{Review..ยาวไป} ผมอาจจะมองมุมต่าง แต่ผมก็ประทับใจ "Tomorrowland" เป็นอย่างมาก!!



อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่มาจาก สวนสนุก Disneyland ตามหลัง เรือโจรสลัด และคฤหาสน์หลอน.. สู่หนังที่ Disney ปลุกปั้นอยากจะให้เป็นทางเลือกที่แตกต่างจากหนังซัมเมอร์อีกมากในปีนี้ ที่มิวายมีการถล่มทลายล้างผลาญ หรือไม่ก็เอาใจสาวกซูเปอร์ฮีโร่สุดลิ่ม (ที่ดิสนีย์ก็มีส่วนร่วมอีกแหละ)

แม้จะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นแล้วที่ "Brad Bird" ได้กำกับหนัง คน แสดง.. หลังจากพิสูจน์ฝีมือทางสายอนิเม มากับ Pixar ให้กำเนิด "The Incredibles" และ "Ratatouille" จนกลายเป็นผู้กำกับสุดรักอีกคนของดิสนีย์ และหลังจากที่เขาลองสยายปีกแอบบินไปทำงานให้ "Tom Cruise" จนก่อเกิด "Mission:Impossible Ghost Protocal" (ที่เป็นหนัง M:I อีกภาค ที่มันส์จริงมันส์จัง) ก็เป็นนกใหญ๋ที่คืนรังสู่บ้านเก่า และช่วยมาปั้นให้ อีกหนึ่งเครื่องเล่นขายดี จากประสงค์ของ "Walt Disney" ขึ้นสู่จอเงิน

โดยความคาดหวัง ผมพยายามตั้งไว้ไม่ให้สูง เพราะถูกดักคอด้วยเสียงวิจารณ์ที่ค่อนข้างดูไม่ดีนัก ซึ่งแรกๆก็เกรงว่ามันจะหวยออกไปทางที่ชาวบ้านเขาว่าอยู่เหมือนกัน.. แต่อย่างว่าแหละครับ รสนิยม หรือความชอบส่วนตัว มันอาจแตกต่างกันได้

และนั่น คือจุดที่ทำให้ผม มีความรุ้สึกร่วมต่อ "Tomorrowland" ที่ออกจะแตกต่างจากผู้อื่น ด้วยจริตบางอย่าง ที่หนังมีนั้น มันตรงกับสิ่งที่ผมอยากเห็น

Tomorrowland สำหรับผมแล้ว แทบจะสลัดคำว่า หนังประเภท ไซไฟ ทิ้งไปได้เลย.. เพราะแทนที่หนังจะอ้างอิงด้วยทฤษฎีหลุดวงโคจรโลกทั้งหลายแหล่ แบบอย่าง (ขอยกเป็นหนังที่ยังผ่านพ้นมาไม่นาน) "Interstellar" หรือว่าแนวคิดทางฟิสิกส์ที่สุดโต่งเยี่ยง "Lucy"... นี่มันกลับเดินหน้าไปด้วย แง่งามทางวิทยาศาสตร์ การก่อร่างสร้างนวัตกรรม และการยกย่อง 'นักประดิษฐ์' เป็นเสมือนผู้ช่วยสร้างโลกใหม่ (ก็ไม่ถึงขั้นจะยกยอเป็นพระเจ้าซะทีเดียว)  

ซึ่งผมก็เคยคิดว่า ทำไม ถึงยังไม่มีใครจะบิวต์ วิทยาศาสตร์ ให้เปรียบเสมือน เวทย์มนตร์ ถูกมองกลายเป็นเรื่องที่น่าสนุก มากกว่าน่าตึงเครียดบ้างหนอ.. แล้วพอ Tomorrowland มันได้คลิกมาทางนี้ ผมเลยคลิกตามมันไปด้วยอย่างง่ายดายนัก

หนังใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที ทำให้ผมหลงไปในโลกของมันได้ และก็เป็นอะไรที่อย่างน้อยๆ บรรดาหนังโลกเทพนิยายของดิสนีย์ คนแสดงที่มีมาในช่วงหลายปีนี้ (นับแต่ "Alice in Wonderland" มาจนถึง "Cinderella") ยังไม่มีเรื่องไหนเลย ที่ดูดผมให้หลงใหลเคลิบเคลิ้มเหมือนเราไปเดินอยู่กับตัวละครจริงๆ ได้เช่นที่เรื่องนี้เป็น

นอกจากงาน Visualization ที่น่าทึ่ง และชวนตื่นตาตื่นใจ (แม้จะหลอกเราไม่ได้หรอก ว่านี่มันเหมือนอยู่ในเมืองการ์ตูน) การเล่าเรื่องของ แบรด เบิร์ด มันก็ยังคงพิสูจน์ตัวตนของเขาได้ ว่าเขามีความเป็นเด็กอยู่สูง พอๆกับมีตรรกะที่เข้มข้นแบบคนทำหนังรุ่นใหญ่พึงมีกัน ซึ่งเขาสามารถสร้างสมดุลทั้งสองความต่างในตัวเอง จนแปรออกมาเป็นเนื้องานพิจิตรพิสดาร แต่เคลือบแฝงความชาญฉลาดไว้ได้

คือ เบิร์ด ก็ยังยึดมั่นการเป็นทั้งผู้กำกับ และผู้เขียนบทที่รู้ว่า จะทำยังไงให้หนังของเขา คือ หนังที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี

แต่ก็อย่างที่รู้กันแหละครับ คำว่า ดี สำหรับผู้ใหญ่ มันก็มีระดับความดีที่แตกต่างกันออกไป.. ผมปฏิเสธความจริงนี้ไม่ได้เลยว่า ถึงจะด้วยประสบการณ์การดูหนัง หรือประสบการณ์ที่เคยมีมาในชีวิตจริง รวมไปถึงความเข้าอกเข้าใจในบางสิ่งที่เราอาจไม่เคยประสบกับตัว ถึงจะแค่เคยได้ยินก็ตาม แต่ต่างผู้ต่างคน ก็ต่างความคิดต่างมุมมองกันไปนานา

และพอผมมาคิดตามที่หลายคนบอกว่า Tomorrowland มันมีตำหนิ.. ผมก็ไม่ลังเลใจเช่นกันที่จะบอกว่า มันก็มีตำหนิจริงๆ มันก็มีอะไรที่ไม่เคลียร์บางประการ และการสรุปตีความก็อาจจะดูตื้นไปนิด [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ มันก็คือ การสรุปโดยง่าย ว่าหนังยังไม่ถึงกับ Perfect นั่นแหละ

แต่กับผม ก็มีอีกมากมายหลายหนังเช่นกัน ที่บางอย่างผมรู้สึกว่ามันเล็กน้อยจนไม่ได้คิดถือสา ถือความ กลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว.. เพราะว่าหนังหลายเรื่อง ก็มีน้ำหนักของบางสิ่งบางอย่างที่มากพอจะให้ผมรู้สึก อิ่มเอม ยินดี หรือตื้นตัน ไปกับมัน มากเสียจนเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรารักมันไปแล้ว

Tomorrowland อาจจะเป็นหนังที่หลายคนมองเห็นครึ่งเรื่องหลัง อย่างกับหนังคนละม้วน.. แต่สำหรับผมแล้ว เจตนาบางอย่างมันส่งมาอย่างแรงกล้า ตั้งแต่ครึ่งแรกแล้วซะด้วย จนทำให้ครึ่งหลังกลายเป็นความรู้สึกอัศจรรย์ใจของผมไปเสียเฉยเลย

อย่างที่ผมบอก พอหนังมันมาทางเอาใจติ่ง วิทยาศาสตร์ สุดลิ่ม (หรือจะเรียกว่า เนิร์ด ก็ตามแต่) ผมก็มองมันในมุมของวิทยาศาสตร์ไปเสียหมด.. ซึ่งบางเรื่อง วิทยาศาสตร์ อาจจะสรุปได้ด้วยทฤษฎี กฎใดๆ หรือแบบแผนที่มีนักคิด วิเคราะห์ ปฏิบัติ ว่ามันเป็นจริงมาแล้ว แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังเป็นเรื่องของการคิดต่างได้อีกมากมาย จนก็มีที่สามารถเอามาหักล้างแนวคิดที่เคยมีอยู่ และเปลี่ยนไปสู่วิธีคิดใหม่ๆ ได้เสมอ

แน่นอนว่า ผมอยากจะไม่เรียกตัวเองว่า ชอบเรียนวิทยาศาสตร์อะไรนัก (อย่างถ้านับ ชีววิทยา อยู่ในวิทยาศาสตร์แล้ว.. นี่คือ วิชาที่ผมค่อนข้างเกลียดเลยล่ะ) แต่พอผมเป็นพวกชอบคิดอะไรๆให้มันอิงกับวิทยาศาสตร์ บางทีความคิดที่แปลกประหลาด ก็ไหลลื่นเข้ามาในหัว ถึงต่อให้คิดลึกๆ ก็รู้ว่าอาจเป็นไปไม่ได้ แต่แค่ได้สนุกคิด มันก็ยังดีไม่ใช่หรือ

ที่ผมสาธยายมาขนาดนี้ ก็เพื่อจะสรุปความว่า ผมมอง Tomorrowland แบบที่ผมเคยชอบมองวิทยาศาสตร์ ชอบความคิดประหลาด การใส่ไอเดียบางอย่างที่พิลึก แต่พอมันเป็นจริง มันก็จะฟินมากๆ.. อย่างในหนัง มันอาจจะเห็นแค่ภาพ ก็ไม่ได้สรุปว่ามันจะเป็นจริงในสักวัน แต่การได้แค่เห็นคนคิดอะไรคล้ายๆกัน ทำมันให้ผมได้เห็น นี่แหละคือการได้สมความต้องการไปแล้ว

ขณะที่ บางคนอาจจะมองว่า ครึ่งหลังเล่นง่าย หรือไม่ก็หักมุมแบบที่ทำให้ครึ่งแรกคล้ายจะพังพินาศไปด้วย.. แต่เจตนาที่ผมเห็นในครึ่งแรกนั้น มันคือ การค่อยกล่อม ค่อยนวด ให้คนดูหนังเลือกจะ 'มองโลกในแง่ดี' ไปพร้อมๆกับหนัง หรือต่อให้คุณอาจเป็นคนคิดลบจนเป็นนิสัย แต่ถ้าลองผ่อนคลายซะหน่อย อย่าตึงจนเกินไป บางทีคุณอาจจะเห็นความงามบางอย่างจากโลกที่คุณอาจคิดว่ามันไม่ได้ดูดีเท่าไหร่

แน่นอน ว่ามีหนังหลายเรื่องที่ช่วงจบดัน ทำตัวโลกสวย เกินกว่าเหตุ แล้วผมก็ไม่เอามันมาแล้ว... (เรื่องที่ใกล้ตัว ก็คงต้องพูดถึง "Interstellar" อีกสักที) แต่กับ Tomorrowland มันโลกสวยในระดับที่ผมมองว่ามันสมเหตุสมผล

แล้วกับแนวคิดที่ว่า 'คนทุกคนมีความเป็นนักประดิษฐ์(หรือผู้สร้างนวัตกรรม)' อยู่ในตัว แบบที่ Tomorrowland อยากจะทำให้เราเห็นหรือเชื่อมาแต่เนิ่นๆ มันก็มีพลังมากพอจะสอดรับกับเหตุผลที่หนังพาเราได้มาถึงจุดจบแบบนั้นพอดีเลย



ยังไม่จบครับ มีต่อด้านล่าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่