมืองอันเหียง ห่างไกลเสียจากเมืองหลวง
หากไม่ได้บทกวี อันเกิดจากไหวพริบปฏิภาณ และสติปัญญาที่เฉียบแหลมบทนี้ โจสิดก็คงจะสิ้นชีวิตเสียตั้งแต่วันนั้น เป็นแน่แท้.
###########
จาก นิตยสารโล่เงิน
ตุลาคม ๒๕๔๒
บทกวีเพื่อชีวิต ๒๔ ก.ค.๕๘
บทกวีเพื่อชีวิต
พ.สมานคุรุกรรม
เมื่อเอ่ยถึงบทกวีเจ็ดก้าวของ โจสิด ท่านผู้อ่านจำนวนมาก ย่อมจะรู้จักเป็นอย่างดี ว่าอยู่ในวรรณคดีอมตะ เรื่อง สามก๊ก ซึ่งมีผู้เรียบเรียงเป็นภาษาไทยอย่างแพร่หลาย มากมายหลายสำนวน
โจสิดเป็นบุตรของโจโฉ ตัวละครเอกในเรื่องสามก๊ก ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เพราะผู้เรียบเรียงบางท่านก็ยกย่องว่า เป็นนักปกครองที่ เฉลียวฉลาด เป็นขุนศึกที่มีความสามารถ แต่บางท่านก็ประนามว่าเป็นผู้ที่มีใจโหดเหี้ยม เจ้าเล่ห์เพทุบาย และคดโกง โจโฉเป็นมหาอุปราชของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น รับราชการมีความชอบมากมาเป็นเวลานาน จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น วุยก๋ง และสุดท้ายได้เป็นเจ้าวุยอ๋อง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคปวดศรีษะเรื้อรัง
โจโฉ มีบุตรชายห้าคน เกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ โจงั่ง ซึ่งได้ถึงแก่ความตายในการบที่เมืองอ้วนเซีย และมีบุตรที่เกิดจากภรรยาคนที่สองอีกสี่คน ได้แก่ โจผี โจเจียง โจสิด และโจหิม กับมีบุตรหญิงอีกหนึ่งคน ซึ่งได้ถวายให้เป็นมเหสีของ พระเจ้าเหี้ยนเต้คือ โจเฮา
เมื่อโจโฉถึงแก่กรรม โจผีได้เลื่อนเป็นอ๋อง ในตำแหน่งของบิดาแล้ว โจเจียงซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถในการรบทัพจับศึก ก็ยกทหารสิบหมื่นจากเมืองเตียงฮัน มาคำนับพี่ชายและช่วยงานศพบิดา แต่กลัวว่าโจผีจะเข้าใจผิด จึงมอบกองทัพที่ยกมานั้นให้แก่พี่ชาย และได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นเจ้าเมืองเอียงเหลง
ส่วนโจหิมน้องชายคนเล็กซึ่งอยู่เมืองเซียวหวย ไม่ได้มาในงานศพบิดา โจผีจึงให้นายทหารผู้ใหญ่คุมพลไปจับตัวมาลงอาญา โจหิมกลัวพี่ชายเป็นอันมาก ก็ผูกคอตายเสีย
แต่โจสิดซึ่งอยู่ที่เมืองลิมฉี เมื่อได้ข่าวการตายของน้องชายคนสุดท้องแล้วก็มิได้เกรงกลัว นั่งเสพสุรารออยู่ จนนายทหารที่ถือคำสั่งของโจผีไปถึง ก็ให้ทหารไล่ตี เตลิดเปิดเปิงออกจากเมือง กลับมาแจ้งแก่โจผีที่เมืองเงียบกุ๋น ซึ่งทำให้โจผีโกรธมาก จึงสั่งให้ทหารเอกของบิดาชื่อเคาทู คุมทหารสามพันไปจับตัวเอามาลงโทษให้ได้ เคาทูเป็นผู้มีฝีมือเข้มแข็งไม่มีใครสู้ได้ ก็จับตัวโจสิดพร้อมด้วยบุตรภรรยาและบ่าวไพร่ในเรือน มัดใส่เกวียนเอามาให้โจผี
นางเปียนซีมารดาของโจผีทราบข่าว ก็ร้องไห้เข้าไปหาโจผี อ้อนวอนขอโทษแทนบุตรชายว่า โจหิมก็ตายไปแล้ว เจ้าโจสิดคนนี้มักพอใจเสพสุราและอวดดี ขอให้ไว้ชีวิตมันเพื่อเห็นแก่มารดาเถิด โจผีว่าน้องคนนี้ฉลาดเฉลียวนักตนเองก็รัก ที่จะลงโทษก็หวังจะให้หลาบจำ อย่าได้กระทำความชั่วสืบไป ไม่ถึงกับฆ่าแกงหรอกมารดาอย่าได้วิตกไปเลย
ความจริงโจสิดนั้นเป็นคู่แข่งกับโจผีมา ตั้งแต่ครั้งที่โจโฉผู้บิดา ได้เลื่อนเป็นที่วุยอ๋องใหม่ ๆ แล้วคิดจะตั้งทายาท แต่ยังลังเลใจอยู่ เพราะโจผีเป็นบุตรคนโตมีความสุขุมลึกซึ้ง เวลาไปทัพก็เอาไปด้วย แต่ใจนั้นรักโจสิดมากกว่าเพราะมีสติปัญญาดี ทำโคลงสรรเสริญเกียรติยศบิดา และให้พรต่าง ๆ เป็นอันมาก รวมทั้งโคลงซึ่งประดับไว้ที่ปราสาทเมืองเงียบกุ๋นด้วย จึงปรึกษากับขุนนางทั้งปวงว่า ควรจะตั้งผู้ใดเป็นทายาท กาเซี่ยงที่ปรึกษาก็ว่าขอให้พิเคราะห์ดูอย่าง อ้วนเสี้ยว กับ เล่าเปียว นั้นเถิด
เรื่องก็มีอยู่ว่าอ้วนเสี้ยวเจ้าเมืองกิจิ๋วนั้น มีบุตรชายสามคนคือ อ้วนถำ อ้วนซง และ อ้วนฮี เมื่อใกล้จะตาย นางเล่าซือมารดาของอ้วนซง แอบอ้างแต่งตั้งให้ อ้วนซงเป็นเจ้าเมืองแทนบิดา ครั้นอ้วนเสี้ยวตายไปด้วยความเจ็บไข้ พี่น้องทั้งสามก็ได้แต่แก่งแย่งสมบัติกัน ไม่ช่วยกันรบกับโจโฉ จึงถูกโจโฉฆ่าตายทีละคนจนหมด
ฝ่ายเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋วนั้นมีบุตรชายสองคนคือ เล่ากี๋ กับ เล่าจ๋อง เล่ากี๋เป็นลูกเมียเก่าจึงถูกส่งไปเป็นเจ้าเมืองกังแฮ เมื่อเล่าเปียวป่วยตาย นางชัวฮูหยินมารดาของเล่าจ๋อง ก็ปลอมหนังสือแต่งตั้งให้เล่าจ๋องเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋วแทนบิดา แล้วก็เกลี้ยกล่อมให้ยอมอ่อนน้อมแก่โจโฉ แต่โจโฉก็ไม่เลี้ยงไว้ เอาไปฆ่าเสียทั้งแม่ทั้งลูก
โจโฉได้ฟังกาเซี่ยงที่ปรึกษาเตือนสติ ก็เห็นด้วยว่า การแต่งตั้งให้น้องเป็นใหญ่กว่าพี่นั้นไม่ถูกต้อง จึงตั้งให้โจผีเป็นทายาทตำแหน่งเจ้าชีจู๊ และได้รับสมบัติสืบทอดจากบิดาในครั้งนี้โดยชอบธรรม
โจผีปลอบใจมารดาแล้ว ก็ออกมานั่งว่าราชการ สั่งให้เอาตัวโจสิดมาชำระ และว่าตามฉบับของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า
“ ข้ากับเจ้าเป็นพี่น้องร่วมท้องกัน บัดนี้เราได้เป็นเจ้าแทนที่บิดาเราแล้ว ขุนนางผู้ใหญ่ก็เกรงกลัวเรา เหตุใดเจ้าจึงอุกอาจ ไม่เกรงกลัวเราเลย เมื่อบิดายังอยู่ย่อมใช้ให้เจ้าทำโคลงให้ดู เราสงสัยว่าคารมคนอื่นทำให้ ถ้าเจ้าทำได้จริง จงเดินไปเจ็ดก้าว ว่าโคลงให้ได้เนื้อความในพี่น้องเรา ให้เอาเนื้อความอื่นมาเปรียบในพี่น้องเรา อย่าให้ออกชื่อพี่น้อง ถ้าทำได้เราจะยกโทษ ถ้าทำไม่ได้เราจะลงโทษให้ถึงตาย “
โจสิดก็ว่า “ ท่านจงห้ามปากเสียงให้สงบ แล้วคอยฟังเถิด “ แล้วก็ก้าวเดินพลางว่าคำโคลงขึ้นหนึ่งบท ในเวลาที่กำหนด และได้ความสมบูรณ์ลึกซึ้ง เป็นที่ยกย่องมาจนทุกวันนี้ ซึ่งมีความเป็นร้อยแก้วตามสำนวนของท่านเจ้าพระยา ดังนี้
คั่วถั่วเอากิ่งถั่วมาเป็นฟืนใส่ไฟ เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้
ก็เพราะกิ่งถั่ว ต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง เหตุใดจึงเร่งไฟเข้าให้หนักนัก
ในสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ ได้คัดโคลงภาษาอังกฤษของ C.H. Brewitt Taylor มา ดังนี้
They were boiling beans on a beanstalk fire;
Came a plaintive voice from the pot,
“Oh! why, since we sprang from the self-same root,
Should you kill me with anger hot?”
ซึ่งในสามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย ได้เรียบเรียงเป็นกลอน เอาไว้ว่า
เขาต้มถั่วด้วยถั่วเป็นต้นต้น
มันร้อนรนร้องลั่นจากอวยใหญ่
โอ้เกิดหน่อเดียวกันใช่ห่างไกล
เหตุไฉนเข่นฆ่าไม่ปราณี
และในสามก๊กฉบับคลาสสิค ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ก็ได้เรียบเรียงไว้เป็นกาพย์มีความว่า
เถาถั่วเผาต้มถั่ว ร่ำระรัวถั่วในกระทะ
ร่วมรากเกิดแล้วจะ เร่งเผาผลาญกันทำไม
ส่วนสามก๊กฉบับนายแพทย์ ของ หมอพัตร นั้นเรียบเรียงเป็นโคลงดังนี้
คั่วถั่วเอากิ่งนั้น........ ทำฟืน เผาแฮ
เมล็ดถั่วสุดทนฝืน..... ป่นไหม้
โอ้เมล็ดกิ่งก้านยืน..... เหง้าราก เดียวนา
ไฉนจึงรุนเร่งได้........ ดั่งเกรี้ยวโทโส
สำนวนสุดท้ายเป็นของ “เล่าเซี่ยงชุน” ผู้เรียบเรียงสามก๊กฉบับลิ่วล้อก็เป็นกลอนแปดเช่นเดียวกัน
เมล็ดถั่วถูกคั่วกะทะใหญ่
กลางเปลวไฟไหม้เชื้อร้อนเหลือหลาย
ทั้งกิ่งก้านรากเถาเผาวอดวาย
โอ้น่าอายแท้จริงเราเหง้าเดียวกัน.
เมื่อโจผีได้ฟังโคลงบทนี้แล้ว ก็ระลึกถึงความรักความผูกพัน ระหว่างพี่น้องได้ จึงต้องหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเสียใจ และยอมอภัยให้แก่น้องชาย แต่ก็จำต้องเนรเทศให้พ้นหูพ้นตา ออกไปเป็นเจ้าเมืองอันเหียง ห่างไกลเสียจากเมืองหลวง
หากไม่ได้บทกวี อันเกิดจากไหวพริบปฏิภาณ และสติปัญญาที่เฉียบแหลมบทนี้ โจสิดก็คงจะสิ้นชีวิตเสียตั้งแต่วันนั้น เป็นแน่แท้.
###########
จาก นิตยสารโล่เงิน
ตุลาคม ๒๕๔๒