เรื่อง "อาการตกขาว (Leucorrhea)" โดย เภสัชกร จตุรงค์ ศรียุยงค์

กระทู้ข่าว


ตกขาว คือ สิ่งที่ถูกขับออกมาจากช่องคลอด แต่ไม่ใช่เลือด โดยปกติจะมีสีขาว คล้ายแป้งเปียก ไม่คัน ไม่มีกลิ่นเหม็น อาจมีปริมาณมากในบางช่วง เช่น ช่วงก่อนหรือหลังมีรอบเดือน ช่วงไข่ตก หรือช่วงที่ตั้งครรภ์ แต่ในผู้หญิงบางคนอาจมีอาการตกขาว ผิดปกติได้ ลักษณะอาการตกขาวที่ผิดปกติ คือ มีปริมาณมากกว่าปกติ อาจมีสีเขียวเหลืองคล้ายหนอง กลิ่นเหม็น เป็นฟองหรือก้อน รวมทั้งอาจมีอาการเจ็บหรือคันร่วมด้วยได้ สาเหตุของอาการตกขาวผิดปกติมีหลายสาเหตุได้แก่ ช่องคลอดอักเสบเนื่องจากติดเชื้อ, สิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด ได้แก่ ผ้าก๊อซ สำลี ถุงยางอนามัย เป็นต้น , เนื้องอกหรือมะเร็งปากมดลูก และในหญิงที่หมดประจำเดือน สำหรับการอักเสบบริเวณช่องคลอดนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ เชื้อรา หรือไวรัส ซึ่งมีอาการแสดงแตกต่างกันได้

1. เชื้อแบคทีเรีย ตกขาวจะมีสีเหลืองค่อนข้างเขียว มีกลิ่นคาวปลา แต่ไม่มีอาการคัน
2. เชื้อรา ตกขาวมีลักษณะสีขาวเป็นก้อนเล็กๆคล้ายนม ไม่มีกลิ่น แต่มีอาการคันมาก
3. เชื้อพยาธิ หรือ โปรโตซัว ตกขาวจะมีลักษณะสีเหลือง เป็นฟอง มีกลิ่นเปรี้ยว มีอาการคัน
4. เชื้อไวรัส ตกขาวจะมีสีเหลือง กลิ่นเหม็น ไม่มีอาการคัน แต่จะมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กด้วย

สำหรับการรักษาอาการตกขาวผิดปกตินั้น ขึ้นกับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ และพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาการอักเสบนั้น ซึ่งยาที่ใช้มีหลายชนิด ทั้งยาสอดช่องคลอด ชนิดรับประทาน และยาทาภายนอกร่วมด้วย ซึ่งยาแต่ะละชนิดจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น ยารับประทาน จะออกฤทธิ์ได้ดีแต่มีผลข้างเคียงในเรื่องคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ที่สำคัญคือห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่ ส่วนชนิดทาผิวหนังจะได้ผลดีน้อยกว่าชนิดรับประทาน และอาจถูกชะล้างได้โดยสารคัดหลั่ง สุดท้ายยาเหน็บหรือยาสอดมีข้อดีกว่าแบบอื่นๆ ตรงที่ออกฤทธิ์เฉพาะจุด เห็นผลเร็ว มีผลข้างเคียงน้อย แต่อาจมีอาการแพ้ได้ในบางราย หรือถ้ามีการใช้ยาสอดบ่อยๆก็อาจทำให้มีการดื้อยาได้ คุณผู้หญิงควรดูแลตนเอง ได้แก่ การรักษาอนามัยบริเวณจุดซ่อนเร้นให้แห้งและสะอาด ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ และ ในการทำความสะอาดควรเช็ดจากด้านหน้าไปหลัง หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะนานๆ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย เพียงเท่านี้คุณก็จะห่างไกลจากอาการตกขาวผิดปกติได้ครับ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติมได้ครับ

ที่มา : เภสัชกร จตุรงค์ ศรียุยงค์
ติดตามบทความอื่นๆได้ที่
www.drugsquare.co.th
www.facebook.com/messages/drugsquare
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่