ไม่มีตังค์ แต่อยากเรียน ม.รามคำแหง พอจะมีวิธีที่จะเรียนได้หรือไม่

(เดือน/ปี ที่ตั้งกระทู้ 06/2558)
                          ข้อมูลส่วนตัว : ก่อนอื่นเลยนะครับปัจจุบันผมเรียนอยู่ที่วิทยาลัยอาชีวะ เรียนอยู่ระดับชั้น ปวส.ชั้นปีที่ 1 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (ผมจบสายสามัญ) เวลาเรียนคล้ายๆกับเรียนมัธยม เรียนเช้า เวลาเลิกเรียน จะมี 3 เวลา คือ 15.00 , 16.00 , 17.00 เสาร์อาทิตย์หยุด ตอนนี้ไปสมัครงานพาร์ททามไว้ คาดว่าจะได้ทำงานตั้งแต่ 18.00-00.00 น.หรืออาจจะดีหน่อยก็ 18.00-22.00 น. ผมกลัวว่าจะบริหารเวลาไม่ดี เพราะบางวันที่กลับมาก็รู้สึกเหนื่อยและง่วงมาก.....

                          การอุปการะคุณ : มีคุณแม่ส่งเรียน แต่ไม่อยากรบกวนท่านมาก ท่านเหนื่อยมามากแล้ว ตั้งแต่จบ ม.6 มา ผมคิดค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่าหลังเรียนจบ จะหามาคืน เพราะแม่ยืมมา 60,000 ผมเลยสมัครงานทำแล้ว เพราะเงินก้อนนี้ผมใช้มาเกินครึ่งแล้ว

                           สาขาที่อยากเรียน และความรู้เท่าที่มี : สาขาที่ผมจะเรียนเป็น คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ เมื่อวาน (17/06/2558) มีอาจารย์ที่มหาลัยมาแนะแนวบอกว่าเรียนจนจบหลักสูตร ใช้เงิน 20,000 กว่า ๆ ก็จบหลักสูตร แต่ที่ผมคิดไว้ 30,000 ขึ้น และเปิดรับสมัครถึงเดือนกรกฏา (ความรู้เกี่ยวกับรามคำแหง มีการสอนแบบไม่ต้องไปเรียนที่มหาลัย เรียนควาบได้ )
      ผมไม่รู้เกี่ยวกับการเรียนเลย ว่ามีมีระยังไง เท่าที่รู้มีเพียงในวงเล็บที่พิมพ์ไว้เมื่อสักครู่

สิ่งที่อยากรู้  (ผมคิดจะเรียนแบบควาบ ไม่ต้องไปเรียนที่มหาลัย)
         1. การเรียนเก็บหน่วยกิต เป็นยังไง
         2. ก่อนเข้าต้องสอบหรือไม่
         3. มีการสอบกลางภาคหรือปลายภาคมั้ยครับ หากมีจะมีการจัดการสอบที่ไหน
         4. วิธีจัดการเวลาเพื่อการเรียน
         5. ที่มหาลัยจะเก็บคะแนนยังไง
         6. การเรียนแบบพรีดีกรีคือ?
(เท่าที่รู้นะครับ สามารถเรียนไปแล้วย้ายสาขาได้ตลอด)

   หากพิมผิด พิมไม่เข้าใจก็ขอโทษด้วยนะครับ
และ ขอขอบคุณผู้ที่เข้ามาอ่านมาตอบมากๆด้วยนะครับ

ขอบคุณมาก ๆ ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
เท่าที่อ่านดู จบ ม.6 มาแล้วใช่ป่าวครับ เห็นบอกจบสายสามัญ

1. หน่วยกิตก็คือวิชาที่เราต้องลงทะเบียนเรียนนั้นแหละครับ ก็เหมือนที่เราเรียนมาใน ชั้นมัธยมอะ
   ปกติจะวิชาละ 3 หน่วยกิต มหาลัยก็เหมือนกัน วิชาส่วนใหญ่จะ 3 หน่วยกิต
    ของคณะบริหารธุรกิจต้องสอบผ่าน 135 หน่วยกิต (ประมาณ 45 วิชา) ถึงจะเรียนจบได้ปริญญามาครอง
2. ไม่ต้องมหาลัยรามเป็นมหาลัยเปิด (มหาลัยเปิดก็คือมหาลัยที่ไม่ต้องสอบเข้า)
3. 1 ปีการศึกษาจะมี 2 เทอมใหญ่ และ เทอมซัมเมอร์ รวมเป็น 3 เทอม
     การสอบจะมีแค่สอบปลายภาคไม่มีสอบกลางภาค เพราะฉะนั้น ภายใน 1 ปี ถ้าลงทะเบียนเรียนทุกเทอมก็ไปสอบ 3 ครั้ง
     สำหรับเทอม 1 และ 2 หากไม่ลงทะเบียนเรียน จะเสียค่ารักษาสภาพนักศึกษาเทอมละ 300 บาท
     ตัวอย่างเช่น เทอม 1 ลงทะเบียนเรียน แต่เทอม 2 ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนเลยซักวิชา จะต้องเสียค่ารักษาสถานภาพนักศึกษา 300 บาท ในการลงทะเบียนเรียนครั้งถัดไป และหากไม่ลงทะเบียนเรียนเทอมใหญ่ 2 เทอมติดต่อกัน จะหมดสภาพการเป็นนักศึกษาทันที สำหรับเทอมซัมเมอร์ เป็นเทอมพิเศษ หากไม่ลงทะเบียนเรียนก็ไม่เสียค่ารักษาสถานภาพนักศึกษา (เป็นเทอมสำหรับคนขยันนั้นเอง)
            
4. จริงแล้วในเทอมๆนึง นักศึกษามีภาระที่จำเป็นต้องไปมหาลัยแค่ครั้งเดียว คือการสอบ
     สำหรับการลงทะเบียนนั้นลงทางอินเทอร์เนตได้ จึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่มหาลัย การสมัครก็เช่นเดียวกัน
     สำหรับการวางแผนและจัดเวลาขอแนะนำดังนี้
               1. ต้องมีการวางแผนการลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าเสมอ
                   เช่น หากอยู่ในช่วงเทอม 1 เราก็ควรจะวางแผนได้แล้วว่า เทอม 2 เราจะลงทะเบียนเรียนวิชาอะไร
                   ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่ไม่ได้ไปเรียน เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราต้องไปสอบที่มหาลัยในเทอม1 เราก็สามารถซื้อหนังสือ
                   ของเทอม 2 มาไว้ก่อนได้เลย หากเรารอเวลา จนช่วงสอบเทอม 1 ผ่านพ้นไปแล้ว แล้วค่อยเลือกวิชาที่จะลงทะเบียนเรียนในเทอม 2
                   จะทำให้เราเสียเวลาในการซื้อหนังสือ โดยเฉพาะคนที่เวลามีน้อย ต้องทำงาน การวางแผนล่วงหน้าสำคัญมาก
                2. เราต้องมีกลุ่มเรียนในเฟสบุ๊ค
                    สำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้เข้าเรียน เพราะจะมีเพื่อนๆรุ่นพี่ที่เข้าเรียนมาแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมไปถึงแนวข้อสอบของแต่
                    ละวิชา และต่อเนื่องจากข้อ 1 เราสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้
                    ตัวอย่างเช่น ในช่วงใกล้สอบเทอมในแต่ละเทอม จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องข้อสอบกันถี่มาก เราก็ใช้โอกาสช่วงนี้แหละ หา
                    ข้อมูลวิชาที่เราต้องสอบบ้าง แต่เราไม่ได้ถามของเทอมนั้น เราสามารถถามของเทอมถัดไปได้เลย เพราะเราวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว
                    ว่าเราจะลงวิชาอะไรในเทอมถัดไป นี่ทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวมากกว่าคนอื่น ในขณะที่คนอื่นเวลาเตรียมตัวจะน้อย เพราะเอาแต่ถาม
                    กันช่วงก่อนสอบแค่ประมาณ 1 เดือน
                  3. เราต้องรู้จักแบ่งเวลาอ่านหนังสือ
                     พกหนังสือซัก 1 วิชาติดตัวตลอดเอาไว้อ่าน โดยเฉพาะเศษเวลาก็อ่าน เช่น เวลานั่งรอรถเมล ถึงแค่ 5 นาทีก็มีค่า
                     ขึ้นรถเมลแล้วก็อย่าลืมเอาขึ้นมาอ่าน พักเที่ยงที่ทำงานกินข้าวเสร็จแล้ว ก็ให้อ่านซะ อย่าเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ในเมื่อเรารู้ว่า วันๆ
                     นึงเรามีอะไรให้ทำหลายอย่าง
5. วิชาส่วนมากคะแนนจะมาจากการสอบ 100% จะมีบางวิชาที่มีคะแนนช่วย(คะแนนช่วยนะ ไม่ใช่คะแนนเก็บ เพราะฉะนั้นเราไม่เสียเปรียบแน่นอน)
6. การเรียนแบบ Pre-Degree ก็คือการเก็บหน่วยกิตก่อน จบม.6
    ถ้าจะให้พูดก็คือเข้าเรียนมหาลัยทั้งๆที่ยังไม่จบ ม.6 อะแหละ โดยใช้วุฒิ ม.3 สมัครเข้า
    แล้วก็เรียนชั้น ม.ปลาย ไปพร้อมๆกับการเรียนมหาลัย พอเรียน จบ ม.6 ก็เอาวุฒิ ม.6 ไปแสดงที่มหาลัยว่า เรียนจบม.6 แล้วนะ
    มหาลัยก็จะให้สถานะเป็นนักศึกษาของมหาลัยเต็มตัว บางคนเก่งมาก พอจบม.6 ก็เก็บหน่วยกิตไปได้ 80 หน่วยแล้ว
    เรียนเพิ่มอีก 1 ปีครึ่ง ก็จบปริญญาตรี สรุปก็คือได้ปริญญาก่อน อายุ 20 ปี ไวกว่าคนอื่นที่ไม่ได้เรียนพรีดีกรี
    แต่ถ้า จบม.6 แล้วก็สมัครเป็นนักศึกษามหาลัยเลย พรี-ดีกรีสำหรับคนมีวุฒิแค่  ม.3

ข้อมูลอื่นๆที่ควรทราบ
1. ปฏิทินการศึกษา
     - เข้าไปที่ http://www.ru.ac.th/th/ >> เลื่อหน้าจอลงมาหน่อย มองทางขวาจะเห็น คำว่า ปฏิทินการศึกษา
       อันนี้ควรทราบนะ จะได้ไม่พลาดการลงทะเบียนเรียน ลงทะเบียนซ่อม เป็นกำหนดการต่างๆของทางมหาลัยที่ควรทราบ
2. โครงสร้างหลักสูตร เข้าไปที่ http://www.ru.ac.th/th/ >> มองไปด้านบนของหน้าเว็บจะเจอหัวข้อ "สารสนเทศนักศึกษา" >> จาก
    นั้นกด "แผนกำหนดการศึกษาปริญญาตรีส่วนกลาง" กดโหลดของคณะบริการธุรกิจมาดู อ่านสาขาที่เราจะลงให้ละเอียด
3. มร.30 เป็นเอกสารที่บอกว่า ในเทอมๆนั้น มีวิชาใดเปิดสอนบ้าง ถ้าวิชาที่เราจะลงเรียนไม่เปิดสอนในเทอมนั้นก็ลงไม่ได้นะ
     เช่น สมมุติว่า เทอม 1/58 เราจะลงทะเบียนเรียน 8 วิชา (24 หน่วยกิต) เราก็ต้องไปโหลด มร.30 ของเทอม 1/58 มาดูว่า วิชาทั้งหมดที่เราจะ
     ลงเนี่ย เปิดสอนในเทอมนี้รึเปล่า ถ้าวิชาไหนที่ไม่มีใน มร.30 ก็ลงไม่ได้ ลงไปก็เสียเงินฟรี ต้องเก็บไว้ลงเทอมอื่น
     และ ถ้าวิชาที่เราจะลงเปิดสอนในเทอมนั้น เราก็ต้องเช็คดูวันสอบด้วย (เช็คจากใน มร.30 แหละ) วิชาที่เราจะลงทั้งหมดเวลาสอบต้องไม่ชนกัน
     สมมุติ เวลาสอบชนกัน 2 วิชา เราจะเข้าสอบได้แค่วิชาเดียว ส่วนอีก 1 วิชาเราก็ต้องไปลงสอบซ่อมเอา ถ้าไม่อยากลงซ่อมก็ เลือกลงวิชาที่
     เวลาสอบทั้งหมดไม่ชนกัน
     มร.30 จะออกทุกเทอมนะ วิธีเข้าไปดู มร.30 ก็แบบเดียวกับที่ดู ปฏิทินการศึกษา แหละ แต่ทีนี้ให้กดตรง "ตารางเรียน มร.30"
     อันนี้ มร.30 ของเทอม 1/58
     http://www.ru.ac.th/th/images/ArticleMr/1428481894_MR30581.pdf
4. ที่รามมีทุนสำหรับคนเรียนดีนะ เงื่อนไขคือต้องได้ A 70% ของจำนวนหน่วยที่ลงทะเบียนในเทอมนั้น
    ถ้าลง 24 หน่วยกิต ต้องให้ได้ A 17 หน่วยกิต
    (สมมุติ 24 หน่วยกิตนี้แบ่งออกเป็นวิชาละ 3 หน่วยกิตหมดเลย จะเท่ากับเราลง 8 วิชา เพราะฉะนั้นเราต้องได้ A 6 วิชาจึงได้ทุน)
    ทุนในที่นี้ไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่ได้ในรูปแบบการลงทะเบียนเรียนฟรี คือไม่เสียค่าหน่วยกิต อีกอย่าง ไม่แน่ใจว่าถ้าเราลงผ่านทางเนตมันจะลดให้
    อัตโนมัติรึเปล่า แต่ถ้าไปลงทะเบียนที่มหาลัยมันจะลดให้เช่น เทอม 1/58 เราสอบได้ A 6 ตัวจากที่ลงทะเบียนไป 8 ตัวเข้าเกณฑ์พอดี
    พอเทอม 1/59(ถ้าเราได้ A ในเทอม 2/58 ครบอีก เราจะไปได้ทุนในเทอม 2/59 )เราไปลงทะเบียนเรียน เราจะไม่ต้องเสียค่าหน่วยกิต (ปกติลง
    24 หน่วยกิตเสีย 1200 บาท ถ้าได้รับทุนจะเสียแค่ 100 บาทมั้ง)
5. บางทีเพื่อนๆในกลุ่มในเฟสจะเอาหนังสือที่ตัวเองสอบผ่านมาแจก เราก็ติดต่อคนที่มาแจกได้ หรือที่มหาลัยบางทีก็มีกิจกรรมแจกหนังสือเรียนมือ
    2 ฟรี ก็ไปรับได้ และแนะนำร้านหนังสือมือ 2 อยู่ที่ราม 49 มั้งถ้าจำไม่ผิด จะได้ราคาถูกหน่อย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่