อนาคตการบินไทยจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนสมัยก่อนมั้ยครับ

ตอนนี้การบินไทยดูแย่มากเลย ในอนาคตจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้มั้ยครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 24
คนรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่คุ้นชินว่าการบินไทยเคยยิ่งใหญ่ในอดีตจริงด้วยหรือ แต่ต้องยอมรับว่าคนยุค 70-90 มีฝีมือสร้างการบินไทยให้รุ่งเรืองได้จริง
การจัดลำดับสายการบินในสมัยก่อน การบินไทยติดอันดับ TOP 10 ตลอด มีบางปีรู้สึกจะอันดับ 3 ของโลกด้วยซ้ำ
อย่างน้อยๆ THAI ก็เป็น founding member ของ Star alliance เครือข่ายการบินแรกและใหญ่ที่สุดของโลกเลยทีเดียว เขาเชิญมาขนาดนั้นแทนที่จะเป็น Singapore airlines ในยุคนั้น แสดงการบินไทยก็ต้องมีดีในตัวมากๆ เลยทีเดียวสำหรับตอนนั้น

หลายๆ คนอาจคุ้นเคยการบินไทยในบริบทของการบินภายในประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าการบินไทยเองนั้นไม่ได้มีจุดแข็งกับเส้นทางบินในประเทศแต่อย่างใด (ซึ่งการบินไทยก็ไม่ได้บินในประเทศตั้งแต่แรก แต่รับกิจการการบินในประเทศ ต่อมาจากบริษัทเดินอากาศไทย / บดท. อีกทีในยุคปลายปี 252X จะว่าไป เส้นทางในประเทศที่ทำกำไรก็คงมีแค่ภูเก็ตเชียงใหม่จริงๆ) แต่จุดแข็งที่ยิ่งใหญ่ในอดีตของการบินไทย คือเส้นทางเหล่านี้ต่างหาก ที่ทำให้การบินไทยแข็งแกร่งได้ในตลาดโลก...

1. Kangaroo route เส้นนี้นับว่าเป็นเส้นทาง flagship ของการบินไทยเลย เป็นเส้นทางเชื่อม London - Bangkok - ไปยังเมืองต่างๆ ใน Australia
กล่าวคือออสเตรเลียซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับอังกฤษ มีญาติที่ยังติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างกันอยู่มากมาย การเดินทางระหว่างอังกฤษกับออสเตรเลียจึงเป็นเส้นทางที่มีความต้องการสูงมาก ในขณะที่สมัยก่อนเครื่องบินไม่สามารถบินตรงระหว่างอังกฤษกับออสเตรเลียได้เลยเพราะระยะทางที่ไกลมาก (ปัจจุบันมีเครื่องบินไกลได้แต่ก็ยังไม่คุ้มบิน) ทำให้จำเป็นต้องมีการพักจอดเครื่องอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เมื่อลากเส้นตามแนวโค้งของโลกมาแล้ว จะพบว่าเส้นทางที่เหมาะกับการแวะพักเครื่อง ก็อยู่แถวๆ เอเชียนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ, ฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลเซีย (จริงๆ ลากผ่านตะวันออกกลางด้วย แต่สมัยนั้นธุรกิจการบินในแถบตะวันออกกลางยังไม่ได้เติบโตเหมือนทุกวันนี้ สนามบินก็ยังเล็กๆ อยู่เลย อย่าง Emirates จริงๆ ก็พึ่งตั้งไข่เมื่อปี 1985 นี่เอง)

ความหมายของ Kangaroo route ใน wikipedia กล่าวไว้ว่า ..."The Kangaroo Route traditionally refers to air routes flown by Qantas between Australia and the United Kingdom via the Eastern Hemisphere." The term is trademarked by Qantas, although it is used in the media and by airline competitors.

เพราะเหตุนี้ และด้วยเหตุผลเรื่องการจำกัดสิทธิ์ทางการบินในสมัยนั้น ทำให้สายการบินแห่งชาติในเส้นทาง Kangaroo route ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็น British Airways, Qantas, Singapore Airlines, THAI, Malaysia airlines, Cathay Pacific โดยแทบจะปราศจากคู่แข่ง อย่างการบินไทยเองก็ได้รับประโยชน์ตรงที่ Bangkok ก็ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางแวะพักของ Kangaroo route นี้ การท่าก็ได้อานิสงส์ไปด้วย (ในอดีต Qantas ก็เลือกดอนเมืองเป็นจุดแวะพักหลักของ Kangaroo route ปัจจุบันย้ายไปดูไบแทนแล้ว) ก็ถือว่ารับประโยชน์ไปเต็มๆ ได้เอา Boeing 747-400 ขนผู้โดยสารในเส้นทางเหล่านี้กันเป็นว่าเล่น มีหลายไฟลต์ต่อวัน เป็นผลกำไรมหาศาลแก่การบินไทยที่เรียกว่าไม่เคยขาดทุนมาตลอดหลายสิบปี แถมยังได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทย ในการเป็นจุดแวะพัก และแวะเที่ยวประเทศไทยด้วย (สนามบินบ้านเราที่สร้างใหญ่โตอลังการได้ ก็เพราะเหตุนี้นี่แหละ ดูประเทศอื่นแถบๆ นี้สิ สนามบินเล็กๆ กันทั้งนั้น)

ส่วนปัจจุบัน ไม่ต้องสืบครับ... เส้นทางนี้โดนตะวันออกกลางคว้าไปรับประทานแล้วเรียบร้อย จากการเติบโตของ Emirates, Etihad, Qatar และการขยายสนามบินในตะวันออกกลางให้ยิ่งใหญ่อย่าง Dubai, Abu Dhabi, Doha ซึ่งสายการบินพวกนี้ทุ่มตลาดอยู่แล้วในฐานะเจ้าของบ่อน้ำมัน ตั๋วราคาเท่าๆ กันหรือถูกกว่า แต่บริการได้อลังการดาวล้านดวงกว่ามาก เพราะต้นทุนน้ำมันต่ำ และต้นทุนเครื่องบินก็ต่ำด้วยเพราะพี่แกเหมายกล็อตมา ในขณะที่สายการบินอื่นแทบจะแข่งขันด้วยไม่ได้เลย แค่ชั้น Economy หลายท่านที่เคยนั่งก็คงพูดเป็นเสียงเดียวกันแล้ว ว่าตัว product มันดีกว่าเห็นๆ ยิ่งเป็นชั้นพรีเมียร์แล้ว ยิ่งหรูหราจัดเต็มกว่ามาก แล้ว Royal silk ของเราจะไปสู้ด้วยได้ไง จ่ายถูกกว่าแต่บริการดีกว่า การบินไทยก็แย่สิครับ และจะว่าไป หลายๆ คนบอกว่า ตะวันออกกลางถือเป็นจุดแวะพักเครื่องเส้น Kangaroo route ที่เหมาะสมกว่าแถวเอเชียด้วยซ้ำ เพราะอยู่จุดกึ่งกลางของเส้นทางนี้พอดี

2. เส้นทางยุโรป ฝรั่งโซนยุโรปชอบเที่ยวเมืองไทยและแถบๆ อาเซียนมาก ก็ใช้บริการเครื่องบ้านเค้า หรือเครื่องบ้านเราเนี่ยแหละเพื่อมาหลบหนาวที่เมืองไทยกัน บ้านเราก็ถือว่าเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ อยู่แล้ว (ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยอยู่ที่อันดับ 10 ของโลก) จะสังเกตว่า การบินไทยมี destination ไปยุโรปอยู่หลายเมืองมากๆ และน่าจะมีผลประกอบการดีมากด้วยเพราะเส้นทางยุโรปนี่อยู่ยงคงกระพันมาก แถมส่งเครื่องใหญ่ๆ ไปทั้งนั้น

ปัจจุบัน เส้นทางนี้ ก็โดนสายตะวันออกกลางตีกระจุยเช่นกัน หลายคนไม่ซีเรียสเรื่องบินตรง ก็ไปแวะตะวันออกกลางกันไป สังเกตกันไหมครับว่าเดี๋ยวนี้พวก Emirates, Etihad, Qatar ขนคนจากกรุงเทพกันเป็นว่าเล่น ตั้งหลายไฟลต์ต่อวัน แถม....ใช้ A380 กันทั้งนั้นด้วย

3. เส้นทางเชื่อม Southeast Asia (สมัยนี้ต้องเรียก ASEAN สินะ) ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางในแถบนี้อยู่แล้ว ฝรั่งจากยุโรปลงเครื่องมาเมืองไทย แล้วก็รวดต่อเครื่องจากไทยไปยังประเทศต่างๆ ในแถบนี้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว กัมพูชา คือจริงๆ บ้านเรามีสนามบินที่ใหญ่มากนะครับ ใหญ่มาตั้งแต่ดอนเมืองแล้วเพราะเป็น Hub ในขณะที่ถ้าใครได้เคยไปพม่า ลาว กัมพูชา จะพบว่าสนามบินนานาชาติบ้านเค้าเล็กนะครับ และส่วนใหญ่จะมีไฟลต์จากเมืองไทยเข้าไปเป็นหลัก เพราะประเทศเหล่านี้มีขนาดเล็กจนไม่คุ้มที่จะมีไฟลต์บินตรงไกลๆ มาจากต่างประเทศ ดังนั้นสมมติว่าจะมาจากยุโรปไปเที่ยวย่างกุ้ง ก็ต้องนั่งเครื่องจากยุโรปมาไทยก่อนนี่แหละ แล้วจึงต่อเครื่องไปย่างกุ้ง นี่จึงเป็นอีกกลุ่มเส้นทางนึงที่เป็นจุดแข็งของการบินไทยตลอดมา

ปัจจุบัน กลุ่มเส้นทางเหล่านี้ ไม่ต้องบอกกันก็รู้นะครับ ว่า... แอร์เอเชียคาบเอาไปรับประทานแล้วเรียบร้อย ฮ่าๆๆ
แอร์เอเชียแทบจะยึดเส้นทาง regional เอาไปแล้ว และเคลมตัวเองด้วยว่า จะก้าวมาเป็น No.1 ในเร็วๆ นี้

จะเห็นว่า threats หรือภัยคุกคามที่สำคัญของการบินไทย ก็คือกลุ่มสายการบินตะวันออกกลางในเส้นทางระยะไกล ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นการแข่งขันที่ไม่แฟร์อยู่แล้วเพราะเขาทุ่มตลาดกัน แต่ทำอย่างไรได้ บ้านเราไม่ใช่เจ้าของบ่อน้ำมัน ก็ต้องปรับตัวกันไปล่ะครับ ส่วนภัยคุกคามในเส้นทางภูมิภาคก็คือ สายการบินโลว์คอสต์นี่เอง แต่อันนี้ต้องโทษการบินไทยด้วยเองที่บริหารต้นทุนไม่ได้เรื่องเองทำให้ต้นทุนบวม ส่วนในประเทศเอง ก็คงถือธงขาวไปนานแล้ว ดีที่เข็นไทยสไมล์ออกมาสู้ แต่จะสู้ได้มั้ยก็ต้องรอดูกันต่อไป (ได้ข่าวว่าไทยสไมล์มีกำไร แสดงว่าเวิร์คอยู่นะ)

ช่วงนี้การบินไทยก็ไปเอาดีทางด้านญี่ปุ่นไปก่อน ขนทั้งนักท่องเที่ยวไทยและญี่ปุ่น โหลดดี กำไรงาม เป็นขุมทองก้อนท้ายๆ ของการบินไทยจริงๆ
แต่ก็คงไม่น่าจะจีรังมาก เพราะการมาของโลว์คอสระยะไกลอย่าง AirAsia X, Scoot ก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ผมกลัวกว่าก็คือ ถ้าพวกสายตะวันออกกลาง เกิดบ้าจี้ได้รับสิทธิ์ Fifth freedom บินตะวันออกกลาง-กรุงเทพ-ญี่ปุ่นได้เมื่อไหร่ (แบบที่ Emirates บิน Dubai-Bangkok-Hongkong ได้) เมื่อนั้นแหละครับ เตรียมขุดหลุมฝังการบินไทยเอาไว้ได้เลย

จะว่าไป การบินไทยนี่ทำ SWOT ง่ายมากเลยนะ เห็นๆ กันอยู่ แต่วิเคราะห์มาได้ แล้วจะไปแก้ปัญหากันอย่างไร อันนี้ปวดหัวแทนเลยครับ
คือ Strength กับ Opportunity มันก็มีดีอยู่ แต่ threat นี่ก็ร้ายไม่ใช่เล่น และที่สำคัญ weakness ตัวเองนั่นแหละ โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง

สำหรับความคิดผม พูดเลยว่าการบินไทยไม่มีทางยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตได้แล้ว นอกเสียจากแช่งให้ประเทศแถวตะวันออกกลางน้ำมันหมดบ่อ 555
เอาจริงๆ ก็คือเพราะการแข่งขันเส้นทางระยะไกลที่สายการบินตะวันออกกลางได้เปรียบกว่ามากนี่ล่ะครับ เราแข่งไปยังไงก็แพ้ ไม่มีทางสู้ได้เลย
ในขณะที่เส้นทางระยะใกล้ๆ การบินไทยเองก็คุมต้นทุนได้แย่มาก ในขณะที่แอร์เอเชียเขาบริหารต้นทุนเก่งมาก และบินใกล้ๆ นี้ใครต้องการเซอร์วิสอะไรเยอะแยะมากมายกันล่ะครับ บินแป๊บๆ ก็ถึงแล้ว เพราะแบบนี้แหละโลว์คอส regional เลยโตเอาๆ

แนวทางแก้ปัญหาการบินไทย ระยะสั้นคงพอได้ แต่ผมมองว่ามืดแปดด้านจริงๆ นะสำหรับระยะยาว ที่ผมว่าน่าสนใจสำหรับการเป็น case study คือกรณีของ Malaysia Airlines มากกว่า รายนั้นเริ่มปฏิบัติภารกิจรีเซ็ตตัวเองใหม่แล้วครับ เท่าที่อ่านมาก็คือ เขาจะล้มบริษัทเดิมทิ้ง เลิกจ้างคนทั้งหมด ขายเครื่องบางส่วนทิ้ง (รวมถึง A380 หมดฝูง ใครๆ ก็ไม่รักเจ้าช้างน้ำ) แล้วตั้งบริษัทใหม่มา ถ่ายโอนทรัพย์สิน รวมทั้งพนักงาน 1/3 ของสายการบินเดิมกลับมา เป็นชื่อสายการบินใหม่ อัตลักษณ์องค์กรใหม่ และจะผันตัวเองมาเป็นสายการบิน Regional แทน และเลือกบินเฉพาะเส้นทางที่กำไรจริงๆ เท่านั้น

แนวทางของ Malaysia airlines น่าจับตามองและน่าสนใจสำหรับการบินไทย คือต้นทุนด้านบุคลากรของการบินไทยมันคงสูงมากๆ และทำให้ต้นทุนโดยรวมบวม แต่ผู้บริหารไม่มีใครกล้าทำอะไรเพราะสหภาพเข้มแข็ง และยากที่จะลดต้นทุนจนสร้างการแข่งขันได้ ถ้าเราจะทำตาม ก็คือต้องตัดใจยอมล้างไพ่ ปล่อยให้การบินไทยขาดทุนจนล้มละลายไปเลย แล้วปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ แต่คงไม่ถึงกับต้องปรับแบรนด์ เพราะแบรนด์เรายังดีอยู่ ไม่เหมือน Malaysia airlines ที่แบรนด์ติดลบไปแล้ยว และที่น่าสนใจคือผันตัวเองมาเป็นผู้เล่นตลาด Regional แทน และเก็บ long haul ไว้เฉพาะเส้นทางที่ทำกำไร (เช่น Bangkok-London) เส้นไหนไม่ทำกำไรก็ปิดไปให้หมด เพราะในระยะยาวแล้ว เส้นทางบินไกลๆ อาจจะแข่งกับพวกตะวันออกกลางได้ยาก จุดแข็งเรื่องบินตรงนี่ผมว่าน่าคิดนะ ถ้าคนแคร์เรื่องบินตรงกัน คำถามคือทำไมพวกตะวันออกกลางถึงโตเอาๆ น่าคิดนะครับ

จุดไหนข้อมูลผิดพลาดต้องขออภัย และช่วยแก้ไขให้ด้วยนะครับ ประมวลมาจากที่เคยอ่านมาแบบหลงๆ ลืมๆ ล้วนๆ ครับ ^^'
ความคิดเห็นที่ 23
การบินไทยเคยยิ่งใหญ่จริง  สมัยก่อนมีสโลแกน first choice carrier first time every time
แต่เนื่องจากในสมัยก่อนไม่ได้มีการเปิดเสรีการบินอย่างในสมัยนี้ดังนั้นสายการบินจึงกำไรอู้ฟู่
มาปัจจุบันการบินไทยก็ยังมีจุดเด่นอยู่ แต่ผบห คนปัจจุบัน มองไม่เห็นเอง ดันกลับไปใช้วิธี
ลดเส้นทางบิน ลดคน(ซึ่งก็ไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนไปเนื่องจากลดเส้นทางบินไปแล้ว) ส่วนเรื่อง
ลดสต๊อคเครื่องบินนั้นทำถูกต้องแล้วเพราะเมื่อไม่ได้ใช้ก็ควรขายเอามาเป็นเงินหมุน

คลังต้องขายหุ้นการบินไทยออกมาบางส่วนเพื่อให้พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะการเปิน
รัฐวิสาหกิจนั้นทำให้มีข้อจำกัดในการบริหารอยู่มาก  ต้องไม่เอาการเมืองไปเกี่ยว ต้องให้คนของ
การบินไทยบริหารกันเองเพราะคนในนั้นเค้ารู้ปัญหาของเค้าดี คนนอกอย่างจรัมพรจะรู้ปัญหาลึกๆ
ของการบินไทยได้อย่างไรเพราะตัวเองเพิ่งจะเข้าไป ขนาดอยู่ตลาดจะแก้ปัญหาหุ้นปั่น เพิ่มทุน
พีพียังไม่ได้เลย เห็นมีแต่ถ่ายรูปดื่มแชมเปญไปวันๆ  จรัมพรในสายตาผมก็คือเด็กเส้นในรูปแบบนึง
เท่านั้นเอง  คนของการบินไทยควรจะมาบริหารการบินไทย อย่างในยุคสมัยนึงก็ ธรรมนูญ หวั่งหลี
การบินไทยก็ไปได้ดีในสมัยนั้น

การบินไทยมีจุดเด่นที่จรัมพรมองไม่เห็น และจรัมพรแก้ปัญหาแค่เฉพาะหน้า ในระยะยาวแล้วไม่มีทาง
ที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้หากจรัมพรไม่รู้จักนำจุดดีจุดเด่นจุดแข็งของการบินไทยมาใช้
ความคิดเห็นที่ 9
มัน"น่าจะได้นะ" ถ้าพนักงานมีความรักในองค์กร รักประเทศชาติ เท่าฟ้า

แต่ถ้ารักนกหวีตเท่าฟ้าแบบทุกวันนี้ ก็คงเป็นแบบนี้แหล่ะ

จริงๆแล้วคนไทยชาตินิยมสูงนะ แต่ กบท. ไม่รู้จักใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์

ตอนนี้ลูกค้าของ กบท. ส่วนมากจะเป็นพวกสลิ่มที่ใช้บริการ ในขณะที่คนไทยอีกค่อนประเทศปฏิเสธที่จะขึ้นสายการบินนี้ ทั้งๆที่เค้ามีศักยภาพที่จะขึ้นได้

ขอโทษที่ต้องพูดตรงๆนะ เพราะถ้าไม่เล่นการเมืองจนเกินงาม ผมว่าคนไทยทุกคนอยากสนับสนุนสายการบินแห่งชาติด้วยกันทั้งนั้นแหล่ะ แต่ตอนนี้กับสายการบินนี้ เค้าแค่ไม่ "prefer" ที่จะบิน นอกจากไม่มีไฟลท์จริงๆ จำเป็นต้องบินก็ต้องบิน

ถ้า กบท. สามารถ ทำให้คนไทย"ทั้งประเทศ" รู้สึกว่านี่คือสายการบินของ"คนไทยทุกคน" ผมว่า กบท.สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่