อย่าคิดว่ารู้มากแล้วจะเห็นพระพุทธเจ้า

ธรรมที่เราเรียนมา ธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ถึงจะศึกษาธรรมะเท่าไรก็ตามทีเถิด ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติแล้วก็ไม่เห็น ไม่เห็นแล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้จัก ข้อปฏิบัติ อย่าพึงว่าเราเรียนมาก เรารู้มากแล้วเราจะเห็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็เหมือนเรามีตาอย่างนี้ก็นึกว่าเราเห็นทุกอย่าง เพราะว่าเรามองไปแล้ว หรือจะนึกว่าเราได้ยินแล้วทุกอย่าง เพราะเรามีหูอยู่แล้ว มันเห็นไม่ถึงที่สุดของมัน มันก็เป็นตานอกไป ท่านไม่จัดว่าเป็นตาใน หูก็เรียกว่าหูนอก ไม่ได้เรียกว่าหูใน มิฉะนั้นถ้าท่านพลิกสมมุติเข้าไปเห็นวิมุตติ แล้วก็เป็นของจริง เห็นชัด ถอนทันที มันจึงถอนสมมุติออก ถอนความยึดมั่นถือมั่นออก ถอนทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับผลไม้หวานๆ ใบหนึ่ง ผลไม้นั้นมันหวานอยู่ก็จริง แต่ว่ามันต้องอาศัยการกระทบประสบจึงรู้ว่ามันหวานหรือมันเปรี้ยวจริง ผลไม้นั้นถ้าไม่มีอะไรกระทบ มันก็หวานอยู่ตามธรรมชาติ หวานแต่ไม่มีใครรู้จัก เหมือนธรรมะของพระพุทธเจ้าของเรา เป็นสัจจธรรมจริงอยู่ก็ตาม แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จริงนั้น ก็เป็นของไม่จริง ถึงมันจะดีเลิศประเสริฐสักเท่าไรก็ตามทีเถอะมันไม่มีราคาเฉพาะกับคนที่ไม่รู้เรื่อง

ฉะนั้นจะไปเอาทุกข์ทำไม ใครในโลกนี้อยากเอาทุกข์ใส่ตัวมีไหม ไม่มีใครทั้งนั้นแหละ ไม่อยากได้ทุกข์ แต่ว่าสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา มันก็เท่ากับเราไปแสวงหาความทุกข์นั่นเอง แต่ใจจริงของเราแสวงหาความสุข ไม่อยากได้ทุกข์ นี่มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ทำไมจิตใจของเรามันสร้างเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ เรารู้เท่านี้ก็พอแล้วใจเราไม่ชอบทุกข์ แต่เราสร้างความทุกข์ขึ้นมาเป็นตัวของเราทำไม มันก็เห็นง่ายๆก็คือคนที่ไม่รู้จักทุกข์นั่นเอง ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดของทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงประพฤติอย่างนั้น จึงเห็นอย่างนั้น จะไม่มีความทุกข์ได้อย่างไรก็เพราะคนไปทำอย่างนั้น ถ้ามันเป็นเช่นนั้น มันก็เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งดุ้นนั้นแหละ แต่ว่าเราไม่เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อะไรที่เราได้พูด เราได้เห็น เราได้ทำแล้วเป็นทุกข์ อันนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งนั้น ถ้าไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิมันไม่ทุกข์อย่างนั้นหรอก มันไม่ยึดในความทุกข์อันนั้น มันไม่ยึดในความสุขนั้นๆ ไม่ได้ยึดตามอาการทั้งหลายเหล่านั้น มันจะปล่อยวางตามเรื่องของมัน เช่น กระแสน้ำที่มันไหลมา ไม่ต้องกาง กั้นมัน ให้มันไหลไปตามสะดวกของมันนั้นแหละ เพราะมันไหลอย่างนั้น กระแสธรรมก็เป็นอย่างนั้น กระแสจิตของเราที่ไม่รู้จักมันก็ไปกางกั้นธรรมะด้วยที่ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไปตะโกน โน้น มิจฉาทิฏฐิอยู่ที่โน้น คนโน้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ตัวเราเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะ เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ อันนั้นเราไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็น่าสังเกตน่าพิจารณาเหมือนกันนะ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิเมื่อไรก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ไม่ทุกข์ในเวลาปัจจุบันนั้น ต่อไปมันก็ให้ผลมาเป็นทุกข์

อันนี้พูดเฉพาะคนเรามันหลงเท่านั้น อะไรมันปิดไว้ อะไรมันบังไว้ สมมุติมันบังวิมุตติให้คนมอง เห็นไม่ชัดในธรรมทั้งหลาย ต่างคนก็ต่างศึกษา ต่างคนก็ต่างเล่าเรียน ต่างคนก็ต่างทำ แต่ทำด้วยความไม่รู้จัก ก็เหมือนกันกับคนหลงตะวันนั้นแหละ เดินไปทางตะวันตกเข้าใจว่าเดินไปทางตะวันออก หรือเดินไปทิศเหนือเข้าใจว่าเดินไปทิศใต้ มันหลงขนาดนี้ เราปฏิบัตินี้มันก็เลยเป็นขี้ของการปฏิบัติโดยตรงแล้วมันก็เป็นวิบัติ วิบัตินี้คือมันพลิกไปคนละทาง หมดจากความมุ่งหมายของธรรมะที่ถูกต้อง สภาพอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เราก็เข้าใจว่าอันนี้ถ้าทำขึ้น ถ้าบ่นขึ้น ถ้าท่องขึ้น ถ้ารู้เรื่องอันนี้ มันจะเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ ก็เหมือนกันกับคนที่อยากได้มากๆนั่นแหละ อะไรๆก็หามามากๆ ถ้าเราได้มากแล้วมันก็ดับทุกข์ จะไม่มีทุกข์ ความเข้าใจของคนมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่ามันคิดไปคนละทาง เหมือนกันกับคนนี้ไปทิศเหนือ คนนั้นไปทิศใต้ นึกว่าไปทางเดียวกัน

หลวงพ่อชา สุภัทโท
http://www.ubu.ac.th/wat/index.php?page=acebooks
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่