"บูม ภัทรพล เหลือบุญชู" นักเขียน ซาลารี่แมน แบบฉบับ เจแปน และมืออาชีพ

เรื่อง: พิมพ์ชนก พุกสุข ภาพถ่าย: สุชาดา ฝ่ายสิงห์

ในวันนัดสัมภาษณ์ สิ่งที่ชวนให้ประทับใจนอกเหนือไปจากแรกยิ้มแล้ว คือบุคลิกเรียบร้อยและมารยาทของชายหนุ่ม

ก่อนหน้านี้ เราๆ อาจรู้จักเขา- "ภัทรพล เหลือบุญชู" หรือ "บูม" ในฐานะคนก่อตั้งเพจ "Japan Salaryman" ที่ตอนนี้มียอดผู้ติดตามสูงถึง 35,000 คน บอกเล่าถึงชีวิต ประสบการณ์ต่างๆ ที่เขาเคยได้ประสบพบเจอในดินแดนปลาดิบ โดยเฉพาะในฐานะฟันเฟืองสำคัญของกลไกเศรษฐกิจอย่างการเป็น "มนุษย์เงินเดือน"

จากโลดแล่นอยู่ในโลกออนไลน์ ภัทรพลขยับขยายพื้นที่ของการเล่าประสบการณ์นั้นออกมาอยู่ในรูปเล่มที่จับต้องได้อย่าง "Japan Salaryman เป็นได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน" โดยสำนักพิมพ์ "มติชน"

บอกเล่าตั้งแต่วิธีการสมัครงาน การปรับตัว ไปจนกระทั่งเรื่องของ "การยื่นนามบัตร" หรืองานเลี้ยงหลังเลิกงานของชาวญี่ปุ่น

ภัทรพลเผยให้เห็นถึงความเป็น "มืออาชีพ" ที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพตัวเองอย่างยิ่ง ผ่านวิธีคิดและวิธีปฏิบัติอย่างญี่ปุ่น ชนิดที่หากนำมาปรับใช้กับการทำงานในไทยแล้ว คงสร้างความประทับใจให้ฝ่ายตรงข้ามได้ในระดับที่ภัทรพลสร้างความประทับใจให้คนอื่นๆ ตั้งแต่แรกพบ

คุยโทรศัพท์ในออฟฟิศอย่างไรให้น้ำเสียงฟังดูสุภาพ, สปิริตในการทำงาน, ระบบของบริษัทในญี่ปุ่นนั้นซื้อใจพนักงานอย่างไร-ล้วนเป็นเรื่องที่ควรรับรู้ไว้ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะมนุษย์เงินเดือนหรือไม่ก็ตาม

กับความสามารถส่วนตัวของภัทรพล หากวัดตามขีดความสามารถแล้ว ยากจะเชื่อว่าเขาอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น นับจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 อันเป็นวันเกิด

และด้วยวัยเท่านี้กับตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสทางการตลาด ออกจะเป็นเรื่องที่ชวนให้ประหลาดใจไม่น้อย ยังไม่นับความสามารถด้านอื่นๆ ที่ชวนให้สงสัยว่าเขาขวยขวายมาใส่ตัวได้อย่างไรในวัยเพียงเท่านี้ ทั้งทางด้านภาษาไปจนกระทั่งการเขียนหนังสือ

เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia Pasific (APU) ก็การันตีความเก่งกาจได้ระดับหนึ่งแล้ว ยังไม่นับเรื่องทัศนคติอื่นๆ ที่ทำให้เขาเป็นเขาได้อย่างทุกวันนี้

จากเด็กชายที่เคยตามพ่อ-นาวาเอก เสนี เหลือบุญชู ไปดูเครื่องบินบ่อยๆ ใฝ่ฝันอยากจะเป็นทหาร ในช่วงวัยที่เติบโตค้นคว้าเส้นทางของตัวเองนั้น แม่-เบญจวรรณ เหลือบุญชู ก็นำข้อมูลสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยทุนของที่ต่างๆ มาให้เขาพอดี ทางเลือกของเด็กหนุ่มในวันนั้นจึงเพิ่มมากขึ้น จากที่ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้ไปเรียนต่างประเทศมาก่อน เขาก็คว้าเอาทุนนี้มาจนได้พร้อมวิธีคิดที่ส่งให้เขาไปได้ไกลมากกว่าคนรุ่นเดียวกันอย่าง การเลือกความท้าทายที่ทำให้พัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าใครอื่น

มนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นเป็นอย่างไร เหตุใดจึงภักดีต่องาน อะไรที่ชายหนุ่มเรียนรู้และรับมาจากที่นั่น

เป็นเรื่องที่เราคุยกันอย่างออกรสในต่อไปนี้


- เริ่มไปญี่ปุ่น

เมื่อก่อนผมเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี ไม่เคยคิดเลยว่าจะไปญี่ปุ่นหรือไปต่างประเทศ เพราะที่บ้านก็ไม่ได้มีฐานะจะส่งไปเรียนต่างประเทศได้ แต่เราคิดว่าเราสามารถไปเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ ได้ด้วยทุน คือผมเป็นเด็กทุนมาตลอดตั้งแต่สมัยประถม ได้ทุนจะไปเข้าเอแบคเพราะติดอันดับในโรงเรียนอัสสัมชัญแล้วโรงเรียนอัสสัมชัญเขาให้ทุน มีเอแบคเป็นตัวเลือกนึงแล้ว แล้วมีวันหนึ่งคุณแม่เอาใบโบรชัวร์มาให้ดู ก็มีมหาวิทยาลัยนี้ด้วยแล้วคุณลุงเป็นคนดูแลอยู่ พอผมดูก็คิดว่าญี่ปุ่นน่าสนใจ สมัครทุน แล้วปรากฏว่าสอบด้วยภาษาอังกฤษแล้วผ่านได้อันดับต้นๆ เลยได้ทุน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่เสียค่าเล่าเรียนเลย ก็ไปเรียนคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งที่นี่มี 2 คณะเท่านั้น มีแค่ชื่อเต็มๆ คือ Asia Pacific Management คือเรียนเกี่ยวกับบริหารทางด้านเอเชียแปซิฟิก อีกคณะคือเป็นสายสังคม เรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมประมาณนี้ เหมือนเราก็เลือกในส่วนของบริหารมากกว่าเพราะน่าจะเอาไปต่อยอดได้

ตอนแรกเครียดแต่มหาวิทยาลัยนี้เขารับรองให้เรียนเป็นภาษาอังกฤษได้เราเลยกล้าจะไปเรียนที่นี่ แล้วเราไม่ได้ไปคนเดียวโดดเดี่ยว แต่จะมีเพื่อนอีกประมาณ 20 คน ไปเรียนพร้อมกันแล้วเรียนเป็นภาษาอังกฤษ English Base ซึ่งจริงๆ ก็ยากสำหรับผมเพราะผมเรียนมาไม่เคยคิดว่าจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน เพราะปกติใช้ภาษาไทยในการเรียนมาตลอด


- สิ่งที่ยากที่สุดที่เจอ

การปรับตัวมากกว่าให้เข้ากับสังคมเขา เพราะจริงๆ ผมไม่เคยไปอยู่ที่ต่างประเทศมาก่อน เคยเที่ยวแค่มาเลเซียด้วย แล้วตอนนั้นก็เดินทางด้วยเรือด้วยนะ ไม่ใช่เครื่องบิน (หัวเราะ) การไปญี่ปุ่นนี่ก็เลยเหมือนเป็นการไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในชีวิต ตื่นเต้นเป็นพิเศษ แล้วจะไปปรับตัวเข้ากับที่โน่นคือเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ เราโชคดีที่มีเพื่อนคนไทยที่ไปด้วยกัน มีเพื่อนคุย คนญี่ปุ่นพื้นฐานเขาไม่พูดอังกฤษ คล้ายๆ บ้านเรา เขาจะเก้ๆ กังๆ ในการพูดอังกฤษ ยกเว้ยคนรุ้นใหม่ ใหม่ๆ เลยที่ระบบการศึกษาจะสนับสนุนให้เรียนอังกฤษแล้ว ไม่อย่างนั้นจะทำงานยาก


- ความแตกต่างของสังคม

น่าจะเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต วินัยต่างๆ เหมือนเราอาจจะอยู่กันสบายๆ ไม่ต้องคิดมาก แต่ที่โน่นเขาจะมีเหมือนคล้ายๆ กรอบ ว่าทุกคนต้องอยู่ในกรอบ การตรงต่อเวลาอะไรทั้งหลาย คือถ้าหลุดไปจากตรงนี้ก็คล้ายๆ เป็นตัวประหลาดในสังคม เขาจะถูกมองแบบนี้ แล้วด้วยเพราะถ้าในมหาวิทยาลัยยังไม่เท่าไหร่เพราะยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่ถ้าเข้ามาสู่การทำงานแล้วมันเหมือนกับการสายครั้งเดียวเขาอาจมองเราไปเป็นอีกแบบเลยก็ได้ ฉะนั้น เรื่องแบบนี้จะถูกเทรนด์ตั้งแต่ตอนฝึกงานตอนแรก

แต่ผมมาไทยผมก็สายหลายรอบนะ เพราะมันเป็นอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เมืองไทยในเรื่องระบบสาธารณูปโภคต้องปรับปรุง ซึ่งมันไม่ง่ายเลย ที่ญี่ปุ่นเขาพร้อมตั้งแต่ตรงนั้นหมดแล้ว อย่างรถไฟสามารถกะเวลาได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่อย่างรถบัส แม้ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็น เพราะมีรถติด มีอะไรบ้าง แต่ก็เขาก็มีเวลาไว้ชัดเจน อย่างป้ายรถโดยสารนี้จะมีเวลาให้ว่านาทีที่ 30 จะมีมาอีกคัน นาทีที่ 35 ก็มีอีกคัน นาทีที่ 40 ก็มีอีกคัน เราก็คำนวณได้คร่าวๆ วางแผนชีวิตได้ง่าย จะไปตรงนี้กี่โมง ขึ้นรถกี่นาทีถึง ประมาณนี้ ทำให้ใช้ชีวิตมันง่ายมากเวลาอยู่ญี่ปุ่น

แต่ที่ยากจริงๆ ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องทักษะทางภาษานั่นแหละ แต่ละมหาวิทยาลัยอาจไม่เหมือนกัน อย่างมหาวิทยาลัยที่ผมอยู่จะจับชาวต่างชาติไปอยู่กับชาวญี่ปุ่นเป็นรูมเมตกัน ซึ่งวันแรกๆ ที่เข้าไปอยู่คือ รูมเมตพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ผมก็พูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย วิธีการคือผมถือดิกชันนารีของผม เขาถือดิกชันนารีของเขาแล้วพิมพ์ส่งไปส่งมาให้กัน อาจจะไปช้อปปิ้งด้วยกันบ้าง วันแรกที่เขามาคุยก้วยคือชวนไปซื้อของข้างล่าง ก็ตรงพอดีเพราะผมเพิ่งเข้าหอมาใหม่ๆ ยังไม่มีอะไรเลย อยากไปหาอะไรกินเหมือนกัน ซึ่งเขาก็อยากเข้ามาหาเราด้วย ก็เลยมีบทสนทนากันมากขึ้น อย่างไปซุปเปอร์มาเก็ต ก็จะแลกเปลี่ยนศัพท์กัน สอนให้เราพูดภาษาญี่ปุ่น ได้ศัพท์มาทีละนิดๆ เราอยู่ด้วยกัน มีผนังกั้นแต่อยู่คนละห้อง แต่ก็อยากคุยกับเขา อยู่กันนาน 1 ปี ระหว่างนั้นคือจากภาษาญี่ปุ่นจากศูนย์ ก็เรียนรู้ไป ที่มหาวิทยาลัยก็จะสอนภาษาญี่ปุ่นด้วย เรียนไปด้วย เรียนเสร็จกลับมาได้พูดคุยกันคนคนนี้ ทำให้ภาษามันไปได้เรื่อย

อีกส่วนคือมีแรงกดดันจากคนเกาหลีครับ (หัวเราะ) คนเกาหลีเป็นชาติที่ฝึกภาษาญี่ปุ่นได้เร็วมากเพราะพื้นฐานภาษาใกล้กัน คำหลายๆ คำเหมือนกัน ไวยากรณ์ การจัดเรียงคล้ายๆ กัน เรียนเดือนเดียวก็พูดได้แล้ว ผมเกือบ 6 เดือน ได้งูๆ ปลาๆ ด้วย นี่ขนาดเรียนแล้วได้ใช้จริงนะ (ยิ้ม) แต่ก็ต้องใช้ไปเรื่อยๆ จนได้ร่วมกิจกรรมกับคนญี่ปุ่น เข้าชมรม ได้ใช้ภาษามากขึ้น ผมก็เริ่มจะเร็วแล้ว


- ในหนังสือบอกว่าเรียนปี 3 ก็สมัครงาน

ตอนนั้นภาษาเริ่มคล่องแล้ว เพราะว่าตอนปี 1 งูๆ ปลาๆ พูดไม่เป็น พอปี 2 เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นขั้นแอดวานซ์ ก็ต้องเลือกเข้าชมรมแล้ว ผมก็ไปเลือกเข้าชมรมที่ทำงานกับคนญี่ปุ่นเลย คนไทย 50 เปอร์เซ็นต์ คนญี่ปุ่น 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วมาทำงานของชมรมกันที่ประเทศไทยนี่แหละครับ เป็นอาสาสมัครไปช่วยเด็กในถิ่นทุรกันดาร คนญี่ปุ่นเขามีโปรเจ็กต์พวกนี้เยอะ แล้วเราได้คุยกันตลอดเวลา อย่างประชุมกันประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ประชุมทีหนึ่งทั้งวัน ก็ต้องใช้ภาษาตลอด คนญี่ปุ่นประชุมนาน แล้วชมรมนี่คนญี่ปุ่นจะจริงจังมากในมหาวิทยาลัยมากๆ เพราะมันเป็นเหมือนทางเดินของเขาไปสู่อนาคตข้างหน้าอย่างชัดเจน ถ้าชอบอะไรก็จะเลือกทำอันนั้น พวกนี้จะมีชมรมตั้งแต่ ม.ต้น-ม.ปลายแล้ว สมมุติชอบเล่นกีฬาก็จะไปเข้าอันนี้ พอขึ้นมหาวิทยาลัยก็จะต่อยอดกันไป ซึ่งตรงนี้ก็จะรู้แล้วว่าตัวเองชอบหรือรักอะไร เอาดีในอาชีพทางนั้นก็ได้ แต่บางคนไม่ได้ ก็ผันไปเป็นมนุษย์เงินเดือน (หัวเราะ)


- เด็กๆ อยากเป็นมนุษย์เงินเดือนแต่เด็กเลยไหม

อยากเป็นนักบิน คุณพ่อเป็นทหารอากาศ คือไม่ได้บินหรอก แต่ว่าเหมือนเราไปคลุกคลีกับเครื่องบิน พ่อเคยพาไปเจอเครื่องบินบ่อยๆ แล้วเป็นอาชีพที่เด็กผู้ชายมองว่าเท่ แค่ชุดก็เท่แล้ว

ที่ตัดสินใจเป็นมนุษย์เงินเดือนก็มองว่า ไหนๆ ก็ไปญี่ปุ่นแล้ว อันดับแรกก็อยากใช้ภาษาญี่ปุ่นในการทำงาน ทางเลือกระหว่างทำที่ญี่ปุ่นกับไทยอันไหนจะสร้างคุณค่าให้เราได้มากกว่า ก็ต้องญี่ปุ่นแน่นอน เพราะมันเป็นสภาพแวดล้อมที่ยากกว่า ท้าทายกว่าแน่นอน เราก็ดูมีคุณค่าสำหรับญี่ปุ่นในไทยแหละครับ แต่มันก็ไม่ได้พยายามอะไรมาก เหมือนเราอาจจะเจอคนที่ไม่ได้เก่งญี่ปุ่นเท่าเรา เราก็สบาย แต่พอไปอยู่ญี่ปุ่นก็พูดญี่ปุ่นกันหมดเลย เราพูดได้ไม่ถึงไหน ต้องพยายามขึ้นไปอีก ตรงนี้หลายๆ คนยอมแพ้เพราะรู้สึกเหนื่อย ทนไม่ไหว แต่เราอยากสู้ตรงนั้น เน้นสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน แล้วที่ญี่ปุ่น ภาษาที่ใช้ทำงานกับภาษาทั่วไปมันไม่เหมือนกัน ภาษาธุรกิจมันไม่ง่ายเลย ทางการมากกว่า เป็นแพตเทิร์น ต้องฝึก ถ้าทำตรงนี้ได้ ถ้าไปดีลกับคนญี่ปุ่นเขาจะประทับใจเรา แค่ผมแลกนามบัตรเขาก็ประทับใจผมแล้ว ด้วยวิธีที่แนะนำไปในหนังสือ


- คิดว่าอะไรทำให้บริษัทญี่ปุ่นจ้างเรา

คนญี่ปุ่นจริงๆ สนใจธุรกิจในไทยอยู่แล้ว ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นช่วงคนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเมืองไทย แล้วเห็นว่าเมืองไทยมีทุกอย่างพร้อมหมด ตอนนี้เศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยดี ต้องขยายไปต่างประเทศ และไทยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนญี่ปุ่นเพราะคนไทยรักคนญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นก็รักคนไทย

ที่ญี่ปุ่นมีงานไทย เฟสติวัล เป็นงานที่คนญี่ปุ่นรอคอยมาทั้งปี กินอาหารไทย ดูการแสดง มวยไทย

แต่กับเรื่องการทำงาน คนญี่ปุ่นก็จะมองว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องการตรงต่อเวลา การเอาใจใส่ลูกค้าถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเขามีเยอะ แต่ผมมองว่ามันเติมกันได้ แต่ตอนนี้ยังสบายๆ กันอยู่ แต่ถ้าเติมมันก็จะอัพสเต็ปเราไปอีก มันเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มคุณค่าในตัวเรามากขึ้น

(ยังมีเนื้อหาต่อข้างล่างค่ะ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่