วสท.ร่วมกับ 7 องค์กร จัดเสวนา “365 วันอันตราย...ลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน”

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ นายก
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง “ 365 วันอันตราย...การลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน” จัดโดย วสท.ร่วมกับ 7 องค์กร ได้แก่ กองบังคับการตำรวจจราจร, กรมการขนส่งทางบก, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมทางหลวงชนบท,การรถไฟแห่งประเทศไทย และสถาบันยานยนต์ ณ อาคารวสท. เผยสถิติไทยครองแชมป์ตายจากอุบัติเหตุถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก การรณรงค์ลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุเพียง 7 วันในช่วงสงกรานต์ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของปัญหา ระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเสนอ 5 แนวทางแก้ปัญหาลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ย้ำต้องแก้ที่ต้นเหตุเพื่อทำให้ถนนทุกสายมีความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดปีและตลอดไป ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ การลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจ
            ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ใกล้เทศกาลสงกรานต์ ปี 2558 อีกครั้ง ประเทศไทยจะก้าวเป็นฮับโลจิสติกส์ เมืองน่าอยู่ เมืองน่าท่องเที่ยวและน่าลงทุนได้อย่างไร หากท้องถนนในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดยังเต็มไปด้วยอันตราย ผลการศึกษามูลค่าความเสียหายของอุบัติเหตุในประเทศไทย ทำให้ประชากรไทยประมาณ 13,000 คน ต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรวมทุกประเภทในแต่ละปีและบาดเจ็บหลายหมื่น เป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจในแต่ละปีสูงถึง 232,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สถิติ สตช. มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฉพาะด้านจราจรทั้ 8,631 ราย,ไทยยังครองแชมป์ตายจากอุบัติเหตุถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากนามิเบีย สะท้อนปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทยที่ควรแก้ไข  การรณรงค์ลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุเพียง 7 วันในช่วงสงกรานต์ เป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุหรือไม่?  หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการรณรงค์ลดอัตราการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสงกรานต์และปีใหม่  ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในประเทศ และนับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม โดยพบว่าปัจจุบันนี้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงกว่าค่าเฉลี่ยไม่มาก สถิติเฉพาะช่วง 7 วันอันตรายของสงกรานต์ระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตปีละมากกว่า 300 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 50 คน ส่วนใหญ่จะเกิดที่ทางหลวงแผ่นดิน 37.9% ถนน อบต.และถนนในหมู่บ้าน 36.7% ทางตรง 64.9% รองลงมาคือทางโค้ง 19.7% โดยมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 39.1% ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด 23.6% จักรยานยนต์มากที่สุด และลักษณะการเกิดอุบัติจะพบว่ามีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
           จะเห็นได้ว่า การรณรงค์เพียงช่วง 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นั้นเป็นปลายเหตุ ได้เวลาที่ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปัญหาการตายจากอุบัติเหตุบนถนนที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก กันที่ต้นเหตุ 5 ด้าน คือ ถนน คน รถ  การบังคับใช้กฏหมาย และให้ความสำคัญต่องานวิจัยพัฒนาการบริหารจัดการความปลอดภัย “
    คุณปิยะ เศรษฐรัตนพงษ์ คณะกรรมการสวัสดิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้กล่าวถึงกายภาพของถนนและอุปกรณ์ว่า “สภาพถนนและเครื่องหมายสัญญาณที่นำไปสู่อุบัติเหตุ เช่น บริเวณทางแยก ทางโค้ง ทางชำรุด หรือเครื่องหมายสัญญาณชำรุด การติดตั้งป้ายสัญญาณทางจราจร (Traffic Signalization) อยู่ในจุดติดตั้งที่มองเห็นไม่เด่นชัด มีสิ่งบดบัง, ส่วนป้ายแขวนควรติดในระยะ 100 - 200 เมตรล่วงหน้าและมีขนาดที่มองเห็นชัดเจน เพื่อให้คนที่ไม่เคยมาสามารถเข้าช่องจราจรได้ถูกต้อง, จำนวนแสงไฟสว่างบนถนนไม่เพียงพอและเสีย การตีเส้นจราจรควรมีระยะที่เหมาะสม, ป้ายควบคุมจราจร (Traffic Control) ควรติดตั้งแสดงให้ประชาชนเห็นเมื่อผ่านเข้าเขตที่กำลังมีการก่อสร้าง ปัจจุบันไม่มีการบังคับแก่ผู้รับเหมาก่อสร้างในตอนขายแบบประกวดราคาก่อสร้าง ตลอดจนขาดการติดตามผลว่าเจ้าของโครงการ หรือผู้รับเหมาได้ดำเนินการจัดทำป้ายควบคุมจราจรตามแบบที่ถูกต้องหรือไม่”
นายประสิทธิ์  เดชศิริ  รองผู้ว่าการปฏิบัติการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การทางพิเศษมีการดำเนินงานตามแนวคิดทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ในยุทธศาสตร์ 5 เสาหลักของสหประชาชาติ ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการ (Road Safety Management) โดยปัจจุบันมีศูนย์ควบคุมทางพิเศษ 6 แห่ง คือ เฉลิมมหานคร, ศรีรัช, ฉลองรัช, บูรพาวิถี, อุดรรัถยา และกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิด ป้ายข้อความ โทรศัพท์ฉุกเฉินทุก 500 เมตร ป้ายกำหนดความเร็ว และช่องจราจรฉุกเฉิน รวมทั้งมีการรายงานสภาพจราจรบนทางพิเศษผ่านสื่อต่างๆ  2. ถนนปลอดภัย (Safer Road and Mobility ) มีการตรวจสอบความปลอดภัยบนทางพิเศษเส้นทางต่างๆ ติดตั้ง Crash Cushion 15 แห่ง 3. ยานพาหนะปลอดภัย (Safer Vehicles) ออกระเบียบและข้อบังคับเพื่อควบคุมยานพาหนะที่ใช้ทางพิเศษประเภทต่างๆ เช่น การลงทะเบียนรถบรรทุกสารเคมี เป็นต้น มีการกวดขันลักษณะการบรรทุกและตรวจสอบน้ำหนักบรรทุกก่อนใช้เส้นทางพิเศษ 4. การตอบสนองภายหลังเกิดเหตุ (Post-Crash Response) จัดหน่วยกู้ภัยช่วยเหลือกรณีรถขัดข้องและเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุเพลิงไหม้บนทางพิเศษ ปัจจุบันมีจำนวนรถใช้เส้นทางการทางพิเศษซึ่งมีความยาว 200 กิโลเมตรเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.2 ล้านเที่ยวต่อวันเป็น 1.8 ถึง 2 ล้านเที่ยวต่อวัน สำหรับแนวโน้มอุบัติเหตุมีสถิติลดลง แต่การทางพิเศษก็ไม่หยุดนิ่งที่จะศึกษาและพัฒนาระบบความปลอดภัยต่อไป”
ดร.ครรชิต  ผิวนวล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจราจรและขนส่ง และมีประสบการณ์ในหลายประเทศ กล่าว “มีคนพูดว่า เป็นเรื่องแปลกที่คนไทยเวลาอยู่ต่างประเทศจะขับรถดีมีวินัยจราจร แต่พอมาอยู่เมืองไทยกลับขับรถแย่ เป็นเพราะมนุษย์เรามักคิดถึงประโยชน์แล้วจึงทำ คนๆเดียวกันจะเคารพในสิ่งที่ควรเคารพ และจะไม่เคารพในสิ่งที่เขาเห็นว่าไม่ควรเคารพ ในเมื่อทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ เขาจะมีพฤติกรรมที่จะทำหรือฝ่าฝืนกฏจราจรต่อไป  ในการสื่อสารด้วยป้ายจราจรนั้น ถนนบ้านเราเต็มไปด้วยป้ายต่างๆ แต่อยากให้คำนึงถึงผลที่ต้องการ 2 อย่าง คือ 1. ทำให้เกิดการรับรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีรูปแบบที่เขาคุ้นเคยและสามารถเข้าใจได้ดี 2. มีเวลาพอและมีข้อมูลเพียงพอให้ผู้ขับรถได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง”     
           คุณอรวิทย์ เหมะจุฑา ประธานคณะอนุกรรมการการจราจรและขนส่ง ได้กล่าวถึงปัจจัยอุบัติเหตุจราจรมาจากพฤติกรรมของ”คน” เป็นส่วนใหญ่ และขับอย่างไรให้ปลอดภัย ว่า “อุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่ที่มาจากผู้ขับขี่ทั้งในแง่ขับรถโดยประมาท ขับเร็ว ขับขณะมึนเมา ใช้โทรศัพท์ขณะขับ ในด้านทักษะในการขับขี่ยานยนต์ประเภทต่างๆ และการขาดวุฒิภาวะทำให้บ่อยครั้งที่เราฝากชีวิตผู้โดยสารจำนวนมากไว้กับคนขับรถที่บกพร่อง นอกจากนี้การออกใบอนุญาตขับขี่ยานยนต์ประเภทต่างๆอย่างไม่โปร่งใส ทำให้บนท้องถนนเรามีผู้ขับขี่ที่ขาดคุณภาพและคุณสมบัติจำนวนมาก ส่วนคนเดินถนนและข้ามถนน มักเกิดจากไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลายและสะพานลอยหรือข้ามตัดหน้ายานพาหนะระยะกระชั้นชิด  ปัจจุบันมีผู้ให้ความสำคัญในการออกแบบและจำลองสภาพการส่องสว่างบนถนนตามเกณฑ์ของมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยของผูใช้รถใช้ถนน และประสิทธิภาพพลังงาน เช่นการประยุกต์ใช้โคมไฟถนน LED แทนโคมไฟถนน HID (High intensity discharge lamps) ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการวิเคราะห์ ออกแบบ และจำลองภาพผลการออกแบบแทนการนำเสนอผลลัพธ์เชิงตาราง ตัวเลข จึงช่วยทำให้ผู้ออกแบบได้เห็นรายละเอียดผลการออกแบบ ทั้งเชิงตัวเลข และภาพจำลองเสมือนจริง การวิเคราะห์ผลของสีของแสง (Light Spectrum) การวิเคราะห์ผลของการกระจาย ความเข้มส่องสว่างของดวงโคม (Luminaire Light Distribution) ที่ให้ความปลอดภัยต่อการสัญจร”
    คุณพรชัย  สกุลรัตนสุภา กล่าวว่า “สาเหตุของอุบัติเหตุที่มาจาก ”รถ” หรือยานพาหนะ ได้แก่ การนำรถที่อุปกรณ์บกพร่องมาใช้บนถนน อาทิ เบรก ไฟสัญญาณ กระจกส่องหลัง ที่ปัดน้ำฝนชำรุด รถยนต์ควรได้รับการออกแบบในการชนเพื่อความปลอดภัยในมาตรฐานสากล จะเห็นว่า กันชนรถในประเทศไทยทำจากไฟเบอร์กลาส แต่ในสหรัฐจะทำด้วยเหล็กซึ่งแข็งแรงกว่า  กรณีรถทัวร์ที่มีการออกแบบ 2 ชั้น เคยมีอุบัติเหตุพลิกคว่ำและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ควรพิจารณาปรับมาตรฐานการผลิตให้มี CG จุดศูนย์ถ่วงที่ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยของรถพ่วง 18 ล้อ ”
           คุณสุจิณ มิ่งนิมิตร รองผู้อำนวยการสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กล่าวว่า “การลดอุบัติเหตุให้ยั่งยืน  เห็นด้วยที่จะมีองค์กรกลางเช่น คณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของสภาพถนน  Road Safety Audit  การศึกษาวิจัย กำหนดมาตรฐานและแบบป้าย สอบสวนอุบัติเหตุทางถนน ชี้แนะการแก้ไขจุดอันตราย และเสริมสร้างจิตสำนึกในความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน”
    นายไกร ตั้งสง่า ประธานคณะกรรมการสวัสดิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวสรุปข้อเสนอแนะทางออกในการลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน แก่รัฐบาลคสช. เพื่อสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัย มี 5 ข้อเสนอแนะเพื่อลดอุบัติเหตุ 365 วันทุกวันตลอดทั้งปี
1.    ปัญหาจากคน  เข้มงวดการขอใบอนุญาตผู้ขับขี่ ในเรื่องคุณสมบัติ มรรยาทและวินัยของผู้ขับขี่  รถยนต์  รถ Taxi รถ มอเตอร์ไซค์  รถตู้  รถตู้โดยสาร  รถโดยสาร รถบรรทุก  รถพ่วง  18 ล้อ, ห้ามการใช้มือถือ หรือการ chat บน smart phone ที่ทำให้ขาดสมาธิในการขับขี่, มีการประชาสัมพันธ์ เมาไม่ขับ ยานยนต์ทุกชนิด พร้อมบทลงโทษมากขึ้นอย่างเคร่งครัด
2.    ปัญหาจากถนน พัฒนาการออกแบบถนนเพื่อลดอุบัติเหตุ  ทางแยก จุดตัด จุดเลี้ยว, ดูแลบริเวณจุดตัด บริเวณปากซอย ไม่ให้มีป้ายหรือตู้โทรศัพท์มาบดบังทัศนวิสัย,  การตีเส้นเครื่องหมายบนถนน เส้นแบ่งเลน เส้นทึบสีขาวริมเลนขวา  และริมเลนซ้าย  เส้นทางข้ามนั้น ควรหมั่นพ่นสีให้เห็นได้ชัดเจนทั้งกลางวันและกลางคืน, ส่วนป้ายจราจร หากเก่าเกินไป เลือนลางไม่สามารถมองเห็นได้  ควรเปลื่ยนใหม่เมื่อป้ายจราจรหมดสภาพ, ไฟสัญญาณจราจร ควรติดตั้งให้เท่ากับจำนวนช่องจราจรบนถนน  และมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร, ควรจัดให้มี การป้องกันการชนของรถยนต์ บริเวณทางเข้า  ทางออกของทางด่วน  เพื่อลดการสูญเสียชีวิต, บริเวณถนนจุดตัดทางข้ามรถไฟ  ควรติดตั้งไม้กั้น สัญญาณไฟและเสียง รวมทั้งติดไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน การใช้พ่นสีบนถนนเพื่อให้เด่นชัดในการเตือนภัยและลดอุบัติเหตุรถไฟชนรถยนต์, ส่วนไฟส่องสว่างบนทางหลวง  ควรเป็นแสงสีเหลืองเพราะตัดแสงเห็นชัดเจน  ไม่ควรใช้ไฟแสงสีขาว, ควรดูแลบำรุงรักษาไฟส่องสว่างที่หลอดขาด ทั้งบนทางหลวง ทางด่วน บนสะพาน ทางลอดใต้สะพาน บนสะพานลอย ใต้สะพานลอย  ถนนใต้ทางด่วน  เพื่อลดอุบัติเหตุกลางคืนผู้ขับขี่มองไม่เห็น
3.    ปัญหาจากรถ ได้แก่ รถตู้  ถูกดัดแปลงให้เป็นรถตู้โดยสาร  บรรทุกได้ 16 คนนั้น ให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยบนที่นั่งทุกที่นั่ง  และจำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กม.ต่อ ชั่วโมง, รถโดยสาร ให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และจำกัดความเร็วไม่เกิน 100 กม.ต่อ ชั่วโมง, รถโดยสาร 2 ชั้น มีอันตรายจากความไม่เสถียรมาก จำกัดความเร็วไม่เกิน  90 กม.ต่อ ชั่วโมง สังเกตได้ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะไม่ใช้รถโดยสาร 2ชั้นเพราะไม่ปลอดภัย, รถบรรทุก รถเทรลเลอร์ รถสิบล้อ  จำกัดความเร็ว  ไม่เกิน  90 กม. ต่อ ชั่วโมง, รถพ่วง 18 ล้อ มีความไม่เสถียรมาก จำกัดความเร็วไม่เกิน 80 กม. ต่อ ชั่วโมง, รถซาเล้งถือเป็นอันตรายบนท้องถนน เพราะเป็นรถยนต์ประเภทหนึ่งที่ไม่มีทะเบียน, สำหรับรถยนต์ ให้ผู้ผลิตรถยนต์ ติดตั้ง DRL หรือ Daytime Running Light เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็น และช่วยลดอุบัติเหตุในทุกสภาพอากาศ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่