เด็กที่พ่อแม่หย่ากัน ตกลงเค้ามีปัญหาเพราะครอบครัว หรือเพราะสังคมรอบข้างยัดเยียดปัญหาให้เด็กมากกว่ากันคะ ?

ในฐานะที่ตัวเองเป็นเด็กที่โตมาจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่หย่าร้างกันตั้งแต่ยังเด็กมากๆ แถมคุณแม่ยังแต่งงานใหม่ มีน้องคนละพ่อมาอีกต่างหาก เวลาผ่านมาสามสิบกว่าปีแล้วค่ะ ขณะนี้ดิฉันอายุสามสิบปลายๆ หน้าที่การงานดี ครอบครัวอบอุ่น น้องๆรักใคร่กันดี ดีมากๆเพราะเชื่อฟังพี่ทุกอย่างและเกื้อกูลกันมาตลอด พออ่านข่าว “เด็กมีปัญหา” หรือ “คนมีปมในใจ” หวนคิดถึงเรื่องที่คาใจเรา สะสมมาตั้งแต่เด็ก จนเป็นผู้ใหญ่ เลยขอยืมล็อคอินเพื่อนสนิท มาตั้งคำถามกับสังคมจากประสบการณ์ส่วนตัวล้วนๆ

ตอนพ่อแม่เราหย่ากัน แน่นอนว่าความเป็นเด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ เราจำความไม่ได้หรอกค่ะ แต่มารู้ว่าจะไม่ได้อยู่กับพ่อเหมือนเดิมอีกต่อไปตอนประมาณ 6 ขวบ ที่แม่แต่งงานใหม่ ถามผู้ใหญ่ว่าเรามีปัญหาใหม่ เราเชื่อว่ามีค่ะ แต่เราก็ไม่ได้ฝังใจอะไรมากเพราะได้รับความรักจากพ่อเลี้ยงและแม่พอสมควร และคุณแม่พยายามทำทุกอย่างไม่ให้ลูกรู้สึกว่าขาดอะไรไป คุยกับลูกด้วยเหตุผล

ประเด็นคือสังคมรอบข้าง เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว การที่พ่อแม่หย่ากันเหมือนเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับสังคมในตอนนั้น แถมคุณแม่ยังแต่งงานใหม่อีก เราเหมือนเป็นเด็กที่ถูกจับจ้อง ว่าต้องเป็นเด็กมีปัญหา เป็นเด็กมีปัญหาแน่ๆ จากคุณครูหลายๆคน (ขออโหสิกรรมมา ณ ที่นี้)

อย่างการถามคำถามของครูที่ไม่คิดถึงจิตใจเด็ก ตัวอย่างเช่น เคยมีครูถามเราในชั้นเรียนว่าทำไมเรากับแม่นามสกุลไม่เหมือนกัน ต่อหน้าเพื่อนๆ เรายังเด็กมาก ประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งเราก็ไม่รู้จะตอบยังไง ครูเลยสรุปหน้าชั้นเรียนว่า “คุณพ่อคุณแม่หย่ากันใช่มั้ย .. ถ้างั้นต้องให้คุณแม่ส่งใบหย่ามาให้ที่โรงเรียนด้วย” ตอนนั้นเพื่อนๆก็ ถามใหญ่ เด็กไงคะ ไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องอ่อนไหว วันรุ่งขึ้นไปขอสำเนาใบหย่ามาจากแม่ คุณครูมีการชูให้เพื่อนในห้องดูเป็นความรู้ “นักเรียน...นี่คือใบหย่านะ รู้จักกันมั้ย” แล้วเด็กตัวเล็กๆก็มองตาปริบๆ เราไม่รู้ว่าการหย่านี่มันเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องแปลกขนาดนั้นเลย

แถมทุกๆปี สมัยอยู่ประถม ครูจะถามเรื่องที่เราอยู่กับพ่อเลี้ยง ถามเรื่องน้อง เหมือนถามว่าเรามีปํญหารึเปล่า ซึ่งเราไม่มีค่ะ แต่เริ่มรู้สึกว่าจะมีขึ้นเรื่อยๆเพราะถูกถามซ้ำๆต่อหน้าธารกำนัลเนี่ยแหละ น้องเราที่คลานตามกันมา รักกันที่สุด ก็ถูกเพื่อนๆและผู้ใหญ่หลายๆคน (ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว) ตั้งคำถามว่า “ไม่อิจฉาน้องเหรอ” “แม่เค้ามีลูกใหม่แล้วนะ” “ป๊ายังรักเราเหมือนเดิมมั้ย” (เราเรียกพ่อเลี้ยงว่าป๊าค่ะ) ถามซ้ำๆค่ะ เหมือนถามว่าอยู่ป.อะไรแล้ว หนักที่สุดและจำไม่ลืมเลยคือเวลาคนชอบเรียกน้องเราเป็นอย่างอื่น เช่น “ลูกของพ่อเลี้ยง” “ลูกแม่อีกคน” หรือ เรียกพ่อเลี้ยงเราว่า “พ่อของ...(ชื่อน้องเรา)” ซึ่งเราไม่ชอบเลย เราไม่เคยอิจฉาน้อง แต่คนชอบมาถามแบบชงแล้วไปสรุปว่าเราอิจฉา อย่างเช่น ป๊าเค้าต้องให้ลูกเค้าเรียนที่ดีกว่าเราอยู่แล้วล่ะ เพราะลูกเค้า แต่เราไม่ใช่ ซึ่งผู้ใหญ่เป็นคนพูดนะ ไม่ใช่เด็ก

ครูที่โรงเรียนเหมือนมีธงว่าเราเป็นเด็กมีปัญหาจากการที่ครอบครัวแตกแยก เพราะตอนประถมเราไม่มีเพื่อนเลย เราเข้าสังคมไม่ได้ ทำตัวแปลกๆ เล่นคนเดียว ขี้อวด ขี้โม้ อยากให้คนยอมรับ พองานคืนสู่เหย้า เราเคยได้ยินครูหลายคนบอกว่าไม่คิดเลยว่าเราที่เป็นเด็กมีปัญหาจะประสบความสำเร็จได้

แต่เรามองย้อนไปแล้ว ปัญหาไม่ได้เกิดจากตอนที่พ่อแม่หย่ากันซะทีเดียว แต่เป็นปฏิกิริยาของคนในสังคม โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ที่ปฏิบัติต่อเด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้างต่างหากที่ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กมีปัญหา

จนพอมัธยมเราย้ายโรงเรียนค่ะ คราวนี้เราไม่บอกใครเลยว่าคนที่มารับมาส่งเป็นพ่อเลี้ยง นี่น้องคนละพ่อ คือรู้ละ ว่าคนไทยไม่ค่อยเคารพความเป็นส่วนตัวเท่าไหร่ เลยปิดเงียบ ผลออกมาดีเกินคาด เราไม่ต้องฟังคำถามแปลกๆอีกเลย เราเริ่มมีเพื่อนเป็นกลุ่มเป็นก้อน มาวันนึง แม่เราหย่ากับพ่อเลี้ยงอีกค่ะ แต่ตอนนั้นเราโตพอแล้ว อยู่ในช่วงเรียนต่อต่างประเทศ เราเลยเฉยๆกับเรื่องนี้มาก เน้นเป็นกำลังใจให้แม่มากกว่า  

จุดสำคัญอีกจุดนึงคือคุณครูค่ะ ครูมัธยมของเรารู้จากประวัติอยู่แล้วเรื่องโครงสร้างครอบครัวของเราแล้ว แต่การปฏิบัติของครูต่างจากก่อนหน้ามาก คือครูเรียกเรามาสอบถามที่ห้องพักครูค่ะ ไม่ได้ถามหน้าชั้นเรียน และยังบอกด้วยว่า “อย่าไปฟังคนที่บอกว่าเราจะเป็นเด็กมีปัญหา เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา ..ต่อให้คนรอบข้างเป็นยังไง ถ้าเราเป็นตั้งใจเป็นคนดี เราก็ดีได้” และเรื่องครอบครัวของเราก็ไม่ถูกพูดถึงอีกเลย

แน่นอนว่าพอเราเป็นผู้ใหญ่ เราก็พูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างปกติ แต่สำหรับพ่อแม่ที่หย่าร้างกันและลูกยังเล็กอยู่ น่าจะฟังเรื่องเราไว้เป็นอุทาหรณ์ ยิ่งสังคมปัจจุบัน การหย่าร้างกันมีมากขึ้น คิดในแง่ดี (สำหรับเด็ก) เด็กที่มาจากครอบครัวหย่าร้างก็อาจจะไม่ได้ถูกมองว่าแปลกเหมือน 30 ปีที่แล้วก็ได้ แต่ถึงอย่างไร ทางโรงเรียนก็น่าจะมีการศึกษาวิธีปฏิบัติบ้าง ว่าควรจะพูดกับเด็กใส่สภาวะแบบนั้นยังไงไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจเด็ก โดยเฉพาะสื่อและสังคมรอบๆที่ย้ำเหลือเกินว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กขาดความอบอุ่น เด็กมีปัญหา ซึ่งพอเอาเข้าจริงๆ ถ้าพ่อแม่วางตัวถูกต้องก็ไม่มีปัญหามากกว่าเด็กธรรมดาสักเท่าไหร่นะคะ

พอดีช่วงนี้ดูข่าวดาราเป็นโรคซึมเศร้า เห็นว่าเริ่มจากการที่พ่อกับแม่เลิกกัน ทำให้นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่