ผมเองครับ คนที่โง่ภาษาอังกฤษที่สุดในคณะ

สวัสดีครับ ผมเองเชื่อว่าหลายท่านที่เข้ามาอ่านในกระทู้นี้
คงจะผ่านตากับกระทู้ในพันทิปที่กล่าวถึงการพัฒนาตัวเองในด้านภาษาอังกฤษมาพอสมควร
ผมเองก็เช่นกันครับ กระทู้ในพันทิปนี่เปรียบเป็นห้องพักครูที่ผมเข้ามาแวะเวียนอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เพราะไม่ใช่แค่จะเข้ามาเพื่อหาคำตอบจากข้อกังขาในบางเรื่องแค่เพียงอย่างเดียว
แต่ยังมีเกร็ดความรู้ต่าง ๆ เสริมเพิ่มเติมมาด้วย


ฉะนั้น เคล็ดลับในการฝึกฝนภาษาอังกฤษของผมจึงค่อยๆ เก็บเกี่ยวมาจากผู้รู้หลายๆท่าน ทั้งจากในพันทิปนี่เองครับ
วันนี้ผมตั้งใจอยากมาแชร์ประสบการณ์การเรียนภาษาอังกฤษของผมให้เพื่อนๆได้อ่านกันครับ  
ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุดเรื่องราวของผมจะเป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่กำลังท้อแท้กับการเรียนภาษาอังกฤษในตอนนี้นะครับ


ขออธิบายพื้นฐานของตัวผมเองก่อนละกันครับ
ผมเองเป็นเด็กต่างจังหวัดทั่วไปที่มีมุมมองต่อภาษาอังกฤษแบบฉบับเด็กต่างจังหวัดนั่นล่ะครับ
พูดตรงๆคือมันไกลตัวมาก ผมเติบโตในจังหวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งทางภาคใต้
ลำพังให้ฝึกพูดภาษากลาง คนแถวบ้านก็หาว่าดัดจริตละครับ
จริงๆ ผมก็ไม่ได้มองว่ามันจริงจังอะไรมาก
แต่มันมีผลกระทบกับความตั้งใจในการเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาลยันม.6 เลยครับ
เรียนมาสิบกว่าปี สุดท้ายแล้วภาษาอังกฤษผมตกอยู่ในขั้นตกต่ำมากครับ
ผมแทบจะแยกแยะไม่ออกเลยครับว่าการใช้งาน a กับ the แตกต่างกันอย่างไร?
ไม่พักต้องพูดถึงแกรมม่าที่ย่อยยับอับจนแบบไม่รู้เรื่องอะไรเลย


แต่จุดเปลี่ยนมันเกิดขึ้นในช่วงเทอมสุดท้ายของช่วงชั้นมัธยมศึกษานี่เองครับ
ด้วยความที่ฐานะทางบ้านอยู่ในระดับกลาง ไม่ได้ร่ำรวยอะไรมาก
ที่บ้านผมทำสวนยางพาราครับ   รายได้ในครอบครัวก็ขึ้นอยู่กับราคายางที่สูงบ้างต่ำบ้าง  แล้วแต่ช่วงครับ
ผมจึงเริ่มมองหาทุนการศึกษาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่
ซึ่งประจวบเหมาะพอดีกับที่มีทุนเพื่อนักเรียนจากชนบทของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งแถวสามย่าน
แต่จำนวนนิสิตที่แต่ละสาขาวิชารับนั้นน้อยมาก คือประมาณ 2-3 คนเท่านั้น
อาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนจึงปรารถนาดีครับ แบ่งนักเรียนที่สมัครกระจายไปตามภาควิชาต่างๆ ให้ไม่ซ้ำกัน
ผลตกอยู่ที่ผม อาจารย์พิจารณาให้สมัครใน

"ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"


ซึ่งขณะนั้นเองผมแทบจะไม่รู้เลยว่ามันมีการเรียนการสอนอย่างไร
รู้แค่อย่างเดียวแค่สิ่งที่อาจารย์บอกมาคือ “เตรียมภาษาอังกฤษให้ดีๆ” อาจารย์เค้าว่ามางี้
อืม...แล้วยังไงล่ะครับคือการ “เตรียมภาษาอังกฤษให้ดี” ด้วยสติปัญญาของผมในระดับเด็ก ม.6 ขณะนั้น
ใจนึงก็อยากจะกล่าวโทษอาจารย์ที่จัดให้ผมลงภาควิชานี้ แต่เห็นชื่อภาควิชาแล้วมันหน้ามืดตามัวไปหมด


ชื่อภาควิชาก็ช่างเท่เหลือเกินครับ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"
ผมคาดหวังว่า ถ้าผมสอบได้แล้วคงสามารถอวดคนแถวบ้านไปได้สามบ้านเจ็ดบ้าน
คิดแล้วก็ยิ้มกริ่มในใจ แต่คือเอายังไงอ่ะ โง่อังกฤษขนาดนี้
บอกกันตรงๆนะครับ คือผมสอบภาษาอังกฤษได้ที่ท้ายๆ ของห้องตลอด
คิดยังงี้ผมว่าก็ไม่น่าผิด ผมจึงต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อหลุดพ้นจากเงื่อนไขตรงนี้ให้ได้ครับ


เอาจริงๆ คือผมมีเวลาเตรียมตัวเวลา 1 เดือน คือช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคมก่อนที่จะมีการสอบตรง
ที่ผมมีเวลาเตรียมตัวน้อยก็เพราะผมเป็นเด็กกิจกรรมครับ  ทำมันเกือบทุกอย่างที่โรงเรียนจัด ไมว่าจะเป็นดีเจ ประธานค่ายแนะแนว, ประกวดนักเรียนดีเด่นด้านจริยธรรมคุณธรรม,ประกวดประวัติศาสตร์เพชรยอดมงกุฎ,สอบธรรมศึกษา เยอะแยะไปหมดครับ
สำหรับผมแล้วการเป็นเด็กกิจกรรมไม่ใช่ไม่ดีนะครับ  
แต่ผมเผลอตัวทำกิจกรรมจนแบ่งเวลาไม่เป็น กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เกือบจะสายไปแล้วล่ะครับ


ผมจึงต้องงัดทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะศึกในครั้งนี้ให้ได้ เริ่มต้นด้วยการเริ่มเรียนภาษาอังกฤษอย่างเป็นจริงเป็นจังครับ
ผมเลือกวิธีการที่ง่ายที่สุด  ประหยัดที่สุด  และมีเวลามากที่สุด  นั่นคือ
"การอ่านหนังสือด้วยตัวเองครับ"

ผมกล้าพูดอย่างมั่นใจเลยครับว่าผมเป็น 1 ในคนไทยที่ไม่อ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัดแน่นอน
ผมยืมหนังสือสรุปเนื้อหาสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาจากห้องสมุด
ขอบริจาคหนังสือข้อสอบเก่าๆจากรุ่นพี่ข้างบ้าน ยืมหนังสือเก็งข้อสอบจากห้องสมุดประชาชน
น้อยครั้งที่ผมจะออกเงินซื้อเองครับ  เพราะด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ค่อยอำนวย
ทำให้การจะตัดสินใจซื้อหนังสือเก็งข้อสอบเล่มหนาๆ สักเล่ม เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมากครับ

ผมแบ่งตารางชีวิตตัวเองแบบนี้ครับ
- ตื่นตี 5 เพื่ออ่านสรุปเนื้อหาวิชาต่างๆ ผลัดกันไปวันละวิชา/วิชาละบทเรียน
- อ่านจนถึง 7 โมงเช้า ก็จัดการทำภาระกิจของตัวเองและเดินทางไปโรงเรียน
- ช่วงเที่ยง หรือ ช่วงคาบว่าง ผมก็จะปลีกวิเวกไปนั่งทบทวนเนื้อหาที่ยังไม่เข้าใจ หากมีเวลาก็จะอ่านแนวข้อสอบ
- กลับถึงบ้านราวๆ 5 โมงเย็น ผมจะต้องช่วยแม่เตรียมอาหาร และจัดการภาระกิจส่วนตัว
- มีเวลาให้ตัวเองอีกครั้งช่วง 2 ทุ่ม ผมจะนั่งทยอยทำข้อสอบไปเรื่อยๆ คืนละ 1 พ.ศ. ทุกวิชาของคณะสายศิลป์
- หากเป็นเสาร์อาทิตย์ ผมก็จะมีเวลาเยอะหน่อยครับ ก็อาศัยฟังคลิปสอนภาษาใน Youtube บ้าง  เรียนตามเว็ปไซต์ต่างๆบ้างครับ
และพยายามท่องจำคลังศัพท์ให้เยอะที่สุดครับ เรียกได้ว่าช่วงเวลา 1 เดือนนิดๆก่อนสอบทุน ไม่ต้องหลับไม่ต้องนอนกันเลยครับ


ตอนนั้นผมได้บทเรียนอย่างหนึ่งคือถ้าเราเริ่มเตรียมตัวเร็วกว่าคนอื่น เราก็จะเหนื่อยน้อยกว่า และมีเวลาทบทวนได้มากกว่า ตอนนั้นยอมรับนะครับว่าทั้งกดดัน และท้อมาก เพราะผมตั้งความหวังไว้สูง เด็กม.ปลายโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอ ต้องสู้กับเด็กเก่งๆ โรงเรียนดังๆ ทั่วประเทศ
เพื่อสอบเข้ามหาลัยระดับประเทศ  แถมยังเป็นภาควิชาที่เน้นภาษาอังกฤษมาก มีบางครั้งที่ผมรู้สึกไม่ไหวและอ่อนล้า
แต่ผมก็พยายามดึงตัวเองกลับมาแล้วบอกว่า  ผมอยากพยายามให้ถึงที่สุดเท่าที่ตัวผมจะสามารถทำได้
ถ้าสุดท้ายแล้วผมสอบไม่ติด อย่างน้อยๆผมก็อยากได้ชื่อว่าผมพยายามอย่างเต็มที่แล้วจริงๆครับ


และก็มาถึงวันสอบ ซึ่งผมต้องนั่งรถบัสไปสอบอีกจังหวัดหนึ่ง เพราะจังหวัดผมไม่มีสนามสอบครับ เป็นวันที่ทั้งตื่นเต้นและกดดันมาก
เพราะผมได้เจอกับคู่แข่งตัวจริงอีกหลายร้อยคน แต่ละคนก็หน้าดำคร่ำเครียด ก้มหน้าอ่านตำราไม่สนใจใคร บางคนก็จับกลุ่มเก็งข้อสอบกับเพื่อนๆ
ส่วนผมก็หน้าดำเหมือนกันครับ แต่ดำโดยพื้นฐานนะครับไม่เกี่ยวกับความเครียดแต่อย่างใด 555
และแล้วก็ถึงวินาทีที่ต้องทำข้อสอบจริง หายนะบังเกิดครับ!!
ข้อสอบที่ผมสอบเข้าเป็นข้อสอบที่เพิ่งปรับใหม่ทั้งหมด จากแบบเดิมที่เป็นข้อสอบถนัด ฯ ต่างๆ
ไอเราก็เตรียมอ่านความถนัดครูไปซะเต็มที่ แต่สุดท้ายมันคือข้อสอบ GAT ที่เรียกว่า B-GAT (เพราะเป็นการสอบครั้งแรก)
ทำข้อสอบไปก็มึนเมาไปด้วยวงกลมที่ต้องฝน ชีวิตย่ำแย่มากๆครับตอนนั้น
แต่สิ่งที่ทำให้ชื่นใจได้คือ วิชาภาษาอังกฤษ จากที่ผมรู้สึกเป็นปมด้อยกับวิชานี้มาโดยตลอด แต่ผมกลับรู้สึกดีมากๆ ที่ผมอ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น และเอาชนะใจตัวเองเป็นครั้งแรกได้ ผลที่ได้คือ ผมสอบผ่านในการสอบตรงครั้งนั้นครับ การเตรียมตัว 1 เดือนของผมประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในสายตาของผมตอนนั้น ผมทั้งดีใจและภูมิใจในตัวเองมากที่สามารถผลักดันตัวเองไปสู่ภาควิชาที่เท่ที่สุด
สำหรับผม โดยการก้าวผ่านปมด้อยตัวเองได้
แต่แล้วการเรียนรู้แบบเร่งรัดและเร่งด่วนของผมได้ส่งผลต่อการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอย่างสาหัสสากรรจ์ที่สุดครับ

มาต่อครับ...


ใครๆ ก็ทราบดีครับว่าการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย กับระดับมัธยมศึกษาหรือก่อนหน้านั้นมันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่สำหรับเด็กต่างจังหวัดที่ห่างไกล และเพิ่งสอบผ่านเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ
ด้วยความตั้งใจอ่านหนังสือแค่เพียงหนึ่งเดือน มันทำให้ผมรู้สึกมั่นใจในตัวเองอย่างมากมายแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


ผมเชื่อมั่นครับว่า ถ้าผมสามารถเอาชนะในสนามสอบที่มีคู่แข่งเป็นแสนได้
การเรียนร่วมกับเพื่อนภาควิชาที่มีแค่ 50-60 คนในช่วงระดับปริญญาตรีก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเกินตัวผมหรอก  
ผมคิดเช่นนั้น และนั่นคือความคิดที่ผิดมหันต์ ....


เทอมแรกของการเรียน ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี ผมพกความมั่นใจสู่มหาวิทยาลัยใหญ่ใจกลางเมืองหลวง ที่นี่ผมจะเก็บเกี่ยวทุกอย่างให้เต็มที่ใน 4 ปีต่อไป แต่ความมั่นใจของผมพังทลายลงด้วย วิชาสุดหินวิชานึงครับ นั่นคือ “วิชาภาษาอังกฤษ”
ผมไม่ได้เตรียมใจจริงๆครับว่าเพื่อนร่วมภาควิชาของผมจะเก่งภาษากัน  “ขั้นเทพ+เมพขิงๆขนาดนี้”
ทุกคนไถ่ถามถึงคะแนนภาษาอังกฤษเมื่อครั้งยื่นคะแนน อาจารย์ในห้องให้กรอกคะแนนภาษาเพื่อที่จะสามารถจัดรูปแบบการเรียนได้อย่างเหมาะสม ผมเหลือบไปมองโต๊ะข้าง ๆ บ้างก็ 92/100 บ้างก็ 89/100 บ้างก็ 85 /100
ผมเองหันมากรอกคะแนนของผม 32/100 ผมหวั่นใจ ผมใจสั่น


คะแนนของผมเกิดจากความไม่ตั้งใจหลังจากผมสอบตรงได้แล้ว
ตอนนั้นผมคิดว่าคะแนนแอดมิสชั่นคงไม่สำคัญอีกต่อไป
ผมทำไปโดยไม่อ่านทบทวนเลย  

ย้ำครับว่า  “ไม่แม้แต่หนเดียว!!”


และนั้นคือความผิดพลาดของผมครับ ผมกลัวว่าอนาคตข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นในอีก 4 ปี
มันจะกลายเป็น 4 ปีอันแสนทรมาน อย่างที่ผมกล่าวถึงเมื่อครั้งที่แล้วว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษผมอ่อนมาก
ผมสอบได้เพราะตะลุยข้อสอบและอัดเนื้อหาแบบ intensive ในระยะเวลา 1 เดือน
ทุกอย่างมันเลยโล่งโหวงเหวงในหัวไปหมด
ในขณะที่ในห้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ผมนั่งซึมเงียบอยู่หลังห้องคนเดียว
ผมสะดุ้งทุกครั้งที่อาจารย์เรียกชื่อ ผมมองไปยังเพื่อนคนอื่นร่วมห้อง
ไม่เห็นจะมีใครมีปัญหา หรือมีสีหน้าอย่างที่ผมเป็นเลย แล้วผมจะทำอย่างไรต่อไป ?


ด้วยความที่ผมสมัครมาเป็นนิสิตทุน ทำให้ผมยิ่งลำบากใจเข้าไปอีก
เมื่อรู้ตัวว่าภาควิชาเท่ๆ ที่ตัวเองเลือกเข้ามามันไม่ง่ายและไม่เท่เสียแล้ว
มันมีอุปสรรคขนาดใหญ่นั่นคือ

“ภาษาอังกฤษ”

ที่จะทำให้ผมท้อถอยทุกขณะ บ่อยครั้งที่ผมเคยร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมห้อง
ทุกคนที่ผมร้องขอก็มีไมตรีจิตที่ดีช่วยสอนช่วยแนะนำ
แต่เหมือนกับเป็นวัฒนธรรมของภาควิชาไปแล้ว
ที่ “เรื่องพื้นฐาน” ที่เราควรจะรู้อยู่แล้ว เค้าคงจะไม่พูดถึง
ซึ่งเรื่องพื้นฐานนั่นแหละที่ผมเองแทบจะไม่มีอยู่เลย
การต่อยอดจากความรู้ด้านภาษาในระดับก่อนหน้าจึงล้มเหลวไม่เป็นท่า


ผมเริ่มบากหน้าเข้าหาอาจารย์ อาจารย์ก็ให้คำแนะนำ พร้อมเรียกผมเข้าไปนั่งสอนเนื้อหาในห้องเรียนซ้ำ
แต่ผมแทบจับประเด็นอะไรไม่ติดเลย ผมเสียใจมากๆ ไม่ใช่เพราะสังคมที่แย่
หรือเพราะการแข่งขันในภาควิชาที่ทำให้ผมท้อใจหรอกครับ  
แต่มันคือความอ่อนด้อยของพื้นฐานในช่วงสิบกว่าปีของผมเองที่มันเป็นปัญหา


ระหว่างนั้น เพื่อนหลายคนเห็นท่าทีของผมไม่ดีก็คิดเห็นว่าเพราะอาจจะเป็นเพราะผมปรับตัวไม่ได้
จึงชวนทำกิจกรรมโน่นนี่ตามประเพณีเด็กปีหนึ่ง  ทั้งทำค่าย  กิจกรรมสันทนาการ อบรมต่างๆ
ซึ่งก็ทำให้ผมลืมอุปสรรคขั้นใหญ่ไปได้ชั่วขณะ
แต่มันจะกลับมาเยี่ยมเยือนผมอาทิตย์ละ 2 ครั้งในคาบวิชาภาษาอังกฤษ
ผมเริ่มห่างเหินกับเพื่อนในภาควิชามากขึ้น
ผมหลบเลี่ยงการพบปะกับอาจารย์ภาษาอังกฤษเพราะผมละอายใจเหลือเกินที่ทุกอย่างมันย่ำอยู่กับที่
ในขณะที่คนอื่นต่อยอดความรู้กันอย่างต่อเนื่องและไม่มีปัญหาอะไรเลย

ผมจึงเริ่มคิดครับว่า
ถ้าผมยอมแพ้ ผมก็จะกลายเป็นคนล้มเหลว
ซึ่งผมไม่อยากเป็นคนล้มเหลวในชีวิตแน่ๆ  
ฉะนั้นผมจึงต้องเลือกเดินไปอีกทางครับ  นั้นคือ

ทางของคนที่ประสบความสำเร็จ

ขอต่อเนื้อหาในช่องคอมเม้นด้านล่างนะครับ
พื้นที่ไม่พอแล้ว

แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่