คิดยังไงกับข่าวปู่ตินเชิญไทยเข้า“สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย”ครับ ?

เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลรัสเซีย แสดงความคาดหวังว่า จะได้เห็น รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรี ของกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union: EEU) ก่อนสิ้นปีนี้ ชี้ เป็น “บันไดขั้นแรก” ของการกระชับความสัมพันธ์ และการแบ่งปันผลประโยชน์มหาศาลทางด้านเศรษฐกิจร่วมกัน ระบุ ไทยถือเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐบาล วลาดิมีร์ ปูติน ทาบทามให้เข้าร่วม
       
       รายงานข่าวล่าสุดในวันพุธ ( 15 ก.ค.) จากกรุงมอสโก ระบุว่า เดนิส วาเลนติโนวิช มันตูรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของสหพันธรัฐรัสเซียออกมาแถลงด้วยตัวเองว่า รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน มีความคาดหวังว่า รัฐบาลไทยจะสมัครเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีของกลุ่มประเทศ EEU ในเร็ว ๆ นี้ และคาดว่า น่าจะได้เห็นความชัดเจนเรื่องสมาชิกภาพของไทยในกลุ่มความร่วมมือดังกล่าวก่อนสิ้นปี 2015 นี้
       
       มันตูรอฟ ในวัย 46 ปี ซึ่งเข้ารับหน้าที่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2012 ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการหารือกับคณะกรรมาธิการร่วมรัสเซีย – ไทย ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีในวันพุธ ( 15 ก.ค.) โดยระบุ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยืนยันกับทางการรัสเซียว่า ไทย “สนใจ” เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (อีอียู) อย่างเป็นทางการ
       
       “ผมเชื่อว่าในขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการในเรื่องการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งทางรัสเซียจะไม่เร่งรัดไทยในเรื่องนี้ เพราะเราตระหนักดีว่า สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลไทยว่า พวกเขาจะเห็นว่าตนเองมีความพร้อมเข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันกับเราได้เมื่อใด แต่เราเชื่อว่า เรื่องนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย กล่าว
       
       ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงมอสโกเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ทาบทามให้เข้ามาร่วมเขตการค้าเสรีของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียในขณะที่ชาติเพื่อนบ้านของไทยอย่าง “เวียดนาม” ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมอสโกมายาวนาน กลับไม่ถูกทาบทาม
       
       โดยท่าทีดังกล่าวนี้ในทางการทูตถือเป็นการส่งสัญญาณว่า รัสเซียให้เกียรติประเทศไทยเป็นอย่างมาก และตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ไทยมีอยู่ ตลอดจนเป็นการแสดงออกว่า รัฐบาลประธานาธิบดีปูตินให้การยอมรับรัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามี “ความชอบธรรม” ในการบริหารประเทศ ถึงแม้รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยจะไม่ได้มาจาก “การเลือกตั้ง” ตามครรลองประชาธิปไตยแบบโลกตะวันตกก็ตาม
       
       ตามขั้นตอนปกติแล้ว ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยและรัฐบาลไทย จะต้องยื่นคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (อีอียู)ผ่านทางคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission : EEC) ซึ่งถือเป็นฝ่ายบริหารของอีอียูอีกชั้นหนึ่ง
       
       ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่มใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมปีที่แล้ว มีทั้งสิ้น 4 ประเทศ คือ รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย
       
       ส่วนคีร์กิซสถาน และทาจิกิสถาน อยู่ระหว่างกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ขณะที่จีน อิหร่าน และมองโกเลียแสดงความสนใจเข้าร่วมในอนาคต
       
       อย่างไรก็ดี แม้แหล่งข่าวทางการทูตจะระบุว่า ไทยเป็นประเทศแรกและเป็นประเทศเดียว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการทาบทามจากรัฐบาลรัสเซียให้เข้าร่วมทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอีอียู แต่ก่อนหน้านี้กลับมีรายงานของสื่อต่างประเทศบางสำนักซึ่งระบุเนื้อหาที่ขัดแย้งกันว่าเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการเวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับทางอีอียูไปแล้ว
       
       ขณะที่นายกรัฐมนตรีดมิตรี เมดเวเดฟของรัสเซียออกมาเปิดเผยว่า ทางอีอียูกำลังหารือกับเกือบ 40 ประเทศ ถึงความเป็นไปได้ในการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี รวมถึงมีการเจรจาระหว่างรัสเซียกับประเทศภาคีในอีอียู เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสหภาพทางการเงิน (currency union) ขึ้นในอนาคตเช่นกัน




Cr.http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080468

อยากฟังความคิดเห็นจากหลายๆท่านในห้องสินธรครับ
มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ ?
ขอบคุณครับ.
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่