เขาว่า e-book กำลังจะมาแรงในอนาคต

พอดีว่าผมมีโอกาสไปฟังงานเสวนาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดขึ้นในหัวข้อ “นักเขียนกับอีบุค ในยุคดิจิทัล” ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา  โดยประเด็นหลัก ๆ ในการเสวนาจะเป็นการพูดถึงเรื่องอีบุค (e-book) เรื่องลิขสิทธิ์และคำแนะนำให้การจัดทำอีบุคเป็นหลัก  ซึ่งผมได้ร่วมฟังโดยตลอดแต่ผมไม่ได้จดเป็นประเด็นเอาไว้สมุดบันทึก   ผมเลยเอาประเด็นที่ผมพอจะเข้าใจและจำได้มาเขียนเล่าให้ฟังกัน  โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ผมจะเขียนนี้มีความคิดเห็นส่วนตัวของผมผสมรวมอยู่ด้วย  จึงทำให้เนื้อหาในเรื่องนี้อาจจะไม่ตรงตามรายละเอียดที่ผู้เสวนาพูดทั้งหมด  เอาเป็นว่าท่านลองอ่านกันดูเล่น ๆ ก็ได้ครับ

ในงานเสวนาวันนั้นมีท่านวิทยากรร่วมเสวนาพูดคุยดังนั้น  อ.ชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ , คุณบูรพา อารัมภีร นายกสมาคมนักเขียนคนปัจจุบัน , คุณปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญเรื่องเทคโนโลยี , คุณเขมะศิริ  นิชชากร ผู้ชำนาญการพิเศษกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ผู้ให้ความรู้หลักทางด้านลิขสิทธิ์  โดยมี อ.กนกวลี พจนปกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ  

โดยการเสวนาเปิดหัวข้อด้วยความคิดเห็นของ อ.ชาติ กอบจิตติ ในเรื่องของอีบุค (e-book)  อ.ชาติ ระบุว่าในปัจจุบันได้นำผลงานทั้งหมดของสำนักพิมพ์หอน (สำนักพิมพ์ของอ.ชาติ) มาทำขายในรูปแบบของอีบุคแล้ว  โดยมองว่าอีบุคก็เปรียบเสมือนกับภาชนะชนิดหนึ่ง  โดยเปรียบเทียบว่างานเขียนนั้นก็คือน้ำ  ที่ผ่านมางานเขียนถูกนำไปใส่ในภาชนะที่เรียกว่าหนังสือ ในสมัยโบราณเขียนใส่ภาชนะที่เรียกว่าหลักศิลาจารึก ฯลฯ จนในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้นแล้ว  จึงมีการผลิตภาชนะชนิดใหม่ขึ้นมาซึ่งก็คืออีบุคนั้นเอง  โดยขอให้อย่าเพิ่งไปมีอคติต่อการเปลี่ยนแปลงเลย  ในทางกลับกันเรา (นักเขียน) ควรที่จะปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย  นอกจากนั้นอ.ชาติ  ยังมองในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดพิมพ์  ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานักเขียนอาจมีความรู้สึกว่าโดนสำนักพิมพ์เอารัดเอาเปรียบเพราะได้ส่วนแบ่งรายได้ไม่มากนัก  ถ้าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ก็จะได้แค่ 10 % เอง  ถือว่าเป็นผลตอบแทนจากการทำงานหนักที่ได้กลับมาเป็นตัวเงินจำนวนน้อยมาก

การจัดทำหนังสือขึ้นมา 1 เล่มนั้น  ราคาขายอาจจะถูกกำหนดจากโครงสร้างที่ประกอบไปด้วย
1.)    ค่าลิขสิทธิ์ในงานเขียน (ซึ่งก็คือ 10 % ของนักเขียน)  
2.)    ค่างานบรรณาธิการ (ตรวจคำผิดและแนะนำแนวทางของหนังสือ ฯลฯ)  
3.)    ค่าจัดทำรูปเล่มซึ่งมี ค่ารูปภาพประกอบ (ถ้ามี) + งานศิลป์ (งานอาร์ตเวิร์ค)
4.)    ค่าจัดพิมพ์ ราคากระดาษ + ค่าจ้างโรงพิมพ์
5.)    ค่าการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์หนังสือ
6.)    ค่าใช้จ่ายของสายส่ง
7.)    ค่าใช้จ่ายของร้านหนังสือ

จะเห็นได้ว่าราคาหนังสือที่ขาย 1 เล่มประกอบไปด้วยต้นทุนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น  ดังนั้นถ้าทำให้ราคาขายหนังสือถูกลงได้โดยตัดค่าใช้จ่ายในข้อ 4 ออกไปได้  เนื่องจากค่าจัดพิมพ์ในปัจจุบันอาจจะสูงถึง 35 – 40 % (ผู้เสวนาไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน  ผมระบุตามความเข้าใจของผม)  ทำให้ราคาขายลดลงไปได้เกือบครึ่งหนึ่ง  โอกาสที่จะขายหนังสือได้ก็จะมีมากขึ้นด้วย  

ดังนั้นการจัดทำหนังสือออกมาในรูปของอีบุค (e-book) นั้นจะทำให้ต้นทุนถูกลงเพราะไม่ต้องจัดพิมพ์  ไม่ต้องไปกังวลกับความผันผวนของราคากระดาษ  อีกทั้งยังสามารถขายออนไลน์ได้ทั่วโลก  ไม่มีปัญหาเรื่องการจัดส่งเพราะผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดได้ด้วยตัวเอง  รวมทั้งจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องที่หาซื้อหนังสือเล่มนั้น ๆ ไม่ได้ด้วย  เพราะถ้าพิมพ์เป็นเล่มในอนาคตถ้าสำนักพิมพ์ไม่พิมพ์เพิ่มก็คงกลายเป็นหนังสือหายากไปทันที

คุณปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญเรื่องเทคโนโลยีได้พูดถึงประเด็นที่สร้างความมั่นใจได้ว่าในอนาคตอีบุคจะต้องมาแน่ ๆ ว่า  คนยุคเรา (ผู้เสวนาหมายถึงนักเขียนและผู้ฟังในห้อง) อาจจะไม่ถนัดในเรื่องเทคโนโลยีสักเท่าไหร่  เนื่องจากเราไม่ได้เกิดและเติบโตมากับเทคโนโลยี  แต่เด็กสมัยใหม่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราเติบโตมาในยุตที่มีเทคโนโลยีอยู่รอบตัว  เด็กประถมเริ่มใช้แท็บเล็ตในการเรียนแล้ว  เด็กประถมในวันนี้จึงอาจจะรู้จักและใช้แอฟฯ ต่าง ๆ ได้มากกว่าเราอีก  แนวโน้มในอนาคตทุกอย่างจะเข้าสู่เทคโนโลยีเกือบหมด  พฤติกรรมของคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีก็เป็นได้

คุณปฐม อธิบายให้ฟังว่า  อีบุค (e-book) นั้นไม่ใช่แค่นิยายออนไลน์ทั่วไปที่มีอยู่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ (เช่น เว็บเด็กดี , เว็บพันทิป , เว็บนิยาย)  และเรื่องแต่งที่ถูกสร้างเป็นไฟล์ .pdf นั้นก็ไม่ถือว่าเป็นอีบุค  เพราะว่าการจัดทำเป็นอีบุคนั้นมีการจัดทำเป็นรูปเล่มเหมือนหนังสือทั่วไป  เพียงแต่ไม่ได้พิมพ์ออกมาเป็นเล่มด้วยกระดาษ  แต่ว่าจัดทำขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ชื่อโปรแกรมผมจำไม่ได้และไม่สามารถระบุได้จริง ๆ ครับ  ท่านใดทราบช่วยระบุให้ด้วยครับ) เป็นแอฟพิเอชั่นหรือโปรแกรมที่จัดทำอีบุคโดยเฉพาะ  ที่ผู้อ่านสามารถซื้อแล้วโหลดได้ด้วยโปรแกรมแอนดอยหรือโปรแกรมวินโดส์ ฯลฯ (จำไม่ได้อีกเหมือนกันครับ)  ทำให้ป้องกันการก็อบปี้และป้องกันการแจกจ่ายเผยแพร่ที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์   ดังนั้นถ้าในปัจจุบันใครมีงานเขียนอยู่ในมือแล้วก็สามารถนำไปจัดทำเป็นอีบุคได้ด้วย

นอกจากนั้นคุณปฐมยังให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า  ในอดีตของสมัยที่เริ่มมีอินเตอร์เน็ตใช้ใหม่ ๆ (ผมคาดว่าน่าจะปี 2543 – 2550) คนใช้อินเตอร์เน็ตแสวงหาของฟรีกันมาก  โดยมีสัดส่วนผู้ที่ยอมจ่ายเงินซื้ออะไรต่าง ๆ ก็ตามในอินเตอร์เน็ตแค่ 20 % เอง  ในขณะที่คนโหลดของฟรีมากถึง 80 %  แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มมีคนยอมจ่ายเงินซื้อในอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 40 % แล้ว  ในขณะที่มีคนยังชอบของฟรีอยู่ 60 %   (ตัวเลขสัดส่วนในประเด็นนี้ผู้เสวนาไม่ได้ระบุว่าทั้งโลกหรือเฉพาะเมืองไทย)  อาจจะเป็นเพราะว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ได้ออกมาแพร่หลายมากขึ้น  เป็นการออกกฎหมายออกมารองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  ในปัจจุบันนี้ใครที่ชอบของฟรีชอบโหลดฟรีให้พึ่งระลึกไว้ก่อนว่าของที่ท่านโหลดมาฟรีนั้นอาจจะมีไวรัสติดมาด้วยก็ได้

คุณปฐมยังแสดงถึงความเป็นกูรูทางด้านเทคโนโลยีด้วยการบัญญัติศัพท์สำหรับอธิบายเด็กยุคใหม่  ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในยุคอินเตอร์เน็ตด้วยคำว่า "ฟัก(ภาษาอังกฤษ)"  ซึ่งเป็นตัวย่อมาจาก
    F ย่อมาจาก Friend & Follow  เด็กในยุดปัจจุบันติดเฟสบุค ติดโซเซียลเน็ตเวิร์คต่าง ๆ ต้องการมีเพื่อนและต้องการให้มีคนติดตามหรือติดตามคนอื่นเยอะ ๆ  มีการติดตามสนใจความเคลื่อนไหวของคนที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็พยายามแอดเฟรน (เพิ่มเพื่อน) ให้มีมากที่สุด  บางคนมีหลายพันหลายหมื่นคนเลย
    U ย่อมาจาก Unrelationship  เด็กในสมัยนี้มักจะคบกับคนที่ไม่เคยเจอกันเลย  หรือคนที่ไม่เคยรู้จักกันในชีวิตจริงเลย  คนที่ไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อนแต่เด็กกลับเชื่อคนเหล่านี้  เชื่อถือว่าเป็นไอดอลของตนเอง  การที่คบแต่คนซึ่งอาจจะไม่มีตัวตนในชีวิตจริงนั้น อาจจะทำให้เด็กพวกนี้สูญเสียความสัมพันธ์กับคนในสังคมจริง ๆ ก็เป็นได้
    C ย่อมาจาก Community คือเด็กพวกนี้จะมีกลุ่มของตนเอง  เช่นใครสนใจอย่างไหนก็จะไปเข้าร่วมกลุ่มนั้น ๆ ที่มีอยู่มากมายในโซเซียลเน็ตเวิร์ค  เช่น สนใจอ่านหนังสือ  เขาก็อาจจะเป็นเข้าร่วมกลุ่มวรรณกรรมในเฟสบุค  ชอบดูหนังก็เข้ากลุ่มดูหนังและวิจารณ์ภาพยนตร์ ฯลฯ  เด็กพวกนี้จึงสนใจแต่สิ่งที่ตัวเองชอบโดยไม่ค่อยจะสนใจคนรอบข้างสักเท่าไหร่
    K ย่อมาจาก Key Finder คือเด็กในยุคอินเตอร์เน็ตนี้มักจะค้นหาทางลัด  หรือค้นหาทางเลือกที่เป็นตัวช่วยต่าง ๆ เสมอ โดยเฉพาะการใช้กูเกิ้ล (Google) ในการค้นหาสิ่งที่ตัวเองของการ  หรือการที่ชอบอ่านหนังสือสูตรสำเร็จต่าง ๆ  (หนังสือฮาวทู)  เช่น  พ่อสอนลูกรวย , ลูกรวยสอนพ่อเล่นหุ้น , เล่นหุ้นไม่มีวันเจ๊ง ฯลฯ  เด็กพวกนี้เลยขาดทักษะขาดความตั้งใจและความพยายามต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งซึ่งจะช่วยให้เขาตัวรอดในสังคมได้

(อ่านคำอธิบายตัวย่อทั้ง 4 แล้วมีความรู้สึกเหมือนโดนด่าเลย  อาจจะเป็นเพราะผมชอบทำตัวเป็นเด็กก็ได้)

คุณบูรพา อารัมภีร นายกสมาคมนักเขียนคนปัจจุบัน ได้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการผลักดันกฎเกณฑ์ หรือข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอีบุค (e-book)  ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการดูแลผลประโยชน์ต่าง ๆ ของนักเขียน  ซึ่งทางสมาคมนักเขียนจะต้องทำหน้าที่เป็นคนกลางในการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเป็นการปกป้องและป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับการจัดทำอีบุคนี้ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ อีกมากมาย (ทางราชการ , ทางสมาพันธ์สำนักพิมพ์ , ทางผู้ให้บริการอินเตอรเน็ต (ISP) ฯลฯ) โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสัดส่วนรายได้ของนักเขียน  และประเด็นการนำเรื่องไปจัดทำอีบุคกับเว็บไซต์อื่น  เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์โดยตรงของนักเขียน  คุณบูรพา ยืนยันว่าจะทำให้สำเร็จภายใน 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนฯ นี้ (ปี 2558 – 2560)  สำหรับในประเด็นที่คุณบูรพาพูดทั้งหมดนี้ตัวผมตีความได้ว่า  ต่อจากนี้ไปทางสมาคมนักเขียนฯ จะต้องเน้นหนักในมีอีบุค (e-book) เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมในเมืองไทยแน่ ๆ  ดังคำกล่าวของ อ.ชาติ ที่พูดสมทบไว้ว่า  “ถ้าพวกเรา (สมาคมนักเขียนฯ) ไม่เริ่มปักหมุดกันตั้งแต่ตอนนี้  ในวันหลังลูกหลานมันอาจจะด่าพวกเราได้”

คุณเขมะศิริ  นิชชากร ผู้ชำนาญการพิเศษกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ผู้ให้ความรู้หลักทางด้านลิขสิทธิ์  พูดในประเด็นทางเรื่องกฎหมายเป็นหลัก  (ซึ่งผมอาจจะเข้าใจได้ไม่ครบถ้วนทั้งหมดที่ท่านพูดมาก็เป็นได้)  โดยท่านพูดถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่เพิ่งคลอดผ่านออกมา  ปัจจุบันประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  มีผลบังคับใช้เดือนสิงหาคม 2558 นี้  โดยรายละเอียดของ พรบ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้ได้พยายามกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาควบคุมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก  โดยมีประเด็นเกี่ยวกับ “มาตรการทางเทคโนโลยี” ที่คุ้มครองการเข้าถึงข้อมูล และการปกป้องการทำซ้ำ (Copy) ฯลฯ ซึ่งมีผลครอบคลุมรวมไปถึงผลงานเขียนที่ปรากฏอยู่ในรูปของอีบุคด้วย  เช่น  ผู้ที่จ่ายเงินซื้ออีบุคเล่มนั้น ๆ แล้วจะเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงหรือเห็นหรืออ่านเรื่องนั้นได้  จะมีโปรแกรมป้องกันไม่ให้คนที่ยังไม่ได้ซื้ออ่านได้  อีกทั้งเมื่อซื้ออีบุคเล่มนั้นไปแล้วจะไม่สามารถทำซ้ำคือก๊อปปี้หรือโอนให้คนอื่นอ่านได้  เป็นการป้องกันให้อีบุคนั้นสามารถขายต่อได้เรื่อย ๆ ด้วย  

สำหรับในประเด็นนี้คาดว่าคงจะมีการจัดเสวนาพูดถึงอีกหลายครั้งแน่ ๆ เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์  ซึ่งในด้านเกี่ยวกับลิขสิทธิ์นี้ผมไม่ค่อยถนัดในประเด็นกฎหมายสักเท่าไหร่นัก  ขออนุญาตข้ามไปก่อนครับ  ท่านที่สนใจสามารถตามหาข่าวสารเพิ่มเติมได้จากทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ครับ

แต่มีประเด็นหนึ่งที่นักเขียนท่านหนึ่ง (คุณปะการัง) ยกตัวอย่างขึ้นมาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ก็คือ  นักเขียนแต่งกลอนไว้ในหนังสือ  มีเด็กคนหนึ่งอ่านแล้วเกิดความประทับใจเลยลอกกลอนเขียนใส่กระดาษด้วยลายมือของเขาเอง  แล้วใส่ชื่อว่าตัวเองเป็นคนเขียนก่อนที่จะแสกนภาพ (หรือถ่ายภาพ) เพื่อนำมาโพสลงสื่อสาธารณะให้เพื่อนเห็น  ในประเด็นนี้ต้องขออธิบายในแง่กฎหมายลิขสิทธิ์ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน  ท่านใดที่พบเห็นควรจะอธิบายให้เด็กผู้ทำการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นได้รับทราบด้วย


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่