NEWS 30/6/58

กระทู้สนทนา

DJIA 17,596.35 จุด 350.33 จุด, -1.95%
NASDAQ 4,958.47 จุด -122.04 จุด, -2.40%
S&P 2,057.64 จุด -43.85 จุด, -2.09%
DAX  11,083.20 จุด -409.23 จุด, -3.56%
CAC 4,869.82 จุด -189.35 จุด, -3.74%
FTSE  6,620.48 จุด -133.22 จุด, -1.97%

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 350 จุดเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของกรีซ หลังจากที่รัฐบาลกรีซประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน พร้อมกับสั่งปิดธนาคารพาณิชย์และตลาดหุ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าสถานะการเงินของกรีซอยู่ในขั้นวิกฤติ

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของกรีซและความเป็นไปได้ที่กรีซจะต้องถูกบีบออกจากกลุ่มยูโรโซน หลังจากที่ประชุมยูโรกรุ๊ปได้ปฏิเสธที่จะขยายเวลาสำหรับโครงการความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ ที่จะสิ้นสุดลงในวันอังคารนี้ ซึ่งจุดปะทุความวิตกว่ากรีซอาจจะผิดนัดชำระหนี้ 1.6 พันล้านยูโรแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในวันที่ 30 มิ.ย.
ทั้งนี้ การที่ยูโรกรุ๊ปปฏิเสธที่จะขยายความช่วยเหลือทางการเงินให้กับกรีซ ประกอบกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ขยายเพดานเงินกู้ฉุกเฉิน หรือ Emergency Liquidity Assistance (ELA) ที่ให้กับภาคธนาคารของกรีซนั้น ส่งผลให้รัฐบาลกรีซตัดสินใจประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน และปิดธนาคารพาณิชย์จนถึงวันที่ 6 ก.ค. ซึ่งเป็นเวลา 1 วันหลังจากที่มีการจัดทำประชามติในวันที่ 5 ก.ค.ว่าด้วยข้อเสนอในการรับเงินช่วยเหลือจากเจ้าหนี้  ส่วนการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มจะถูกจำกัดไว้ที่ 60 ยูโร (65 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อวันในช่วงเวลาที่แบงก์พาณิชย์ปิดทำการดังกล่าว
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบหลังจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงสู่ระดับ CCC- จากระดับ CCC และยังคงให้แนวโน้มเป็นลบ พร้อมระบุว่า ความเป็นไปได้ที่กรีซจะต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนั้น มีอยู่ถึง 50%
นักลงทุนจับตาดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนมิ.ย. ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทย สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 0.9% แตะระดับ 112.6 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 9 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2006 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่