รายงานพิเศษ
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 พฤษภาคม 2558
ในบรรดานักเขียนนวนิยายระดับแนวหน้าของบ้านเราต้องบอกว่า"คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์" หรือทมยันตี และอีกหลายนามปากกา ไม่ว่าจะเป็น โรสลาเรน กนกเรขา มายาวดี หรือ ลักษณวดี นับเป็นบุคคลที่น่าสนใจทีเดียวเพราะมีความสามารถหลากหลายด้าน โดยเฉพาะงานกำกับการแสดง นอกเหนือจากการเป็นนักเขียนนวนิยายขั้นเทพ
หญิงแกร่งวัย 78 คนนี้ผ่านชีวิตครอบครัวมาอย่างยากลำบาก แต่ประสบการณ์ในอดีตก็ทำให้เธอได้เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน รวมถึงในงานเขียนด้วย
วันนี้แม้แม่อี๊ดของลูกชายทั้งสามจะชราภาพไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังเขียนนวนิยายอยู่
พร้อมกับรับเป็นผู้จัดการโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ของ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชมมายุครบ 60 พรรษา ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเสร็จสิ้นไปอย่างยิ่งใหญ่
ในเรื่องผลงานเขียนของคุณหญิงวิมลคงไม่ต้องสาธยายกันมากเพราะมีงานเขียนเยอะแยะและมีหลากหลายรูปแบบ
แต่ชิ้นโบแดงที่ทำให้คนไทยทุกยุคทุกสมัยรู้จักคุ้นเคยและชื่นชมกันอย่างมากจนถึงทุกวันนี้ก็คือคู่กรรม
สำหรับแฟนๆ ของทมยันตี ในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา คงสมใจที่มีงานเขียนใหม่ออกมา คือเรื่อง เทพอวตาร อันเป็นนวนิยายซีรี่ส์ต่อจากเรื่องเทวปักษี หลังจากผลัดคนอ่านมาถึง 2 ปี
ช่วงสองสามปีมานี้ข่าวคราวของคุณหญิงวิมลห่างหายไปจากการรับรู้ของผู้คนในสังคมเนื่องจากอาการป่วยที่ค่อนข้างหนักจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด
และทำให้นักเขียนชื่อก้องท่านนี้ได้เห็นสัจธรรมของชีวิตและพร้อมรับมือกับความตายที่จะมาถึงในวันข้างหน้าอย่างมีสติ
"ก่อนหน้านี้เดี๋ยวก็อยู่บ้านเดี๋ยวก็หามไปโรงพยาบาลตอนที่ดิฉันเข้าโรงพยาบาล นอนไอซียูกันเลย สาเหตุเพราะเส้นเลือดตีบ แต่โชคดีที่ไม่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ แต่ Stroke ช่วงนี้อาการป่วยค่อยยังชั่วแล้ว แต่ยังไม่แข็งแรงนัก ดีที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ ลูกๆ พาไปเที่ยวฮอกไกโด เชื่อไหม ลมพัดดิฉันเกือบจะตกจากภูเขา ดิฉันต้องกอดบันไดสะพานไว้แน่นเลย มันผอมจนกระทั่งลมตีเสื้อ ซึ่งมันโป่งจนเกือบจะพาดิฉันข้ามภูเขา"
"ทุกวันดิฉันจะต้องท่องเดี๋ยวก็ตาย มันจะละ โลภ โกรธ หลง เดี๋ยวก็ตาย ดิฉันอยู่บนเตียงไอซียู รู้ตัวว่าใกล้ตาย ดิฉันรู้เลย พุทโธ สำคัญที่สุด เวลาที่ร่างกายเราแย่ มันจะไปมิไปอยู่รอมร่อ ถ้าเราท่องพุทโธเรื่อยๆ ให้มันติดอยู่ในความทรงจำ เดี๋ยวมันจะท่องได้เอง ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยตายแล้วค่ะที่โรงพยาบาลศิริราช เคยตายแล้วฟื้นขึ้นมา เมื่อเร็วนี้ๆ ก็เกือบจะไปอีกหนหนึ่ง เป็นที่รู้กัน แต่ดิฉันอยู่เพื่อที่จะเขียนนวนิยายเล่มสุดท้ายในชีวิต เรื่อง จอมศาสดา"
"ดิฉันบอกกับตัวเองตลอดว่าเดี๋ยวก็ตาย ถ้าคนเรารู้ตัวว่า หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หรือถ้าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย เมื่อไรคุณดื่มน้ำไม่ลงสักอึก เดี๋ยวก็ตาย ถ้าเรารู้ตัวว่า เดี๋ยวก็ตาย ใครอยากได้อะไร เราก็ให้ ท่องไว้เถอะค่ะ เดี๋ยวก็ตาย มนุษย์เราเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง เวลาที่จะตายมันไม่กี่นาทีหรอก จริงๆ นะ แป๊บเดียวเอง ดิฉันบอกลูกแล้วว่า อย่าร้องไห้ ดิฉันเตรียมแล้ว ที่บ้านดิฉันพูดเรื่องความตายเป็นเรื่องปกติ ลูกยังบอกถ้าแม่ตาย โต๊ะเขียนหนังสือของแม่จะทำแบบนั้นแบบนี้"
"สมัยพ่อยังมีชีวิตอยู่ท่านบอกดูไว้ลูก วันนี้พ่อตาย วันหน้าหนูก็ตาย แล้วลูกของแม่อี๊ดก็ต้องอุ้มแม่อี๊ดลงโลง อย่าร้องไห้ วันนี้เป็นวันของพ่อ ของแม่ ของคุณยาย แต่วันหน้าแม่อี๊ดก็ต้องลงนอนในโลง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องร้องไห้"
พูดถึงนวนิยายเรื่องจอมศาสดาที่เจ้าตัวเคยเล่าให้ใครต่อใครฟังเสมอมาว่าจะเขียนแต่ครั้งนี้ประกาศชัดเจนว่าแฟนๆ จะไม่ได้อ่านตอนที่คนเขียนยังมีชีวิตอยู่ เพราะอะไร ฟังเหตุผลกัน
"เขียนเสร็จตายแล้วค่อยพิมพ์ จะพร่ำบอกลูกชายไว้ว่า ไม่ได้อ่านตอนที่ดิฉันมีชีวิตหรอก เดี๋ยวจะเหมือนเรื่องของ แดน บราวน์ ที่เขียนแล้วมีคนเถียง แต่ถ้าด่าคนตายไม่รู้เรื่อง คนยุ่งอยู่นอกโลง เรานอนในโลงแล้ว มีความสุข"
สำหรับเนื้อหาของเรื่องศาสดานั้น เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า โดยจะไม่มีการนำเอาเรื่องปาฏิหาริย์ไปใส่
"ดิฉันอยากบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชายที่ฉลาดที่สุด คำสอนของท่านเป็นสัจจะทุกคำ ดิฉันเคยบอกยายว่า คนที่มีอายุ 3,000 ปี พูดแล้วต้องผิดสักคำ เถียงยายมาก่อน ยายชี้หน้า อีอี๊ด ไปหามา พระพุทธเจ้าพูดคำไหนผิด ตั้งแต่นั้นมาตอนอายุ 10 กว่าขวบ ดิฉันอ่านหนังสือหมดเป็นวันๆ เพื่อที่จะเอาชนะยาย หาว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไรผิดคำเดียวเท่านั้นแหละ จนกระทั่งยายตายไปแล้ว ตัวดิฉันเองใกล้จะตายแล้วก็ยังหาไม่เจอสักคำ นี่คือ ความเก่งของท่าน"
"ดิฉันพูดกับคุณหญิงพูนพิศมัย ว่า ดิฉันรักพระพุทธเจ้า ชีวิตดิฉันมาจนถึงขนาดนี้ ทำอะไรได้ถึงขนาดนี้ เพราะดิฉันเชื่อพระพุทธเจ้า"
คุณหญิงวิมลบอกอีกว่านวนิยายอีกเรื่องที่ผู้คนรอคอยนอกจากเรื่องเทพอวตารคือเรื่องเปลวสุริยัน ซึ่งจะคลอดออกมาในไม่ช้า
"เป็นเรื่องที่พูดถึงดาราศาสตร์ ทีแรกพูดคนไม่เชื่อกันว่ามีดาวดวงที่ 12 แต่ความจริงมันมีดาวดวงที่ 12 ซึ่งทางฝ่ายนาซ่าก็ตอบแล้วว่ามี และผ่านวงดาวเสาร์เข้ามา ที่เราพูดกันว่า ตอนนั้นจะเกิดเรื่องเกิดราว แต่คนก็หัวเราะ แต่เห็นไหมว่า หลังจากนั้นก็มีมหันตภัยของโลกเริ่มขึ้น ดิฉันบอกว่า น้ำจะท่วม ปีนี้น้ำจะแล้ง แล้วต่อไปน้ำจะท่วม คนก็หัวเราะ ดิฉันบอกว่า พูดมากไม่ได้ เดี๋ยวดิฉันเป็นปลาบู่ชนเขื่อน ถูกจำคุกอีก เพราะมันเป็นวงรอบของดาราศาสตร์"
"เปลวสุริยันกล่าวถึงวงรอบของดาวทั้งหมดว่า มันจะเกิดอะไรขึ้น สมัยก่อนบอก คนตะวันออกกลาง คนอิสลามจะรบกันเอง คนก็ไม่เชื่อ เห็นไหมตอนนี้ทิ้งระเบิดกันโครมๆ โลกมันจะเกิดกลียุค ที่หนาวจะหนาวจัด ที่ร้อนจะร้อนจัด เมืองไทยบางแห่งจะแล้ง บางแห่งจะน้ำท่วม ก็ไม่เชื่อกัน ที่พูดอย่างนี้ก็ทำนายจากดาราศาสตร์ทั้งหมด คนเลยคอยหนังสือเล่มนี้กัน"
"เรื่องนี้ค้นมาเยอะแล้วก็คว้ามาเขียนได้ อ่านตั้งแต่เอกภพ รวมทั้งผลที่นาซ่าสามารถจับดาวดวงนี้ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ และถ่ายรูปไว้ ที่มีแสงอาทิตย์ขึ้น 2 ดวง ช่วงมิถุนายนปีที่แล้วก็มีจุดดับในดวงอาทิตย์ 11 จุด ซึ่งมีผลทำให้เวลานี้แกนของโลกเอียง ขั้วโลกจะพลิกกลับ มีผลทำให้แม่เหล็กที่เป็นกำบังโลกอ่อนตัวลง ทำให้แม่เหล็กที่พุ่งจากเปลวสุริยันมาสู่โลกมากขึ้น โรคต่างๆ จะเกิดมากขึ้น แผ่นดินจะแยก"
"ที่เมียนมาร์ย้ายเมืองหนี เพราะว่าร่องของแผ่นดินไหวที่ตอนนี้ผ่านขึ้นมาที่แม่ริม คนเชียงใหม่ด่า คุณวิมลพูดอะไร ตอนนี้มันมาถึงที่แม่ริมจริงไหมเพราะมันผ่านที่พม่าขึ้นมา แต่ที่เราไม่ได้คิดกันอีกเส้นคือ เส้นองครักษ์ ตอนนี้ปลอบใจกัน เพราะว่าเส้นที่องครักษ์เล็กมาก ที่น่ากลัวคือ กรุงเทพฯ"
60 กว่าปีที่คุณหญิงวิมลเขียนนวนิยายมานั้น เธอว่าหลักสำคัญคือ ต้องค้นก่อน แล้วค่อยคว้ามาเขียน ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรก็ตาม เป็นการเรียนก่อนที่จะรู้ทั้งหมด
"อยากจะมีแขนงอกออกมาอีก 2 แขน เพราะการเขียนหนังสือต้องค้น ถ้าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์จะผิดไม่ได้เลย เหมือนเคยทะเลาะกับกองทัพบกมา ตอนที่ดิฉันเขียนธิราชเจ้า ทางกองทัพบกบอกวันยุทธหัตถีคือ 25 มกราคม สุดท้ายกองทัพยอมแพ้ ตอนนี้ใช้เป็น 18 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย เพราะดิฉันค้นจริง ที่ค้นมากและเหน็ดเหนื่อยมากที่สุดคือ แก้วกัลยา เพราะหนังสือไทยกล่าวถึงไม่มาก ต้องไปค้นต้นฉบับ แก้วกัลยาของพม่า"
กับคำถามที่ว่างานเขียนเปลี่ยนแปลงไปตามอายุหรือไม่ ประเด็นนี้ทมยันตียืนยันว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
"ดิฉันต้องหนีตัวเอง เพราะถ้าเราเขียนรักกันหนาพากันหนี พ่อค้า น้ำตา ตำรวจ ไม่ได้นะคะ คนอื่นจะเบื่อ แล้วดิฉันเองมีแฟนหลายกลุ่ม อย่างพวกแฟนประวัติศาสตร์จะคอย อย่างที่เราเขียนเรื่องแฟนตาซี มงกุฎกุหลาบ เลือดขัตติยา คนอ่านแนวอื่นก็ต้องคอย คนที่คอยพุทธศาสนาก็ต้องคอย เขียนแฟนตาซีเสร็จก็เขียนแนวโรแมนติก เสร็จแล้วข้ามไปศาสนา แล้วขึ้นมาแนวดาราจักร"
"คนอ่านของดิฉัน บางพวกเป็นพวกศาสนา บางพวกเป็นมหายาน บางพวกรักกันหนา พากันหนี จะอ่านแต่พิศวาส อย่าลืมฉัน ลืมฉันเสียเถอะ แต่อีกประเภทหนึ่งจะอ่านเชิงวิชาการ"
คุณหญิงวิมลเปรียบเทียบงานเขียนกับงานกำกับการแสดงว่า"ชอบเป็นผู้กำกับฯเพราะชี้นิ้วสั่งบอกคนอื่น สมัยเด็กๆ เป็นคนเขียนสคริปต์ละคร สคริปต์ทีวี สารพัด แล้วก็เป็นผู้กำกับฯ แต่ตอนหลังขี้เกียจ เหนื่อยด้วย เพราะผู้กำกับฯ จะเหนื่อยมาก"
"ที่เหนื่อยที่สุดคือ กำกับฯ light and sound คุมตัวละคร 1,500 คน ที่สวนลุมฯ แต่การเขียนหนังสือ มันเป็นคนคนเดียวที่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ เดี๋ยวเราเป็นพระเอก เดี๋ยวเราเป็นนางเอก เดี๋ยวเป็นคนสวน เดี๋ยวก็เป็นพระพี่เลี้ยง เป็นตัวนั้นตัวนี้ ที่สำคัญต้องรู้วิธีพูดของตัวละครแต่ละอาชีพในบทนั้นๆ อย่างถูกต้อง"
บทสนทนาทั้งหมดนี้คงทำให้แฟนๆ ทมยันตี ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของเธอและหายคิดถึงนักเขียนระดับปรมาจารย์คนนี้กันบ้าง และเชื่อว่าเราๆ ท่านๆ คงจะมีโอกาสได้อ่านนวนิยายดีๆ ของเธอไปอีกนานแสนนาน
บทสัมภาษณ์จาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1432073832
78 ปี "ทมยันตี" กับคาถา "เดี๋ยวก็ตาย" ลั่นก่อนสิ้นลมต้องเขียน "จอมศาสดา"
รายงานพิเศษ
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 พฤษภาคม 2558
ในบรรดานักเขียนนวนิยายระดับแนวหน้าของบ้านเราต้องบอกว่า"คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์" หรือทมยันตี และอีกหลายนามปากกา ไม่ว่าจะเป็น โรสลาเรน กนกเรขา มายาวดี หรือ ลักษณวดี นับเป็นบุคคลที่น่าสนใจทีเดียวเพราะมีความสามารถหลากหลายด้าน โดยเฉพาะงานกำกับการแสดง นอกเหนือจากการเป็นนักเขียนนวนิยายขั้นเทพ
หญิงแกร่งวัย 78 คนนี้ผ่านชีวิตครอบครัวมาอย่างยากลำบาก แต่ประสบการณ์ในอดีตก็ทำให้เธอได้เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน รวมถึงในงานเขียนด้วย
วันนี้แม้แม่อี๊ดของลูกชายทั้งสามจะชราภาพไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังเขียนนวนิยายอยู่
พร้อมกับรับเป็นผู้จัดการโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ของ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระชมมายุครบ 60 พรรษา ที่จังหวัดน่าน ซึ่งเสร็จสิ้นไปอย่างยิ่งใหญ่
ในเรื่องผลงานเขียนของคุณหญิงวิมลคงไม่ต้องสาธยายกันมากเพราะมีงานเขียนเยอะแยะและมีหลากหลายรูปแบบ
แต่ชิ้นโบแดงที่ทำให้คนไทยทุกยุคทุกสมัยรู้จักคุ้นเคยและชื่นชมกันอย่างมากจนถึงทุกวันนี้ก็คือคู่กรรม
สำหรับแฟนๆ ของทมยันตี ในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา คงสมใจที่มีงานเขียนใหม่ออกมา คือเรื่อง เทพอวตาร อันเป็นนวนิยายซีรี่ส์ต่อจากเรื่องเทวปักษี หลังจากผลัดคนอ่านมาถึง 2 ปี
ช่วงสองสามปีมานี้ข่าวคราวของคุณหญิงวิมลห่างหายไปจากการรับรู้ของผู้คนในสังคมเนื่องจากอาการป่วยที่ค่อนข้างหนักจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด
และทำให้นักเขียนชื่อก้องท่านนี้ได้เห็นสัจธรรมของชีวิตและพร้อมรับมือกับความตายที่จะมาถึงในวันข้างหน้าอย่างมีสติ
"ก่อนหน้านี้เดี๋ยวก็อยู่บ้านเดี๋ยวก็หามไปโรงพยาบาลตอนที่ดิฉันเข้าโรงพยาบาล นอนไอซียูกันเลย สาเหตุเพราะเส้นเลือดตีบ แต่โชคดีที่ไม่เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ แต่ Stroke ช่วงนี้อาการป่วยค่อยยังชั่วแล้ว แต่ยังไม่แข็งแรงนัก ดีที่น้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ ลูกๆ พาไปเที่ยวฮอกไกโด เชื่อไหม ลมพัดดิฉันเกือบจะตกจากภูเขา ดิฉันต้องกอดบันไดสะพานไว้แน่นเลย มันผอมจนกระทั่งลมตีเสื้อ ซึ่งมันโป่งจนเกือบจะพาดิฉันข้ามภูเขา"
"ทุกวันดิฉันจะต้องท่องเดี๋ยวก็ตาย มันจะละ โลภ โกรธ หลง เดี๋ยวก็ตาย ดิฉันอยู่บนเตียงไอซียู รู้ตัวว่าใกล้ตาย ดิฉันรู้เลย พุทโธ สำคัญที่สุด เวลาที่ร่างกายเราแย่ มันจะไปมิไปอยู่รอมร่อ ถ้าเราท่องพุทโธเรื่อยๆ ให้มันติดอยู่ในความทรงจำ เดี๋ยวมันจะท่องได้เอง ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยตายแล้วค่ะที่โรงพยาบาลศิริราช เคยตายแล้วฟื้นขึ้นมา เมื่อเร็วนี้ๆ ก็เกือบจะไปอีกหนหนึ่ง เป็นที่รู้กัน แต่ดิฉันอยู่เพื่อที่จะเขียนนวนิยายเล่มสุดท้ายในชีวิต เรื่อง จอมศาสดา"
"ดิฉันบอกกับตัวเองตลอดว่าเดี๋ยวก็ตาย ถ้าคนเรารู้ตัวว่า หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หรือถ้าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย เมื่อไรคุณดื่มน้ำไม่ลงสักอึก เดี๋ยวก็ตาย ถ้าเรารู้ตัวว่า เดี๋ยวก็ตาย ใครอยากได้อะไร เราก็ให้ ท่องไว้เถอะค่ะ เดี๋ยวก็ตาย มนุษย์เราเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง เวลาที่จะตายมันไม่กี่นาทีหรอก จริงๆ นะ แป๊บเดียวเอง ดิฉันบอกลูกแล้วว่า อย่าร้องไห้ ดิฉันเตรียมแล้ว ที่บ้านดิฉันพูดเรื่องความตายเป็นเรื่องปกติ ลูกยังบอกถ้าแม่ตาย โต๊ะเขียนหนังสือของแม่จะทำแบบนั้นแบบนี้"
"สมัยพ่อยังมีชีวิตอยู่ท่านบอกดูไว้ลูก วันนี้พ่อตาย วันหน้าหนูก็ตาย แล้วลูกของแม่อี๊ดก็ต้องอุ้มแม่อี๊ดลงโลง อย่าร้องไห้ วันนี้เป็นวันของพ่อ ของแม่ ของคุณยาย แต่วันหน้าแม่อี๊ดก็ต้องลงนอนในโลง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องร้องไห้"
พูดถึงนวนิยายเรื่องจอมศาสดาที่เจ้าตัวเคยเล่าให้ใครต่อใครฟังเสมอมาว่าจะเขียนแต่ครั้งนี้ประกาศชัดเจนว่าแฟนๆ จะไม่ได้อ่านตอนที่คนเขียนยังมีชีวิตอยู่ เพราะอะไร ฟังเหตุผลกัน
"เขียนเสร็จตายแล้วค่อยพิมพ์ จะพร่ำบอกลูกชายไว้ว่า ไม่ได้อ่านตอนที่ดิฉันมีชีวิตหรอก เดี๋ยวจะเหมือนเรื่องของ แดน บราวน์ ที่เขียนแล้วมีคนเถียง แต่ถ้าด่าคนตายไม่รู้เรื่อง คนยุ่งอยู่นอกโลง เรานอนในโลงแล้ว มีความสุข"
สำหรับเนื้อหาของเรื่องศาสดานั้น เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า โดยจะไม่มีการนำเอาเรื่องปาฏิหาริย์ไปใส่
"ดิฉันอยากบอกว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชายที่ฉลาดที่สุด คำสอนของท่านเป็นสัจจะทุกคำ ดิฉันเคยบอกยายว่า คนที่มีอายุ 3,000 ปี พูดแล้วต้องผิดสักคำ เถียงยายมาก่อน ยายชี้หน้า อีอี๊ด ไปหามา พระพุทธเจ้าพูดคำไหนผิด ตั้งแต่นั้นมาตอนอายุ 10 กว่าขวบ ดิฉันอ่านหนังสือหมดเป็นวันๆ เพื่อที่จะเอาชนะยาย หาว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไรผิดคำเดียวเท่านั้นแหละ จนกระทั่งยายตายไปแล้ว ตัวดิฉันเองใกล้จะตายแล้วก็ยังหาไม่เจอสักคำ นี่คือ ความเก่งของท่าน"
"ดิฉันพูดกับคุณหญิงพูนพิศมัย ว่า ดิฉันรักพระพุทธเจ้า ชีวิตดิฉันมาจนถึงขนาดนี้ ทำอะไรได้ถึงขนาดนี้ เพราะดิฉันเชื่อพระพุทธเจ้า"
คุณหญิงวิมลบอกอีกว่านวนิยายอีกเรื่องที่ผู้คนรอคอยนอกจากเรื่องเทพอวตารคือเรื่องเปลวสุริยัน ซึ่งจะคลอดออกมาในไม่ช้า
"เป็นเรื่องที่พูดถึงดาราศาสตร์ ทีแรกพูดคนไม่เชื่อกันว่ามีดาวดวงที่ 12 แต่ความจริงมันมีดาวดวงที่ 12 ซึ่งทางฝ่ายนาซ่าก็ตอบแล้วว่ามี และผ่านวงดาวเสาร์เข้ามา ที่เราพูดกันว่า ตอนนั้นจะเกิดเรื่องเกิดราว แต่คนก็หัวเราะ แต่เห็นไหมว่า หลังจากนั้นก็มีมหันตภัยของโลกเริ่มขึ้น ดิฉันบอกว่า น้ำจะท่วม ปีนี้น้ำจะแล้ง แล้วต่อไปน้ำจะท่วม คนก็หัวเราะ ดิฉันบอกว่า พูดมากไม่ได้ เดี๋ยวดิฉันเป็นปลาบู่ชนเขื่อน ถูกจำคุกอีก เพราะมันเป็นวงรอบของดาราศาสตร์"
"เปลวสุริยันกล่าวถึงวงรอบของดาวทั้งหมดว่า มันจะเกิดอะไรขึ้น สมัยก่อนบอก คนตะวันออกกลาง คนอิสลามจะรบกันเอง คนก็ไม่เชื่อ เห็นไหมตอนนี้ทิ้งระเบิดกันโครมๆ โลกมันจะเกิดกลียุค ที่หนาวจะหนาวจัด ที่ร้อนจะร้อนจัด เมืองไทยบางแห่งจะแล้ง บางแห่งจะน้ำท่วม ก็ไม่เชื่อกัน ที่พูดอย่างนี้ก็ทำนายจากดาราศาสตร์ทั้งหมด คนเลยคอยหนังสือเล่มนี้กัน"
"เรื่องนี้ค้นมาเยอะแล้วก็คว้ามาเขียนได้ อ่านตั้งแต่เอกภพ รวมทั้งผลที่นาซ่าสามารถจับดาวดวงนี้ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ และถ่ายรูปไว้ ที่มีแสงอาทิตย์ขึ้น 2 ดวง ช่วงมิถุนายนปีที่แล้วก็มีจุดดับในดวงอาทิตย์ 11 จุด ซึ่งมีผลทำให้เวลานี้แกนของโลกเอียง ขั้วโลกจะพลิกกลับ มีผลทำให้แม่เหล็กที่เป็นกำบังโลกอ่อนตัวลง ทำให้แม่เหล็กที่พุ่งจากเปลวสุริยันมาสู่โลกมากขึ้น โรคต่างๆ จะเกิดมากขึ้น แผ่นดินจะแยก"
"ที่เมียนมาร์ย้ายเมืองหนี เพราะว่าร่องของแผ่นดินไหวที่ตอนนี้ผ่านขึ้นมาที่แม่ริม คนเชียงใหม่ด่า คุณวิมลพูดอะไร ตอนนี้มันมาถึงที่แม่ริมจริงไหมเพราะมันผ่านที่พม่าขึ้นมา แต่ที่เราไม่ได้คิดกันอีกเส้นคือ เส้นองครักษ์ ตอนนี้ปลอบใจกัน เพราะว่าเส้นที่องครักษ์เล็กมาก ที่น่ากลัวคือ กรุงเทพฯ"
60 กว่าปีที่คุณหญิงวิมลเขียนนวนิยายมานั้น เธอว่าหลักสำคัญคือ ต้องค้นก่อน แล้วค่อยคว้ามาเขียน ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรก็ตาม เป็นการเรียนก่อนที่จะรู้ทั้งหมด
"อยากจะมีแขนงอกออกมาอีก 2 แขน เพราะการเขียนหนังสือต้องค้น ถ้าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์จะผิดไม่ได้เลย เหมือนเคยทะเลาะกับกองทัพบกมา ตอนที่ดิฉันเขียนธิราชเจ้า ทางกองทัพบกบอกวันยุทธหัตถีคือ 25 มกราคม สุดท้ายกองทัพยอมแพ้ ตอนนี้ใช้เป็น 18 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย เพราะดิฉันค้นจริง ที่ค้นมากและเหน็ดเหนื่อยมากที่สุดคือ แก้วกัลยา เพราะหนังสือไทยกล่าวถึงไม่มาก ต้องไปค้นต้นฉบับ แก้วกัลยาของพม่า"
กับคำถามที่ว่างานเขียนเปลี่ยนแปลงไปตามอายุหรือไม่ ประเด็นนี้ทมยันตียืนยันว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
"ดิฉันต้องหนีตัวเอง เพราะถ้าเราเขียนรักกันหนาพากันหนี พ่อค้า น้ำตา ตำรวจ ไม่ได้นะคะ คนอื่นจะเบื่อ แล้วดิฉันเองมีแฟนหลายกลุ่ม อย่างพวกแฟนประวัติศาสตร์จะคอย อย่างที่เราเขียนเรื่องแฟนตาซี มงกุฎกุหลาบ เลือดขัตติยา คนอ่านแนวอื่นก็ต้องคอย คนที่คอยพุทธศาสนาก็ต้องคอย เขียนแฟนตาซีเสร็จก็เขียนแนวโรแมนติก เสร็จแล้วข้ามไปศาสนา แล้วขึ้นมาแนวดาราจักร"
"คนอ่านของดิฉัน บางพวกเป็นพวกศาสนา บางพวกเป็นมหายาน บางพวกรักกันหนา พากันหนี จะอ่านแต่พิศวาส อย่าลืมฉัน ลืมฉันเสียเถอะ แต่อีกประเภทหนึ่งจะอ่านเชิงวิชาการ"
คุณหญิงวิมลเปรียบเทียบงานเขียนกับงานกำกับการแสดงว่า"ชอบเป็นผู้กำกับฯเพราะชี้นิ้วสั่งบอกคนอื่น สมัยเด็กๆ เป็นคนเขียนสคริปต์ละคร สคริปต์ทีวี สารพัด แล้วก็เป็นผู้กำกับฯ แต่ตอนหลังขี้เกียจ เหนื่อยด้วย เพราะผู้กำกับฯ จะเหนื่อยมาก"
"ที่เหนื่อยที่สุดคือ กำกับฯ light and sound คุมตัวละคร 1,500 คน ที่สวนลุมฯ แต่การเขียนหนังสือ มันเป็นคนคนเดียวที่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ เดี๋ยวเราเป็นพระเอก เดี๋ยวเราเป็นนางเอก เดี๋ยวเป็นคนสวน เดี๋ยวก็เป็นพระพี่เลี้ยง เป็นตัวนั้นตัวนี้ ที่สำคัญต้องรู้วิธีพูดของตัวละครแต่ละอาชีพในบทนั้นๆ อย่างถูกต้อง"
บทสนทนาทั้งหมดนี้คงทำให้แฟนๆ ทมยันตี ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของเธอและหายคิดถึงนักเขียนระดับปรมาจารย์คนนี้กันบ้าง และเชื่อว่าเราๆ ท่านๆ คงจะมีโอกาสได้อ่านนวนิยายดีๆ ของเธอไปอีกนานแสนนาน
บทสัมภาษณ์จาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1432073832