เคยสงสัยกันมั๊ยครับว่า ขนในที่ต่างๆมันหยุดการเจริญเติบโตได้เอง

คือผมสงสัยมานานแล้วครับว่าพวกขนเนี่ย มันจะหยุดการเจริญเติบโตได้เองหรอครับ

คือผมสังเกตุขนตามตัว กี่วันๆ มันก็ยาวเท่าๆเดิม ทั้งขนคิ้ว ขนรักแร้ ขนตา ขนในที่ลับ และอื่นๆ

แต่พอโกนปุ๊บ มันก็เริ่มขึ้นปั๊บ รึว่ามันนัดกัน ว่าแบบเห้ยๆแค่นี้ยาวพอแล้ว พอเวลาไม่โกนมันก็ไม่ยาวขึ้น

พวกขนเนี่ยมันรู้กันได้ยังไงว่าควรยาวขึ้นรึไม่ควรยาวขึ้น???

FacepalmFacepalm
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า เส้นผมและขนของคนเราจะมีวงจรอยู่ 3 ขั้นค่ะ
1. Anagen phase ช่วงเจริญเติบโต งอกต่อเนื่อง
2. Catagen phase ช่วงหยุดการเจริญเติบโต พร้อมหลุดร่วง
3. Telogen phase ช่วงขนเริ่มหลุดร่วง

พอครบวงจรนี้แล้ว มันก็จะกลับไปวนลูปใหม่ คือเริ่มงอกเส้นใหม่ออกมา เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

ขนแต่ละที่เนี่ยค่ะ จะถูกกำหนดลักษณะของมันโดยต่อมขน ตามปัจจัยทางพันธุกรรมและฮอร์โมน
มีอัตราการยาวขึ้นต่อวันไม่เท่ากัน และมีอายุขัยหรือช่วงเจริญเติบโต (Anagen phase) รวมถึงช่วงต่าง ๆ แตกต่างกันด้วย
อย่างเส้นผมนี่จะมีช่วงเจริญเติบโตนานถึง 4-7 ปี ทำให้มันยาวไปได้เรื่อย ๆ กว่าที่จะเข้าสู่ช่วงหยุดเจริญเติบโต (Catagen phase)
ซึ่งกินเวลา 2-4 เดือน จากนั้นก็จะร่วงไป ผมจึงเป็นขนที่ยาวที่สุดในร่างกาย.. ส่วนขนที่อื่น ๆ เช่น

- ขนตามร่างกายทั่วไป มีช่วงเติบโตเฉลี่ยแค่ 2-3 เดือน
- ขนรักแร้ ขนหน้าแข้ง ขนตา ขนคิ้ว ช่วงเติบโตเฉลี่ย 4-7 เดือน
- ขนในที่ลับ ช่วงเติบโตเฉลี่ย 5-7 เดือน

สังเกตได้ว่าขนตามร่างกายทั่วไปนี่มีช่วงเติบโตแค่แป๊บเดียวเอง พอครบ 2-3 เดือน ก็จะหยุดยาวแล้ว
มันเลยมีลิมิตความยาวเท่าที่เห็น.. ส่วนขนบริเวณอื่น ๆ ที่มีช่วงเจริญเติบโตนานกว่านั้น ก็จะยาวได้มากกว่า
(หรือบางจุดก็อาจยาวพอ ๆ กับขนร่างกายนั่นแหละค่ะ ถ้าหากว่ามันมีอัตราการยาวช้า)
ก่อนที่มันจะหยุดยาวเมื่อถึงเวลาและก็ร่วงไปตามวัฏจักร

กรณีที่เราไปโกนมันในช่วงเจริญเติบโตของมัน มันก็งอกขึ้นมาอีกนั่นแหละค่ะเพราะมันยังเติบโตได้อยู่
ส่วนกรณีที่ไปโกนเจอขนในช่วงหยุดเจริญเติบโตแล้ว เส้นนั้นมันก็จะติดคารูขุมขนอยู่แบบนั้นไม่ได้เติบโตเพิ่ม
แต่ไม่นานเส้นใหม่มันก็จะดันเส้นเก่าออกมา แล้วมันก็ผุดขึ้นมาแทนที่
จากนั้นก็จะเป็นไปตามวัฎจักรคือยาวไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงช่วงเวลาหยุดเติบโตของมันอีกครั้งค่ะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
คนเราจะมีเส้นผมโดยประมาณ คนละ 80,000-100,000  เส้น
ผมคนเราไม่ได้งอกตลอดเวลา แต่มีวงจรการเจริญเติบโตของมันโดยเฉพาะ

สามารถ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ

1. ระยะการเจริญเติบโต   

ในระยะนี้ต่อมรากผมจะอยู่ลึกที่สุด ซึ่งจะอยู่ในชั้นหนังแท้พร้อมกับจะมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่มากมาย อัตราการเจริญเติบโตโดยเฉลี่ยจะยาวขึ้นประมาณ 1 ซ.ม. ต่อ ระยะเวลา 1 เดือน ติดต่อกัน 2 – 6 ปี
เส้นผมของคนเราประมาณ   90 % จะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตนี้

2. ระยะพัก

เมื่อการเจริญเติบโตถึงที่สุดแล้วเส้นผมของคนเราก็จะเข้าสู่ ระยะพัก
ระยะพักนี้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆโดยประมาณ 2- 3 สัปดาห์
ต่อมรากผมก็จะเลื่อนสูงขึ้นไป และจะแยกตัวออกจากหลอดเลี้ยงที่มาหล่อเลี้ยงเส้นผม
เส้นผมของคนเราโดยประมาณ 1 % ที่จะอยู่ในระยะพักนี้

3. ระยะหยุดการเจริญเติบโต

ระยะหยุดการเจริญเติบโตนี้จะเป็นระยะสุดท้ายของเส้นผม
ต่อมรากผมจะค่อยๆเลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ และเส้นผมที่งอกใหม่ดันให้ผมเก่าหลุดร่วงไป
โดยทั่วไประยะนี้จะกินเวลาประมาณ 3 เดือน
และเส้นผมของคนเราโดยประมาณ 10% ที่อยู่ในระยะหยุดการเจริญเติบโต
        
เมื่อเรารู้วงจรการเติบโตของเส้นผม ว่ามี 3 ระยะ
ทำให้เราบอกได้ว่าการที่คนเรามีผมร่วงวันละ 10 – 100 เส้น ถือว่าเป็นปกติ ไม่ต้องกังวล

เมื่อเราหวีผม หรือ สระผม ก็จะทำให้เส้นผมที่อยู่ในระยะ 3
คือ ระยะหยุดการเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะสุดท้าย หลุดร่วงง่ายขึ้น

http://www.hair-3b.com/Page/N%20Head.aspx
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่