เล่าเรื่อง Kepler-452b ดาวเคราะห์อีกดวงที่คล้ายโลกมากที่สุด

กระทู้สนทนา
สวัสดีค่ะ

เมื่อคืน NASA แถลงค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่คล้ายโลกดวงใหม่ น่าสนใจมากทีเดียว
เลยขอแว้บบบบ หยิบเอาเรื่องราวของดาวเคราะห์ดวงนี้มาสรุปให้อ่านนะคะ

เมื่อปีที่แล้ว NASA ประกาศพบ Kepler-186f ดาวเคราะห์ที่มี "ขนาด" ใกล้เคียงโลกมากที่สุด
นั่นคือ ใหญ่กว่าโลก 1.1 เท่า ทำให้หลายคนจดจำมันในฐานะ "ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุด"


..


มาครั้งนี้ NASA ประกาศพบ Kepler-452b ซึ่งกล่าวได้เลยว่า.. ต่อไปนี้เมื่อพูดถึงดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกมากที่สุด
อาจไม่มีใครนึกถึง Kepler-186f เป็นดวงแรกแล้ว เพราะดาวเคราะห์ดวงนี้มันมีอะไรคล้ายโลกมากกว่านั้นจริง ๆ

Kepler-452b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ห่างออกไป 1,400 ปีแสง ระบบดาวของมัน (Kepler-452)
อยู่มานานกว่าระบบสุริยะ คือประมาณ 6 พันล้านปีค่ะ ดาวฤกษ์ของมันเป็นดาวฤกษ์ระดับ G เหมือนกับดวงอาทิตย์
มีอุณหภูมิพอ ๆ กัน แต่.. มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

ส่วนดาวเคราะห์ Kepler-452b มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 1.5 เท่า และมวลน่าจะมากกว่าโลกประมาณ 2 เท่า
ซึ่งนั่นถือว่ายังเป็นดาวเคราะห์ที่ขนาดใกล้เคียงกับโลกอยู่นะคะ แต่ตรงนี้ยังไม่ทำให้มันน่าสนใจซักเท่าไหร่
เพราะที่ผ่านมาก็ค้นพบดาวเคราะห์ size นี้มาหลายดวงแล้ว สิ่งที่ทำให้มันน่าสนใจก็คือ..
ปกติแล้วดาวเคราะห์ที่พบใน Habitable Zone (เขตเอื้อต่อการเกิดสิ่งมีชีวิต) รอบดาวฤกษ์ระดับ G เนี่ย
จะเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ ๆ ทั้งนั้น  ไม่ค่อยพบขนาดใกล้เคียงโลกเลย..

Kepler-452b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่ค้นพบใน Habitable Zone ของระบบดาวฤกษ์ระดับ G ค่ะ
ดังนั้น เมื่อมันมีขนาดใหญ่กว่าโลกแค่นิดหน่อย แล้วยังอยู่ในเขต Habitable Zone ของระบบดาวฤกษ์ระดับเดียวกับดวงอาทิตย์อีก
มันจึงได้ตำแหน่ง "ดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกที่สุด ที่พบในเขต Habitable Zone ของระบบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์"

ทำให้เป็นดาวที่น่าลุ้นอีกดวงนึงว่า สภาพดาวรวมถึงอุณหภูมิบนดาวก็อาจไม่ต่างจากโลกเท่าไหร่ (ร้อนกว่าหน่อย)
อาจมีสิ่งมีชีวิตหรือ "เคย" มีสิ่งมีชีวิตมาก่อน และน่าลุ้นว่ามันสามารถเป็น "โลกใบที่สอง" ก็ได้นะ



นี่คือภาพเปรียบเทียบตำแหน่งของ Kepler-452b ใน Habitable Zone
จะเห็นได้ว่ามันโคจรรอบดาวฤกษ์ระดับ G ในย่าน Habitable Zone ที่ใกล้เคียงโลกเลย
ต่างจาก Kepler-186f ดาวเคราะห์ขนาดคล้ายโลกที่พูดถึงก่อนหน้านี้ ที่อยู่เกือบจะพ้นขอบ Habitable Zone แล้ว


ส่วนคาบโคจรรอบดาวฤกษ์ของ Kepler-452b ก็ใกล้เคียงกับโลกค่ะ มันโคจรรอบดาวฤกษ์ 1 รอบใช้เวลา 385 วัน
ดังนั้น 1 ปีบนดาวก็จะพอ ๆ กับโลก ถ้าหากลองจินตนาการสนุก ๆ ว่าสภาพดาวเอื้อให้มนุษย์มีชีวิต-หายใจกันอยู่ได้..
ถ้าเราไปอยู่บนดาวก็คงลำบากกันหน่อยในเรื่องของมวลที่มากกว่าโลก แต่ถึงอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์ NASA แสดงความเห็นว่า
เราอาจจะพอ Adapt ได้ ใช้เวลาหลายชั่วอายุคนในการวิวัฒนาการให้เข้ากับดาว เดี๋ยวก็แข็งแรง เตี้ยม่อต้อลงเองค่ะ

แต่เหนือสิ่งอื่นใด นั่นเป็นเพียงการสมมติและจินตนาการว่าเราสามารถอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ไหมเท่านั้น
จริง ๆ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับดาวดวงนี้ และคงจะหาคำตอบที่แน่ชัดได้ยากมากกกกกก
เพราะหากเทคโนโลยีปัจจุบันใช้เวลา 9 ปีเดินทางไปหาน้องพลูโต เราก็จะใช้เวลาเกือบ 26 ล้านปีเลยทีเดียว
กว่าจะเดินทางไปถึง Kepler-452b ได้ ดังนั้นการออกไปสำรวจก็อาจจะต้องรอลุ้นเทคโนโลยีแตะความเร็วแสง
ของลูกหลานเรายุคต่อ ๆ ไป ซึ่งก็คาดว่าคงจะอีกนานนนนนนนนนนนนนนนนนนนนัก..

อย่างไรก็ดี โดยสรุปแล้ว การค้นพบ Kepler-452b นับเป็นข่าวดีจริง ๆ ค่ะ ยิ่งเราค้นหาเราก็ยิ่งค้นพบดาวที่คล้ายเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้นรอลุ้นปีหน้าต่อค่ะ เชื่อว่า NASA คงค้นพบดาวใหม่มาโค่นบัลลังก์ได้อยู่เรื่อยแน่ ๆ

สุดท้ายแล้ว เราก็คงได้พบคำตอบที่แน่นอนว่า เราไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่มี "ชีวิต" เพียงดวงเดียวในเอกภพจริง ๆ


ขอบคุณที่ติดตามค่ะ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่