=== อยากทำธุรกิจนำเข้าสินค้า ต้องรู้อะไรบ้าง ??? ดูได้ที่นี่ ===



เสน่ห์ของสินค้านำเข้ามีสองข้อ ข้อแรกคือ Uniqueness หรือความแตกต่างทั้งภาพลักษณ์ ดีไซน์ คุณภาพ และส่วนต่างกำไรสูงลิ่ว และข้อสอง เป็นอีกแนวไปเลยคือ Economy คนไทยไม่ทำ นำเข้าถูกกว่า เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ตลาดสินค้านำเข้าในไทยคึกคักและเติบโตตลอดเวลา

จากประสบการณ์การนำเข้าเกือบสิบปี ผมมีโอกาสดูแลสินค้าหลากหลายได้แก่ ของกิน ของใช้ เฟอร์นิเจอร์ ของชำร่วย ฯลฯ พบว่าทุกอุตสาหกรรมที่ดูแลมามีปริมาณนำเข้าสูงขึ้นตลอดครับ ไม่ว่านักวิชาการจะมองโลกในแง่ร้ายอย่างไร แต่ในแง่ของนักธุรกิจที่คลุกคลีกับตลาดจริงๆ ประสบการณ์มันบอกว่าคำพยากรณ์ของนักวิชาการไม่ค่อยตรง ที่เหลือก็เป็นเรื่องของผู้ประกอบการว่าจะทำการตลาดสินค้าของตนได้ดีแค่ไหน แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้มากน้อยแค่ไหนครับ

อยากทำธุรกิจนำเข้าต้องรู้อะไรบ้าง

อยากทำธุรกิจนำเข้ามีโจทย์สำคัญที่คุณต้องออกไปดูตลาดและนำข้อมูลกลับมาตอบตัวเองดังนี้…

ภาคตลาด
• ขายอะไร ใครคือลูกค้า
• ราคาตลาดเท่าไร
• นำเข้ามาแล้วจะขายอย่างไร

ภาคสรรหา
• ซื้อจากไหน
• นำเข้ามาอย่างไร
• ต้นทุนนำเข้าเท่าไร

ขายอะไร ใครคือลูกค้า

สินค้าเกือบทุกอย่างที่ปรากฏตัวขึ้นบนโลกและยังคงมีขายอยู่จนถึงปัจจุบันคุณสามารถตีความเบื้องต้นได้ว่ามันขายได้แต่จะขายดีไม่ดีนั้นอีกเรื่อง

สินค้าที่มีคนนำเข้ามาไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ของชำร่วย เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่ ฯลฯ และสามารถเปิดเป็นหน้าร้านหรือกิจการขายเป็นกิจจะลักษณะก็ล้วนเป็นสิ่งที่ขายได้มีตลาดรองรับแน่นอนเช่นกัน และสำหรับนักธุรกิจใหม่ที่มีสินค้าในใจ สิ่งที่ต้องคิดถึงคือ นำเข้ามาขายใคร ใครคือลูกค้าของคุณ?

การที่คุณตั้งโจทย์และสร้าง Avatar ว่าที่ลูกค้าจะช่วยให้คุณสามารถกำหนดคุณสมบัติของสินค้าได้ชัดเจนขึ้น ลูกค้าต่างกลุ่มก็ต้องการความประณีตของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน รวมไปถึงราคาปลีกและอัตรากำไรที่คุณจะได้ก็ต่างกัน

แม้แต่เฟอร์นิเจอร์นำเข้าก็มีหลายระดับ เก้าอี้ตัวละพันก็มี เก้าอี้ตัวละแสนก็มี เฟอร์นิเจอร์ที่ IKEA ก็ต่างจากเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ คนที่ไปซื้อของก็คนละกลุ่ม และวิธีทำการสื่อสารการตลาดก็คนละแบบ แบบแรกเน้นโปรโมชั่น แบบที่สองเน้น Story ของสินค้า!

ราคาตลาดเท่าไร

เมื่อคุณเลือกกลุ่มลูกค้าและสินค้าที่อยากนำมาขายต่อมาคือสำรวจราคาตลาด นี่แหละครับถึงให้เลือกกลุ่มลูกค้าก่อน ไม่อย่างนั้นคุณได้สำรวจราคากันจนหัวหมุน สินค้าประเภทเดียวกันราคาต่างกันเป็นสิบๆเท่าตัวเพราะเขาขายคนละกลุ่ม

การสำรวจราคาตลาดเพื่อหามูลค่าโดยเฉลี่ยที่เขาขายกันอยู่ในตลาดกลุ่มนั้นๆ การรู้ราคาตลาดจะต่อยอดไปสู่การสรรหาแหล่งสินค้าและวิธีการนำเข้ามาภายใต้ต้นทุนที่สัมพันธ์กับราคาปลีกที่คุณจะขายและได้อัตรากำไรเป็นที่น่าพอใจ

การขายดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาขายเพียงอย่างเดียวเพราะบางกลุ่มลูกค้าไม่ใช่กลุ่ม Price sensitive แต่เป็นแนว Brand sensitive หรือ มีรสนิยมเฉพาะทาง เป็นต้น เพียงแต่เมื่อคุณ เลือกกลุ่มลูกค้า เลือกสินค้า และศึกษาโครงสร้างราคาปลีกเพื่อที่คุณจะได้ขายสินค้าในราคาที่ไม่โต่งจนเกินไปจากค่าเฉลี่ยของตลาดที่คุณเล่น

นำเข้ามาแล้วจะขายอย่างไร

สุดท้ายคือ ขายอย่างไร ขายที่ไหน ปัจจุบันคนอาจคิดว่า ขายออนไลน์สิ! อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะสินค้าด้วย ไม่ใช่สินค้าทุกชนิดจะเหมาะแก่การขายออนไลน์ บางอย่างต้องมีโชว์รูมไว้แสดงสินค้า สินค้ากลุ่ม High-end ส่วนมากมีโชว์รูม

แม้ตัวเลขการซื้อของออนไลน์จะเติบโตขึ้น อีคอมเมิร์ซ เอ็มคอมเมิร์ซ จะมาแรงมาเร็ว กระแสโหมกระพือว่าทำแล้วรวยสถานเดียว แต่ระดับอายุของคนที่ Engage โลกออนไลน์สูงสุดยังเป็นกลุ่มวัยรุ่นระหว่าง มัธยมถึงอุดมศึกษา รองลงมาคือคนจบใหม่และเพิ่งเริ่มทำงาน

คุณคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นตลาดกลุ่มไหน โดยมากคือ Price sensitive ซื้อของกระจุกกระจิกและราคาไม่แพง ผู้ประกอบการอาศัย Turn-over หรือความถี่ในการขาย และ Volume หรือปริมาณขาย ในการทำกำไร

ส่วนกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงซื้อสินค้าเปิดบิลครั้งละแสนบาทขึ้นไป กลุ่มนี้ต้องการประสบการณ์การซื้อสินค้าในระดับสูง คนเหล่านี้ชอบคุยตรงกับแบรนด์ครับ ฉะนั้นสินค้าแบรนด์ หรือคนที่สร้างแบรนด์เองมักมีโชว์รูมหรือเคาเตอร์ในห้างสรรพสินค้า



ยกตัวอย่างธุรกิจผ้าพันคอแบรนด์ โซอี้  เจ้าของพัฒนาสินค้าและสร้างแบรนด์เอง มีการนำเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำเพื่อเกิด Physical Image ของตัวสินค้า ยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ แต่ยอดขายสำคัญมากจากการขายออนไลน์และการขายลูกค้าองค์กร หรือ Direct Client ที่สั่งทำและสั่งซื้อเป็นปริมาณมาก

การมี Physical location เมื่อเจ้าของแบรนด์ไปคุยกับ ลูกค้ารายย่อย หรือ Direct client ต่างๆ และเมื่อถูกถามว่ามีขายส่งขายปลีกอย่างไรบ้าง หากคุณตอบว่า มีขายที่สยามพารากอน มันสร้างอารมณ์ Wow แก่ผู้ฟังได้มาก สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าของคุณเมื่อเทียบกับการขายออนไลน์เพียงอย่างเดียว รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตลาดขายสินค้าอยู่ในหัวข้อ อุตสาหกรรมในการจัดซื้อ ในบทความนี้ครับ

ซื้อจากไหน

Product sourcing เป็นส่วนของการสรรหาและจัดซื้อสินค้าที่ต้องการนำเข้ามาขาย แหล่งซื้อที่คนพูดถึงมากในปัจจุบันคือ ประเทศจีน แต่สินค้านำเข้าไม่ได้มีแต่ที่จีนอย่างเดียว สินค้าบางชนิดเช่น พรมทอมือ ขึ้นชื่อในอินเดีย เฟอร์นิเจอหรูต้องอิตาลี ขนมอันหลากหลายจากอเมริกา ของชำร่วยจากญี่ปุ่น ขึ้นอยู่กับคุณต้องการขายอะไรและขายให้ใคร

หากคุณต้องการนำเข้าสินค้า Mass ทั่วไปในราคาถูกและจำนวนมาก เช่น เข็มขัด กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า ไม่ได้เน้นแบรนด์และภาพลักษณ์ คุณอาจค้นหาจาก Alibaba

แต่ถ้าคุณต้องการนำเข้าขนมแปลกๆ รสชาติดี และหน้าตาไฮโซๆ ก็อาจจะมองไปทางฝั่งอเมริกา เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์และ accessory คุณภาพสูงและมียี่ห้อก็หาจากอเมริกาและยุโรป ฯลฯ

ทั้งนี้ทั้งผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าอาจมาตั้งโรงงานผลิตในจีนหรือเวียดนาม ดังนั้นคุณอาจติดต่อกับทางฝั่งอเมริกาในเฉพาะแค่การเปิด Deal ธุรกิจ แต่กระบวนการทำงานอาจติดต่อประสานงานนำเข้าจากเอเชียเป็นต้น

นำเข้ามาอย่างไร

นำเข้าอย่างไรเริ่มจาก ส่งออกจากไหน และปริมาณเท่าไร
อย่างที่บอกไว้ในข้อบนว่า บริษัทเจ้าของแบรนด์อาจอยู่ที่อเมริกา แต่โรงงานผลิตอาจอยู่ในประเทศจีน โมเดลนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะค่าแรงในอเมริการวมไปถึงยุโรปมีราคาแพง เจ้าของแบรนด์จึงหันมา Outsource การผลิตในเอเชีย โดยอาจแค่จ้างผลิตภายใต้การควบคุมคุณภาพของต้นสังกัด หรือต้นสังกัดมาตั้งโรงงานผลิตในจีนไปเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณก็ต้องนำเข้าจากประเทศที่เป็นศูนย์การผลิต

ความแตกต่างระหว่างการนำเข้าจากอเมริกาและเอเชียคือ ค่า Freight และ Transit time หรือระยะเวลาเดินทาง ค่า Sea freight ส่งจากอเมริกาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่อาจแพงกว่าส่งจากเอเชียเกือบสิบเท่าตัว และระยะเวลาเดินทางก็ช้ากว่าส่งจากเอเชียเป็นเดือน

อาทิ ส่ง Sea freight จากอเมริกาเดินทาง 2 เดือน จากจีนเดินทาง 2 สัปดาห์เศษๆ เป็นต้นครับ หากจากเวียดนามมาไทย 3 วัน! แต่ถ้าหากนำเข้าทาง Air freight ก็จะเร็วมาก จากอเมริกามาไทยเดินทาง 2 วันเพราะมีการเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ แต่ระยะเวลาการทำงานรวมๆ ตั้งแต่จัดไฟล์ทจนไฟล์ทลงท่าอากาศยานไทยรวมๆ ให้เผื่อประมาณ 7 วันครับ แต่ค่า Air freight จะแพงมากนะครับ ฉะนั้นต้องคำนวณต้นทุนและราคาขายสินค้าของท่านดีๆ

นอกจากนั้นยังมีเรื่องค่าภาษีนำเข้า กล่าวคือหากวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าทำในเอเชียภายใต้พื้นที่ Free trade zone ก็อาจได้งดเว้นภาษีนำเข้าเป็นศูนย์เปอร์เซ็น ผมเคยทำงานกับ Supplier ที่ต้นสังกัดอยู่อเมริกา แต่มีโรงงานในเวียดนาม ได้สิทธิ Free trade zone และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ก็อยู่ในประเทศที่ผลิตตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด ทำให้สามารถนำเข้ามาและใช้สิทธิ Free trade ภาษีเป็น 0% ลดต้นทุนไปได้มหาศาลครับ

ต้นทุนนำเข้าเท่าไร

คนเชื่อว่าถ้าต่อราคาสินค้าได้มากเท่าไรจะยิ่งส่งผลดีต่อ Profit margin แต่จริงๆแล้ว ตัวทำต้นทุนสูงไม่ได้อยู่ที่ราคาสินค้า แต่อยู่ที่ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ราคาส่งของตัวสินค้ามันมีขีดจำกัดในการต่อรอง ถ้าถูกมากเกินไป Supplier ก็ไม่อยากขายให้คุณ และต่อให้คุณต่อราคาได้ถูกลงไปอีก 3-5% (หลังจากต่อลงไปก่อนหน้านี้แล้วอีกหลายเปอร์เซ็นต์) ก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนนำเข้าหรือ Landed cost โดยรวมของคุณลดลงไปมากหากคุณนำเข้าจากอเมริกาด้วยสินค้าที่ไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ และเสียภาษีนำเข้าเต็มพิกัดไม่มีสิทธิงดเว้นใดๆ!

หรือหากคุณนำเข้าสินค้ามาทางเครื่องบิน และเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีภาษีนำเข้าแล้วยังเจอกับภาษีสรรพสามิตและภาษีมหาดไทยเข้าไปด้วยแล้ว เผลอๆค่า Freight และค่าภาษีรวมกันมีมูลค่าสูงกว่าตัวสินค้าด้วยซ้ำไปครับ

ฉะนั้นต้นทุนนำเข้าเท่าไร สำคัญที่นำเข้าจากไหนและบริหารจัดการนำเข้าดีแค่ไหน เปรียบเทียบค่า Freight สักสามสี่บริษัท เปรียบเทียบราคานำเข้าทางเรือและทางอากาศ ประเมินปริมาณสินค้าที่คุณจะนำเข้า หากนำเข้าไม่เต็มตู้ลองดูว่า ระหว่างเรือแบบ LCL (Less than container load) เท่าไร และหากนำมาแบบ Air freight เท่าไรเป็นต้น

ค่าภาษีจะคำนวณจาก ค่าสินค้าบวกค่า Freight ถ้าค่า Freight แพง ค่าภาษีก็จะยิ่งแพงตามไปด้วยครับ

สรุป

สินค้านำเข้ามีเสน่ห์ตรงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางแตกต่างจากของในประเทศ และมีโอกาสขายได้ในราคาที่สูงกว่าสำหรับคนนิยมของนอก วิธีคิดแบบเบ็ดเสร็จสำหรับการขายสินค้านำเข้าคือ Profit margin ต้องหนา ขายทีต้องรวยกันไปเลย ดังนั้นคนที่มี Skills ในการสรรหาของนอกแปลกๆ และสามารถนำเข้ามาขายได้ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้ช่วยให้คุณเป็นเซ็นเตอร์ในการขายสินค้านั้นๆ

หรืออีกกรณีคือการนำเข้าสินค้า Mass รวมไปถึงสินค้า Parts and supply ต่างๆ เข้ามาจำนวนมากราคาถูกเพื่อป้อนโรงงานและร้านค้าส่งต่างๆ ก็เป็นอีกวิธีทำกำไรจากการขายวอลุ่ม

ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การนำเข้าสินค้ามาขายอย่างรู้ใจตลาดและบริหารการนำเข้าได้ดีสามารถทำให้คุณประสบความสำเร็จได้


Credit : The CEO Blogger

=====================================================================================



ติดตามข่าวสาร ศูนย์รวมความรู้-บทความเรื่องการลงทุน,อสังหา, และธุรกิจ ได้ที่
Thinkvestment Fanpage : https://www.facebook.com/thinkvestment
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่