.......ผู้ร้ายกับไอพี.....ระวัง!เราอาจจะทำร้ายคนบริสุทธิ์.....

ขอทำความเข้าใจเรื่องip address (ไอพี) นิดหนึ่ง    ไม่รู้ว่ามีใครเคยเขียนถึงเรื่องนี้หรือยัง  ถ้ามีแล้วก็ขออภัย....
เหตุการณ์ในห้องราชฯ ตอนนี้กำลังออกแนวดราม่าตามล่าหาตัวเสี้ยม (ผมไม่ได้อ่านทั้งหมด)   แต่ติดใจคือเรื่องไอพี   เกรงว่าในบางกรณีไอพีจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายผู้บริสุทธิ์โดยไม่ตั้งใจก็ได้    เพราะจริงๆ แล้วไอพีไม่ใช่ตัวชี้อัตตลักษณ์ของคนหรืออุปกรณ์บนเน็ตเวิร์กเสมอไป   และถ้าจะพูดถึงไอพีโดยละเอียดแล้ว.....เรื่องยาววววววทีเดียว



สถานะไอพี(ip address)มีสองประเภทคือ  Static IP (ไอพีที่ถูกตั้งค่าเองโดยมนุษย์) และ  Dynamic IP (ไอพีที่ระบบตั้งค่าให้โดยอัตโนมัติ)   อุปกรณ์ด้านเน็ตเวิร์คทุกอุปกรณ์(คอมฯ  แลปท้อป  มือถือ  พริ้นเตอร์  กล้อง ฯลฯ)ต้องมีไอพีทุกตัว  เพื่อที่จะสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ บนเน็ตเวิร์คได้   ซึ่งส่วนมากจะเป็น Dynamic IP คือระบบตั้งค่าให้โดยอัตโนมัติ  คือพอเสียบสายแลน(Network Cable) หรือต่อWi-Fiได้ก็แสดงว่าเครื่องๆ นั้นได้รับไอพีโดยอัตโนมัติแล้ว   ไอพีชนิดนี้เมื่อปิดเครื่องแล้วไอพีก็จะหายไปด้วย  และเมื่อเปิดเครื่องใหม่เราอาจจะได้ไอพีตัวเดิมหรือไม่ก็ไอพีตัวใหม่    หรือหากต้องการจะโละไอพีตัวทิ้งก็สามารถทำได้   โดยพิมพ์คำสั่งipconfig /release   ระบบก็จะ release(ปลดปล่อย)ไอพีที่มีอยู่ขณะนั้น   จากนั้นก็พิมพ์คำสั่งipconfig /renew เพื่อที่จะเอาไอพี(ตัวเดิมหรือตัวใหม่กลับมา)  คนที่ดูแลระบบเน็ตเวิร์คจะรู้   ส่วน Static IP นั้นผมจะข้ามไปก็แล้วกันเพราะเดี๋ยวจะยาว....และเพราะเราจะใช้ Dynamic IP เสียส่วนใหญ่



ไอพีมาจากไหน?   ไอพีมาจากเซิฟเวอร์ที่เรียกว่า DHCP Server (ผมใช้ภาษาของผมแปลก็แล้วกันว่า “ตัวปั๊มและตัวจ่ายไอพี”)   บริษัท โรงเรียน มหาวิทยาลัยที่มีเครือข่ายเน็ตเวิร์คขนาดกลางถึงใหญ่   ต้องมีเซิฟเวอร์ตัวนี้คอยทำหน้าที่ “แจกจ่าย” ไอพีให้กับอุปกรณ์เน็ตเวิร์คทุกประเภท   ซึ่งเน็ตเวิร์คแอดมินจะตั้งค่าหรือกำหนดว่าจะใช้ไอพีในเครือข่ายนั้นกี่ตัวส่วนใหญ่ก็จะตั้งค่าหลักหมื่นถึงแสนตัวขึ้น   และอาจจะกำหนดค่า expiration (คือหมดอายุ)ไอพีเอาไว้ด้วย   สรุปก็คือ ตัวDHCP เซิฟเวอร์นี้จะทำหน้าที่รับผิดชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับไอพี



สำหรับเครือข่ายเน็ตเวิร์คขนาดเล็กเช่น  อินเตอร์คาเฟ่  หรือแม้แต่ติดตั้งอินเตอร์เน็ตในบ้านนั้น  ตัวเร้าเตอร์(Router) นอกจากจะเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างเครื่องคอมกับโลกอินเตอร์แล้ว  ยังทำหน้าที่เป็น DHCP เซิฟเวอร์ไปในตัวด้วย  คือจ่ายค่าไอพีให้กับทุกครื่องเครื่องที่ต่อสาย หรือ Wi-Fi เข้ากับเร้าเตอร์     สมมุติว่าที่บ้านคุณเล่นคอมฯ ห้าเครื่อง  มือถืออีกหลายเครื่อง  ทุกเครื่องก็จะมีไอพีไม่เหมือนกัน  แต่จะอยู่ใน class เดียวกันเช่น  192.168.0.1, 192.168.0.2, 192.168.0.3 ไปเรื่อยๆ    ปรกติแล้วจำนวนไอพีที่ตั้งไว้ในเร้าเตอร์จะมี 254 ตัว (แต่เร้าเตอร์สมัยใหม่สามารถขยายหรือตั้งค่าให้เยอะกว่านั้นก็ได้)   ที่สำคัญ....ตรงนี้สำคัญมากๆ คือ  ไอพีเหล่านี้เป็นไอพีที่ใช้ “ภายใน”(Private IP) ของระบบเครือข่ายนั้นๆ  และไอพีของแต่ละเครื่องจะถูกเปลี่ยนค่าเมื่อเครื่องคอมฯ ในเครือข่ายนั้นติดต่อกับ “โลกภายนอก”เป็นPublic IP เช่นอย่างที่เราใช้คอมที่บ้านเล่นพันทิปอยู่ตอนนี้   ขั้นตอนนี้เขาเรียกว่า NAT ย่อมาจาก Network Address Translation นั่นก็คือการเปลี่ยนค่าไอพีของทุกๆ เครื่องภายในเครือข่ายหรือในบ้านเราให้มีค่าเป็นไอพีภายนอก  คือเปลี่ยนจาก Private เป็น Public   และ Public IP หรือไอพีภายนอกก็คือไอพีที่บริษัทที่เราใช้บริการนั่นเอง    ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น     อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ “วัชรานนท์”  มีเครื่องคอมฯ ไว้บริการอยู่50 เครื่อง  ทุกเครื่องมีไอพีแตกต่างกันแต่อยู่ในClass เดียวกัน    วันนั้นในร้านมีคนเล่นเน็ต(เข้าพันทิป)25 คนโดยมีล็อคอินของพันทิปไม่เหมือนกัน  แต่....เมื่อพันทิปแสดงไอพีบนกระทู้แล้ว   ทุกคนมีไอพีเหมือนกัน!!!    นั่นเป็นเพราะเมื่อ25 เครื่องเหล่านั้นออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว  จะต้องผ่านกระบวนการ NAT คือใช้ไอพีเดียว(หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้)ที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตตั้งค่าไวให้กับ “วัชรานนท์” อินเตอร์เน็ตคาเฟ่     ความจริงกระบวนการมันยาวกว่านี้  บางส่วนอธิบายยากเพราะมันต้องเกี่ยวโยงส่วนอื่นด้วย



ที่เล่ามาเสียยืดยาวตรงนี้   เพื่อที่จะให้บางท่านเห็นภาพว่าไอพีคืออะไรและถูกใช้งานอย่างไร?    และที่สำคัญได้บอกไว้ตั้งแต่ต้นคือ ไอพีไม่สามารถแสดงหรือชี้อัตตลักษณ์ของผู้ใช้บนโลกอินเตอร์เน็ตได้เสียทีเดียว   เพราะไอพีสามารถเปลี่ยนค่าได้ดั่งได้กล่าวมาแล้ว    อย่างไรก็แล้วแต่ยังมีอีกตัวหนึ่งที่หลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคยที่สามารถชี้อัตตลักษณ์ได้นั่นก็คือ  Mac Address    แมคแอดเดรสคือค่าของอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาตั้งแต่ถูกผลิตอยู่ในโรงงาน  และอุปกรณ์เน็ตเวิร์คทุกชนิดจะถูกตั้งค่าอันนี้โดยที่ไม่ซ้ำใครในโลก   เช่นไอโฟนทุกตัวจะมีแมคแอดเดรสเป็นอัตตลักษณ์(ในขณะเดียวกันไอพีแอดเดรสของไอโฟนจะเปลี่ยนค่าไปได้เรื่อยๆ แล้วแต่ว่าเราจะต่อกับ Wi-Fiที่ไหนและของใคร)  แมคแอดเดรสจะไม่สามารถเปลี่ยนได้เลย   เปรียบเทียบระหว่าง IP Address กับ Mac Address แล้ว   ไอพีก็คือเครื่องแบบที่เราใส่   แต่แมคแอดเดรสนั้นคือดีเอ็นเอของเราเลย     จริงๆ แล้ว....ระบบเน็ตเวิร์คจะสื่อสารกับ แมคแอดเดรสก่อนไอพีแอดเดรสก่อนด้วยซ้ำ
ค่าของแมคแอดเดรสจะมีสิบสองตัว   เช่น   2B:34:5T:Q1:TT:R2  
ถ้าคุณอยากรู้ว่าค่าของแมคแอดเดรสของเครื่องคอมคุณคืออะไร  ก็พิมพ์คำสั่ง getmac แล้วเครื่องคุณจะแสดงค่าออกมาให้เห็น  เช่นตัวอย่างที่ผมพิมพ์คำสั่งใส่ลงเครื่องlaptop ผม



ขออภัยที่เขียนยาว(เพราะอธิบายยากมาก)  เช่นนี้ก็เพราะไม่อยากจะให้ใครต่อใครทิ้งน้ำหนักหลักฐานไปที่ไอพีเสียทีเดียว   ด้วยว่าตรงนั้นเราอาจจะทำร้าย/ปรักปรำคนบริสุทธิ์บนโลกอินเตอร์ก็ได้   หากใช้เป็นแนวทางในการสืบสวนสาวหาต้นตอนั้นก็ดี    แต่เมื่อถึงจุดต้องพิสูจน์จริงๆ  ก็ต้องดูที่แมคแอดเดรสซึ่งเป็นค่าที่ตายตัวเปลี่ยนแปลไม่ได้เหมือนไอพีครับ

ปล.  ไม่ได้เข้ามาหลายวัน     ยังระลึกถึงผู้มีไมตรีจิตต่อผมเสมอมาทุกๆ ท่านครับอมยิ้ม17อมยิ้ม17
ปล.   ด้วยความสัตย์  ผมเขียนและตั้งกระทู้นี้ไม่ได้เจาะใครนะครับ
ปล.  จริงๆ ผมตั้งกระทู้นี้เพื่อห้องราชดำเนิน   เห็นว่าเกี่ยวเนื่องกับคอมฯ ด้วย ผมจึงแท็กห้องซิลิคอนด้วย  ต้องขออภัยชาวซิลิคอนฯ นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่