แบกเป้จากศูนย์สู่”หลังคาโลก” (3)

ตะลุยสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้

จริงๆแล้วเรามีนัดไกด์ท้องถิ่นที่จะมารับเพื่อเดินทางไปสุสานของจิ๋นซี ฮ่องเต้ ในเวลา 8 โมงเช้าเนื่องจากเราจะต้องนั่งรถออกไปนอกเมืองประมาณ 45 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง

คณะของผมนัดรวมตัวกัน 7โมงเช้าเพื่อกินอาหารเช้า โดยเรามีแผนที่จะเดินหาของกินท้องถิ่นใกล้ๆบริเวณโรงแรมที่พัก และถือว่าเป็นการเดินสำรวจบ้านเมืองจีนไปในตัว หน้าโรงแรมที่เราพักมีร้านขายของกิน 5-6 ร้านลักษณะคล้ายๆกัน

เราเลือกจะซื้อของกินหลายอย่างเพื่อทดสอบรสชาติของแต่ละอย่าง อาหารเช้าหน้าตาคล้ายเครปใส่ไข่ มีผัก ซอส ไส้กรอก ดูเหมือนจะเป็นรสชาติที่ผมคุ้นเคยที่สุด


ร้านอาหารยามเช้าที่เมืองซีอาน


คล้ายๆแพนเค็กใส่ผัก ไข่ ไส้กรอก คุณค่าทางอาหารครบ


ใช้เวลาสำรวจของกินไม่นาน ไกด์ท้องถิ่นมารับคณะเราที่โรงแรมเพื่อออกเดินทางไปยังสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ เรามีความจำเป็นที่จะต้องไปแต่เช้า เนื่องจากช่วงเย็นเราจะต้องนั่งเครื่องบินอีกไฟต์เพื่อไปลงที่เมืองซิหนิง เมืองต้นทางสถานีรถไฟที่เราจะนั่งต่อไปยังเมืองลาซา ทิเบต

2 ข้างทางระหว่างเมืองซีอาน ออกไปยังสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ บ้านเมืองที่ดูขัดแย้งกันพอสมควรระหว่างความเจริญ ทันสมัยที่เริ่มเข้ามามากขึ้นกับความดิบของประเทศจีน เราจะเห็นตึกใหม่ๆที่เริ่มก่อสร้างมากมาย ในขณะที่ยังมีพื้นที่ที่ดูยังไม่เจริญนักตลอดเส้นทาง

ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเราเดินทางมาถึงพื้นที่ขุดพบสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ จากจุดที่รถจอดให้เราลง เราจะต้องเดินเข้าไปประมาณ 500 เมตรถึงจะถึงทางเข้า โดยพื้นที่บริเวณนั้นรัฐบาลจีนได้เข้ามาปรับปรุง ก่อสร้างอาคาร ร้านค้าใหม่ สำหรับคนในท้องที่จากเดิมที่เป็นไร่นาของชาวบ้าน


ตั๋วเพื่อเข้าชมสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้

หลังจากรับตั๋วจากไกด์ เราจะต้องนำไปสแกนบริเวณทางเข้าและจะมีการตรวจเอ็กซเรย์กระเป๋าเพื่อระบบรักษาความปลอดภัย ทางเลือกของเราก่อนจะเดินทางไปถึงด้านหน้าที่เป็นสุสาน คือ เดินต่อไปอีกประมาณ 400 เมตรหรือจะเลือกนั่งรถไฟฟ้าซึ่งจะเสียค่าตั๋วเพิ่มขึ้นอีก 5 หยวนต่อคน


รถไฟฟ้าเพื่อไปด้านใน

ผมเลือกจะขึ้นรถไฟฟ้าเพราะไม่แน่ใจในเส้นทางที่จะต้องเดินว่าไกลแค่ไหน มาถึงด้านหนัาโครงสร้างของสุสานจะแบ่งเป็นตึกหลายตึก หรือเรียกเป็นหลุมๆ โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเข้าชมที่หลุม 1-3 ขณะที่ไกด์ท้องถิ่นให้ข้อมูลว่าจริงๆแล้วมีหลุม 4 ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่รัฐบาลจีนยังไม่พร้อมจะขุดในขณะนี้ พื้นที่ขุดทั้ง 3 หลุมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร

ไกด์พาเราไปดูหลุมแรกที่ถือว่าเป็นหลุมใหญ่ที่สุดที่ได้ขุดเรียบร้อยแล้ว ภายในเราจะเห็นหุ่นทหารจำนวนมาก จากข้อมูลน่าจะมีมากกว่า 8,000 ตัว โดยแต่ละตัวจะมีความแตกต่างกันทั้งใบหน้า และความสูง รวมถึงเครื่องแต่งกายที่ถูกแบ่งตามยศ หน้าที่ ฯลฯ


ด้านหน้าทางเข้าเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย


ความยิ่งใหญ่ภายในสุสานหลุมที่ 1


หุ่นทหารหลายพันตัวที่ขุดพบในหลุม

นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นอีกหลายอย่าง ทั้งสัตว์ภาหนะ โดยเฉพาะม้า และอาวุธ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆมากมายในทั่วบริเวณ ลักษณะภายในจะมีการแบ่งอย่างเป็นสัดส่วน โดยส่วนหน้าจะเป็นส่วนที่ดูจะสมบูรณ์แบบที่สุด มีการนำชิ้นส่วนที่แตกของหุ่นมาประกอบขึ้นเป็นรูปร่างอย่างสมบูรณ์

เราจะเห็นการจัดการที่ค่อนข้างหลากหลาย ในบางหลุมด้านในจะยังคงสภาพให้เห็นถึงสภาพจริงของหลุมก่อนที่จะมีการจัดการ สภาพชิ้นส่วนแตกหักมากมายที่ถูกทำลาย บ้างก็ถูกเผา บ้างก็ถูกทุบ ยังมีให้เห็นในหลุมนี้


นอกจากหุ่นทหารยังมีม้า สัตว์ภาหนะในยุคนั้น


ความยิ่งใหญ่ของสุสานแห่งนี้


นักท่องเที่ยวจำนวนมากมายในแต่ละวันที่มาเข้าชม

และในหลุมแรกนี้นี่เองที่ส่วนใหญ่จะใช้ในการรับรอง แขกคนสำคัญ ผู้นำประเทศต่างๆที่มาเยือนสุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ มีการแบ่งโซนให้สามารถเข้าไปถ่ายรูปได้ใกล้ขึ้น แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น เราเลือกที่จะไม่เสีย เพราะไกด์แนะนำว่าเข้าไปด้านในเราก็จะสามารถถ่ายรูปได้ใกล้ขึ้นโดยไม่ต้องเสียเงินอยู่ดี


ด้านในเราสามารถถ่ายได้ใกล้ขึ้นโดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม


ความสมบูรณ์ของหุ่นทหาร

มีทฤษฎีมากมายที่กล่าวถึงสุสานแห่งนี้ บ้างก็ว่าทำขึ้นเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของฮ่องเต้ ในช่วงเวลานั้นๆ แต่คำถามที่สำคัญว่า ถ้าที่นี่คือ สุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ แล้วจริงๆแล้วสุสานที่เป็นที่ฝังพระศพของจิ๋นซี ฮ่องเต้อยู่ที่ไหน

ไกด์ท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า มีความพยายามของรัฐบาลจีนที่เชื่อว่าสุสานพระศพจริงๆอาจจะอยู่ในภูเขาอีกลูกหนึ่งที่ไม่ไกลนักจากสุสานทหารที่ค้นพบ และเมื่อได้ทำการขุดภูเขาลูกดังกล่าวทั่วบริเวณแล้วก็ไม่พบแต่อย่างใด ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยืนยันได้ชัดเจนว่า สุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ จริงๆแล้วอยู่ที่ไหน

ภาพที่เราได้เห็นเท่าที่จะสัมผัสได้ในบริเวณที่เราเรียกว่า สุสานจิ๋นซี ฮ่องเต้ นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ได้ทั่วบริเวณ ซึ่งนั้นอาจจะตอบได้ว่า ช่วงเวลานั้นจักรพรรดิจี๋นซี ฮ่องเต้ ยิ่งใหญ่มากเพียงใด


จำนวนไม่น้อยที่ถูกทำลาย


ซากของหุ่นที่ถูกทำลาย

ตามข้อมูลสุสานแห่งนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 38 ปี ระหว่างปี 246-208 ก่อนคริสตกาล พื้นที่โดยรวมประมาณ 2,200 ตารางกิโลเมตร มีการขุดพบโดยบังเอิญโดยชาวนาคนหนึ่งที่ขุดพบเครื่องปั้นดินเผาในขณะที่กำลังขุดที่นา ซึ่งปัจจุบันชาวนาคนนี้กลายเป็นบุคคลสำคัญของสถานที่แห่งนี้ด้วย โดยจะมานั่งเซ็นลายเซ็นต์ให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อหนังสือ หรือสินค้าภายในร้านขายของด้านในในทุกๆวัน

การค้นพบในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลจีนได้เข้ามาบริหารจัดการ โดยภายหลังในปีพ.ศ. 2530 สุสานแห่งนี้ได้รับเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่นั้นมา  

เราเดินออกจากหลุมแรกเพื่อไปอีกหลุมที่ดูยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน โดยลักษณะของหุ่นทหารในหลุมที่ 3 จะเป็นเหมือนการจำลองระบบสั่งการของทหารระดับสูง ซึ่งเราจะสังเกตถึงความแตกต่างได้ตรงที่การแต่งกายและหมวกของทหารที่แตกต่างกัน

โดยในหลุมนี้เราจะได้เห็นหุ่นที่มีพร้อมม้าลากจูงคล้ายเป็นของบุคคลสำคัญ นอกจากนี้หุ่นจะยืนเรียงหน้าแตกต่างจากหลุมที่ผ่านมาโดยจะไม่ได้หันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน แต่จะเป็นการหันหน้าเข้าหากัน คล้ายการต้อนรับผู้บังคับบัญชาระดับสูง


หุ่นทหารในท่าทางต่างๆ


หุ่นทหารในท่าทางต่างๆ

นอกจากนี้อีกหลุมหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ในบริเวณดังกล่าวยังมีการจัดทำคล้ายพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงหุ่นทหารในรูปแบบต่างๆ ตามยศ หน้าที่ และความสำคัญฯลฯ โดยรูปแบบทั้งลักษณะการยืน นั่ง เดิน สีหน้า จะแตกต่างกันออกไป

ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากไกด์ท้องถิ่นว่า หน้าตาของทหารทั้งหมดหากสังเกตดีๆจะเห็นว่าที่ปากทุกคนที่มีรอยยิ้มแฝงอยู่ แต่เมื่อมองไปในแววตาจะพบว่าเกือบทั้งหมดสายตาเต็มไปด้วยความหวาดระแหวง กังวล นั้นยังเป็นคำถามถึงปัจจุบันว่าทำไมถึงหน้าตาเป็นแบบนั้น


หุ่นทหารพร้อมรถม้าเตรียมออกรบ


ภายในหลุมที่ 3 มีหุ่นทหารที่ถูกจัดแสดงในตู้อย่างมีสัดส่วน มีหุ่นที่ดูจะสำคัญที่สุดนั้นคือหุ่นของผู้ที่คาดว่าจะเป็นนายทหารระดับสูงสุดในตู้แสดง ท่าทางจะแตกต่างจากหุ่นอื่นๆ โดยมือจะประสานไว้ด้านหน้าคล้ายว่ากำลังคิดหรือตัดสินใจบางอย่างอยู่ นั้นจึงทำให้เราทราบได้ว่าหุ่นดังกล่าวน่าจะเป็นนายทหารระดับสูงที่สุดของสุสานแห่งนี้


หุ่นที่คาดว่าจะเป็นมาหารระดับสูงสุด สังเกตที่มือครับ

หลังจากออกจากหลุม 3 ด้านข้างจะเป็นส่วนของร้านขายสินค้าที่ระลึกซึ่งภายในจะมีการจัดแสดงภาพยนตร์สั้นๆเกี่ยวกับการเข้ามาเริ่มขุดและบูรณะสถานที่แห่งนี้ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในแต่ละรอบ

ด้านนอกเราจะพบชาวนาที่เป็นผู้ค้นพบสุสานแห่งนี้ จะมานั่งข้างร้านหนังสือเพื่อแจกลายเซ็นต์ให้กับนักท่องเที่ยว โดยราคาหนังสืออยู่ที่ 170 หยวน เมื่อรวมกับลายเซ็นต์จะขายที่ราคา 200 หยวน

หลังจากเดินจนทั่วบริเวณ เรากินอาหารเที่ยงด้านใน ซึ่งจะมีร้านอาหารขนาดใหญ่ 2 ชั้น ให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นแบบบัฟเฟต์ โดยอาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารท้องถิ่น หลากหลายพอสมควร

เราใช้เวลาไม่นานนัก หลังจากกินอาหารเรียบร้อย ยังมีอีกตึกใหญ่ด้านหน้าก่อนถึงประตูทางออก ซึ่งไกด์เลือกที่จะให้เราเข้าเป็นที่สุดท้ายก่อนจะต้องเดินทางต่อไปยังสนามบิน


ส่วนจัดแสดงทหารในอดีต

ภายในอาคารหลังใหญ่ด้านหน้าทางออก จะเป็นลักษณะคล้ายพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่แห่งนี้ โดยส่วนที่สำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์นี้ น่าจะเป็นส่วนจัดแสดงหุ่น ที่เป็นหุ่นที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบที่สุด

สภาพของหุ่นสมประกอบเกือบ 100% มีสีเดิมที่ถูกทาไว้ตั้งแต่สมัยอดีตหลงเหลือไว้เป็นหลักฐาน สีหลากหลายสีบนหุ่นที่พอมีเค้าโครงให้เห็นทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถจำลองต้นแบบของหุ่นได้มากขึ้น

นัยต์ตาของหุ่นหลายตัวที่ผมสัมผัสได้ ยังคล้ายเหมือนมีชีวิตจริง ความเหมือนและรายละเอียดที่อยู่บนหุ่นทำให้ผมเองก็แอบขนลุกทีเดียวครับ สีสันบนใบหน้า


นัยต์หายังคล้ายมีชีวิต


ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์

โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ 1 http://ppantip.com/topic/33775320   เปิดเส้นทางใหม่ที่คนไทยน้อยคนนักเคยไปถึง “พระราชวังโปตาลา-วัดโจคัง-ทะเลสาบลาว็อก-ธารน้ำแข็งมิดุย”......
ตอนที่ 2 http://ppantip.com/topic/33779378   เริ่มเดินทางจากกรุงเทพฯสู่หลังคาโลก
ตอนที่ 4 http://ppantip.com/topic/33784827   นั่งรถไฟไป "หลังคาโลก" ทิเบต
ตอนที่ 5 http://ppantip.com/topic/33788603   ขอต้อนรับสู่ดินแดน ”หลังคาโลก”
ตอนที่ 6 http://ppantip.com/topic/33799398   พระราชวังโปตาลา  - วัดโจคัง ศูนย์รวมใจของชาวทิเบต
ตอนที่ 7 http://ppantip.com/topic/33805284   จากลาซา สู่หนิงซิ  ด้านหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย
ตอนที่ 8 http://ppantip.com/topic/33812287   จากหนิงซิ (บายี) - สู่เมืองโพมิ เส้นทางเส้นทรหด
ตอนที่ 9 http://ppantip.com/topic/33825898   ทิเบตพลาดไม่ได้ "ทะเลสาบลาว็อก-ธารน้ำแข็งมิดุย"
ตอนที่ 10 http://ppantip.com/topic/33834611 ผมเรียกที่นี่ว่า “ซัมบาลา”
ตอนที่ 11 http://ppantip.com/topic/33851383 “ฉงชิ่ง” วัฒนธรรมร่วมสมัยของจีนยุคใหม่
ตอนที่ 12 http://ppantip.com/topic/33864605 บทสรุปการเดินทาง จีน - ทิเบต บนเส้นทางของผม
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่