บริษัทอินเดีย-จีนลงนามข้อตกลง 21 ฉบับมูลค่ากว่า “ 7.3 แสนล้าน”

กระทู้คำถาม
เอเอฟพี – บริษัทอินเดียและจีนลงนามข้อตกลง 21 ฉบับที่เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 22,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 738,000 ล้านบาท) ที่นครเซี่ยงไฮ้ในวันนี้ (16) โดยมีนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของแดนภารตะได้รับเชิญรว่มเป็นพยาน
       
       “เราจงมาทำงานร่วมกันในผลประโยชน์ที่มีร่วมกันเถิด” โมดี บอกต่อคณะผู้บริหารจากบริษัทจีนและอินเดีย 200 บริษัทที่พิธีลงนามครั้งนี้ “ในเวลานี้อินเดียพร้อมสำหรับธุรกิจแล้ว”
       
       ผู้นำหัวอนุรักษ์นิยมรายนี้กำลังอยู่ในช่วงวันสุดท้ายของการเดินทางเยือนชาติเอเชียยักษ์ใหญ่แห่งนี้เป็นเวลา 3 วัน ขณะที่สองชาตินี้กำลังแข่งขันสร้างอิทธิพลในภูมิภาค และการขาดดุลการค้าระหว่างแดนภารตะและพญามังกรกำลังเพิ่มทวี
       
       ทั้งๆ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นสายเหยี่ยว แต่ โมดี กลับมุ่งที่จะผูกสัมพันธ์กับปักกิ่งตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว และเขากำลังมองหาสิ่งกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการเยือนครั้งนี้ พร้อมทั้งพยายามทำตามคำมั่นสัญญาที่เขาเคยให้ไว้ว่าจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
       
       จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันรวม 71,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2014 แต่การขาดดุลการค้าระหว่างแดนภารตะกับแดนมังกรได้พุ่งขึ้นจากเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2001-2002 เป็น 38,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ข้อมูลของอินเดีย เผย
       
       นัมเกย์ คันภา ที่ปรึกษาด้านการค้าของสถานทูตอินเดีย ระบุว่า ข้อตกลง 21 ฉบับที่ได้รับการลงนามในพิธีนี้มี “มูลค่าสูงถึง 22,000 ล้านดอลลาร์”
       
       บัญชีรายการซึ่งเจ้าหน้าที่อินเดียเผยแพร่ออกมา เผยให้เห็นว่า สัญญาจำนวนมากนั้นมีไว้เพื่อให้ธนาคารจีนจัดหาเงินทุนให้บรรดาบริษัทอินเดีย และยังยังรวมถึงข้อตกลงต่างๆ ในภาคโทรคมนาคม , เหล็ก , พลังงานแสงอาทิตย์ และภาพยนตร์
       
       ก่อนหน้านี้ระหว่างการเยือนของ โมดี ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้ต้อนรับเขาที่เมืองซีอาน เมืองหลวงของมณฑลส่านซีซึ่งเป็นบ้านเกิดของ สี หลังจากที่ โมดี เคยเป็นเจ้าภาพต้อนรับ สี ในรัฐคุชราตบ้านเกิดของเขาเมื่อปีที่แล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีประชากรมากที่สุด 2 แห่งของโลกนี้ได้มีความตึงเครียดมานานแล้วจากข้อพิพาททางพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเคยเป็นชนวนให้ทั้งสองชาติเปิดสงครามนองเลือดกันอยู่ช่วงสั้นๆ ในปี 1962 และเมื่อวันศุกร์ (15) โมดี บอกกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนว่า ปักกิ่งจำเป็นต้อง “พิจารณาเรื่องแนวทางปฏิบัติต่อความสัมพันธ์นี้ของตนใหม่”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่