........๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของในหลวง ร.๗ ขอเรียนเชิญร่วมรำลึกอาลัยในพระองค์ท่าน......

กระทู้สนทนา
ลางานไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ภรรยาของเพื่อนที่เสียชีวิตมาครอบสิบปีที่ลอนดอน    เป็นเพื่อนที่สนิทชิดเชื้อบวชเรียนเป็นสามเณรมาด้วยกัน ภรรยาคนอังกฤษเสียชีวิตด้วยมะเร็ง   และทำการฌาปนกิจที่เมรุสุสาน Golders Green Crematorium ก่อนไปทำบุญที่วัดพุทธประทีปในลอนดอน   เพื่อนพาไปที่สุสานก่อนเพื่อที่จะไปดูต้นไม้ที่เขาปลูกและฝังอัฐิภรรยาของเขาเอาไว้






สาเหตุที่ต้องเอ่ยถึงสุสานเผาศพแห่งนี้เนื่องจากว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ถวายพระเพลิงแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่เจ็ดมาก่อน   ซึ่งผมโดยส่วนตัว...มีความสนใจ  รัก และศรัทธา  เป็นพิเศษต่อในหลวงพระองค์นี้ อ่านหนังสือมามากมายเกี่ยวกับพระองค์ท่านทั้งด้านลบด้านบวก......เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่มางานฌาปนกิจภรรยาเพื่อน ผมเคยไปขอดูเอกสารบันทึกในวันที่ถวายพระเพลิงซึ่งตอนนั้นไม่แน่ใจว่าเป็นวันไหน? รู้ว่าพระองค์ท่านเสด็จสวรรคตวันนี้  คือวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ และคิดว่าไม่ได้ถวายพระเพลิงในวันนั้นทันทีทันใด   ที่ไม่แน่ใจเพราะรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตให้ตั้งพระบรมศพไว้ในบ้านพักกี่วัน(เพราะไม่ใช่ประเพณีของอังกฤษที่จะตั้งศพไว้ในบ้าน)? คราวนี้ผมกลับไปด้วยข้อมูล...เจ้าหน้าที่เขากรุณาให้ค้นดูแต่ไม่ให้ถ่ายรูป ในสมุดบันทึกรายวันบอกไว้เพียงแต่ว่าถวายพระเพลิงพระองค์ท่านวันที่3 มิถุนาฯ และกำกับเวลา



วันนั้นนอกจากจะไปยืนไว้อาลัยถึงดวงวิญญาณภรรยาเพื่อนแล้ว ผมถือโอกาสไปยืนไว้อาลัยแด่ดวงพระวิญญาณของในหลวงรัชกาลที่เจ็ดด้วย พยายามนึกภาพเหตุการณ์ในวันถวายพระเพลิง ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นพิธีถวายพระเพลิง(อดีต)พระมหาษัตริย์ไทยในยุครัตนโกสินทร์ที่น่าสะเทือนใจที่สุด เท่าที่เคยอ่านและศึกษามาปรากฏว่ามีคนไทยที่มาร่วมถวายพระเพลิงไม่ถึงยี่สิบคน ไม่มีแม้พระมาสวดฌาปนกิจ ทำได้ดีที่สุดคือใช้คนไทยที่เคยบวชมาก่อนเป็น "สมมุติสงฆ์" สวดส่งดวงพระวิญญาณของพระองค์



ต้องออกตัวก่อนว่า...ผมไม่ใช่รอยัลลิสต์(Royalist) แต่สำหรับในหลวงรัชกาลที่เจ็ด ผมรักและชื่นชมในตัวพระองค์ท่านด้วยใจจริงๆ รู้สึกสงสารในชะตากรรมของพระองค์...หลายคนอาจจะลืมไปว่า การขึ้นครองราชบัลลังก์นั้นพระองค์ไม่ได้ทรงเตรียมตัวมาก่อนเลย เนื่องเพราะพระเชษฐาของพระองค์คือรัชกาลที่หกไม่ได้ตั้งองค์รัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติ แม้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ(พระอนุชาถัดจากรัชกาลที่หก)  ซึ่งต่อมามิสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อรัชกาลที่หก แต่ท่านก็มาสิ้นชีพตักษัยเสียก่อน ส่วนพระเชษฐาอีกท่านก็สิ้นชีพตักษัยอีก และพระเชษฐาอีกองค์ก็ทรงถูกเว้นเสียจากบัลลังก์เพราะไปแต่งงานกับสามัญชน เรียกได้ว่าก่อนหน้านั้นเจ้าฟ้าประชาธิปก(ร.๗)ซึ่งเป็นพระโอรส(ของร.๕)องค์เล็กสุด(มีชื่อเล่นว่า "เอียดน้อย")แทบจะไม่มีโอกาสขึ้นครองราชย์ทีเดียว   ซึ่งแม้พระเชษฐาทั้งสามพระองค์ที่กล่าวไปไม่มีโอกาสครองบัลลังก์ต่อจากร.๖แล้ว   แต่ก็ยังมีพระเชษฐาต่างมารดาที่ตอนนั้นถือว่าทรงมีพระบารมีมากในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์คือ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์(ต้นตระกูลสุขุมพันธ์) เจ้าฟ้าบริพัตรฯ ทรงมีบารมีมากถึงขนาดที่เจ้าฟ้าประชาธิปก(ร.๗) ต้องขอยกบัลลังก์ให้เจ้าฟ้าสุขุมพันธ์หลังการสสวรรคตของรัชกาลที่หก   แต่เจ้าฟ้าบริพัตรฯได้ปฏิเสธโดยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์   ยังไม่พอ...สำหรับความยากลำบากก่อนการขึ้นราชบัลลังก์ของรัชกาลที่เจ็ด



ก่อนหน้าที่รัชกาลที่หกจะสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวีมเหสีในรัชกาลที่หกทรงตั้งพระครรภ์ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่หกทรงหวังพระทัยว่าหากทารกในพระครรภ์เป็นกุมารก็จะให้ราชโอรสนั้นสืบบัลลังก์ต่อโดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ใกล้ถึงวันพระประสูติกาลของทารก รัชกาลที่หกทรงพระประชวรถึงขั้นนเสด็จไปไหนไม่ได้ต้องประทับแต่ที่ห้องพระบรรทม ในวันที่มีพระประสูติกาลพระองค์ทรงรับทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนาทรงให้ประสูติกาลเป็นกุมารีซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระเพชรรัตนราชสุดา สิริโสพัณณวดี ในวันรุ่งขึ้นพระองค์ก็ทรงเสด็จสวรรคต และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายประชุมกันแล้วถวายราชบัลลังก์แด่เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ซึ่งเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ทรงจะยกต่อให้เจ้าฟ้าสุขุมพันธ์ฯ ดั่งที่ได้กล่าวไว้แล้ว


ชีวิตของในหลวงรัชกาลที่เจ็ดและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงผกผันหักมุมราวกับนิยาย ทรงถูกปฏวัติ ทรงถูกราษฏรขึ้นศาลฟ้องร้อง ทรงถูกพี่สะใภ้ฟ้องร้อง ยิ่งในวันที่เสด็จสวรรคตดวงพระวิญญาณของพระองค์ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัยโดยไม่มีใครอยู่เคียงข้างแท่นพระบรรทม   กว่าพระพี่เลี้ยงจะรู้ว่าสวรรคตแล้วก็หลายชั่วโมง   ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงออกไปธุระข้างนอก   ในวันถวายพระเพลิงก็น่าสะเทือนใจ    แม้พระสงฆ์สวดมาติกาก็ต้องใช้คนที่เคยบวชมาสวดแทนพระ(เพราะไม่มีพระ)


พระองค์ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๔ เวลาประมาณ ๑๑ โมงเช้า ณ พระตำหนัก Compton House ชานเมืองลอนดอน


ข้าพระพุทธเจ้า “วัชรานนท์” ขอให้ดวงพระวิญญาณของพระองค์ทรงเสวยสุขบนสรวงสวรรค์ตลอดกาลนานเทอญ   และรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงพระราชทานประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย


สุดท้าย  ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านมาตลอดอมยิ้ม17
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่