ทำไมพระพุทธองค์ถึงใช้เวลาศึกษา บำเพ็ญตั้ง 6 ปีถึงตรัสรู้ไม่ใช่แค่ 6เดือน หรือปีสองปี แต่ละปีทรงทำอะไรบ้างช่วยแจกแจงที

1.ทำไมพระพุทธองค์ถึงใช้เวลาศึกษา บำเพ็ญตั้ง 6 ปีถึงตรัสรู้ไม่ใช่แค่ 6เดือน หรือปีสองปี


2. แต่ละปีทรงทำอะไร อยู่ที่ไหน ใครเป็นครู ได้รับแนวคิดมาจากไหน ศึกษาอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง ช่วยแจกแจงที ไม่เคยอ่านเจอที่ไหนเขียนรายละเอียด 6 ปีนี้เลย มีแต่หนังสืออธิบายพุทธกิจ 45 พรรษา คือหลังจากตรัสรู้ แต่ในช่วงเวลากำลังบำเพ็ญไปสู่การตรัสรู้ 6 ปีนี้หาอ่านไม่ได้เลย

ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
ถ้าจะเล่าก็เป็นเรื่องยาวนะครับ และเท่าที่ดูไม่ได้ระบุปีไว้ครับ แต่มีลำดับดังพระสูตรด้านล่างนี้
ทั้งนี้ สามารถศึกษาได้จากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ครับ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
๑ เสด็จสำนักอาฬารดาบส
           เรานั้น     ครั้นบวชอย่างนี้แล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า; ได้เข้าไปหาอาฬารดาบส
ผู้กาลามโคตรถึงที่สำนักแล้วกล่าวว่า  “ท่านกาลามะ !  เราอยากประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ด้วย”.  ราชกุมาร !  ครั้นเรากล่าวดังนี้แล้ว อาฬารดาบสผู้กาลามโคตรได้ตอบว่า   “อยู่เถิดท่านผู้มีอายุ  !   ธรรมนี้เป็นเช่นนี้ ๆ;  ถ้าบุรุษเข้าใจความแล้ว  ไม่นานเลยคงทำให้แจ้ง  บรรลุได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง  ทั่วถึงลัทธิของอาจารย์ตน”.
       ราชกุมาร !     เราเล่าเรียนธรรมนั้นได้ฉับไวไม่นานเลย.  ราชกุมาร ! เรานั้นกล่าวได้ทั้ง ญาณวาท และ เถรวาท ด้วยอาการมาตรว่าท่องด้วยปาก และด้วยเวลาชั่วที่เจรจาตอบตลอดกาลเท่านั้น.  อนึ่ง เราและศิษย์อื่น ๆ ปฏิญญาได้ว่าเรารู้เราเห็น ดังนี้.  ราชกุมาร !  ความรู้สึกเกิดขึ้นแก่เราว่า “อาฬารผู้กาลามโคตรประกาศให้ผู้อื่นทราบว่า ‘เราทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’ ด้วยคุณสักว่าศรัทธาอย่างเดียวก็หามิได้, ที่แท้อาฬารผู้กาลามโคตรคงรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมนี้เป็นแน่”.  
       ราชกุมาร !  ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอาฬารผู้กาลามโคตรถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า   “ท่านกาลามะ ! ท่านทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
และประกาศได้เพียงเท่าไรหนอ ? ”   ครั้นเรากล่าวอย่างนี้  อาฬารผู้กาลามโคตรได้ประกาศให้รู้ถึง  อากิญจัญญายตนะ  แล้ว.      
        ราชกุมาร !     ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา  จักมีแต่ของอาฬารผู้กาลามโคตรผู้เดียวก็หาไม่.  ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา ของเราก็มีอยู่;   อย่างไรก็ตาม  เราจักตั้งความเพียรทำให้แจ้งธรรมที่ท่านกาลามะประกาศแล้วว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’ ดังนี้ ให้จงได้”.
          ราชกุมาร ! เราได้บรรลุ ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองฉับไวไม่นานเลย.  ราชกุมาร ! ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอาฬารผู้กาลามโคตร ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า “มีเท่านี้หรือที่ท่านบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่ ?”. “เท่านี้เองผู้มีอายุ ! ที่เราบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่”.   “ท่านกาลามะ !   แม้เราก็บรรลุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองถึงเพียงนั้นเหมือนกัน”.                                 
               ราชกุมาร !     อาฬารผู้กาลามโคตรได้กล่าวกะเราว่า “ลาภของเราแล้วท่านผู้มีอายุ !  เราได้ดีแล้ว,  ท่านผู้มีอายุ !  มิเสียแรงที่ได้พบเพื่อนร่วมพรหมจรรย์  เช่นกับท่านผู้ทำให้แจ้งธรรมที่เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง, แม้เราก็ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองนั้นอย่างเดียวกัน. เรารู้ธรรมใด ท่านรู้ธรรมนั้น, ท่านรู้ธรรมใด เรารู้ธรรมนั้น, เราเป็นเช่นใด ท่านเป็นเช่นนั้น, ท่านเป็นเช่นใด เราเป็นเช่นนั้น;
มาเถิดท่านผู้มีอายุ !  เราสองคนด้วยกัน  จักช่วยกันปกครองคณะนี้ต่อไป”.   
                 ราชกุมาร !     อาฬารกาลามโคตรผู้เป็นอาจารย์ของเรา ได้ตั้งเราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอด้วยตนแล้ว, ได้บูชาเราด้วยการบูชาอย่างยิ่ง.  ราชกุมาร !   (เมื่อเราได้เสมอด้วยอาจารย์   ได้การบูชาที่ยิ่งดังนั้น)   ได้เกิดความรู้สึกนี้ว่า   “ก็ธรรมนี้จะได้เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่าย   เพื่อความคลายกำหนัด   เพื่อความดับสนิท   เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน ก็หาไม่, แต่เป็นไปพร้อม   เพียงเพื่อการบังเกิดใน อากิญจัญญายตนภพ ๑ เท่านั้นเอง”.   
             ราชกุมาร !  ตถาคต (เมื่อเห็นโทษในสมาบัติทั้งเจ็ด) จึงไม่พอใจ เบื่อจากธรรมนั้น หลีกไปเสีย.
---------------------------------------------------------------------------------------------
๒.เสด็จสำนักอุทกดาบส
                ราชกุมาร !         เรานั้นแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติชนิดที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า; ได้เข้าไปหาอุทกดาบสผู้รามบุตร ถึงที่สำนักแล้วกล่าวว่า  “ท่านรามะ !  เราอยากประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้ด้วย”.
           ราชกุมาร !  ครั้นเรากล่าวดังนี้   ท่านอุทกผู้รามบุตรได้กล่าวตอบว่า  “อยู่เถิดท่านผู้มีอายุ !   ธรรมนี้เป็นเช่นนี้ ๆ;   ถ้าบุรุษเข้าใจความแล้ว  ไม่นานเลย  คงทำให้แจ้ง บรรลุได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง  ทั่วถึงลัทธิของอาจารย์ตน”.
           ราชกุมาร !     เราเล่าเรียนธรรมนั้นได้ฉับไวไม่นานเลย. ราชกุมาร ! เรากล่าวได้ทั้ง ญาณวาท และเถรวาท ด้วยอาการมาตรว่าท่องด้วยปาก ด้วยเวลาชั่วที่เจรจาตอบตลอดกาลเท่านั้น. อนึ่ง เราและศิษย์อื่นปฏิญญาได้ว่าเรารู้เราเห็นดังนี้. ราชกุมาร ! ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “อุทกผู้รามบุตรได้ประกาศว่า‘เราทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’ ด้วยคุณสักว่าศรัทธาอย่างเดียวก็หามิได้, ที่แท้อุทกผู้รามบุตรคงรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่งธรรมนี้เป็นแน่”.        
            ราชกุมาร !   ครั้งนั้นเราเข้าไปหาอุทกผู้รามบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า   “ท่านรามะ ! ท่านทำธรรมนี้ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว   และประกาศได้เพียงเท่าไรหนอ ?” ครั้นเรากล่าวอย่างนี้   อุทกรามบุตรได้ประกาศให้รู้ถึง   เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้ว.                                 
                  ราชกุมาร !     ความรู้สึกได้เกิดขึ้นแก่เราว่า “ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา จักมีแต่ของอุทกรามบุตรผู้เดียวก็หาไม่. ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา  ของเราก็มีอยู่;  อย่างไรก็ตาม  เราจักตั้งความเพียรทำให้แจ้งธรรมที่ท่านรามะประกาศแล้วว่า   ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วแลอยู่’  ดังนี้ให้จงได้”.    ราชกุมาร !    เราได้บรรลุทำให้แจ้งซึ่งธรรมนั้น    ด้วยปัญญาอันยิ่งเองฉับไวไม่นานเลย.  ราชกุมาร !  ครั้งนั้น  เราเข้าไปหาอุทกผู้รามบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “มีเท่านี้หรือ ที่ท่านบรรลุถึง ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วประกาศแก่ผู้อื่นอยู่ ?”.  “เท่านี้เองผู้มีอายุ !   ที่เราบรรลุถึงทำให้แจ้งแล้วประกาศแก่ผู้อื่น”.   “ท่านรามะ !   ถึงเราก็ได้บรรลุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเท่านั้นเหมือนกัน”.                        
                    ราชกุมาร !     อุทกผู้รามบุตรได้กล่าวกะเราว่า “ลาภของเราแล้ว ท่านผู้มีอายุ ! เราได้ดีแล้ว, ท่านผู้มีอายุ ! มิเสียแรงที่ได้พบเพื่อนร่วมพรหมจรรย์เช่นกับท่านผู้ทำให้แจ้งธรรมที่รามะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง, แม้รามะก็ทำให้แจ้งธรรมที่ท่านทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองนั้น
อย่างเดียวกัน.  รามะรู้ทั่วถึงธรรมใด ท่านรู้ธรรมนั้น,  ท่านรู้ธรรมใด รามะรู้ทั่วถึงธรรมนั้น,  รามะเป็นเช่นใด  ท่านเป็นเช่นนั้น,   ท่านเป็นเช่นใด  รามะเป็นเช่นนั้น;  มาเถิดท่านผู้มีอายุ !  ท่านจงปกครองคณะนี้ต่อไป”.      
                     ราชกุมาร !     อุทกรามบุตรเมื่อเป็นสพรหมจารีต่อเรา ก็ได้ตั้งเราไว้ในฐานะแห่งอาจารย์นั่นเทียว; ได้บูชาเราด้วยการบูชาอันยิ่ง, ราชกุมาร !  (เมื่อเราได้เสมอด้วยอาจารย์  ได้การบูชาที่ยิ่งดังนั้น)  ได้เกิดความรู้สึกนี้ว่า  “ธรรมนี้จะได้เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับสนิท เพื่อความสงบ  เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความรู้พร้อม  เพื่อนิพพาน  ก็หาไม่,    แต่เป็น ไปพร้อม  เพียงเพื่อการบังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เท่านั้นเอง”.   
               ราชกุมาร !  ตถาคต (เมื่อเห็นโทษในสมาบัติทั้งแปด)  จึงไม่พอใจในธรรมนั้น  เบื่อหน่ายจากธรรมนั้น   หลีกไปเสีย.
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่