อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กับมุมมองการเล่นเส้นในวงการศิลปินแห่งชาติ!?

กระทู้ข่าว
คอลัมน์ หน้าพระลาน โดย จัตวา กลิ่นสุนทร

สําหรับท่านที่สนใจพร้อมทั้งติดตามเรื่องราวในแวดวงศิลปะของประเทศ โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัย ย่อมพอจะนึกขึ้นมาได้ทันทีว่า ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนจังหวัดเชียงราย ย่อมหนีไม่พ้นท่านพี่ถวัลย์ ดัชนี ผู้ล่วงลับ

ต่อมาก็เป็นศิลปินแห่งชาติรุ่นหลังลงมาอย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเป็นรุ่นน้องกว่า 10 ปี หากแต่เป็นชาวเชียงรายเช่นเดียวกัน

อีกทั้งเฉลิมชัยเคยพูดเองที่วัดร่องขุ่นในวันที่ทีมงานศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สอนศิลปะหลายท่านหลายสถาบันไปเยือนวัดสีขาวที่เขาก่อสร้างขึ้น ระหว่างพานักศึกษาศิลปะขึ้นไปสร้างงานยังบ้านดำ นางแล เพื่อคัดเลือกนำไปศึกษาดูงานยังสหรัฐอเมริกา ว่า

เขายึดเหนี่ยวพี่หวันเป็นแบบอย่าง เป็นแนวทางเหมือนครูบาอาจารย์ จะเรียกว่าท่านพี่ถวัลย์เป็นผู้จุดประกายให้กับเขาด้วยก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งเกินเลยไปนัก และเป็นรุ่นพี่ที่เขาคิดว่ายิ่งใหญ่สุดยอด โดยเขาเคยได้ยินชาวเชียงรายเรียกท่านพี่ว่า "ผีบ้าเมียสวย" ในยามที่เขายังละอ่อนอยู่

แม้ว่าท่านพี่ถวัลย์ ดัชนี จะต่อสู้กับโรคร้ายไม่ไหว ลาจากโลกนี้ไปเสียแล้วเมื่อปลายปีก่อน แต่ก็ยังไม่มีใครลืมเลือนกับชื่อเสียงและผลงานจำนวนมากที่สร้างทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านดำ นางแล และงานจิตรกรรมตามผนังบ้าน อาคารสำนักงานสำคัญๆ ในประเทศไทย และผนังปราสาทในต่างประเทศ

แตกต่างจากพี่ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ชาวเชียงราย อีกท่านหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนพี่หวันแล้วเช่นกัน ที่ดูจะเงียบหายไป


ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางว่าเป็นเพราะอะไร เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จึงไม่ค่อยจะชอบพอสักเท่าไร เพิ่งได้ยินที่เขาพูดถึง พี่ดำรง วงศ์อุปราช ในงาน ARTIST TALK / THAI NEOTRADITIONAL ที่หอศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANKOK) ของ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล เมื่อไม่นานมานี้ว่า

"ผมไม่ชอบเพราะมันเล่นเส้น ทำให้กมล (ทัศนาญชลี) ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ผมก็ยังบอกให้คนไปซื้อรูปมัน เพราะงานไม่เกี่ยวกับนิสัยมัน"

ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายเป็นรุ่นพี่ท่านพี่ถวัลย์ ดัชนี ประมาณสัก 3 ปี และเป็นรุ่นก่อนเฉลิมอย่างมาก

แน่นอนท่านเป็นศิลปินมากฝีมืออีกคนหนึ่งที่มีแนวทางการทำงานศิลปะเป็นตัวของตัวเอง และดูเหมือนจะเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์

และเป็นนักเขียนคอลัมน์ศิลปะออกเผยแพร่ในรุ่นแรกๆ ตามนิตยสารรายปักษ์ รายสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่วงการศิลปะยังจำกัดอยู่ในวงแคบ

ดํารง วงศ์อุปราช ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปี พ.ศ.2542 ขณะมีอายุ 63 ปี เป็นชาวอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เข้ามาเรียนโรงเรียนเพาะช่าง เข้าสู่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จากนั้นไปเรียนที่สกูล ออฟ ไฟอาร์ต ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน, ปริญญาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนีย ประวัติศาสตร์ศิลป์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ศึกษาดูงานในฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น

ท่านพี่ถวัลย์ ดัชนี ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี พ.ศ.2544 ขณะนั้นมีอายุ 62 ปี เป็นคนอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ไปจบปริญญาตรี (เกียรตินิยม) คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เช่นเดียวกัน ก่อนจะได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง ปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (RIJKS AKADENIE VAN BEELDEN DE KUNSTEN AMSTERDAM NEDERLAND)

ท่านพี่ถวัลย์ เดินตามแนวทางของ ดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง ซึ่งย้ายมาจากเชียงราย เป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

2 ศิลปินแห่งชาติ ดำรง วงศ์อุปราช ถวัลย์ ดัชนี โด่งดังสร้างชื่อเสียงให้กับวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศเรา จุดประกายให้กับวงการศิลปะอยู่นานปี

ก่อนที่ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จะมาแจ้งเกิด ปรากฏชื่อเสียงในเส้นทางของศิลปะ บนถนนศิลปะจนได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปี พ.ศ.2554 ขณะมีอายุ 56 ปี เพราะทั้ง 2 ท่านนั้นมีอายุห่างกว่าเฉลิมชัยมากกว่า 10 ปี

จากบ้านร่องขุ่น ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เขาเข้ามาตามแบบรุ่นพี่ทั้งสองโดยเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ไปเรียนต่อที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จบปริญญาตรีศิลปะไทย (รุ่นแรก)

ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปกรรม โปรแกรมวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงราย

เหตุที่นำศิลปินชาวเชียงรายผู้มีชื่อเสียงต่างรุ่นมาเขียนถึงอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะต้องเขียนถึงอีกสักกี่ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เพราะยังโลดแล่นไปบนถนนศิลปะอย่างไม่หยุดยั้ง

แม้จะโวยวายปากกล้าใช้ภาษาพ่อขุนอย่างชัดเจนโครมคราม พูดจาไม่ค่อยละเอียดเท่าไร ทั้งๆ ที่ชื่นชมรักชอบพอเป็นส่วนตัวอยู่มาก แต่อะไรที่มันมากไป หรือได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เข้าก็ทำท่าเบื่อได้เหมือนกัน เมื่อท่านเจ้าของวัดร่องขุ่น ปล่อยสัตว์เลื้อยคลานออกมายั้วเยี้ยมากเกินไปทุกครั้ง

แต่ก็มีหลายเรื่องที่เห็นด้วยกับเขาไม่น้อย ยกเว้นเวลาที่เขาพูดชมตัวเองก็ต้องบอกอีกนั่นแหละว่า แม้จะเป็นความจริงแต่ก็น่าจะติดเบรกไว้บ้างดูจะเท่กว่า

เขาพูดถึงเรื่องศิลปินแห่งชาติว่า สำหรับตัวเขาเองนั้นควรจะได้รับการเชิดชูสักอายุ 50 นิดหน่อย ทั้งๆ ที่เขาลงสู้มาตลอด ตั้งแต่รุ่นประเทือง เอมเจริญ แต่ก็ไม่ได้เป็นสักทีทั้งที่มีความพร้อม

ก่อนที่เขาจะเลี้ยวไปพาดพิงถึง กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก ซึ่งได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2540 ว่าเขาน่าจะได้เป็นตอนอายุเท่าๆ กันกับตอนที่กมลได้เป็น คือเมื่อมีอายุ 50 เศษๆ

"ตอนนั้นพี่กมลกำลังฮ็อตเพราะบรรดาอาจารย์สอนศิลปะทั้งหลาย อาจารย์จิตรกรรม ศิลปากรไปพักที่บ้านเขาในสหรัฐอเมริกา ดำรง วงศ์อุปราช ก็ไปพักที่บ้านเขาด้วย พอกลับมาก็ให้ กมล ทัศนาญชลี เป็นศิลปินแห่งชาติ ก่อนใครเพื่อน เล่นเอาวงการแตกตื่นกันมากว่าเขาเป็นใครมาจากไหน เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาทันที ท่านพี่ถวัลย์ ดัชนี ท่านประเทือง เอมเจริญ อาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต ใครต่อใครยังไม่ได้เป็นเลย" เฉลิมชัยพูดในรายการ ARTIST TALK ก่อนที่เขาจะสาดใส่ต่อไปอีกว่า

"วงการศิลปินแห่งชาติ มันเล่นเส้น มันวิ่งเต้นกันมาก ผมเกลียดมาก โดยเฉพาะไอ้ศิลปินครูมันเล่นเส้น แต่บางคนประวัติดี ทำงานดี เส้นมันไม่ถึงก็เลยอด (-) สมน้ำหน้ามัน"

"เราต้องมองว่า ศิลปินแห่งชาติมันกระจอก ยังไงก็ต้องได้เป็น ทำงานต่อไปแบบไม่ต้องหวังมัน ถึงยังไงก็ต้องให้ตู"

"วงการศิลปะจิตใจมันคับแคบ มันเห้...มันสร้างค่ายด่ากัน มันจึงไม่เจริญ ผมต่อสู้ด้วยตัวผมเองมาโดยตลอด มี ART COLLECTOR มาถามอาจารย์สอนศิลปะ ถามศิลปินทั้งหลายว่า เขาจะซื้อรูปของเฉลิมชัยดีไหม แหมมันบอกว่าโอ๊ยอย่าไปซื้องานของมันไอ้เห้...เนี่ยมันโม้ ได้ข่าวว่าเขาจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติไม่ใช่หรือ? โอ๊ยฝันไปเถอะชาติหน้าตอนบ่ายๆ ก็ยังไม่ได้เป็น"

อาจจะเป็นเพราะศิลปินเอาแต่ทำงานศิลปะ ไม่รู้จักการบริหารจัดการ อย่างที่เฉลิมชัยบอกว่าไม่ฉลาด ก็เห็นจะจริง เรื่องราคางานของตัวเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เริ่มต้นตรงไหน ใครนึกจะตั้งราคาเท่าไรก็ว่ากันไปตามความรู้สึก จะอัพราคาขนาด? สร้างนักสะสมศิลปะให้เกิดขึ้นมากๆ ได้อย่างไร? เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ไม่ด่าว่าทิ่มแทงกันเอง

คิดถึงผู้ล่วงลับอย่างท่านพี่ถวัลย์ ดัชนี ก็อดใจหายขึ้นมาอย่างยิ่งจากคำบอกเล่าของคนสนิทหลายท่านว่า ขณะนี้กำลังมีปัญหาหนักระหว่างทายาทคนเดียว กับคนใกล้ตัวท่านพี่บางคนเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของท่านที่สร้างทิ้งไว้ บ้านดำ นางแล อาจจะไม่ได้เป็นสมบัติของมนุษยชาติ เพราะทำท่าว่าจะตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของใครก็ไม่รู้ ที่ไม่รู้คุณค่าของศิลปะมากกว่าเงินทอง สิ่งนี้สืบเนื่องมาจากศิลปินบริหารจัดการไม่เป็น ดังที่เฉลิมชัยว่า ก็ไม่ผิดนัก

ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จากจังหวัดเชียงราย ขณะนี้เหลือเพียง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เจ้าของวัดร่องขุ่นสีขาว เท่านั้น

ยังไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนชาวจังหวัดเชียงราย จะได้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" อีก?

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ 22 พ.ค. 2558
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่