ชีวิตอีกด้าน อดีตเลขาธิการ ก.พ. "สำราญ ถาวรายุศม์" เกือบถูกฆ่า เพราะเลี้ยงหมาจรจัด!?

จากมติชนออนไลน์ โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร

นับเป็นบุคคลสำคัญของวงราชการ สำหรับ สำราญ ถาวรายุศม์ ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ หัวจักรŽ ของการปฏิรูประบบราชการยุคแรกๆ โดยริเริ่มนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการบริหารและวางแผนกำลังคนจนเป็นรากฐานสืบมา

ทว่า ชีวิตอีกด้าน ก็น่าทึ่งไม่แพ้กัน ด้วยความเสียสละอันยิ่งใหญ่ให้เพื่อนร่วมโลก

เป็นเวลานานกว่า 20 ปีที่อดีตข้าราชการผู้นี้อุทิศทั้งแรงกายและกำลังทรัพย์ในการดูแล ให้อาหารสุนัขจรจัดในละแวกบ้านย่านอารีย์สัมพันธ์ในรัศมี 5 กิโลเมตร รวมกว่า 200 ตัว

สำราญ เกิดที่อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี บิดาเป็นครู หลังจบการศึกษาขั้นพื้นฐานในบ้านเกิด จึงสอบชิงทุนได้ที่หนึ่งของจังหวัดเข้าเรียนครูตามความฝันได้ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเข้าสอนที่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษาพญาไท จากนั้นได้รับทุนไปศึกษาต่อด้าน Quantitative Management (การจัดการเชิงปริมาณ) ที่ ม.อินเดียนา สหรัฐอเมริกา

ขณะศึกษาปริญญาเอกอยู่นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ขอให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมทั้งมอบหมายให้จัดส่วนราชการและทำแผนกำลังคน การสอบคัดเลือกและพัฒนาข้าราชการ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในขณะนั้น เป็นเหตุให้ชีวิตพลิกผันเข้าสู่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อย่างเต็มตัว

เริ่มที่ตำแหน่งหัวหน้าแผนกนักเรียนยุโรป กองนักเรียนต่างประเทศ แล้วเลื่อนเป็นหัวหน้ากองเมื่อ พ.ศ.2506

กระทั่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ระดับปลัดกระทรวงเมื่อ พ.ศ.2530

เป็นที่ทราบกันในวงการว่ามีอุปนิสัยมุ่งมั่น พูดจริง ทำจริง ทั้งยังเป็น สุภาพบุรุษŽ

ครั้นเมื่อเกิดความผันผวนทางการเมืองในช่วง รสช. เมื่อ พ.ศ.2534 ได้ขอลาออกจากราชการ

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ รศ.อุไร ถาวรายุศม์ อดีตคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สวนสุนันทา

มีบุตรชาย 1 คน รุ่งยศ ถาวรายุศม์ นายสัตวแพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษ กรมปศุสัตว์ จ.จันทบุรี

ปัจจุบัน ยังคล่องแคล่ว ขับรถยนต์ไปไหนมาไหนด้วยตนเอง พูดคุยเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันอย่างมีชีวิตชีวาเกินกว่าจะเชื่อว่าอยู่ในวัย 84 ปีแล้ว

- ผูกพันกับสุนัขตั้งแต่เด็ก

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ในหมู่บ้านมีสุนัขเยอะ ไปไหนก็วิ่งตาม เลยรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อน บางคนตีมันแรงๆ ถึงขั้นทารุณ ก็ไม่โกรธ เพราะซื่อสัตย์ จงรักภักดี อยู่กับคนมาเป็นหมื่นปีแล้ว เป็นสัตว์ที่ยอมสละชีวิตให้เจ้าของ ตอน 6-7 ขวบ เคยไปเล่นในป่า มันก็ช่วยต่อสู้กับงูเห่าเพื่อปกป้องผม ไม่งั้นคงตายไปแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่จำได้แม่นคือ คุณแม่ผมอยู่บนบ้านซึ่งใต้ถุนสูง วันหนึ่งหมาวิ่งปรู๊ดลงมาต่อสู้กับงูพิษ เพราะได้กลิ่น ถ้าไม่มีหมา แม่อาจลงมาข้างล่างแล้วถูกงูเห่ากัดตายก็ได้

พอผมโตขึ้นหน่อย ไปเข้าเรียนในตัวจังหวัดซึ่งสมัยก่อนยังไม่ค่อยมีบ้านเช่า ต้องอยู่วัด เจอสุนัขน่าสงสาร เลยเอาข้าวให้กินประจำ

- เหตุการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มเลี้ยงสุนัขจรจัด

มีอยู่วันหนึ่งผมไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวที่ซอยศาสนา มีสุนัขนมยานๆ ตัวหนึ่งมาแหงนมอง ผมเลยโยนลูกชิ้นให้ลูกหนึ่ง มันคาบแล้วหายไป เดี๋ยวเดียวก็กลับมาอีก ผมก็โยนให้อีก แล้วมันก็คาบไป เลยแอบตามไปดู ที่แท้เอาไปให้ลูกกิน มันไม่ยอมกิน เสียสละให้ลูก ผมซาบซึ้งมาก จากนั้นก็เริ่มเลี้ยงกระจายอยู่แถวนี้ แล้วขยายวงไปเรื่อยๆ เพราะมันมีสุนัขที่ออกลูกเยอะ แล้วมีพวกอดอยาก น้ำลายยืดๆ ตามมาอีก บางตัวที่จับได้ก็พาไปทำหมัน ทำตั้งแต่ยังรับราชการอยู่จนลาออก นับแล้วกว่า 20 ปี

- จ้างคนงานปรุงอาหารให้สุนัขโดยเฉพาะ

ต้องจ้างเด็กคนหนึ่งมาโดยเฉพาะ เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดไม่ไหว และมันก็ไม่ค่อยกินด้วย จะต้องใช้ข้าวขยำกับเนื้อสัตว์ ที่บ้านมีตู้เย็นใหญ่ๆ เอาไว้แช่อาหารสุนัข ข้าวซื้อทีละหลายกระสอบ หุงวันละ 2 หม้อใหญ่ ส่วนเนื้อจะสั่งจากตลาด มีกระดูกหมู กระดูกไก่แบบที่เคี้ยวได้กับพวกตับ เพราะช่วยบำรุงร่างกายเหมือนผู้ป่วย เด็ก หรือคนแก่ คือคิดแล้วว่าอะไรดีต่อสุนัข (หัวเราะ)

เริ่มหุงข้าว เริ่มต้ม เริ่มปรุง เริ่มหั่น ตั้งแต่สายๆ เสร็จประมาณ 4 โมงเย็น ภรรยาเป็นหัวหน้าผู้ดำเนินการในครัว

- วัฏจักรชีวิต

ราวๆ 4-5 โมงเย็น ผมจะเข็นรถที่มีอาหารเตรียมไว้ออกจากบ้านย่านอารีย์สัมพันธ์ ไปถึง รพ.พระมงกุฎ และบริเวณรอบๆ ถ้าไกลมาก จะเอารถเข็นขึ้นรถไปในจุดที่มีสุนัขเยอะๆ เช่น สวนพญาไทภิรมย์ และซอยศาสนา พอไปถึงจะส่งสัญญาณลับว่า มาเร็ว มาเร็ว มาเร็วŽ เขาจะมาเป็นกลุ่มๆ พอกลุ่มหนึ่งกินเสร็จ อีกกลุ่มถึงจะวิ่งมา ต้องคอยดูไม่ให้กัดกัน โดยมีจานตั้งไว้ ไม่ให้สกปรก รอให้กินเสร็จก็เก็บจาน กว่าจะกลับถึงบ้านก็ประมาณเที่ยงคืน ช่วงที่ต้องไปต่างประเทศเป็นเดือน บางส่วนอดตายเลย โดยเฉพาะพวกหมาแม่ลูกอ่อนที่ผสมกับหมาฝรั่ง ลูกออกมาตัวโตๆ 8-9 ตัว กินจุ มันยอมอดเพื่อให้ลูกกิน แม่มันยืนดูอยู่ รอกินทีหลัง อาหารไม่พอ ก็อดจนตัวตาย เจอแบบนี้หลายครั้ง

- ค่าใช้จ่ายต่อเดือน

เป็นหมื่นๆ เลยครับ เพราะในหนึ่งวันใช้ข้าวสารเกือบ 1 ถัง ไหนจะค่าจ้างเด็กคอยหุงหาอีก แต่ก็ยินดีจ่ายนะ คิดถึงสุนัขที่หิวข้าวมันคอยอยู่ โดยเฉพาะแม่ลูกอ่อน

- บางส่วนเก็บมาเลี้ยงที่บ้านด้วย

ใช่ครับ จะมีอยู่ 2 แบบ หนึ่งคือสุนัขป่วย บางตัวตาบอด บางตัวขาหัก สองคือสุนัขที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อย่างครั้งหนึ่งไปเจอสุนัขพยายามคุ้ยดินข้างๆ ท่อระบายเพื่อช่วยลูกที่ตกลงไปในท่อ ผมเลยเก็บมาเลี้ยง ถ้าปล่อยไว้ก็ตายแน่ เก็บไปเก็บมารวม 22 ตัว กั้นเป็นล็อกๆ แล้วทำหลังคาให้เป็นบ้าน

- มีคนแอบเอามาปล่อยหน้าบ้านไหม

บ่อยครับ คนรู้ว่าผมเลี้ยงหมา ก็เอาขึ้นตุ๊กตุ๊ก มาผลักลงหน้าบ้านเลย ผมก็เลี้ยงไว้ ตัวนี้พอเห็นรถตุ๊กตุ๊ก จะวิ่งไปหา เพราะนึกว่าเจ้าของมารับ น่าสงสารมาก บางทีก็ขนลูกหมามาเทไว้ทีนึง 3 ตัว

- อุปสรรค

ถูกด่าเกือบทุกวัน เพราะบางคนไม่พอใจที่เอาอาหารไปให้ตรงหน้าบ้านเขา ผมบอกว่า ขออนุญาตประเดี๋ยว เพราะหมามันอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ให้ตรงนี้หมาก็ไม่ได้กิน เขาก็ไม่ยอม

คนแถวบ้านฟ้องทางเขตหลายครั้งว่าผมเอาหมามาเลี้ยงเยอะ รบกวนเพื่อนบ้าน จริงๆ แล้วเสียงเห่ามีบ้าง แต่ไม่มาก ส่วนกลิ่นนี่ผมดูแลอย่างดีเยี่ยม เทศบาลที่มาตรวจ ก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไร

ในย่านคนจรจัดและมีรายได้น้อย ผมจะถูกเล่นงานเยอะ ขนาดมาฉุดแขน มาต่อยผมก็มี เกือบถูกฆ่าตายแล้ว เขาบอกว่าผมเห็นหมาดีกว่าคน ทำไมไม่เอาเงินไปให้เขาแทนที่จะเอาข้าวไปให้หมา ผมตอบว่า คุณเป็นคน ทำงานหากินได้ แต่สุนัขมันหาไม่ได้ คืออิจฉาสุนัข (หัวเราะ) ภรรยาก็เป็นห่วงบางครั้งพา รปภ.ไปตามเพราะหายไปนาน

- คนให้กำลังใจ

มีครับ ก็มีมาก มีคนเอาเงินมาให้หลายครั้ง บอกว่าอยากช่วย ผมตอบว่าไม่เป็นไรครับ ผมพอมี คุณช่วยเอาข้าวให้สุนัขดีกว่า

- ครอบครัวสนับสนุนไหม

ช่วยเยอะมาก เพราะเขาเข้าใจ ภรรยาผมก็รักสัตว์ ตอนยังไม่เกษียณจาก มรภ.สวนสุนันทา เขาก็ให้อาหารสุนัขแถวๆ นั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีคนเอาไปปล่อยหรือหนีเข้าไปอยู่เอง เคยมีการจับสุนัข พวกอาจารย์ก็กระซิบๆ กัน ช่วยกันเก็บสุนัขเข้าห้อง (หัวเราะ)

- ความรักสัตว์ถ่ายทอดมาถึงลูกชาย

ใช่สิ เมื่อตอนเขายังเด็กก็รักสัตว์เหมือนพ่อกับแม่ โตมาได้ทุน ก.พ.ไปเรียนต่างประเทศ 7 ปี ด้านสัตวแพทย์ เพราะรักสัตว์ แล้วทำงานที่นั่นเลย เพราะได้เงินเยอะ ราวๆ 15 ปีที่แล้วได้ตั้งเดือนละ 300,000 บาท เลยบอกว่าจะไม่กลับบ้าน ซึ่งจะต้องถูกปรับ 21 ล้าน แล้วคิดดูนะว่า ก.พ.ให้ทุนนักเรียนไปต่างประเทศ ต้องกลับมาทำงานใช้ทุน ในขณะที่ลูกเลขาฯ ก.พ.ไปแล้วยังไม่กลับมาเลย เสียหน้ามหาศาลไปถึงชาติหน้า แหม! เลขาฯ ก.พ.พูดดีนัก ชักชวนให้นักเรียนกลับมารับใช้ชาติ (หัวเราะ) ผมต้องขึ้นเครื่องบินไปเอาตัวกลับมารับตำแหน่งนายสัตวแพทย์เงินเดือนหมื่นต้นๆ

- จุดเปลี่ยนคือถูกสามล้อทับ

2 พฤษภาคม 2554 ผมออกจากบ้านไปเลี้ยงสุนัขตามปกติบริเวณฟุตปาธ ถนนพระราม 6 อยู่ๆ รถตุ๊กตุ๊กขึ้นฟุตปาธมาชนจากข้างหลัง แล้วทับบนตัวผมเลย เป็นปาฏิหาริย์ที่รอดมาได้ แต่ตอนนั้นคิดว่าคงพิการตลอดชีวิต เพราะพลิกตัวไม่ได้เลย สรุปแล้วศีรษะแตก เย็บ 7 เข็ม ซี่โครงหักไป 6 ซี่ เชิงกรานหัก 2 อัน ขาก็หัก คือกรอบไปทั้งตัว เข้าไอซียูตั้งหลายวัน นอนโรงพยาบาล 70 วัน ซึ่งถือว่าหายไวมาก ผมเชื่อว่าเป็นอานิสงส์จากการให้อาหารและดูแลสุนัขที่เจ็บป่วยเลยไม่เป็นอะไรมาก

- เริ่มหยุดเลี้ยงเพราะปัญหาสุขภาพ

ครับ ช่วงหลังนี้สุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนเดิม แต่ก็ออกไปเลี้ยงอยู่บ้าง โดยต้องมีเด็กไปช่วยและภรรยามักตามไปด้วย ส่วนที่เลี้ยงไว้ที่บ้านก็ดูแลจนสิ้นอายุขัย ตัวสุดท้ายเพิ่งตายไปเมื่อปีที่แล้ว อายุ 23 ปี ตอนนี้เลี้ยงแมวจรจัดแทน มี 18 ตัว ภรรยาเป็นคนดูแล

- เรื่องสะเทือนใจ

ผมเป็นผู้ชายใจแข็ง ตั้งแต่จำความได้ ร้องไห้ครั้งเดียวตอนพ่อตาย แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งผมน้ำตาไหล คือ มีแม่หมาถูกยาเบื่อ ขณะที่กำลังจะตายมันวิ่งไปหาลูก ลูกก็ดูดนมแม่ที่ขาดใจตายไปแล้ว แต่ลูกมันไม่รู้ นี่เป็นภาพสะเทือนใจมากสำหรับผม ต่อมาลูกก็ตายตามไป เพราะได้รับพิษจากน้ำนม

- เคยไปดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษหลายปี อยากให้เปรียบเทียบระบบการดูแลสุนัขกับของไทย

คนอังกฤษบอกว่า ถ้ายูเตะเมียร้อง ไม่มีใครสนใจหรอก แต่ถ้ายูเตะหมานะ ตำรวจจับ !

การทำร้ายสัตว์อย่างไม่มีเหตุผลหรือมีเหตุผลก็ไม่ได้เหมือนกัน ตามถนนไม่พบหมาจรจัดเลย เพราะเขาเลี้ยงด้วยความรับผิดชอบ ออกไปข้างนอกจะมีสายจูง มีถุงเก็บมูล ไม่ทำให้ระบบสาธารณะเสียหาย ถ้าคนไทยทำอย่างนี้ได้ก็ดี

- พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ ที่เพิ่งบังคับใช้

ดีมาก (เน้นเสียง) เป็นเครื่องมืออย่างเฉียบขาดในการป้องกันการทารุณสัตว์ แต่สุดท้ายถ้าใจคนไม่พร้อม มันก็ไร้ผล ควรพัฒนาจิตสำนึกตั้งแต่ในโรงเรียน และต้องมีระบบการบังคับตามกฎหมายอย่างจริงจัง มิฉะนั้น กลัวว่าจะมีการจับวันละคนสองคนแล้วเลิกไปแบบไฟไหม้ฟาง

- ข้อเสนอแนะเรื่องการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด

ควรช่วยกันขจัดสุนัข แต่ไม่ใช่ฆ่ามันทิ้ง ต้องเอาไปเลี้ยงในพื้นที่เหมาะสม ช่วยแบ่งเบาภาระสังคม คนเลี้ยงต้องรับผิดชอบ สุนัขที่ใช้ชีวิตอยู่กลางถนนส่วนใหญ่เคยมีคนเลี้ยงเพราะตอนเล็กๆ น่ารัก พอโตก็เอาไปปล่อย หรือไม่พาไปทำหมัน พอท้องแล้วถูกปล่อยทั้งที่มีลูกในท้อง ผมเคยไปต่อว่าคนที่นำสุนัขมาปล่อย เขาตอบว่า ขอประทานโทษไม่ใช่เรื่องของคุณ

การทำหมันทางเทศบาลต้องดำเนินการให้ดี ต้องจับตอนทั้งตัวผู้และตัวเมีย บางแห่งตอนเฉพาะตัวผู้ อย่างสมัยที่คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม. ท่านรักสัตว์ ก็จ้างคนทำหมัน แต่เขาแอบทำเฉพาะตัวผู้ เพราะง่ายกว่าตัวเมีย จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร ที่สำคัญต้องดูแลต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเสร็จปั๊บก็เอาไปปล่อย ซึ่งทำให้สุนัขตายไปเยอะมาก กลายเป็นทำบาปไป

- ได้อะไรจากการเลี้ยงสุนัขจรจัด

ทำงานเครียดๆ พอมาเจอสุนัขก็หาย มันจะมากระดิกหาง มาเลียหน้า เคยอ่านเจอว่ามีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ระบุด้วยว่า เมื่อคนเราเมตตาต่อสัตว์ก็ดี เพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ดี แล้วสิ่งที่ทำประสบผลสำเร็จ ร่างกายจะหลั่งสารชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อสู้กับความเจ็บป่วย ความแก่ แล้วทำให้มีความสุข

เวลาไปหาหมอ หมอก็ทักว่า อายุตั้ง 80 กว่าแล้ว ทำไมยังดูหนุ่ม ผมบอกว่าไม่รู้เหมือนกัน แต่ผมเลี้ยงสุนัข คนที่มีความเมตตาหน้าตาสดชื่นทุกคนนะ (ยิ้ม)

- เคยมีสักแวบหนึ่งไหมที่เสียดายเงินหรือเวลาที่สูญเสียไป

ไม่เคยเสียดายเลย เพราะคิดว่าสิ่งที่มอบให้เป็นการเอื้อเฟื้อ เพราะว่าเราพอมี แต่รู้สึกอย่างเดียวว่า ทำไมบางคนไม่มีความเมตตาต่อสัตว์เลย

- ขอย้อนถามถึงสมัยรับราชการ สไตล์การทำงานเป็นแบบไหน

เป็นคนไปทำงานเช้า 7 โมงถึงแล้ว และทำงานเร็ว เจ้าหน้าที่คงไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะผมไปเร่งเขา (หัวเราะ) หนังสือราชการยังร่างเองเลย ผมบอก เอ้า...จด! พิมพ์ เซ็น แป๊บเดียวเสร็จ ผมนึกเสมอว่าประชาชนคอยอยู่ ต้องรีบช่วยกันพัฒนาประเทศ

มีต่อข้างล่างอีกค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่