[CR] Thermal Sensor : อาการเซ็นเซอร์น้ำแข็งแอร์ Mitsubishi Mr. Slim รุ่น Econo Air เสีย

@  วันนี้มีประสบการณ์เรื่องอาการเซ็นเซอร์น้ำแข็งเสีย เป็นแอร์ Mitsubishi Mr.Slim Econo Air Serie ขนาด 18000 BTU เพิ่งติดมาได้สองปีกว่า มาเล่าสู่เพื่อนสมาชิกครับ

         พอดีเมื่อวานผมกลับมาจากการทำงาน ก็เข้าห้องนอนแล้วได้เปิดแอร์ พอเปิดไปสักพักเดินไปเดินมาในห้องหยิบกีต้าร์ขึ้นมาเล่น เล่นไปสักพัก แอร์ก็ดับไปเองหลังจากเปิดเครื่อง ทีนี้ก็ไม่ได้เอะใจและคิดว่าคงเป็นเพราะเผลอไปนั่งทับรีโมทจนทำให้เครื่องดับเพราะผมชอบเก็บรีโมทไว้ใกล้ๆตัว ทีนี้ก็เลยลองเปิดเครื่องใหม่ สักพักก็อาการเหมือนเดิม เอายังไงหล่ะทีนี้ ชักไม่ค่อยดีแล้วแฮะ!  มีแววได้เสียตังค์สาแร้ววววววว.....
     และผมก็ทำใจดีสู้เสือ ลองกดปุ่มเปิดเครื่องอีกที พอเปิดเสร็จก็ได้ยินเสียงตื๊ด! แล้วพัดลมกรงกระรอกก็เริ่มหมุนทำงานเหมือนเคย แต่แอร์ยังไม่มีความเย็นให้รู้สึกได้ มีแค่เสียงเท่านั้น แล้วผมก็รีบเดินออกไปดูที่ชุดคอนเดนซิ่งยูนิต หรือที่หลายท่านเรื่องสั้นๆว่าตัวคอยล์ร้อนหรือชุดคอมเพรสเซอร์แอร์ ซึ่งไม่มีเสียงการทำงานของคอมพ์และพัดลม ไม่ได้ยินเสียงหึ่งงงงงง... และไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย  พอผมกลับเข้ามาดูที่ห้องก็เห็นตัวคอยล์เย็นดับไปอีกและทางด้านขวาของตัวคอยล์เย็นจะมีไฟบอกสถานะสองตำแหน่งคือบนและล่าง (ตามรูป) แต่ผมจำไม่ได้ว่าเป็นไฟดวงบนหรือล่าง แต่เดาว่าน่าจะเป็นไฟตำแหน่งบนกระพริบสองครั้งและหยุดพักเว้นจังหวะและกระพริบอีกสองครั้งอย่างนี้ตลอด แต่อย่างอื่นเงียบหมดไม่ว่าจะเป็นคอยล์ร้อนหรือเย็น ทีนี้ลองกดปุ่มเปิดเครื่องดูอีกทีแล้วสังเกตุที่คอยล์เย็นเพื่อจับเวลา จากนั้นเครื่องก็ดับลงอีกและไฟก็กระพริบเป็นจังหวะสองครั้งเหมือนเคย

#อันนี้เป็นรูปหน้าเครื่องที่ได้ทำการเปลี่ยนเซ็นเซอร์เรียบร้อยแล้ว#


       คือไม่ว่าจะลองดูอีกกี่ครั้งก็จะได้ยินเสียงพัดลมของคอยล์เย็นหมุนทำงาน แต่ประมาณสองนาทีเครื่องก็จะดับเงียบทุกครั้งไป เลยทำใจก่อนเพราะมันดึกมากแล้วก็เลยเปิดพัดลมนอน และอากาศก็ไม่ได้ร้อนมาก จากนั้นก็หลับไป พอตื่นเช้ามาก็ขับรถออกไปหาช่างแอร์รถยนต์ฝีมือดีที่ผมสนิทในซอยบ้าน (ถนนบางกระดี่ แสมดำ) หวังว่าจะให้พี่เค้ามาซ่อมเพราะเค้าก็ซ่อมแอร์บ้านได้ แต่เนื่องจากพี่เค้าติดธุระ เลยให้เบอร์โทรช่างแอร์บ้านที่เป็นรุ่นน้องของพี่เค้า จากนั้นผมก็ได้โทรไปและบอกอาการตามที่จำได้คือ เมื่อกดปุ่มเปิดเครื่องที่รีโมทจะได้ยินเสียงพัดลมกรงกระรอกทำงาน แต่ชุดคอนเด็นซิ่งยูนิตหรือชุดคอมแอร์ไม่ทำงาน พัดลมตัวนอกก็นิ่งสนิท แล้วสักพักประมาณสองนาทีก็จะได้ยินเสียงตัวคอยล์เย็นดับไปเองพร้อมกับพัดลม จากนั้นไฟบอกสถานะก็จะกระพริบเป็นจังหวะติดต่อกันสองครั้ง และเว้นจังหวะ และก็กระพริบสองครั้ง วนเวียนเป็นอย่างนี้ตลอด พอเล่าอาการเสร็จช่างก็วินิจฉัยแบบมั่นใจเลยว่า เซ็นเซอร์กันน้ำแข็งเกาะเสีย (ตามรูป)

#เซ็นเซอร์กันน้ำแข็งเกาะของแอร์ Mitsubishi รุ่น MS-SGH18VC#

    
       ผมก็เลยถามว่าค่าเปลี่ยนค่าซ่อมประมาณเท่าไหร่ เค้าก็ถามว่าแอร์ยี่ห้อไหนรุ่นอะไร ผมก็บอกไปว่าเป็นแอร์ยี่ห้อมิตซูบิชิ มิสเตอร์สลิม รุ่น MS-SGH18VC น้ำยา R 22 ช่างก็บอกมาว่าถ้าใช้ของแท้เบิกห้างก็ประมาณ 500 บาทรวมค่าแรง ผมก็ได้ตอบตกลงไปเเบบไม่คิดนานพราะเห็นว่าไม่แพงมาก

         และเมื่อถึงเวลานัดหมายช่างก็มากันสามคนแต่คนที่เปลี่ยนก็คือคนที่เป็นรุ่นน้องของช่างแอร์รถยนต์ที่ผมเคารพนับถือ อีกสองท่านที่ยืนดูน่าจะเป็นลูกน้อง โดยพี่เค้าถามผมว่าเบรคเกอร์อยู่ไหนและบอกให้ผมช่วยยกเบรคเกอร์ลงก่อน โดยที่เค้าไม่ได้ลองเปิดเครื่องดูก่อนเลยจากนั้นพี่เค้าก็ทำการเปิดฝาหน้า ถอดฟิลเตอร์และหน้ากากแอร์ออก ต่อมาก็จัดแจงถอดเซ็นเซอร์ตัวเก่าออกซึ่งมันอยู่แถวๆชุดไฟทางขวามือของตัวเครื่อง (ตามรูป) โดยด้านนึงจะเป็นปลั๊กที่เห็นสีขาวๆ ส่วนอีกด้านจะเป็นแท่งกระบอกทรงกลมคล้ายๆตะกรุดสีทองแดง เวลาเปลี่ยนก็แค่ถอดปลั๊กเก่าออกแล้วนำอันใหม่เสียบปลั๊กเข้าไปแล้วก็จัดเก็บให้เหมือนเดิมตามตำแหน่งที่มันเคยอยู่ ทำการประกอบหน้ากากใส่ทุกอย่างที่ถอดออกมาเข้าไป เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี

#บริเวณชุดไฟแผงควบคุมแอร์ ซึ่งมันจะอยู่ด้านหลังหน้ากาก แต่ตอนนี้ประกอบไปแล้ว ผมลืมถ่ายรูปไว้ แต่เห็นพี่เค้าแงะหาสายเซ็นเซอร์นี้แถวๆด้านหลังที่เป็นตารางบอก Code Operation และรายละเอียดที่เกี่ยวกับแอร์ตัวนี้#


      และเมื่อทำการเปลี่ยนแล้วประกอบทุกอย่างกลับเข้าไปเหมือนเดิม ลองเปิดเครื่องดูอีกที สักพักไม่นานความเย็นก็เริ่มปรากฏเหมือนเช่นเคย และไม่ดับลงเหมือนเมื่อก่อนหน้านี้ เมื่อเห็นว่าแอร์เป็นปกติดีแล้วก็ได้จ่ายค่าซ่อมไป 500 บาทตามที่ตกลงกัน

   จากนั้นผมก็เดินไปส่งทีมช่าง และกล่าวขอบคุณ ^_^
         ถึงแม้วันนี้จะต้องเสียเงินแต่ผมก็ได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม จากนั้นผมก็กลับเข้ามาที่ห้องนอนที่เริ่มเย็นฉ่ำ พร้อมกับถือเจ้าเซ็นเซอร์ตัวเก่าที่เสียแล้วและช่างก็ได้ทิ้งไว้ให้ผมดูต่างหน้า ด้วยความอยากรู้เลยหาข้อมูลในเว็บก็ทราบว่าราคาของเจ้าตัวนี้ประมาณ 200 กว่าบาท ถ้าเป็นของแท้เบิกห้าง แต่มันเป็นข้อมูลตั้งแต่เมื่อไหร่ก็จำไม่ได้พอดีไปเปิดเจอกระทู้ถาม-ตอบในเว็บอื่นเข้า ส่วนปัจจุบันจะราคาเท่าไหร่ก็ไม่อาจทราบได้แต่ถ้าจะโทรถามตามร้านขายอะไหล่แอร์ก็คงไม่ยาก แถมยังมีเซ็นเซอร์แบบธรรมดา 8 K และ 4 K อะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมดซึ่งราคาในหน้าเว็บนั้นๆก็มีราคาประมาณตั้งแต่ 50-80 บาท แต่ผมก็ไม่ได้ติดใจอะไรว่าเค้าจะเอาของแท้หรือเทียม แบบแท้หรือแบบธรรมดา เพราะเท่าที่ผมเห็นเจ้าตัวที่เค้านำมาเปลี่ยนมันก็เหมือนกับตัวเก่าทุกกระเบียดนิ้วเพราะผมยืนดูอยู่ตลอด และเท่าที่ดูการถอดเปลี่ยนก็ไม่น่าจะยากยิ่งถ้าท่านใดพอมีความรู้ทางช่างบ้างนิดหน่อย มีเครื่องมือพร้อมก็น่าจะถอดเปลี่ยนเองได้  แต่หากท่านใดไม่มั่นใจไม่สะดวกก็ให้ช่างเค้าทำไปเถอะ ก็คิดซะว่าเราจ่ายค่าวิชาความรู้ ค่าน้ำมัน ค่าบริการให้กับช่างไป

   ประสบการณ์ที่ผมนำมาแชร์กับเพื่อนสมาชิกนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะมาทำให้ท่านที่มีอาชีพช่างแอร์เสียโอกาส เสียรายได้ ถึงแม้จะมีผลอยู่บ้าง แต่ผมแค่ต้องการให้ท่านที่เบี้ยน้อยหอยน้อยหรือรู้จักคุณค่าของเงินและชอบทดลองหาความรู้หาประสบการณ์ใส่ตัว ได้ทราบ ได้รู้ ได้ลองทำเองจะได้ประหยัดเงิน (ซึ่งทุกวันนี้ "เงิน" มันหายากเหลือเกินสำหรับหลายๆท่าน) แต่สำหรับท่านใดที่ไม่สามารถก็จะได้จับสังเกตุอาการของแอร์ที่บ้านท่านที่ใช้ยี่ห้อและซีรี่ย์เดียวกับผม หรืออาจจะใช้กับยี่ห้ออื่นได้รึเปล่าอันนี้ผมก็ไม่สามารถฟันธงได้ เพราะผมไม่ใช่ช่าง เพียงแต่ชอบทำอะไรซ่อมเปลี่ยนอะไรด้วยตัวเองอยู่บ่อยๆ
   จากการอ่านรีวิวนี้ ท่านจะได้ทราบปัญหา สาเหตุและวิธีการแก้ไข ทั้งได้นำไปเป็นข้อมูลบอกกับช่างซึ่งจะทำให้ช่างสั่งซื้อหรือเตรียมอะไหล่ได้ถูกต้องตรงตามรุ่นที่เราใช้ หรือท่านใดจะทำการเปลี่ยนด้วยตัวเองก็จะได้นำข้อมูลไปบอกกับทางร้านขายอะไหล่ และถ้าจะให้ดีก็นำของเก่าที่เสียไปเปรียบเทียบดูด้วย

   หวังว่ารีวิวนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนสมาชิกบ้างไม่มากก็น้อย "โชคดีมีสุขทุกท่านครับ" ขอบคุณครับ ^_^
ชื่อสินค้า:   เซ็นเซอร์กันน้ำแข็งเกาะแอร์ Mitsubishi Mr.Slim
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่