รวมข้อสังเกต 7 จุด ที่เชื่อมโยงระหว่าง Jurassic Park ไตรภาค กับ ภาคใหม่ล่าสุด Jurassic World

ดังที่ทิ้งท้ายไว้ในกระทู้ย้อนตำนานจูราสสิกปาร์คทั้ง 3 ภาคของผมนะครับว่าจะทำสรุปข้อมูลจุดเชื่อมโยงบางอย่างระหว่าง Jurassic Park 3 ภาค และ Jurassic World ที่ข้อมูลบางส่วนนั้นอ้างอิงจากข้อมูลของ Official เองมาโดยตรง จึงถือว่าน่าสนใจมากทีเดียวครับ

กระทู้ตำนาน 3 ภาค
ตอนที่ 1 http://ppantip.com/topic/33756068
ตอนที่ 2 http://ppantip.com/topic/33759762
ตอนที่ 3 http://ppantip.com/topic/33764439

และมาต่อกันเลยครับ

รวมข้อมูลจุดเชื่อมโยงทั้ง 7 ระหว่าง Jurassic Park ไตรภาค กับ ภาคใหม่ล่าสุด Jurassic World

****มาอัพเดทแบบไม่สปอยหลังจากดูรอบสื่อเมื่อวานนะครับ

ใน 7 ข้อนี้ ทางผู้สร้างปล่อยข้อมูลหลอกมา 2 ข้อ (หมายความว่าข้อมูลใน 2 ข้อจาก 7 ข้อนี้ ในหนังจริงได้นำเสนออีกอย่าง) ไปลุ้นกันในโรงภาพยนตร์กันได้ครับ ค่อนข้างเซอร์ไพรส์อยู่ทีเดียว****


1.เรื่องของเกาะ ISLA NUBLAR



เกาะอิสลา นูบลาร์ หรือ ไซต์ A ซึ่งเป็นฉากผจญภัยหลักของ Jurassic Park ภาคแรกนั้น เป็นเกาะเดียวกับที่มีการเปิดสวนสัตว์จูราสสิกเวิร์ลด์ในภาพยนตร์ภาคล่าสุด

โดยข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของปาร์ค และแผนที่เกาะ สามารถดูได้ที่เว็บไซต์มาสรานีและจูราสสิกเวิร์ลด์
http://www.masraniglobal.com/about/divisions/jurassicworld/index.html
http://www.jurassicworld.com/

ส่วนเกาะของภาค 2 และ 3 นั้น เป็นเกาะที่ชื่อว่า อิสลา ซอร์น่า หรือ ไซต์ B เป็นเกาะที่ไม่มีระบบป้องกันไดโนเสาร์ และใช้ในการทดลองเพาะพันธุ์ไดโนเสาร์อันตรายต่าง ๆ โดยรูปทรงของเกาะจะต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังภาพ




2.เรื่องของ T-Rex



มีการยืนยันชัดเจนจากเว็บไซต์ทางการของจูราสสิกเวิร์ลด์ ว่า ทีเร็กซ์ตัวแรกและดั้งเดิมที่สุดที่ปรากฎตัวในภาคแรก (ชื่อว่า Rexy) คือทีเร็กซ์ตัวเดียวกับที่อยู่ในสวนสัตว์จูราสสิกเวิร์ลด์ และมันมีอายุถึง 25 ปีแล้ว

http://www.jurassicworld.com/dinosaurs/tyrannosaurus-rex/

จุดสังเกตเด่นคือ ที่บริเวณคอด้านซ้ายของทีเร็กซ์ตัวนี้ จะมีรอยแผลเป็น ที่เกิดจากการต่อสู้กับเวโลซิแรปเตอร์ในท้ายภาพยนตร์ภาคแรกอีกด้วย


3.เรื่องของสไปโนซอรัส / ภาพยนตร์ Jurassic Park ภาค 3 และกำหนดการเปิดทำการของจูราสสิกเวิร์ลด์ที่แท้จริง



แม้ว่าผู้กำกับ Colin Trevorrow จะกล่าวออกสื่อว่า ภาพยนตร์จูราสสิกเวิร์ลด์จะต่อจากภาคแรก และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาค 2 และ 3 คำกล่าวนั้นดูจะไม่เป็นจริงเสียทีเดียว เพราะว่าในเว็บไซต์ของมาสรานี (Masrani)

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
http://www.masraniglobal.com/about/divisions/jurassicworld/index.html

ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ทำธุรกิจน้ำมันและมีเงินทุนมหาศาล ซึ่งได้มีการรับช่วงต่อกิจการของบริษัท InGen (ผู้สร้างปาร์คตั้งแต่ภาคแรก) ที่จำเป็นต้องปิดกิจการลงในปี 1998 อันเป็นเวลาหลังจากภาค 2 (1997) 1 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั้งโลกรับรู้แล้วว่ามีการปลุกชีพไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่ จากเหตุการณ์ทีเร็กซ์บุกซานดิเอโกในท้ายภาค 2

และในภาพยนตร์ภาคที่ 3 (ปี 2001) ตอนที่พบกับสไปโนซอรัสครั้งแรก ดร.แกรนท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงมีสไปโนซอรัส เพราะไดโนเสาร์ชนิดนี้ไม่อยู่ในรายชื่อการเพาะพันธุ์ของ InGen เขาจึงสงสัยว่ามีใครกำลังเคลื่อนไหวอยู่ลับ ๆ อย่างแน่นอน ซึ่งจุดนี้เว็บไซต์มาสรานีก็เฉลยอย่างอ้อม ๆ แล้วเช่นกันว่า นับตั้งแต่ปี 1998 นั้น ทางบริษัทมาสรานี ได้ริเริ่มโปรเจคฟื้นฟูปาร์คขึ้นใหม่ ดังนั้นมีความเป็นไปได้มากพอว่า เกาะอิสลา ซอร์น่า หรือ ไซต์ B จะถูกใช้เป็นแหล่งทดลองเพาะพันธุ์ไดโนเสาร์ใหม่อีกครั้ง และสไปโนซอรัสคือหนึ่งในพันธุ์ที่ถูกทดลองสร้างขึ้น และไม่สามารถควบคุมมันได้

อนึ่ง ในหน้าเว็บไซต์เดียวกันนั้น
http://www.masraniglobal.com/about/divisions/jurassicworld/index.html

ช่วงท้ายได้มีการระบุไว้ว่า
And come they did ... Jurassic World officially opened in June 2005 to an incredible 98,120 visitors in its first month of operation.

แปลว่าสวนสัตว์จูราสสิกเวิร์ลด์นั้น เปิดทำการอย่างเป็นทางการได้ในปี 2005 และดึงดูดผู้เข้าชมได้เกือบ 1 แสนคนในเดือนแรก
และหมายความว่า ปี 2015 นี้ คือปีฉลองครบรอบ 10 ปีการเปิดทำการของสวนสัตว์แห่งนี้อีกด้วย


4.บุคลากรและงานวิจัยทางพันธุศาสตร์



จากภาพและวิดีโอนี้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
มีบุคลากรคนสำคัญอีกคนหนึ่งจาก InGen ที่ได้มาร่วมงานกับบริษัทมาสรานีในการสร้างสวนสัตว์จูราสสิกเวิร์ลด์ขึ้นก็คือ ดร.เฮนรี่ วู (Dr.Henry Wu) ผู้ซึ่งเคยมีบทบาทปรากฎตัวในภาพยนตร์ภาคแรกในฐานะนักวิจัยคนหนึ่ง ซึ่งในเว็บไซต์หน้านี้ http://www.masraniglobal.com/about/divisions/ingen/index.html

ได้ให้ข้อมูลว่า ดร.วู ภายหลังจากเหตุการณ์ปาร์คถูกทำลายในภาคแรก (ปี 1993) ในปีถัดมา 1994 เขาและทีมงาน InGen ได้เข้าแก้ไขความเสียหายและทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสัตว์บนเกาะอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการเปลี่ยนเพศของไดโนเสาร์ที่สามารถควบคุมได้ ในปี 1997 (ภาพยนตร์ภาค 2 - The Lost World) บริษัท InGen ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก (อาจมาจากเหตุทีเร็กซ์บุกซานดิเอโก หรือความเสียหายที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ภาคแรก) แต่ ดร.วู และทีมงาน ก็ยังประสบความสำเร็จในการวิจัยสร้างพืชพันธุ์ผสมชนิดใหม่ ซึ่งทำให้เป็นที่จับตามองอย่างมาก และไม่กี่ปีถัดมา เขาจึงได้ร่วมงานกับบริษัทมาสรานีในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยเลยทีเดียว


5.ทีมรักษาความปลอดภัย



จากวิดีโอ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
และหน้าเว็บนี้ http://www.masraniglobal.com/about/divisions/ingen/security/index.html

เป็นการแนะนำทีมรักษาความปลอดภัยของสวนสัตว์จูราสสิกเวิร์ลด์ และแนะนำหัวหน้าทีมก็คือคุณวิค ฮอสกิ้นส์ (Vic Hoskins) หัวหน้าทีมงานรักษาความปลอดภัยเก่าของ InGen ซึ่งรวม ๆ ก็ดูไม่มีอะไรมาก แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ

"A seasoned security contractor, Vic Hoskins was involved in overseeing the infamous flying reptile "cleanup" operation over Canada in 2001."

กล่าวคือ คุณวิคได้มีส่วนร่วมในภารกิจการปราบปรามสัตว์เลื้อยคลานบินได้ในแคนาดาปี 2001 ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์ Jurassic Park 3 ซึ่งมีเทอราโนดอนฝูงเล็ก ๆ หลุดออกมาจากโดมเลี้ยงและอาละวาดไล่ล่าพวกตัวเอก ก่อนจะบินหายไป และ ดร.แกรนท์ ก็เอ่ยไว้ว่า พวกมันน่าจะไปหาแหล่งอาหารใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าพวกมันจะเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ และทีมงานที่นำโดย วิค ฮอสกิ้นส์ ผู้นี้ ก็สามารถกำจัดพวกมันได้ ทำให้เป็นผลงานสำคัญที่ทางบริษัทมาสรานี ดึงตัวพวกเขามาทำงานในสวนสัตว์จูราสสิกเวิร์ลด์นี้นั่นเอง


6.I-Rex



ข้อนี้ต่อเนื่องกับข้อ 4 ครับ จากผลงานวิจัยของ ดร.วู ในเรื่องของการเปลี่ยนเพศของไดโนเสาร์บนเกาะในปาร์คภาคแรก และผลงานการสร้างพืชพันธุ์ผสมได้สำเร็จ ดังข้อมูลในเว็บไซต์ระบุไว้นั้น http://www.masraniglobal.com/about/divisions/ingen/index.html

ในปี 2013 สวนสัตว์เปิดมาแล้วได้ 8 ปี บริษัทมาสรานีก็ได้ตั้งเป้าทางธุรกิจเพิ่มเติม http://www.masraniglobal.com/investors/index.html ให้สร้างจุดสนใจใหม่ให้แก่สวนสัตว์จูราสสิกเวิร์ลด์ ดังนั้นด้วยผลงานอันโดดเด่นที่ผ่านมาของ ดร.วู จึงทำให้เขาได้เป็นผู้ริเริ่มการวิจัยสร้างไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ขึ้น

และไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่นี้ ก็เกิดจากการผสม DNA ของไดโนเสาร์กินเนื้อ 4 ชนิด ประกอบด้วย
Carnotaurus / Giganotosaurus / Majungasaurus / Rugops ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อในวงศ์ Abelisauridae ที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่ง ทนทาน และวงศ์ Carcharodontosauridae ที่มีขนาดใหญ่และดุร้าย (โดยเฉพาะ Giganotosaurus เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่กว่าทีเร็กซ์)

มันมีชื่อว่า Indominus Rex หรือ I-Rex มีความหมายว่า ราชาพยศ หรือ ราชาที่ไม่สามารถควบคุมได้
ซึ่งถูกวางเป้าหมายให้มาเป็นตัวชูโรงตัวใหม่ของสวนสัตว์ในโอกาสครบรอบ 10 ปี (2015) และก็นำมาซึ่งหายนะครั้งใหญ่นั่นเอง


7.เวโลซิแรปเตอร์



ไดโนเสาร์สายพันธุ์เวโลซิแรปเตอร์นั้น นับว่าเป็นตัวอันตรายที่มีบทบาทสำคัญในภาพยนตร์ทุก ๆ ภาค แต่ก็เป็นไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งที่มีการออกแบบรูปร่างหน้าตาของมันแตกต่างกันในทุก ๆ ภาคเช่นกัน จุดนี้มีการอธิบายข้อมูลไว้อยู่บ้างในเรื่องของการโคลนนิ่ง DNA ที่แตกต่างกัน ก็จะมีการผสม DNA สัตว์ต่างชนิดกันในการสร้างไดโนเสาร์ตัวใหม่ขึ้น ทำให้แต่ละตัวมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกันไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ทีมแรปเตอร์ของโอเว่น (สตาร์ลอร์ด ตัวเอกในภาพยนตร์ภาคล่าสุด) แรปเตอร์หัวหน้าทีมชื่อ Blue มีลายสีน้ำเงินพาดยาวกลางตัว ผสมขึ้นจาก DNA ของตะกวด หรือ Delta ตัวสีเขียวอ่อน ผสมขึ้นจาก DNA ของนก เป็นต้น

ข้อมูลจากเว็บเลโก้จูราสสิกเวิร์ลด์
http://www.lego.com/en-us/jurassicworld/characters

และข้อมูลเกี่ยวกับการผสม DNA
http://www.masraniglobal.com/about/divisions/ingen/index.html
http://www.jurassicworld.com/creation-lab/

นอกจากนี้เพจ Reel Tours Hawaii ได้มีการเผยภาพจุดโชว์หุ่นแรปเตอร์โปรโมตภาพยนตร์ภาคใหม่นี้ที่สถานี Waterloo ในกรุงลอนดอน ปรากฎให้เห็นว่า แรปเตอร์ทั้ง 4 ตัวดังกล่าว ไม่ใช่แรปเตอร์ 4 ตัวเดียวกับที่โอเว่นฝึก และยังมีตู้คอนเทนเนอร์ของ InGen ตั้งไว้อยู่ด้วย อาจจะเป็นปริศนาบางอย่างที่ให้เราต้องไปค้นหาคำตอบกันในภาพยนตร์ก็เป็นไปได้



ทั้งหมดนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณ Snicket ที่เสนอแนะมาในกระทู้ก่อน http://ppantip.com/topic/33764439
และขออภัยล่วงหน้าหากมีข้อมูลส่วนใดขาดตกบกพร่องนะครับ

แล้วมาติดตามด้วยกันในโรงภาพยนตร์นะครับ

จากเพจ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.465790126913885.1073741831.193708284122072&type=3&uploaded=7
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่