[CR] แกะกล่อง CANON EOS M3 กล้องที่รอมานาน และตามหาแทบพลิกแผ่นดิน


กล้องมิลเลอร์เลสของ CANON ที่ใช้ชื่อซีรีส์ EOS M นั้นเคยเป็นกล้องที่แสนอาภัพ ใครเคยใช้คงรู้ดี แต่ก็เป็นกล้องที่มีคนหลงรักไม่น้อย ผมคือคนหนึ่งในนั้นที่ใช้ CANON EOS M รุ่นแรกมาหลายปี ได้ภาพดีๆ หลายภาพจากกล้องตัวนี้ และรู้ดีถึงข้อดี และข้อจำกัดของมัน

EOS M รุ่นแรกนั้นออกมาจำหน่ายได้ไม่นาน ราคาก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือแค่หมื่นกลางๆ นับเป็นกล้องมิลเลอร์เลสถอดเปลี่ยนได้ ที่ราคาประหยัดอย่างไม่น่าเชื่อ  แต่กระนั้นก็ยังไม่ค่อยมีใครซื้อ เพราะข้อเสียที่รู้กันดีคือ การโฟกัสที่ช้า เมื่อเทียบกับกล้องมิลเลอร์เลสค่ายอื่นๆ

ผมซื้อ EOS M รุ่นแรกเมื่อหลายปีก่อน ทั้งที่รู้ปัญหานั้นดี ด้วยเหตุผลที่หนึ่งคือ ปกติผมใช้กล้อง DSLR อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อใดที่ผมจะใช้กล้องมิลเลอร์เลส ก็คือวันที่ต้องการถ่ายภาพแบบสบายๆ หรือวันที่ต้องเดินทางหนักหน่วง กล้องมิลเลอร์เลสของผม จึงต้องเป็นกล้องที่เล็กกว่า DSLR อย่างเห็นได้ชัด ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าจะใช้มิลเลอร์เลสทำไม และ CANON EOS M ก็เล็กจริงๆ เล็กจนเกือบจะเป็นกล้องคอมแพค

เหตุผลที่สองคือ กล้อง DSLR ของผมเป็นค่าย CANON ข้อดีของการใช้มิลเลอร์เลสของ CANON คือ เราสามารถใช้เลนส์ EF ที่มีอยู่แล้วร่วมกันได้ (โดยการต่อ Adapter) แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีคิดที่ดีนัก เพราะเลนส์ของกล้อง DSLR โดยเฉพาะแบบ Full Frame นั้นขนาดใหญ่มาก ขณะที่เลนส์ของกล้องมิลเลอร์เลสนั้น ไม่จำเป็นต้องออกแบบมาให้ใหญ่ขนาดนั้น อย่างเลนส์ EF M 18-55 มม.ที่ออกแบบสำหรับ EOS M โดยเฉพาะ เมืองเทียบกับเลนส์ซูมมาตรฐานที่ใช้กับ DSLR ที่มีอยู่นั้น ขนาดและน้ำหนักต่างกัน 4-5 เท่าเลยทีเดียว  ผมจึงมีหลักคิดว่า อย่างน้อย เลนส์ซูมมาตรฐาน กับเลนส์ซูมมุมกว้าง ที่ใช้บ่อยที่สุด ต้องเป็นของ EF M (ของมิลเลอร์เลส) ส่วนเลนส์ช่วงเทเลโฟโต้ซูมยาวๆ นั้น จะใช้ของ EF เดิมที่มีอยู่

วันที่ผมตัดสินใจซื้อ EOS M ตัวแรก คือวันที่แคนนอนเปิดตัวเลนส์ EF M 11-22 มม. ซึ่งเป็นเลนส์ซูมมุมกว้าง (ให้มุมภาพเทียบเท่า 18-35 มม. ในกล้องฟูลเฟรม) ในราคาแค่หมื่นต้นๆ ในขนาดที่เล็กมาก ซึ่งเป็นเลนส์ที่ตรงตามสเปคที่ผมต้องการใช้

อนิจจา ด้วยความที่กล้อง EOS M ในตอนนั้น เป็นกล้องที่อาภัพเหลือเกิน ผู้ใช้ในเมืองไทยก็ไม่มาก แคนนอนไทยแลนด์คงตัดสินใจไม่นำเข้า หลังจากที่ผมติดต่อกับเซลล์แคนนอน เซลล์ก็บอกให้รออีกสองอาทิตย์ ผลัดไปเรื่อยๆ อยู่ 3 เดือน จนท้ายสุด เป็นได้ทราบว่า ไม่นำเข้าแล้ว! แต่ท้ายที่สุด ผมก็มีเลนส์ตัวนั้นใช้ และใช้กล้องพร้อมเลนส์ชุดนั้นถ่ายรูปอย่างมีความสุขเรื่อยมา

คุณภาพของภาพที่ได้จากกล้องตัวนั้น ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ดีไม่แพ้ DSLR ตัวใหญ่ๆ (เพราะมันใช้เซ็นเซอร์ระดับเดียวกัน) แต่ก็อย่างที่บอก ข้อเสียของมันคือ โฟกัสช้ามาก อันนี้ใครๆ ก็รู้ดี แต่มากกว่านั้นคือ การควบคุมกล้องที่ทำได้ยาก และช้ามาก เพราะตัวกล้องมีปุ่มควบคุมน้อย ทุกอย่างต้องกดสองปุ่ม สามปุ่ม ใช้ทัชสกรีนบ้าง ถึงจะปรับตั้งอะไรได้  อีกทั้งการที่ไม่มีช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิค ทำให้การถ่ายภาพในบางสถานการณ์ มันยากขึ้น โดยเฉพาะคนที่คุ้นเคยกับกล้อง DSLR

กล้อง EOS M จึงเป็นกล้องที่ไปกับเราได้ทุกที่ ด้วยน้ำหนักและขนาดที่แทบไม่มีตัวตน มันเหมาะกับวันที่ต้องเดินเยอะ แต่มีเวลาถ่ายภาพแต่ละภาพนานหน่อย ไม่รีบเร่งเกินไป แต่ละช็อตมีเวลาให้ปรับตั้งอะไรซัก 3-5 วินาที  ส่วนวันที่ต้องถ่ายภาพแบบดุเดือด รวดเร็ว ฉับไว ต้องยกให้ DSLR เหมือนเดิมครับ

_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _

ที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ในการใช้กล้อง EOS M รุ่นแรก ซึ่งผมประทับใจพอสมควร  และเมื่อมีข่าว EOS M3 ออกมา บอกเลยว่าใจมันเต้นแรง ด้วยเหตผลที่หลักๆ ที่ว่า...
1. มีช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิค
2. พลิกจอแอลซีดีให้เงย กด ตีลังกามาด้านหน้าได้ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพมุมสูง ต่ำ และเซลฟี่
3. เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ผ่าน WIFI ในตัวกล้องได้ ดูภาพที่ถ่ายไว้ หรือควรคุมกล้องผ่านสมาร์ทโฟนได้
4. มีกริปสำหรับการจับถือที่สะดวกขึ้นมาก
5. โฟกัสเร็วขึ้นมาก

ผมมีเลนส์ชุดเดิมอยู่แล้ว และสิ่งที่ต้องการเพิ่มก็มีเพียง BODY EOS M3 + ช่องมองภาพ EVF
ได้ข่าวว่าราคาชุดนี้ แค่หมื่นปลายๆ และแคนนอนไทย ก็โปรโมทในเฟสบุ๊คว่า ให้รออีกนิด ผมก็อดทนรอ.....อีกนิด
จนวันที่เห็นกล้องตัวเป็นๆ จากแคนนอนไทยในบูธงาน Thailand Dive Expo ก็ได้ทราบว่า เขาไม่นำเข้าชุด BODY+EVF ครับ
เสียใจอย่างแรง.. ตอนไปญี่ปุ่น ลองเข้าร้านกล้องใหญ่ๆ ถามไถ่ดูก็ได้ทราบว่า มันหมดทุกสาขาทั่วประเทศ

แต่สุดท้าย ผมก็หามันมาได้
ชื่อสินค้า:   CANON EOS M3
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่